Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

7 วิธีเริ่มต้น Vlog สำหรับมือใหม่ เคล็ดลับการสร้างคอนเทนต์สำหรับคนที่เริ่มต้นจากศูนย์

7 วิธีเริ่มต้น Vlog สำหรับมือใหม่ เคล็ดลับการสร้างคอนเทนต์สำหรับคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ นอกจาก PhotoschoolThailand จะมีเนื้อหาทางด้านการถ่ายภาพแล้วจริง ๆ แล้วทางด้านวีดีโอก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ และในปัจจุบันนี้การ Vlog เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทั่วไปเริ่มจะทำกันแล้ว ด้วยที่อุปกรณ์ในการถ่ายวีดีโอก็มีขนาดเล็กลง แล้วก็สื่อในการนำเสนอคอนเทนต์เหล่านี้ก็มีคนใช้เยอะ มีคนดูเยอะ ใช้งานง่าย อีกทั้งการเล่าเรื่องแบบวีดีโอยังสื่อสารได้ง่ายกว่าการทำเป็นตัวอักษรด้วยนะ เพราะสมองของเราจดจำเป็นภาพและการเคลื่อนไหวมากกว่าการจำแบบตัวอักษรนั่นเองครับ

ซึ่งในการเริ่มต้นของคนที่จะมาหัด Vlog เราก็จะมีความกังวลในหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องของความมั่นใจ การพูด การถ่ายทำ คือเราไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากอะไรดี ในวันนี้ผมขอแนะนำจุดเริ่มต้นง่าย ๆ กันก่อน เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มจากศูนย์เหมือนกัน และเรื่อง Vlog ก็ยังเป็นเรื่องที่พยายามเรียนรู้เรื่อย ๆ งั้นเรามาดูรายละเอียดเริ่มต้นพร้อมกันครับ

1. ปรับ ​Mindset กันก่อนว่าเรื่อง Vlog หรือการพูดหน้ากล้อง เป็นเรื่องที่ฝึกกันได้

ลองไปดูวีดีโอใน Channel หรือในคลิปที่ผมรีวิวไว้ก็ได้ครับ ผมใช้เรื่องพื้นฐานง่าย ๆ ก็ตั้งกล้องแล้วก็พูดเลย เทคนิคก็ไม่ได้มีอะไรเยอะ แต่ก่อนที่จะเริ่มความยากสุดคือ “เราไม่มีความมั่นใจอะไรเลย” และเราก็คิดว่า “มันยาก เราทำไม่ได้ หน้าตาเราไม่ได้ดีอะไร” ผมคิดแบบนั้นจริง ๆ นะ

แต่ด้วยที่ผมมีความตั้งใจว่าอยากจะนำเสนอคอนเทนต์ออกมาให้น่าสนใจกว่านี้ สิ่งแรกที่ผมต้องกำหนดใหม่เป็นอย่างแรกเพื่อให้เดินต่อได้คือเรื่องของ Mindset ครับ ผมว่ามันฝึกกันได้ ถ้าตรงไหนไม่ดี ก็จะมีคนบอกเราเองว่า ตรงนี้มันไม่ดีนะ แล้วเราก็แค่ทำออกมาใหม่ให้ดีขึ้น ฝึกบ่อยขึ้น ทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันจะออกมาดีเอง

ผมขอย้ำนะครับว่า Mindset มันเป็นชุดความคิดที่กำหนดสิ่งที่เราจะทำ ถ้าเราไม่กล้า เราก็จะไม่กล้าต่อไป แล้วจะไม่มีอะไรเกิดใหม่ขึ้นเลย แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง สุดท้ายแล้วสิ่งต่าง ๆ ที่เราอยากจะทำ เราก็กล้าจะทำนั่นเองครับ

2. เน้นการสื่อสารก่อน อย่างอื่นไว้ทีหลัง

การถ่ายวีดีโอ Vlog ต้องใช้เทคนิคถ่ายวีดีโอไม่ใช่เหรอ ก็ใช่ครับ มันต้องใช้ แต่คำถามคือ มีเทคนิคเยอะ ๆ แล้วสิ่งที่เราจะสื่อสารหรือพูดคุยกับคนดูล่ะ คืออะไร​? การสื่อสารถ้าแยกสองคำนี้ออก สิ่งหนึ่งคือ “สื่อ” ที่เราใช้ในการเผยแพร่เนื้อหา และ “สาร” คือเนื้อหาที่อยู่ในนั้น Vlog เราจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเราไม่สนใจเนื้อหาหรือสิ่งที่เราจะพูดให้คนดูฟัง คำถามคือ เรารู้หรือยังว่าเราจะสื่อสารอะไรออกมา

