
การวัดแสง พื้นฐานการวัดแสง และระบบวัดแสง สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ
การวัดแสง มันคืออะไรกัน? คำถามคลาสสิคสำหรับคนที่เริ่มต้นเลย แล้วยังต้องวัดแสงไหม แล้ววัดแสงยังไง แล้วมันยากไหม ทำไมการวัดแสงมันดูเข้าใจยากและวุ่นวายใจ ขอบอกเลยว่าใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ แล้วมาเริ่มต้นใหม่พร้อมกันเนอะว่าระบบวัดแสงมันเป็นยังไง แล้วเราจะเข้าใจมันได้ยัง ควรใช้แบบไหนบ้าง

กล้องดิจิตอลในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น DSLR หรือ Mirrorless เองก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ระบบวัดแสง” ไม่ว่าจะเรียกภาษาอังกฤษว่า “Metering Mode”, “Camera Metering”, “Exposure Metering” มันก็ให้ความหมายเดียวกัน หลายคำถามที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นทำเว็บมา และโดนถามบ่อยครั้งจะเป็นเรื่อง “การวัดแสงและระบบวัดแสง” มากเลย ในวันนี้ขอพูดเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการวัดแสงสำหรับมือใหม่กันครับ
การวัดแสง คืออะไร?
คำถามคลาสสิคสำหรับคนที่เริ่มต้นเลย การวัดแสงมันคืออะไรกัน? ผมอธิบายแบบง่าย ๆ ไม่ต้องตีความเยอะ คือการที่กล้องมันบอกเราว่า แสงที่เข้ามาในกล้องอ่ะ มันเป็นยังไง เพื่อให้เราประเมินได้ว่าภาพที่เราจะถ่าย จะออกมา สว่าง พอดี หรือมืดไปนั่นเอง

แล้ว การวัดแสง มันมีประโยชน์ยังไง?
มีจ้า ก็เมื่อกล้องประเมินแล้วว่า เช่น แสงสว่างไป เราต้องทำไงล่ะ ก็ตั้งค่ายังไงก็ได้เพื่อให้แสงมันลดลงมาถึงระดับที่พอดีไง ภาพเราก็จะไม่ติดสว่างจ้า, หรือถ้าวัดออกมาแล้วมืดไปล่ะ? ก็ตั้งค่ากล้องยังไงก็ได้ตามใจขอแค่มันสว่างขึ้นพอดีนั่นแหละ หลัก ๆ ประโยชน์การวัดแสงมันก็เพื่อให้เราได้ค่าแสงที่โอเคที่สุดครับ

แล้วโหมดวัดแสง หรือระบบวัดแสงมีไว้เพื่อ?
มีไว้เพื่อช่วยให้มันคำนวณค่าแสงออกมาได้ตรงตามที่เราเห็นที่สุด โหมดวัดแสงเหมือนการเลือกใช้สูตรคำนวณว่าจะให้มันวัดแสงจากส่วนไหนของภาพได้บ้าง ผมยกตัวอย่างสามแบบคือ
1.การวัดแสงเฉลี่ยแสงจากทั้งภาพ (Matrix Metering)


2.การวัดแสงเฉลี่ยแสงเน้นกลางภาพ (Center-Weight Metering)

3.การวัดแสงเฉพาะจุดนั้น ๆ เลย (Spot Metering)
เดี๋ยวจะอธิบายละเอียดอีกที แต่จะพูดให้นึกภาพออกก่อน เพราะกล้องมันคิดแบบคนไม่ได้ มันถึงต้องมีสูตรให้เราเลือกตามใจคนใช้ว่าอยากวัดแสงแบบไหนเป็นหลักนั่นเอง เพราะงั้นเราจำเป็นต้องรู้การวัดแสงทั้ง 3 แบบนี้ เพื่อที่จะให้กล้องมันคำนวณมาตามที่เราต้องการมากที่สุดนั่นเอง
รวมบทความพื้นฐานการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่
ยกตัวอย่างประเด็นว่า ทำไมต้องเข้าใจเรื่องระบบวัดแสง มันคำนวณแบบรวม ๆ มาอย่างเดียวไม่ได้เหรอไง? โอเคจะเล่าให้ฟัง นึกภาพตามด้วยเด้ออออ
ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพเนี่ย ปกติกล้องมันจะทำงานได้ดีมากเมื่อมีความสว่างในฉากเท่า ๆ กัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้เจอสถานที่ที่มันมีความสว่างเท่ากันไปตลอดนี่ บางครั้งเราเจอสถานที่ซึ่งมีวัตถุและแสงในระดับที่ต่างกัน อ่ะมานึกภาพตามตรงนี้ เอาวัดแสงเฉลี่ยปกติก่อน เราถ่ายภาพท้องฟ้าโดยไม่มีก้อนเมฆเลย มีดวงอาทิตย์อยู่ด้วย พอเราจะถ่ายกล้องก็จะคำนวณแสงเฉลี่ยได้ดี เพราะท้องฟ้าสว่างสดใสไง ไม่มีอะไรบัง แสงก็พอ วัดแสงเฉลี่ยได้สบายมาก

พอลองนึกภาพนะจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีดวงอาทิตย์อยู่ด้านหน้าเรา และมีวัตถุขนาดใหญ่และมืดกว่ามาก (เมื่อเทียบกับเมฆและท้องฟ้า) เข้ามาอยู่ในฉาก โดยที่เราวัดแสงเฉลี่ยอยู่… กล้องมันก็จะบอกว่า ภาพของเรามืดนั่นเอง เพราะมันเฉลี่ยค่าแสงทั้งภาพไง มันเห็นอะไรมืด ๆ ดำ ๆ กินพื้นที่ในภาพเยอะ พอมันเฉลี่ยออกมามันก็มืด ทำให้การตั้งค่าออกมาผิดเพี้ยนไม่ตรงตามที่เราต้องการ

แล้วทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาการวัดแสงที่ไม่ถูกต้อง?
ก็ต้องมาจบด้วยการเลือกโหมดวัดแสงให้มันถูกต้องกับสิ่งที่เราจะถ่ายไง เพราะโหมดวัดแสงเป็นเหมือนสูตรการคำนวณสำหรับกล้องเรา เพื่อให้มันนำค่าแสงที่ได้มาคำนวณกับสูตรที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะได้ค่าแสงที่ค่อนข้างจะโอเคที่สุดกับภาพที่เราอยากจะได้นั่นเอง
โหมดวัดแสงมีอะไรบ้าง?
เมื่อครู่ได้เกริ่นไปแล้วเนอะเรื่องการวัดแสงต่าง ๆ มากมายในตอนนี้ขอเจาะลงไปเรื่องระบบวัดแสงเลยว่ามีอะไรบ้าง
1.การวัดแสงเฉลี่ยแสงจากทั้งภาพ (Matrix Metering)

ระบบวัดแสงที่ใช้บ่อยที่สุด มากที่สุด ปกติที่สุด คือการเอาค่าแสงของพื้นที่ทั้งหมดในภาพเรามาคำนวณนั่นเองจ้า เหมาะกับการใช้งานกับภาพที่ระดับแสงในแต่ละพื้นที่มันเท่ากันหมด
2.การวัดแสงเฉลี่ยแสงเน้นกลางภาพ (Center-Weight Metering)

การวัดแสงโดยการใช้ค่าเฉลี่ยทุกภาพก็ไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไป บางครั้งเราอาจจะอยากถ่ายภาพของคนที่ย้อนแสงดวงอาทิตย์อยู่ข้างหลัง เราอาจจะต้องวัดแสงจากตัวคนเป็นหลักที่อยู่บริเวณกลางภาพ เพื่อให้รู้ค่าแสงที่ถูกต้องสำหรับแสงในหน้าของคนเป็นต้นระบบวัดแสงที่คล้าย ๆ กับเฉลี่ยทั้งภาพ แต่จะลดพื้นที่ลงเหลือส่วนกลางภาพเป็นหลักนั่นเอง

3.การวัดแสงเฉพาะจุดนั้น ๆ เลย (Spot Metering)

ระบบวัดแสงแบบเฉพาะจุดนั้นจะเลือกวัดแสงจุดเดียวในภาพเลย ซึ่งก็จะเลือกตามจุดที่กล้องเราไปโฟกัสนั่นแหละ เมื่อเราเจอพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างของแสงค่อนข้างมาก เราสามารถกำหนดได้ว่าจะเลือกให้กล้องวัดแสงตรงจุดไหนเป็นหลักนั่นเอง

สุดท้ายแล้วการที่เราจะเลือกใช้โหมดวัดแสงแบบไหนก็อยู่ที่ภาพของเรานั่นเองครับ ดังนั้นการเลือกให้เหมาะสมก็จะช่วยให้เราได้ค่าแสงเพื่อนำไปสู่การตั้งค่าอย่างถูกต้องนั่นเอง
รวมบทความการถ่ายภาพพื้นฐานสำหรับมือใหม่
– การตั้งค่ากล้องสำหรับมือใหม่ เริ่มพื้นฐานจากศูนย์กันเลย
– ISO คืออะไร รวมทุกอย่างที่ต้องรู้เรื่อง ISO
– คำแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพให้นิ่งและไม่เบลอ
– 7 ไอเดียการฝึกถ่ายรูปสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้อง
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่