10 เทคนิคถ่ายภาพด้วย Long Exposure
Long Exposure คือเทคนิคในการถ่ายภาพลากความเร็วชัตเตอร์ให้นาน ซึ่งถูกนำมาใช้ในการถ่ายภาพหลากหลายแนว เช่น การถ่ายภาพให้เอฟเฟคดาวเป็นเส้น (Star Trails), การถ่ายภาพลากก้อนเมฆ, การถ่ายภาพน้ำให้เกิดเอฟเฟคที่ดูนุ่มนวล สมูท ผมเชื่อครับว่าหลายคนก็คงอยากลองถ่ายภาพแบบนั้นบ้าง

การถ่ายภาพ Long Exposure เป็นคีย์หลักในเรื่องนี้เลย ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจนะ ถ้าใครยังไม่เข้าใจลองอ่านพื้นฐานในเรื่อง ถ่ายภาพยังไงให้แสงเป็นเส้น ก็ได้ครับ จะเข้าใจคีย์หลักในเรื่องนี้มากขึ้นเยอะเลย
จะว่าไปแล้วเทคนิคของ Long Exposure Photography นั้นเป็นการถ่ายภาพให้เกิดเอฟเฟคช่วงเวลาหนึ่งของแสงที่เข้ามาในกล้อง โดยแต่ละช่วงเวลาก็จะให้เอฟเฟคที่ต่างออกไป เช่น การถ่ายภาพเมฆไหล เมื่อเปิดเอฟเฟคนาน ๆ ก็จะยิ่งเห็นเอฟเฟคเมฆชัดเจนขึ้น หรือการถ่ายภาพไฟให้เป็นเส้น เมื่อเปิดความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้น เส้นก็จะยิ่งยาว เอาเป็นว่าตอนนี้เรามาดูกันครับว่าแค่ด้วยเทคนิค Long Exposure นั้นเอามาใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง
1. การถ่ายภาพดาวหมุน (Star Trails – Long Exposure)
เทคนิค Long Exposure นั้นนิยมใช้มากในการถ่ายภาพกลางคืน โดยเฉพาะเอามาดีไซน์ภาพดาวหมุน เพราะเมื่อเปิดชัตเตอร์ยิ่งนาน ยิ่งลากดาวให้เป็นเส้นได้ เมื่อเราได้ทิศทางที่ถูกต้องก็จะได้ดาวหมุนเป็นเอฟเฟคกลมสวย

อุปกรณ์และสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพดาวหมุนได้แก่
– ตัวกล้อง
– ขาตั้งกล้อง
– สายลั่นชัตเตอร์
– ระยะเวลา
– ซอฟต์แวร์ในการรวมภาพ
การถ่ายภาพดาวหมุนนั้นอาจจะเริ่มที่ 30 วินาทีเป็นต้นไป ซึ่งจะได้เส้นของดาวหมุนสั้น ๆ แต่เมื่อถ่ายนานมากกว่านั้น เราก็จะได้เส้นของดาวที่เยอะขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องระมัดระวังก็คือเรื่องของ Noise ในภาพ ดังนั้นวิธีการแก้ไขก็คือการรู้จักวิธีการลด Noise ในภาพด้วยซอฟต์แวร์อีกรอบ อาจจะใช้วิธี Blending เลเยอร์ภาพใน Photoshop อีกที (ซึ่งมีวิธีลด Noise หลายวิธี)
2. การถ่ายภาพพลุ (Fireworks Photography)
ในการเริ่มต้นถ่ายภาพพลุให้ใช้โหมดแมนนวล ถ้ากล้องใครอยู่ในแมนนวลมีคำสั่งแฟลชออโต้อยู่ก็ให้ปิดให้เรียบร้อยครับ, การที่อยู่ในโหมดแมนนวลนั้นจะทำให้เราตั้งค่าได้อย่างอิสระ ทั้งเรื่องรูรับแสง ในบทความนี้จะแนะนำให้ตั้งค่ารูรับแสง (F) ที่ F/11 ความเร็วชัตเตอร์ลองสัก 1/2 วินาที ส่วน ISO 100 ถ้าเกิดว่าภาพมืดเกินไปก็ให้ปรับลดความเร็วชัตเตอร์ลงแทน โดยคงค่ารูรับแสงไว้เหมือนเดิม, อีกวิธีนึงที่นิยมกันตลอดก็คือโหมด Bulb ซึ่งจะทำให้เราเปิดม่านชัตเตอร์ได้ตามใจต้องการ แต่ต้องใช้คู่กับสายลั่นชัตเตอร์ครับ

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือขาตั้งกล้องต้องมีความมั่นคง รับน้ำหนักกล้องได้ดี, และก็พยายามเก็บภาพพลุให้มีเส้นยาว ๆ ก็จะช่วยให้เก็บภาพพลุที่สวยงามได้
3. การถ่ายภาพวาดแสงไฟ (Light Painting)
การถ่ายภาพวาดแสงไฟนั้นจะใช้พื้นฐานการถ่ายภาพแนวนี้เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ Location ต้องมืดมาก เพื่อตัดแสงรบกวนก่อน เราจะเก็บแค่แสงไฟจากไฟฉาย หรือแท่งเรืองแสงเท่านั้น สำหรับการตั้งค่าก็ลองตั้งสัก F11, ISO100 แล้วเลือกชัตเตอร์ระหว่าง 11-30 วินาที อันนี้แล้วแต่แวดล้อม สภาพแสงที่เก็บมาได้ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราควรเปิดระยะเวลาสักเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อกดชัตเตอร์ก็วาดไฟตามเวลาที่เรากำหนดไว้ได้เลย อันนี้ง่ายกว่าการถ่ายพลุเยอะ เพราะเราสามารถสั่งเพื่อนได้นั่นเองครับ