ผมยกตัวอย่างเพจ PhotoschoolThailand แล้วกันครับ สิ่งที่ผมพยายามทำออกมาทุกวันคือการพูดคุยกับคนทั่วไปที่เป็นมือใหม่ ที่มีแรงบันดาลใจอยากจะถ่ายรูปถ่ายวีดีโอ ทำออกมาให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความอะไรเยอะ เพราะเราไม่ได้อยากเป็นโปร เราแค่อยากจะชวนเพื่อนและสอนเพื่อนถ่ายรูปเท่านั้น ผมก็สื่อสารลักษณะนั้นออกมาภายใต้หัวข้อต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย นี่แหละครับ ผมเน้นสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมาก่อน อย่างอื่นไว้ทีหลัง

3. Content คือสิ่งสำคัญ เรากำลังมอบเนื้อหาอะไรให้กับคนดู

ในยุคที่ใครต่อใครพูดติดปากกันว่า ต้องทำคอนเทนต์ออกมานะ ต้องมีคอนเทนต์ที่ดี ซึ่งหลายคนยังขาดความเข้าใจอยู่พอสมควรครับว่า คอนเทนต์ที่ถูกต้องนั้นควรเป็นยังไง

เดี๋ยวผมจะอธิบายตัวผมก่อน จริง ๆ ผมทำงานด้าน Digital Marketing ครับ จะคอยดูแลทั้งส่วนงานของ Content ที่จะถูกผลิตออกมาผ่านทางสื่อต่าง ๆ แล้วก็การโฆษณาทั้งบน Facebook/Google (เล่าเพื่อให้รู้จักผมมากขึ้นว่าทำไมผมถึงอธิบายด้านนี้ได้เยอะ) รวมถึงงานอดิเรกด้านการทำบล็อกแล้วก็ถ่ายภาพด้วย ทีนี้งาน Content ของผมนั้นจะกำหนดวัตถุประสงค์ของเนื้อหาว่า เราจะสื่อสารอะไรกับคนดู เราต้องการให้อะไรกับเขา เราจะนำเสนอวิธีไหน กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เขาเป็นยังไง มีความต้องการอะไร เขาอ่านจากสื่อไหน ยังไง

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดครับว่าเนื้อหาของเราจะออกมาในทิศทางไหน ผมยกตัวอย่างนะครับ PhotoschoolThailand ต้องการคุยกับคนที่อยากจะเริ่มต้นถ่ายภาพ เพราะความชอบ ความสนุก ไม่ต้องการภาษาในการอธิบายที่ยุ่งยาก อ่านได้รวดเร็ว เข้าใจง่าย มีภาพประกอบที่สื่อสารได้ น่าสนใจ ภาพประกอบสวย อ่านผ่าน Facebook และ Website และแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายภาพที่ยุ่งยากให้เข้าใจได้ง่ายครับ (ยกตัวอย่างจากวีดีโอเยอะหน่อยนะ ผมไม่เคยถ่ายภาพนิ่งตัวเองไว้เลย)

คอนเทนต์ที่ออกมาในเว็บก็เลยเป็นลักษณะอย่างที่เห็นครับ เน้นเข้าใจง่าย สื่อสารง่าย หัวข้อและเรื่องราวในนั้นไม่ซับซ้อน ดูเหมือนย่อยง่าย ต้องสร้างแรงบันดาลใจ และอ่านได้ไม่ว่าจะอยู่บนมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ อีกทั้งบริบทของคนอ่านไม่ว่าจะอยู่บนรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือนั่งอ่านที่บ้าน ก็วางเป้าว่าให้เขาอ่านได้สะดวก ง่าย เข้าใจได้ทันที สิ่งนี้แหละครับที่ผมพยายามอธิบายเยอะ ๆ ว่าทำไมคอนเทนต์คือสิ่งสำคัญ เราจะมอบอะไรให้เขา

4.กำหนดอุปกรณ์เริ่มต้นง่าย ๆ ว่าต้องใช้อะไรบ้าง

ทำไมต้องอุปกรณ์ง่าย ๆ ล่ะ? ในการเริ่มต้นนั้นหลายคนจะจินตนาการครับ ว่าอุปกรณ์ต้องดีที่สุดที่เราจะหาได้ ของทุกอย่างต้องพร้อม ที่จริงตรงนั้นก็ดีครับ แต่ถ้าเราไม่ได้มีงบเยอะแยะขนาดนั้น เราลองเริ่มจากสิ่งที่เรามีก่อนก็ได้ครับ เพื่อที่เราจะได้ฝึกฝนแล้วเริ่มต้นได้เลยโดยที่ไม่มีกำแพงหรือเงื่อนไขอะไรที่มันเยอะแยะวุ่นวาย

เราอาจจะใช้กล้องมือถือครับ ถ่ายคลิปเวลาไปเที่ยว จะพูดหน้ากล้องด้วย หรือถ่ายวีดีโอแบบรวม ๆ แล้วเอามาตัดต่อในมุมที่เราอยากนำเสนอก็ได้ จากนั้นลองให้เพื่อดูแล้วขอ Feedback จากเพื่อนครับว่าเป็นยังไงบ้าง จากนั้นค่อยขยับอุปกรณ์เป็นอย่างอื่นไปก็ได้

