12 วิธีฝึกพื้นฐานถ่ายภาพให้สวยขึ้นสำหรับมือใหม่
12 วิธีฝึกพื้นฐานถ่ายภาพให้สวยขึ้นสำหรับมือใหม่ เป็นบทความรวบรวมไอเดียการฝึกถ่ายภาพเพื่อให้เราสามารถฝึกถ่ายภาพให้เก่งได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการฝึกแต่ละแบบที่เลือกมานั้นสามารถที่จะลองฝึกทำได้ ไม่เบื่อ และทำให้เราได้ไอเดียต่อยอดมากขึ้น สำหรับใครอยากอ่านเรื่องไหนแบบเจาะลึกพิเศษก็มีบทความที่เจาะรายละเอียดเรื่องนั้น ๆ เตรียมไว้ให้แล้วด้วย ถ้าหากใครมีเวลาว่างแล้วอยากฝึกถ่ายภาพให้เก่งขึ้นลองศึกษาแต่ละเรื่องแบบละเอียดดูได้เลย
12 วิธีฝึกพื้นฐานถ่ายภาพให้สวยขึ้นสำหรับมือใหม่
1. ฝึกควบคุมการโฟกัส เพื่อให้ถ่ายภาพได้คมชัดตามความต้องการของเราเอง
เริ่มต้นที่เราถ่ายภาพเราก็มักจะใช้โฟกัสที่กลางภาพเพราะมันง่ายในการที่จะทำให้ภาพของเราชัด แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงนั้นเราไม่ได้โฟกัสที่กลางภาพเสมอไป เราจะอยากให้ความชัดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเฟรมภาพบ้าง อาจจะเพื่อการจัดองค์ประกอบที่สมดุลมากขึ้น และการเล่าเรื่องในภาพ

ให้เราฝึกที่จะควบคุมการโฟกัสของกล้อง ซึ่งกล้องแต่ละตัวก็จะมีการแสดงผลระบบโฟกัสที่คล้าย ๆ กัน ให้เราฝึกถ่ายภาพโดยโฟกัสที่จุดต่าง ๆ เพื่อให้เราชำนาญพื้นฐานเรื่องนี้มากขึ้น และควรเข้าใจการควบคุมระบบโฟกัสได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น

อ่านบทความเจาะเนื้อหาแบบละเอียดสำหรับมือใหม่ในเรื่องของระบบโฟกัสและการโฟกัส
2. การฝึกโฟกัสวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว
การที่เราถ่ายภาพวัตถุที่อยู่นิ่งได้ยอย่างคมชัดก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วแหละครับ แต่ว่าสิ่งที่อยากให้ฝึกเพิ่มมากขึ้นก็คือการโฟกัสวัตถุที่เคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น เพราะบางครั้งเราก็ต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ และการฝึกโฟกัสวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว จะทำให้เราเรียนรู้และทำความเข้าใจระบบโฟกัสของกล้องเรามากยิ่งขึ้นนั่นเองครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยความเร็วสูง
3. ฝึกทำความเข้าใจว่า ปัจจัยไหนบ้างที่ทำให้ภาพของเราเบลอ ไม่คมชัด
เมื่อเราพูดถึงการโฟกัส เราก็จำเป็นต้องรู้ว่าทำยังไงให้ภาพของเราคมชัด และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาพเบลอ ภาพไม่คมชัด เพื่อที่จะได้เข้าใจมุมมองทั้งสองแบบ และมีวิธีปรับปรุงการถ่ายภาพของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีประเด็นง่าย ๆ สองหัวข้อตามนี้เลย

- ภาพเบลอเพราะเกิดจากการโฟกัสที่ไม่ถูกต้อง : เราอาจจะเคยเห็นว่าจุดที่เราต้องการจะให้ชัดดันเบลอ แต่จุดที่อยากจะให้เบลอกลับชัดขึ้นมา อันนี้เป็นที่การโฟกัสของเราแล้วล่ะ นอกจากนี้ถ้าภาพเบลอทั้งภาพเลย อันนี้ก็เพราะการโฟกัสภาพของเราไม่ถูกต้องจนทำให้ภาพเบลอเหมือนกันนั่นแหละ
- ภาพเบลอเพราะเกิดจากการเคลื่อนไหวของวัตถุ : เมื่อวัตถุเกิดการเคลื่อนไหวและความเร็วชัตเตอร์ไม่พอ แม้ว่าการโฟกัสของเราจะถูกต้องเป๊ะ ๆ แต่ก็เกิดการเบลอได้เหมือนกัน ดังนั้นเราควรจะฝึกเรื่องความเร็วชัตเตอร์ในการควบคุมวัตถุที่ถ่ายให้เกิดความคมชัดด้วย
ถ้าหากว่าผู้อ่านอยากจะเริ่มทำความเข้าใจเรื่องของปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพเบลอว่ามีอะไรบ้างสามารถติดตามได้ในบทความด้านล่างที่เขียนเจาะเรื่องนี้ได้เลยครับ
- 9 ข้อผิดพลาดที่เป็นเหตุถ่ายแล้วภาพเบลอ และวิธีแก้ไข
- เคล็ดลับสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพให้นิ่งและไม่เบลอ
4. เลือก White Balance ให้ถูกต้องกับการถ่ายภาพ และฝึกการแก้ภาพถ่ายที่สีผิดเพี้ยนให้ถูกต้องได้ด้วยการใช้ White Balance

