Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

7 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนคิดจะซื้อ SIGMA fp โดยเฉพาะคนถ่ายภาพและวิดีโอมือใหม่

7 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนคิดจะซื้อ SIGMA fp กล้อง SIGMA fp เป็นกล้อง Mirrorless Full Frame ที่เรียกได้ว่าเป็นกล้องฟูลเฟรมที่มีขนาดเล็กที่สุด แล้วก็ถ่ายวิดีโอแบบ Cinema DNG ได้ด้วย​ (ถ่ายวิดีโอแบบ RAW File) แถมยังราคาคุ้มค่าสำหรับการลงทุนเอามาก ๆ ด้วย ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นผู้ที่ซื้อ SIGMA fp ตั้งแต่ที่ล็อตแรกเข้าเลย และเข้าใจประเด็นตรงนี้ดี ผมเข้าใจผู้ใช้นะ แน่นอนว่าผมยังรักกล้องรุ่นนี้และยังจะซื้อมาใช้เพิ่มอีกด้วย ซึ่งวันนี้ผมมีจุดที่เจอมาและจะมาเล่าให้ฟังครับ 

SIGMA fp ด้วยที่แม้ว่ากล้องจะดีอย่างที่ได้เกริ่นไป แต่ก็ยังมีจุดที่ควรทำความเข้าใจโดยเฉพาะคนที่ต้องการจะซื้อกล้องตัวนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจการทำงานและประเด็นของกล้อง SIGMA fp ที่มีอยู่ด้วย เพราะจากการที่สอบถามกลุ่มมืออาชีพสายวิดีโอมา เขาค่อนข้างที่จะมีวิธีจัดการกับประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว เดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังครับว่ามีส่วนไหนบ้าง

7 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนคิดจะซื้อ SIGMA fp โดยเฉพาะคนถ่ายภาพและวิดีโอมือใหม่

1. SIGMA fp เป็นกล้อง Full Frame ที่เล็กที่สุดในโลกก็จริง แต่สำหรับบางงานโดยเฉพาะวิดีโอ เขาอาจจะไม่เล็กสำหรับเราอีกต่อไป

SIGMA fp แน่นอนว่าเป็นกล้อง Mirrorless Full Frame ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกจริง แต่ถ้าใครดูวิดีโอการเปิดตัวของเขาจะเข้าใจว่า ความเล็กตรงนี้ตอบโจทย์สองอย่างคือ คนที่ใช้งานขนาดเล็ก ๆ สำหรับถ่ายภาพหรือวิดีโอ ที่วางแผนอย่างเจาะจงว่าจะใช้งานในแบบเล็กจริง ๆ เช่น SIGMA fp + 45mm F2.8 ก็จะได้กล้องถ่ายภาพ Full Frame ที่มีขนาดเล็กมาก ถ่ายสนุก

แต่เมื่อไหร่ที่เราเริ่มต้นการคุณภาพที่สูงขึ้นแบบเน้น ๆ เพราะเป็นกล้อง Full Frame หรือต้องการทำงานวิดีโอแบบจริงจัง ใช้อุปกรณ์อย่างเลนส์ระดับโปร และต้องการคุณภาพที่สูงอย่างที่กล้องตัวนี้ทำได้ ผมต้องบอกว่า เขาจะไม่เล็กแล้วล่ะ จะประกอบร่างเป็นกล้องอุปกรณ์ชุดใหญ่ได้เลย

เพราะอย่าลืมว่ากล้องตัวนี้เป็นเซ็นเซอร์ฟ Full Frame ดังนั้นเลนส์หลาย ๆ ตัวของ Full Frame ไม่เล็กอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะเลนส์ SIGMA 14-24mm F2.8 ART, SIGMA 70-200 F2.8 ART ถ้าจะใช้ถ่ายภาพนี่ไม่เล็กแล้วครับ ดังนั้นวางแผนเรื่องการเดินทางและระบบการทำงานไว้ด้วยครับ จะได้ไม่เหนื่อยทีหลัง