ในยุคนี้กล้อง Smartphone ก็ให้ความละเอียดในระดับ 4K แล้ว สามารถที่จะต่อไมโครโฟนจากภายนอกได้ แค่นี้ก็สามารถที่จะผลิตคอนเทนต์ได้แล้ว หรือว่าดีขึ้นมาหน่อยก็กล้อง Action Camera อย่าง GoPro ก็ได้ครับ หรือจะเป็นกล้อง Compact, Mirrorless ที่เรามีก็ได้ครับ จากนั้นค่อย ๆ ขยับเพิ่มจากที่มีให้ดีขึ้นก็ได้

5.สิ่งที่จะทำให้วีดีโอมีความน่าสนใจ

ข้อนี้ผมจะย้ำหัวใจของข้อ 2 และ 3 มารวมกันครับ สิ่งที่จะทำให้วีดีโอมีความน่าสนใจ จะประกอบด้วยหลัก ๆ คือ “เนื้อหา” และ “วิธีในการนำเสนอ” ซึ่งเนื้อหาจะเป็นหัวใจแรกก่อน เราต้องคิดให้ออกว่า ทำไมคนดูต้องเสียเวลาดูคอนเทนต์หรือวีดีโอของเราล่ะ เพราะมันตลก มันสนุก หรือว่ามันแก้ปัญหาบางอย่างกับเขาได้?

เวลาที่เราดูวีดีโอคนอื่นเราลองตั้งคำถามย้อนกลับครับว่าทำไมเราถึงดูวีดีโอของเรา อาจจะเพราะเราชอบเขา (ถามตัวเองลึกลงไป ทำไมถึงชอบ) หรือแม้แต่ตอนที่คุณกำลังอ่านบทความมาถึงบทความนี้ ทำไมคุณถึงเสียเสียเวลาอ่านทั้งที่เนื้อหาก็ยืดยาวพอสมควรแล้วต้องคิดตามด้วย เพราะว่าเนื้อหานี้กำลังให้อะไรบางอย่างกับคุณใช่ไหมล่ะ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการผลิตคอนเทนต์ การถ่ายวีดีโอ แล้วดูเหมือนเรื่องเหล่านี้กำลังจำเป็นกับคุณด้วย เพราะงั้นเวลาที่เราผลิตคอนเทนต์ออกมาให้ยึดกระบวนการคิดและผลิตแบบเดียวกันกับวิธีนี้ดูครับ จะทำให้เราเริ่มต้นง่าย และเราหาจุดสนใจของวีดีโอเราได้ง่ายขึ้น

6.ลงมือสร้างคอนเทนต์ง่าย ๆ ให้พร้อมแล้วค่อยลุยของจริง

ผมเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองเลย เพราะงั้นผมต้องแก้ที่ตัวเองก่อนคือ เริ่มทำคอนเทนต์ง่าย ๆ ไว้ดูคนเดียวครับ ทำไปเรื่อย ๆ จนมั่นใจในตัวเองแล้วค่อยทำของจริงออกมาให้คนอื่นดู ผมเป็นแบบนั้นจริงนะ

ในตอนที่ถ่ายวีดีโอรีวิวอย่าง DJI OSMO Pocket หรือ GoPro Hero 7 Black ผมบอกเลยว่าวีดีโอที่เห็นไม่กี่นาทีครับ ประมาณ 7-10 นาทีได้ ผมจำได้ว่าผมนั่งพูดอยู่ข้ามวันเลยนะ พูดประมาณ 400 กว่าเทคได้ คือกดถ่ายแล้วพูดไปเรื่อย ๆ พูดไปจนรู้สึกมั่นใจนั่นแหละ แล้วเอาคลิปมาตัดเพื่อสื่อสารให้เข้าใจง่าย มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ครับ เพราะบ่อยครั้งเนื้อหาผมไม่แน่ใจว่าคำพูดที่สื่อสารออกมามันเข้าใจง่ายจริง ๆ ใช่ไหม ผมพูดเร็วไปไหม (ผมเป็นคนพูดเร็วครับ ถ้าจะพูดช้า ๆ ผมต้องคุมจังหวะพูดมาก ๆ 555) เพราะงั้นเริ่มทำจากคอนเทนต์ง่าย ๆ ก่อนค่อยลุยของจริงก็ได้ครับ

7.ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง พยายามทำออกมาจนเรารู้สึกว่า เราชินกับมันแล้ว

สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรเกินคำว่าฝึกฝนครับ พยายามฝึกอย่างต่อเนื่องจนเรารู้สึกคุมมันได้ เราชินกับมัน เราตื่นเต้นน้อยลง ประหม่าน้อยลง หลังจากนั้นเราก็จะสามารถผลิตคอนเทนต์ออกมาได้มากขึ้น มั่นใจเยอะขึ้น สนุกมากขึ้นครับ ผมเชื่อนะว่าใครก็ทำได้ เพราะเราทุกคนมีเรื่องเล่ามากมายที่อยากจะเล่ากับเพื่อน ทำไมเราจะ ​Vlog ทำคอนเทนต์ดี ๆ ออกมาไม่ได้ล่ะจริงไหม ^^

รวมบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่

Exit mobile version