การเลือก White Balance ให้เหมาะสมกับภาพถ่ายนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่แม้ว่าปัจจุบันเราถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW ที่สามารถมาเลือก White Balance เองใน Lightroom ได้ก็ตาม หรือแม้แต่การใช้ Auto White Balance ให้กับกล้องเพื่อกล้องหา White Balance ให้กับเราเอง

แต่การที่เราเข้าใจเรื่องการตั้งค่า White Balance ได้อย่างถูกต้องนั้นทำให้หลาย ๆ สถานการณ์เราสามารถถ่ายภาพได้สีที่ไม่ผิดเพี้ยน (เพี้ยนน้อยที่สุด ถูกต้องมากที่สุด) เพราะบางครั้งเราต้องคิดเสมอว่ากล้องอาจจะไม่ได้เลือก White Balance ให้เราได้อย่างถูกต้องเสมอไป
อ่านพื้นฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ White Balance สำหรับมือใหม่
- การตั้งค่า White Balance สำหรับมือใหม่ ไม่ให้สีเพี้ยน
- White Balance คืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับการถ่ายภาพ มาเรียนเรื่องพื้นฐานกัน
5. ฝึกการใช้ Custom White Balance บ้าง
คือบางครั้งการเลือกโหมดสีของ White Balance อาจจะไม่ตรงตามใจ ถ้าต้องการควบคุมการถ่ายภาพแบบเป๊ะ ๆ ในการใช้ Custom White Balance ให้เราเลือกแบบ Kelvin(K) แทน จะทำให้เราปรับค่า White Balance ได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น

6. ฝึกใช้การชดเชยแสงในการถ่ายภาพ เพื่อให้ภาพของเราได้รายละเอียดที่ดีขึ้น
ถ้าหากว่าเราลองตั้งค่ากล้องได้พอดีแล้วถ่ายภาพออกมายังรู้สึกว่าภาพยังสว่างไปหรือมืดไป เราอาจจะเลือกปรับเพิ่มหรือลดการชดเชยแสงเพื่อให้แสงที่พอดีเหมาะสมกับภาพได้เหมือนกัน โดยการเลือกปรับชดเชยแสงนั้นเป็นอะไรที่ง่าย และรวดเร็วมากสำหรับการเลือกค่าแสงให้ถูกต้องครับ

เรียนรู้พื้นฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวัดแสงและระบบวัดแสงของกล้องสำหรับมือใหม่
7. ฝึกทำความเข้าใจกับ Histogram ของกล้องเรา เพื่อที่จะอ่านข้อมูลภาพรวมของภาพที่เราถ่ายได้อย่างเข้าใจ
วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบภาพที่เราถ่ายออกมาได้จากหลังกล้องเลยก็คือ Histogram เพราะเขาจะเป็นกราฟที่คอยบอกภาพรวมของสิ่งที่เราถ่ายมาได้ว่าเป็นยังไง ส่วนมืดเยอะไปไหม หรือส่วนสว่างในภาพเป็นยังไงบ้าง

นี่ยกตัวอย่างที่แสดงถึงแสงในภาพถ่าย ถ้าหากว่าเราเข้าใจ Histogram แล้ว เวลาที่เราดูข้อมูลภาพเราจะรู้ได้เลยว่าควรตั้งค่ากล้องเพื่อถ่ายภาพใหม่ยังไงให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการครับ
อ่านบทความเจาะลึกเรื่อง Histogram แบบง่าย ๆ สำหรับมือใหม่
- วิธีอ่านค่า Histogram แบบเข้าใจง่ายและการนำไปใช้งานจริง
- พื้นฐาน Histogram คืออะไร ใช้ยังไงสำหรับมือใหม่
8. ฝึกการถ่ายภาพที่มีความเปรียบต่างของส่วนสว่างและส่วนมืดสูง (Contrast) เพื่อให้เรียนรู้ลักษณะของภาพถ่ายที่ควบคุมยากมากขึ้น
บางครั้งธรรมชาติก็ดูเหมือนแจะแอบกล้องเราเหมือนกัน ถ้าเราถ่ายภาพในบางช่วงเวลาจะเจอสิ่งที่เรียกว่า Contrast หรือความเปรียบต่างระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างสูงมาก จนทำให้กล้องเก็บรายละเอียดได้ไม่หมด เช่น เราวัดแสงพอในส่วนมืด ส่วนสว่างข้อมูลส่วนมืดก็หลุด หรือวัดแสงพอดีในส่วนมืด ส่วนสว่างก็หลุดออกไป

