
6 ทิปส์การถ่ายภาพด้วยมือถือฉบับเข้าใจง่าย
6 ทิปส์การถ่ายภาพด้วยมือถือฉบับเข้าใจง่าย ในโลกของการถ่ายภาพนั้น มีคำกล่าวว่า การถ่ายภาพดิจิตัลนั้นคือความเท่าเทียมกัน แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ นอกจากกล้องดิจิตัลแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความเท่าเทียมในการถ่ายภาพได้ก็คือ โทรศัพท์มือถือนั่นเอง

ในบทความนี้เราจะมาแนะนำทิปส์ง่ายๆในการถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ที่มีความคมชัดมากหรือน้อยก็แล้วแต่นั้นไม่สำคัญ เพราะเชื่อว่าในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ค่ายมือถือก็ได้พัฒนาปรับปรุงระบบกล้องให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญนั้นคือการใช้ทิปส์เหล่านี้ทีจะช่วยคุณพัฒนาการถ่ายภาพด้วยมือถือของคุณ ก่อนที่เราจะพูดถึงทิปส์ในการถ่ายภาพ เราจะมาเริ่มด้วยการเซตกล้องมือถือของเราให้พร้อมก่อนเริ่มใช้งาน

โดยปกติแล้วเราพกมือถือของเราไปทุกที มักจะใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงบ้าง ในกระเป๋าพกพาบ้าง ส่งผลให้ตัวเลนส์ อาจจะเกิดรอยนิ้วมือหรือมีฝุ่นเกาะอยู่ที่ตัวเลนส์ แนะนำว่าถ้าใช้งานกล้องมือถือเป็นหลักในการถ่ายภาพ ควรจะพกพาผ้าเช็ดเลนส์กล้อง เช่น ผ้าไมโคร ไฟเบอร์ที่มีลักษณะ ลื่นและนิ่ม ไม่ทำลายตัวกระจกเลนส์ ก่อนใช้งานกล้องมือถือควรทำความสะอาดเลนส์ก่อนทุกครั้ง หลังจากนั้นให้เข้าไปที่แอปกล้องถ่ายรูป เพื่อเปิดตั้งค่าการใช้งานเส้น grid
ในตอนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดคือ วิธีการจับโทรศัพท์ของเราในขณะที่ถ่ายรูปนั้นเอง เพราะว่าบางคนชอบจับโทรศัพท์มือเดียวขณะถ่าย และพยายามใช้มืออีกข้างกดถ่าย นั้นจะทำให้ภาพของเราไม่คมชัด แถมภาพอาจจะสั่นได้อีกด้วย เราก็มีข้อแนะนำว่าทุกครั้งที่ถ่ายรูปควรจะใช้สองมือช่วยประคองโทรศัพท์ของเรา เหมือนเวลาที่เราถือบอดี้ของกล้องเช่นกัน เราจะมาเริ่มกันเลยว่าการถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์ มีวิธีการยังไงบ้าง
6 ทิปส์การถ่ายภาพด้วยมือถือฉบับเข้าใจง่าย
1. การเน้นไปที่ตัวแบบหรือวัตถุ
โดยปกติการถ่ายภาพด้วยมือถือนั้น ถ้าเป็นการถ่ายภาพบุคคล คนมักจะเน้นถ่ายในมุมกว้างหรือพยายามทำให้เห็นส่วนประกอบทั้งหมดของภาพ ซึ่งการถ่ายภาพแบบเน้นไปที่แบบหลักมักจะเป็นในลักษณะการถ่ายภาพบุคคล ที่ไม่เน้นฉากหลัง แต่จะเน้นไปที่ตัวแบบ เวลาที่ถ่ายเราจะต้องถ่ายเข้าไปใกล้ตัวแบบมากขึ้น การถ่ายภาพในลักษณะนี้จะทำให้เห็นการสื่ออารมณ์และความรู้สึกของตัวแบบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
Shot on Xiaomi note 10
2. สร้างกรอบภาพเพื่อกำหนดจุดสนใจ
วิธีนี้อาจจะต้องใช้ไหวพริบและการสังเกตรอบๆตัวเรา ว่าพอมีสิ่งไหนที่จะมาสร้างเป็นกรอบภาพให้กับตัวแบบได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น กรอบประตู หน้าต่าง ทางเดิน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น