นอกจากนี้งานวิดีโออันนี้สำคัญ เพราะต้องมี Gimbal Stabilizer ซึ่งต้องทำงานกับเลนส์​ SIGMA แต่ละตัวที่มีอยู่ อาจจะ Balance ได้ไม่ง่ายนักเพราะเลนส์จะหนักไปด้านหน้าด้วย โดยเฉพาะคนที่ต่อ Adapter MC-21 ซึ่งกล้องตัวนี้จะมีอะไรให้เราเรียนรู้เยอะและต้องจัดการก่อนนำไปใช้ (ถ้าหากคุณถ่ายวิดีโอกับขาตั้งกล้องตลอด ประเด็นนี้สบายใจได้ครับ ไม่ต้องคิดอะไรมาก)

2. Cinema DNG Video หรือการถ่ายวิดีโอแบบ RAW ใช้พื้นที่เยอะมาก SSD 1TB บันทึกได้แค่ 50 กว่านาทีเท่านั้น

การถ่ายวิดีโอปกติส่วนใหญ่ผมไม่ได้ Grading สีอะไรมากครับ แต่ด้วยที่กล้องวิดีโอที่ถ่าย Cinema RAW มาอยู่ในจุดที่ผมเอื้อมถึง แล้วก็เป็นเซ็นเซอร์ ​Full Frame ด้วย ผมก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าจะลองเรียนรู้และถ่ายด้วย Cinema RAW แต่ก็ต้องพบอีกโลกนึงคือ Cinema DNG ความละเอียด 4K 24p นั้นกินพื้นที่เยอะมาก ขนาดว่า SSD 1TB ยังถ่ายได้แค่ 52 นาทีเท่านั้นเอง

เรื่องของราคา SSD ผมใช้ Samsung T5 1TB ในการบันทึกนั้นราคาไม่เกิน 6,000 บาทเมื่อเทียบกับเมมความเร็วสูงถ้าจะเอาความจุเท่ากัน ผมบอกเลยว่า SSD ราคาถูกกว่า แต่ประเด็นไม่ใช่ตรงส่วนนี้ครับ

ประเด็นคือการบริหารจัดการ Storage เราต้องปรับวิธีคิดแบบมืออาชีพเลย ต้องมีการประเมินจริงจังว่าวันนึงถ่ายอะไร นานเท่าไหร่ ยังไงบ้าง ถ้าเป็นทริปหลายวันถึงกับต้องคิดว่าพก SSD ไปกี่ตัว ต้องมีแผนสำหรับการโอนถ่ายข้อมูลไว้ Backup ด้วยถ้าเกิดเกินที่ประเมินไว้ แถมยังต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ด้วย เช่นต้องโอนถ่ายข้อมูล 2-3TB ในวันนั้นก็ไม่สนุกแล้ว และหน่วยบันทึกข้อมูลสำรองเราก็ต้องมีความจุมากขึ้นเป็นเท่าตัวเลย

ดังนั้นถ้าเราจะถ่ายวิดีโอแบบ Cinema DNG ไม่ใช่ว่ากล้องเราถ่ายได้แล้วจบครับ ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องคิดตามมาด้วยนะ เลยมาเล่าตรงนี้ให้ฟัง

3. ต้องเรียนรู้กับโปรแกรมตัดต่อใหม่ หากจะทำงานกับไฟล์ Cinema DNG เพราะ Software อย่าง Final Cut Pro หรือ Premiere Pro อ่านไฟล์แบบนี้ตรง ๆ ทันทีเลยไม่ได้ มือใหม่ต้องปรับ Workflow ตัวเอง

การถ่ายวิดีโอแบบ Cinema DNG หรือ Cinema RAW ผมพูดด้วยความใสซื่อเลยว่า ตอนแรกผมเข้าใจว่าจะเป็นเหมือนไฟล์วิดีโอแบบปกติที่เราใช้งานกัน ก็ถ่าย 1 คลิป ก็มีไฟล์วิดีโอไฟล์เดียว ขนาดไฟล์เท่าไหร่ก็ว่ากันไป แต่..ปรากฎว่า…

ไฟล์ Cinema DNG คือไฟล์ภาพ RAW นามสกุล .DNG จะถูกบันทึกเฟรมต่อเฟรมเลย เช่นผมตั้งค่า 4K 24p กล้องก็จะบันทึกภาพ RAW จำนวน 24 ไฟล์ DNG ต่อหนึ่งวินาที!! ถ้าเราถ่ายนานเท่าไหร่ ไฟล์ภาพก็จะเยอะขึ้นตามนั้นเลย