เพราะงั้นเราจะควบคุมตรงนี้ได้ดีมากขึ้นถ้าหากว่าเราอ่าน Histogram เป็น และฝึกตั้งค่าการรับแสงของกล้องให้เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์แบบนี้ครับ และการที่เราเข้าใจการถ่ายภาพที่มี Contrast สูงทำให้เราถ่ายภาพเวลาเดินทางท่องเที่ยวได้ดีมากขึ้นอีกด้วยนะ เพราะเราสามารถจัดการกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ตรงหน้าเราได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

9. ฝึกใช้ ND Filter, PL Filter หรือจะให้ดีฝึกใช้ Landscape Filter ทั้งหมดเลยก็ได้
Filter ที่นอกเหนือจาก Protector Filter ที่ใช้ปกป้องหน้าเลนส์ของเรานั้น ก็จะมี ND Filter สำหรับลดแสงลง ให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้น, หรือ PL Filter ที่ทำหน้าที่ตัดแสงสะท้อนในภาพ เพื่อให้ภาพถ่ายของเรามีรายละเอียดในส่วนที่แสงสะท้อนทำให้ภาพมีรายละเอียดที่หลุดออกไป

สังเกตได้ว่าฟิลเตอร์พวกนี้จะทำงานกับแสงโดยตรงทั้งหมด เพื่อให้ได้แสงตามต้องการ ส่งผลให้เราสามารถตั้งค่ากล้องที่อยากจะได้ และทำให้เอฟเฟคของภาพตรงตามอย่างที่เราหวังเอาไว้ครับ ถ้าหากว่ามีโอกาสได้ใช้ ND Filter หรือ Landscape Filter รับรองว่าต้องติดใจแน่ ๆ เลยแหละ
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ Landscape Filters
10. ฝึกถ่ายภาพ High Dynamic Range (HDR) บ้าง เป็นการถ่ายภาพในค่าแสงที่ต่างกันแล้วนำมารวมเป็นภาพเดียวใน Adobe Lightroom ทำให้รายละเอียดในภาพดียิ่งขึ้น

การถ่ายภาพ HDR หรือ High Dynamic Range เป็นการถ่ายภาพที่นิยมมากสำหรับคนถ่าย Landscape คือการถ่ายภาพในค่าแสงที่ต่างกันจากมืดไปสว่าง (ถ่ายคร่อมแสงหลาย ๆ ส่วน) แล้วนำมารวมในภาพเดียวจะทำให้เราได้ภาพถ่ายที่มีรายละเอียดสูงขึ้น และการถ่ายภาพ HDR นี้ ส่วนใหญ่ง่าย ๆ เลยเราเอาภาพมารวมใน Adobe Lightroom ทำให้เราฝึกถ่ายภาพและแต่งภาพได้เก่งขึ้นในโจทย์ของภาพเพียงเรื่องเดียวด้วยนะ
11. การฝึกถ่ายภาพเพื่อควบคุมรายละเอียด และการถ่ายภาพเป็น RAW File เพื่อนำมาแก้ไขต่อ

เมื่อเราได้รู้จักกับเรื่องของ Histogram ไปแล้ว ทีนี้เราก็ควรฝึกถ่ายภาพเพื่อควบคุมรายละเอียดในภาพไม่ให้ข้อมูลต่าง ๆ หลุดรายละเอียดออกไป นอกจากนี้การที่เราถ่ายภาพเป็น RAW File ก็จะทำให้เราสามารถปรับแก้ไขภาพ หรือดึงรายละเอียดของภาพที่อาจจะมีข้อมูลหลุดออกไปในส่วนมืดหรือส่วนสว่าง เราก็สามารถเอาไฟล์ RAW นี่แหละมาปรับแก้ไขอีกทีใน Adobe Lightroom ได้
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไฟล์ RAW ที่มือใหม่ต้องรู้
12. การฝึกจัดวางองค์ประกอบภาพเพื่อให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจที่สุด
นอกเหนือจากการเลือกสิ่งที่ควรถ่ายภาพและการตั้งค่าที่ดีที่สุดในการใช้การเรียนรู้พื้นฐานขององค์ประกอบเป็นวิธีหนึ่งในการปรับปรุงทักษะการถ่ายภาพของเราเอง ซึ่งมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบภาพมากมายเลยแหละที่ทำให้เราถ่ายภาพได้สวยขึ้นง่าย ๆ เลย ถ้าหากว่าอยากอ่านเจาะรายละเอียดเรื่องนี้สามารถอ่านต่อได้ในบทความด้านล่างเลยครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมแบบละเอียดเกี่ยวกับพื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับมือใหม่
- 25 ไอเดียถ่ายภาพวิวให้สวย และวิธีคิดในการจัดองค์ประกอบภาพ
- การใช้สีจัดองค์ประกอบภาพ ช่วยให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
- 20 วิธีจัดองค์ประกอบภาพ เพื่อให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจที่สุด
- 30 ไอเดียการจัดองค์ประกอบภาพที่จะทำให้ภาพถ่ายของคุณสวยขึ้น