Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

5 ทิปส์ง่าย ๆ สร้างสรรค์ไอเดียสดใหม่ให้ภาพสวย

5 ทิปส์ง่าย ๆ สร้างสรรค์ไอเดียสดใหม่ให้ภาพสวย การหามุมมองคือการหาจุดที่สัมพันธ์กันระหว่างตัวแบบและฉากหลังให้มีความเชื่อมโยงกัน และการจัดองค์ประกอบของภาพนั้นยังช่วยให้ผู้ชมได้มองเห็นมุมมองที่แปลกใหม่ที่เราอยากนำเสนอ ภาพที่เรียบ ๆ ไม่มีมิตินั้นจะไม่มีความน่าสนใจ เพราะฉะนั้นเราควรเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพถ่าย ไม่น่าเชื่อนะครับว่ามุมมองที่โดดเด่นหรือการจัดวางองค์ประกอบที่น่าสนใจนั้นจะเปลี่ยนรูปธรรมดาให้เป็นรูปทุกคนจะต้องร้องว้าว!  เราจะมาศึกษาวิธีการเพิ่มมุมมองที่น่าสนใจให้กับภาพถ่ายของเราให้ได้แบบมืออาชีพกันเลยครับ

5 ทิปส์ง่าย ๆ สร้างสรรค์ไอเดียสดใหม่ให้ภาพสวย

1. ลองใช้เลนส์หลาย ๆ ประเภท 

การทำงานของกล้องนั้นเปลี่ยนภาพสามมิติให้เป็นภาพสองมิติ และลักษณะของเลนส์ที่เราใช้นี่แหละครับ จะเป็นตัวที่จะสร้างมิติภาพให้หลากหลาย โดยทางยาวโฟกัสของเลนส์นั้นส่งผลต่อต่อภาพว่าจะออกมาเป็นในลักษณะไหน การเลือกใช้เลนส์ก็จะให้ความแตกต่างของเฟรมภาพ เช่น การใช้เลนส์ไวด์หรือเลนส์ fish-eye  จะทำให้ได้ภาพมุมกว้าง ในขณะที่เลนส์เทเลโฟโต้นั้นจะบีบอัดภาพและทำให้เห็นฉากหลังได้ทั้งหมด ถ้าเราต้องการเปลี่ยนมุมมองของเฟรมภาพ ก็แค่ลองเปลี่ยนเลนส์ดูครับ

2. หามุมมองภาพแบบ perspective ที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกดิ่งลึกลงไปในภาพ

เราเลือกใช้มุมมองในการถ่ายภาพเพื่อสร้างมิติให้กับภาพถ่าย ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของช่างภาพในการเพิ่มมิติให้กับภาพของตัวเอง นอกจากมุมมองกล้องที่จะเพิ่มความน่าสนใจให้ภาพถ่ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ชมนั้นได้เห็นมุมมองเวลาที่ช่างภาพมองผ่านเลนส์ว่ามองเห็นภาพเป็นแบบไหนบ้าง โดยใช้มุมมองเหล่านั้นเป็นตัวเล่าเรื่องแล้วดึงผู้ชมให้เข้าใจในเรื่องที่เราจะสื่อให้ได้ และภาพประเภทหนึ่งที่ดึงดูดสายตามากเป็นพิเศษคือแบบ perspective การถ่ายภาพประเภทนี้จะเป็นการหลอกตาให้กับสมองของมนุษย์ เพื่อให้รู้สึกว่ามีช่องว่างหรือดึงสายตาให้เข้าไปในภาพ

3. ใช้มุมกล้องเพื่อบิดเบือนขนาดให้ผิดเพี้ยน ดูสนุกสนาน

การสร้างมุมมองนี้จะนำตัวแบบที่มีขนาดเล็กกว่าทำให้อยู่ด้านหน้าตัวแบบที่มีขนาดใหญ่กว่า แล้วระยะของวัตถุทั้งสองจะหลอกตาเราว่ามีวัตถุขนาดเล็กนั้นดูใหญ่กว่า ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพคนยืนค้ำหอเอนปิซ่าที่มักจะหลอกตาเราว่าขนาดร่างกายของมนุษย์นั้นใหญ่กว่าหรือเทียบเท่านั่นเอง

4. ใส่ใจกับ ฉากหน้า ฉากกลางและฉากหลัง  

ภาพถ่ายที่ดีนั้นต้องเกิดมาจากไอเดียความคิดที่สร้างสรรค์ ก่อนที่เราจะลั่นชัตเตอร์ ฝึกสังเกตและรู้จักที่จะมองให้เห็นว่า ฉากหน้า ฉากกลางและฉากหลังนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อทำให้เราเข้าใจได้ว่าเรากำลังจะถ่ายภาพที่ประกอบไปด้วยสิ่งของอะไรบ้าง และมีสิ่งไหนที่เราต้องการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เฟรมของเรานั้นเหมาะสมและลงตัวให้ได้มากที่สุด 

5. เลือกจุดโฟกัสหรือตัวเล่าเรื่องให้ชัดเจน

การตัดสินใจเลือกจุดโฟกัสของภาพนั้นจะช่วยชี้นำสายตาผู้ชมที่มองหาจุดโฟกัสหรือจุดที่เราต้องการนำเสนอให้มองเห็นได้ง่ายเข้าใจเรื่องราวที่เราต้องการจะสื่อ จะเห็นว่าบางครั้งช่างภาพถ่ายตัวแบบออกมาให้ดูเบลอ แต่เมื่อผู้ชมมองภาพ ก็ยังคงเข้าใจอย่างชัดเจนว่าให้โฟกัสที่จุดไหน และอะไรกำลังทำหน้าที่เป็นตัวเล่าเรื่องหลักของภาพ

ในการค้นหามุมมองนั้น ไม่มีผิดหรือถูก อยากให้มองว่าเป็นการได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ในแบบของเราเอง ใช้เวลาในการมองภาพให้ออกเผื่อจะมองเห็นมุมมองที่เราอาจไม่คาดคิดได้

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพได้ที่นี่เลย

Exit mobile version