พอเราจะเอาไฟล์ไปใช้จะต้องใช้ Software อย่าง Davinci Reslove ในการทำงานกับไฟล์ Cinema DNG เพราะซอฟต์แวร์นี้จะมองเห็น Cinema RAW เป็นวิดีโอตามปกติครับ

ก็เหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร แต่เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้ากับไฟล์นี้ เราต้องทำงานโดยใช้ Davinci ให้ชำนาญขึ้นให้เหมือนกับเคยใช้ Premiere Pro หรือ Final Cut และอาจจะต้องมีการใช้งานสลับกันระหว่าง Workflow ใหม่และเก่าด้วย ดังนั้นคนที่เป็นมือใหม่อาจจะงงได้กับตอนแรก ยังไงก็เตรียมตัวฝึกไว้ด้วยครับ ส่วนพี่ ๆ ที่เป็นมือโปรอยู่แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับตรงนี้ครับ แอบอิจฉาเหมือนกัน สกิลพร้อมสำหรับตรงนี้แล้ว ฮ่า ๆ 

4. Preview Video สำหรับ Cinema DNG ยังทำไม่ได้ ถ่ายมาแล้วกดดูภาพได้แค่เฟรมแรกเท่านั้น Workflow นี้มืออาชีพเขามีวิธีจัดการของเขา แต่มือใหม่หรือคนทั่วไปอาจจะต้องปรับตัวเยอะอยู่

การทำงานกับไฟล์ VIdeo RAW ยังไม่จบแค่นั้นครับ เพราะว่าเวลาที่เราถ่ายวิดีโอแบบ Cinema DNG มา เราไม่สามารถที่จะ Preview หรือกดดูไฟล์วิดีโอนั้นได้ครับ นอกจากจะโหลดลงคอมแล้วมาเปิด หรือว่าจะใช้จอ Monitor เฉพาะด้านที่งาน Cinema ใช้กัน ราคาหลายหมื่น และขนาดก็ประมาณนึงเลย ซึ่งยังไม่เหมาะกับคนแบบผมแน่ ๆ 

วิธีแก้คือ ถ่ายวิดีโอออกมาให้ดีครับ ฮ่า ๆ อาจจะมีการถ่ายหลายรอบหน่อยสำหรับบาง Footage แล้วก็มาเปิดในคอมเอาอีกทีนั่นแหละ ผมลองกับตัวเองแล้ว ไม่มีปัญหาครับ แรก ๆ จะไม่สบายใจนิดหน่อย แต่หลัง ๆ โอเคจ้า

5. สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นงานวิดีโอ วางแผนเรื่องแบตเตอรี่สำหรับงานวิดีโอให้ดี ทั้งเรื่องการจัดการแบตและเรื่องเงินลงทุน

เรื่องแบตเตอรี่เป็นอีกจุดนึง เพราะว่าแบตเตอรี่ของ SIGMA fp นั้นมีขนาดเล็กครับ ความจุ 1200 mAh ซึ่งผมบอกเลยว่าถ่ายวิดีโอ 4K Cinema DNG ไม่พอหรอก ชั่วโมงนึงก็เก่งแล้วครับ เพราะกล้องเขาใช้พลังเยอะเป็นเรื่องปกติ ถ้าจะซื้อแบตแยกหลาย ๆ ก้อน ผมก็คิดว่าถ้างานวิดีโอนะ ไม่เหมาะ ต้องซื้อหลายก้อนและราคาก็น่าจะเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

ผมแก้ปัญหาโดยการซื้อ Dummy Battery มาแล้วก็ต่อแบตเตอรี่แยกภายนอกเอาครับ เข้าใจว่าสายวิดีโอมืออาชีพเขาทำกันแบบนี้แหละ (แต่เขียนไว้อธิบายสำหรับคนที่กำลังขยับเข้ามาในงานวิดีโอครับ)

ซึ่งต่อแบตแยกผมก็ไม่ได้อะไรมากถ้าอยู่กับขาตั้งกล้องนะ แต่ถ้าเกิดใช้ Gimbal เมื่อไหร่ วางแผนเรื่อง ​Setup ไว้ด้วยครับ ทั้งการติดตั้งและระยะเวลาที่เรามีในการติดตั้งเพราะผมถือว่าเป็นต้นทุนในการผลิตคอนเทนต์เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่อยากเอาไปใช้ต่างจังหวัด ทั้งกระบวนการจัดเก็บของ ขนของ และการเซ็ตอัพในสถานที่จริงก็เหนื่อยอยู่บ้าง แลกกับคุณภาพจ้า