3. ใช้กฎสามส่วน
การใช้กฎสามส่วนเป็นการวางตัวแบบให้อยู่ในจุดโฟกัส ซึ่งถ้าจำได้ว่าในตอนแรกเวลาเราเตรียมความพร้อมของกล้องมือถือ เราจะให้เปิดใช้งานเส้นตารางก่อนเสมอ เพื่อใช้กับกฎสามส่วน ข้อสำคัญในการใช้กฎสามส่วนคือ การวางตัวแบบให้อยู่ในจุดตัดของเส้นแนวตั้งและเส้นแนวนอน จะช่วยให้ผู้ชมโฟกัสได้ถูกจุด
4. ใช้เส้นนำสายตา ดึงสายตาเข้าสู่จุดสนใจ
วิธีนี้ให้เราพยายามที่จะมองหาสิ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นเส้นนำสายตาได้ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเราสามารถใช้โครงสร้างอาคาร เส้นถนน ลู่วิ่ง ในการสร้างเส้นนำสายตาให้กับตัวแบบได้ ตามที่ตาเรามองเห็น
5. การกำหนดจำนวนวัตถุในภาพ (กฏเลขคี่)
หลายๆคนอาจจะไม่เคยได้ยินกฎการถ่ายภาพในข้อนี้ ว่ากฎข้อนี้ส่งผลยังไงต่อภาพของเรา สิ่งนี้จะช่วยให้ภาพของเรามีความน่าตื่นเต้น เวลาที่ถ่ายภาพวัตถุ คือการกำหนดจำนวนวัตถุที่เราต้องการให้เป็นเลขคี่ 3 หรือ 5 เป็นต้น โดยปกติสมองของเราทำงานได้ดี เมื่อเวลาที่เห็นวัตถุมีสถานะเป็นเลขคี่ จะดึงความสนใจได้ดีมาก วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่น่าสนุกและสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมมากๆ

6. ใช้ความสมมาตรเพื่อให้ความรู้สึกสมดุลภาพในภาพ
การวางภาพของเราให้ดูสมดุลกันมากที่สุด ในแง่ของ สี ขนาด และรูปร่างของวัตถุ ที่จะไม่สร้างความแตกต่างกันมากเกินไป ในกฎข้อนี้ยังสามารถถ่ายรูปแบบภาพสะท้อนระหว่างพื้นดินกับพื้นน้ำได้ด้วย เป็นแนวทางที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับภาพของเรา ซึ่งน่าลองไปฝึกถ่ายกันมากๆ เลย
Shot on OPPO Reno5 Series 5G
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางง่ายๆที่สามารถ่ายด้วยมือถือของคุณ ถ้าคุณได้ฝึกฝนถ่ายภาพด้วยวิธีเหล่านี้แล้วละก็ จะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ดูเป็นธรรมชาติและดูโปรมากขึ้นอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพได้ที่นี่
- 15 วิธีฝึกถ่ายภาพให้สวยขึ้นสำหรับมือใหม่
- พื้นฐานเรื่องสีกับการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ และวิธีการใช้สีเพื่อสื่ออารมณ์ภาพ
- การละลายฉากหลัง และ DEPTH OF FIELD คืออะไร มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง เรื่องพื้นฐานที่มือใหม่ควรรู้
- 5 เรื่องน่ารู้สำหรับมือใหม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพและอุปกรณ์
- OVEREXPOSURE ปัญหาการถ่ายภาพแล้วแสงเกินสำหรับมือใหม่ และวิธีในการแก้ไขทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ
- 5 วิธีที่จะทำให้ภาพเล่าเรื่องได้ (STORYTELLING IN PHOTOGRAPHY)