4. ถ่ายภาพน้ำตก ลากสายน้ำให้นุ่ม
เราคงเคยเห็นภาพน้ำตกนุ่ม ๆ ลากให้เป็นสายแล้ว แน่นอนว่าใช้การถ่ายลากชัตเตอร์นาน ๆ ทั้งนั้นเลย ซึ่งเรามักจะเปิดชัตเตอร์ให้นานสัก 1 วินาที หรือมากกว่านั้นถ้าเราต้องการน้ำให้นุ่ม และฟุ้ง ความยากคือถ้าสภาพแสงสว่างมาก ๆ เราอาจจะต้องใช้ ND Filter เพื่อตัดแสงให้น้อยลง (ตอนกลางวันแสงจะเยอะมาก ถ้าถ่ายภาพลากชัตเตอร์นาน ๆแสงมักจะล้น เราควบคุมได้ด้วยการใส่ ND Filter ตัดแสงนะ)

5. ถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheels)
การถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์เป็นการเปิดม่านชัตเตอร์ระหว่างที่ชิงช้าสวรรค์กำลังเคลื่อนที่ จะเปิดชัตเตอร์สปีดระหว่าง 1-30 วินาที ขึ้นอยู่กับความเร็วของชิงช้า และความต้องการเส้นแสงที่เราต้องการ

6. ถ่ายภาพเก็บเส้นแสงไฟ
การถ่ายภาพเก็บเส้นแสงไฟ เป็นการถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมตลอดกาล เนื่องด้วยสถานที่ในเมืองแทบทุกที่ ขอแค่โลเคชั่นมีความโดดเด่นก็สามารถถ่ายได้ ซึ่งการถ่ายก็ง่าย ๆ เลย อาจจะตั้งที่ F16 หรือต่ำกว่าก็ได้แล้วแต่เรา แล้วตั้งสปีดให้ได้สัก 10-20 วินาที (เอาจริง ๆ ก็แล้วแต่ว่าอยากจะตั้งยาวเท่าไหร่อ่ะนะ)

7. การถ่ายภาพฟ้าผ่า
การถ่ายฟ้าผ่านั้นเป็นอะไรที่โคตรจะท้าทายช่างภาพ เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราแค่ได้ทำการตั้งค่าและกดชัตเตอร์รอครับ ที่เหลือคือเรื่องดวงและความอดทน โดยที่ค่า F จะเลือกที่ประมาณ 8, ISO100 และความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 15-30 วินาที และถ่ายไปอย่างนั้นเรื่อย ๆ หากโชคดีก็ได้สายฟ้าที่สวยงามเลยแหละ

สิ่งสำคัญคือขาตั้งกล้องต้องนิ่ง ๆ ด้วยนะ ที่เหลือก็แล้วแต่โชคชะตาว่าจะทำให้เราได้สายฟ้าที่สวยแค่ไหน
8. ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้นและภาพดวงอาทิตย์ตก (Sunrise or Sunsets)
การถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นหรือว่าดวงอาทิตย์กำลังตกนั้น เป็นจังหวะที่ยอดเยี่ยมสำหรับการถ่ายภาพ Long Exposure ซึ่งในการถ่ายภาพมักจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า Golden Hour เพราะแสงจะสวยที่สุด เวลาที่เราถ่ายภาพทิวทัศน์ในช่วงนี้ จะทำให้ได้แสงท้องฟ้าที่สวยงามมาก ๆ และยิ่งให้ความเร็วชัตเตอร์ที่ยาว ทำให้เราเก็บภาพของแสงในช่วงนี้ได้สวยครับ

นอกจากนี้การใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บภาพ ทำให้ได้รายละเอียดของบรรยากาศมามากอีกด้วย ส่วนความเร็วชัตเตอร์นั้นก็จะใช้ระหว่าง 5 วินาที – 30 วินาที ถ้ามีแม่น้ำ หรือสายน้ำบริเวณนั้น น้ำก็จะเบลอเป็นเส้นที่สวยงามอีกด้วย
9. การถ่ายภาพแพนนิ่ง หรือภาพวัตถุเคลื่อนที่ (Panning & Moving Subject Photography)
การถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนที่ หรือการถ่ายแบบ Panning เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการถ่ายภาพที่ทำให้เห็นโมชั่น หรือรูปแบบของการเคลื่อนไหว โดยที่จุดโฟกัสยังให้ภาพที่ชัดเจน ซึ่งการตั้งค่ากล้องสำหรับถ่าย Panning นั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ และสภาพแสงในตอนนั้นด้วย

แต่หัวใจหลักของการถ่าย Panning นั้น ถ้ารถที่เคลื่อนที่เร็วหน่อยก็อาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 แต่ถ้าเป็นรถที่วิ่งช้า ตามถนนรถเยอะ ๆ ก็ 1/60 แต่ถ้าเป็นสนัขวิ่งก็ 1/40 เป็นต้น
10. การถ่ายภาพเก็บเงาสะท้อน (Reflections)
การถ่ายภาพ Long Exposure สำหรับการถ่ายภาพเงาสะท้อนน้ำ ช่วยทำให้น้ำดูสมูท นิ่ง และเห็นเงาหรือแสงไฟที่น้ำชัดเจน ซึ่งวิธีการในการถ่ายนั้นจะเหมือนกับการถ่ายภาพน้ำตกที่เคยพูดไป ยิ่งเราลากความเร็วชัตเตอร์ให้นาน เงาที่น้ำยิ่งชัดเจน และน้ำยิ่งนิ่งกว่าเดิม ควรเลือกสถานที่ซึ่งมีไฟหลากหลายสี จะทำให้ภาพดูหลากหลายและดึงดูดสายตาครับ

source : https://contrastly.com/long-exposure/