6. ประเด็นเรื่อง Flicker เมื่อถ่ายภาพนิ่งในอาคารใต้แสงหลอดไฟ เมื่อใช้ Shutter Speed เกิน 1/50

อันนี้ปวดใจสายถ่ายภาพหน่อย ๆ เพราะตอนแรกผมกะจะย้ายกล้องทั้งหมดมาใช้ SIGMA fp เลย แต่ด้วยที่เจอเรื่อง Flicker ก็คือถ่ายภาพแล้วเกิดเงาดำที่มาจากแสงไฟกระพริบ ถ้าคุณใช้ ​Shutter Speed เกิน 1/50

ผมอธิบายสำหรับมือใหม่เน้อ คือหลอดไฟให้แสงโดยการกระพริบถี่ ๆ ทีนี้กล้อง SIGMA fp เนี่ยจะเป็นกล้องที่ไม่มีชัตเตอร์กลไก (Mechanic Shutter) ทั้งการรับแสงและหยุดการรับแสงก็จะอยู่ที่เซ็นเซอร์เลย ทีนี้เมื่อเวลาที่เราใช้ Shutter Speed ที่สูงหน่อย อย่าง 1/60 ขึ้นไปก็จะเกิด Flicker ขึ้นนั่นเอง

ซึ่งผมแอบเงิบนิดหน่อยแต่เข้าใจมุมของ SIGMA อยู่บ้าง ผมเข้าใจว่า SIGMA ให้น้ำหนักไปทางกล้องสายวิดีโอตรง ๆ เลย ทั้งด้านการออกแบบให้มีขนาดเล็กและก็กล้องมีระบบระบายความร้อนที่ดีมาก เลยต้องเลือกตัดชัตเตอร์กลไกออกไป ทำให้ประเด็นนี้มีข้อจำกัด

ทีนี้เรื่องของการถ่ายภาพ ถ้าถ่ายนอกบ้าน จะใช้ชัตเตอร์เท่าไหร่ก็ใส่ได้เต็มที่ครับ แต่ถ้าในอาคารก็ตั้งไว้ 1/50 รอดครับ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่ผมเจออยู่ทุกวัน ผมใช้อีกกล้องนึงแทนไปเลยดีกว่า เลือกใช้อุปกรณ์ให้ตรงกับงานก็จบปัญหานี้ได้ จะลำบากอธิบายแฟนหน่อยว่าทำไมต้องซื้อกล้องเพิ่มหลายตัว

7. เรื่องทั้งหมดนี้ไม่น่ากลัวถ้าเราเข้าใจ และวางแผน ​​Workflow ให้ดี และใช้อุปกรณ์ให้ตรงกับงานที่ต้องการ

สุดท้ายแล้วเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้น่ากลัวครับ ขอแค่เราเข้าใจงานที่เราต้องทำ และเลือกใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้อง วาง Workflow ให้ดี ผมเชื่อว่าปัญหาแก้ได้ ส่วนเรื่องของกล้อง SIGMA fp ก็เลือกใช้ให้ตรงตามงานที่เราต้องการครับ สิ่งที่ต้องรู้และข้อจำกัดที่ผมได้บอกไปก็เพื่อให้คนที่ยังไม่รู้จักกล้องตัวนี้ สามารถเข้าใจและวางแผนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นในการเลือกอุปกรณ์มาใช้งานครับ

สำหรับผมกล้องตัวนี้ก็ถือว่าเป็นกล้องตัวโปรดที่จะซื้อมาใช้อีก 1-2 ตัวสำหรับใช้งานวิดีโอส่วนตัวและถ่ายภาพครับ เหมาะหรือไม่เหมาะกับใครนั้นผมแนะนำว่าวางแผนให้ตรงกับงานของเรา เราจะได้ของที่ใช้งานได้อย่างเหมาะสม และได้งานออกมาที่ตรงตามแผนเราครับ

ราคา SIGMA fp ในประเทศไทย

SIGMA fp (Body) ราคา 58,900 บาท (ประกันศูนย์ 2 ปี)
SIGMA fp + 45mm F2.8 DG DN ราคา 68,900 บาท (ประกันศูนย์ 2 ปี)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SIGMA Fp

Exit mobile version