
5 วิธีปลุกความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มมุมมองการถ่ายภาพให้มากกว่าเดิม
ใครที่ฝึกถ่ายภาพคนเดียวต้องเจอปัญหาความคิดสร้างสรรค์และไอเดียเริ่มตันในการหามุมมองในการถ่ายภาพใหม่ ๆ แล้วก็จะเริ่มเกิดความเบื่อ ขี้เกียจตามมาได้ ในวันนี้ผมมีแนวทางที่จะมาช่วยสำหรับคนที่อยากเพิ่มมุมมองและความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น เป็นวิธีการง่าย ๆ และใช้เวลานิดเดียวในการทำความเข้าใจครับ
1. เลือกใช้เลนส์แค่ตัวเดียวในการถ่ายภาพ
การใช้เลนส์แค่ตัวเดียวเกี่ยวอะไรด้วยงั้นเหรอ? ในกรณีที่เราถ่ายภาพด้วยเลนส์ระยะเดียว จะทำให้เราไม่ต้องคิดเรื่องอุปกรณ์เยอะ และพึ่งพาในมุมมองของตัวเองมากที่สุด และยิงเป็นเลนส์ Fix นะ ทำให้เราต้องเดินหามุมบ่อย ๆ ทำให้เราสามารถที่จะยึดความคิดสร้างสรรค์และการถ่ายทอดมุมมองเป็นหลัก แทนการพึ่งพาอุปกรณ์ (คืออุปกรณ์ยังสำคัญนะ แต่ไอเดียการถ่ายภาพมาจากความคิดสร้างสรรค์)
ลองคิดดูว่าถ้าเราสามารถถ่ายภาพในหลายมุมมองได้จากเลนส์ตัวเดียว โดยที่เราไม่ต้องมามีข้ออ้างเรื่องอุปกรณ์ในการถ่ายภาพ ถ้าทำได้ขนาดนี้สุดยอดเลยไหมล่ะ เพราะงั้นการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในภาพก็เริ่มจากตรงนี้ก็ได้

2. ตั้งเป้าหมายถ่ายภาพที่ดีวันละ 1 ภาพ ถ่ายให้ได้ทุกวัน
ถ้าฝังตัวในกลุ่มถ่ายภาพสตรีท มักจะเห็นโจทย์ประมาณนี้คือการถ่ายภาพทุก ๆ วัน โดยเลือกวันละภาพที่ดีที่สุดของวัน สะสมไว้ทุกวัน พอครบเดือนนึงเราก็ได้ภาพที่ดีถึง 30 ภาพ แล้วถ้าปีนึงล่ะ โห้วว มันคงสุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะ
นอกจากนี้การที่เราตั้งเป้าหมายวันละภาพ ทำให้เราฝึกที่จะจัดเตรียมความคิด และฝึกฝนการถ่ายภาพโดยมีการวางแผนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มแรกมาถึงการฝึกถ่ายภาพทุกวันได้เลย

3. แลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อนในการถ่ายภาพด้วยกัน เป็นไปได้เข้าหาคนที่มีประสบการณ์มากกว่ามาช่วยไกด์แนวทางในการพัฒนาทักษะจะไปได้เร็วขึ้น
สังเกตง่าย ๆ ได้เลยว่าทำไมคนที่เข้าอบรม ฝึกทักษะ สัมนาต่าง ๆ ทำไมถึงสามารถมีพัฒนาการที่ไปได้รวดเร็ว มนุษย์เรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา เพราะเราอยากพัฒนาไปให้เร็วขึ้นนั่นเอง การฝึกกับคนอื่น ๆ เราสามารถเห็นทั้งความคิด กระบวนการคิดของคนอื่น การแก้ปัญ คือเราเห็นอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน
ในสภาพการแข่งขัน สมองและร่างกายเราจะตื่นตัว มีเป้าหมายชัดเจน ทำให้พัฒนาการไปได้รวดเร็วมาก คิดดูว่าเราแก้ปัญหาคนเดียวกับแก้ปัญหาพร้อม ๆ กัน 5-10 คน แบบไหนจะได้ Solution ที่เยอะกว่าล่ะ คนเยอะกว่าก็ย่อมดีกว่า ดังนั้นการหาเพื่อนร่วมทีมฝึกถ่ายภาพ หรือหาคนที่เก่ง ๆ มาช่วยไกด์เรา (ส่วนใหญ่ก็ตามกลุ่มถ่ายภาพแหละ) มันทำให้เราพัฒนาได้เร็วกว่าที่เราคิดเยอะ และยังได้ Connection กับเพื่อนร่วมวงการด้วย

4. ถ่ายภาพในสถานที่เดิมในช่วงเวลาที่ต่างกัน
ในกรณีที่เราไม่ได้มีเวลาไปในสถานที่อื่น การถ่ายภาพในสถานที่เดิมก็ไม่ได้แย่อะไร เพียงแต่พยายามถ่ายให้มีหลายเรื่องราว แม้ว่าจะอยู่ในสถานที่เดิม ๆ มันอาจจะยากหน่อย แต่ก็เป็นโจทย์ที่ดีซึ่งจะช่วยใหเราฝึกฝีมือได้ในช่วงที่ไม่มีเวลาไปสถานที่ใหม่

5. สนุกไปกับการฝึกฝน และตั้งเงื่อนไขใหม่ ๆ
สุดท้ายแล้วก็ต้องสนุกไปกับมันนะ ถ้าเครียด ๆ แล้วฝึกไปสภาพนั้น แรงบันดาลใจก็ไม่มี เป้าหมายก็ไม่มี แถมเบื่ออีก ร่างกายและสมองคงไม่สามารถผลิตความคิดสร้างสรรค์อะไรให้กับการถ่ายภาพของเราได้ ดังนั้นให้เราสนุกกับมันอย่างเต็มที่ ตั้งเงื่อนไขยากขึ้น ท้าทายขึ้น จะทำให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ ในการพิชิตการถ่ายภาพนั้น สุดท้ายเราก็ค่อย ๆ เก่งขึ้นครับ
