
7 วัน 7 แบบฝึกหัดจัดองค์ประกอบภาพเพื่อพัฒนาให้ถ่ายภาพได้สวยขึ้น
7 วัน 7 แบบฝึกหัดจัดองค์ประกอบภาพเพื่อพัฒนาให้ถ่ายภาพได้สวยขึ้น การถ่ายภาพเพื่อให้ได้อย่างที่ต้องการ ต้องผ่านการฝึกฝนและใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการตัดสินใจเพื่อวางองค์ประกอบภาพ และสิ่งที่เราจะทำด้วยกันต่อไปนี้ คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้มือใหม่ได้ฝึกฝนการจัดองค์ประกอบได้ในทุกวัน

โดยจะมีหัวข้อเพื่อให้มือใหม่ลองหาสถานการณ์เพื่อให้ได้ฝึกใช้การจัดวางองค์ประกอบให้ได้อย่างที่ได้กำหนดไว้และตั้งเป้าหมายในแต่ละวัน จากนั้นลองประเมินผลภาพที่ได้ในแต่ละวัน เพื่อมองหาจุดที่โดดเด่นและจุดที่คิดว่าเป็นจุดผิดพลาด บันทึกเก็บไว้เพื่อที่จะไม่ทำพลาดซ้ำอีก
7 วัน 7 แบบฝึกหัดจัดองค์ประกอบภาพเพื่อพัฒนาให้ถ่ายภาพได้สวยขึ้น
วันที่ 1 วางตัวแบบที่จุดตัดเก้าช่อง
การเริ่มต้นจัดวางองค์ประกอบที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับมือใหม่ คือการใช้จุดตัดเก้าช่องในการวางตัวแบบโดยให้ตัวแบบอยู่ในจุดตัดจุดใดจุดหนึ่งในสี่จุด หรือถ้าตัวแบบเป็นบุคคล ให้วางศีรษะหรือดวงตาไว้บริเวณจุดตัดนั้นนั่นเอง

วันที่ 2 ใช้เส้นนำสายตา ดึงความสนใจ
ในระหว่างการเดินทางออกไปทำงาน หรือออกไปซื้อของหน้าบ้านลองมองหาจุดที่จะเป็นตัวแบบ แล้วถ่ายภาพออกมาโดยใช้เส้นสายที่อยู่บริเวณนั้น เช่น ราวจับ ระเบียง สะพาน ทางเดิน สายไฟ ลองใช้เส้นสายที่เห็นเหล่านั้น ดึงสายตาเพื่อไปยังจุดสนใจ หรือตัวแบบที่เราต้องการ

วันที่ 3 จัดวางแบบสมมาตร
การวางแบบสมมาตรให้ง่ายที่สุดคือการวางจุดสนใจหรือตัวแบบให้อยู่ตรงกลางภาพ หรือการถ่ายภาพเพื่อให้น้ำหนักที่อยู่ในภาพทั้งด้านซ้ายและด้านขวาให้ความรู้สึกได้ว่าภาพถ่วงน้ำหนักเท่า ๆ กัน ซึ่งเหมือนกับเอากระจกวางกลางภาพนั่นเอง

วันที่ 4 จัดเลเยอร์เพื่อสร้างมิติให้กับภาพ ฉากหน้าและพื้นหลัง
ลองจัดระยะภาพเพื่อให้เกิดมิติลึกตื้น ด้วยการให้ภาพมีฉากหน้า และส่วนที่เป็นพื้นหลัง ฉากหน้าคือส่วนที่อยู่ด้านหน้าของภาพ จะให้ส่วนด้านหน้าชัด เพื่อเป็นตัวแบบหลักแล้วเบลอส่วนพื้นหลัง หรือจะให้ส่วนหน้าเบลอ แล้วให้ฉากที่อยู่ด้านหลังชัด (หรือใช้การซ้อนภาพเพื่อให้ภาพชัดทั้งใบก็ได้นะ) แต่ลองฝึกเทคนิคนี้สลับกันไปจะเข้าใจเรื่องการใช้เลเยอร์มากยิ่งขึ้น

วันที่ 5 จัดวางภาพตามสัดส่วน 1:3
การจัดวางตามสัดส่วน 1:3 คือการใช้พื้นที่ 1 ส่วนสำหรับตัวแบบและอีกสองส่วนเป็นองค์ประกอบเสริม เช่นการถ่ายภาพ Landscape ที่ 1 ส่วนเป็นพื้นน้ำ หรือพื้นดิน ภูเขา และสองส่วนที่เหลือเป็นท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆระบายท้องฟ้าอยู่ ซึงเราสามารถใช้เทคนิคในข้อนี้ฝึกถ่ายภาพแนวมินิมอลได้อีกด้วยคือให้ตัวแบบอยู่ 1 ส่วนและอีกส่องส่วนเป็นพื้นที่ว่าง

วันที่ 6 วางภาพเต็มเพรม
การถ่ายภาพแบบเต็มเพรมคือการวางวัตถุที่เป็นตัวแบบให้เต็มพื้นที่ทั้งเฟรม ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ทั้งการถ่ายวัตถุ ตัวแบบที่เป็นบุคคล ซึ่งเรามักจะเห็นบ่อยคือการถ่ายภาพแบบ Close up ที่จะเห็นรายละเอียดของสิ่งเล็ก ๆ แต่เต็มภาพ ซึ่งเราก็สามารถใช้เทคนิคแบบนี้ในการถ่ายภาพบุคคลได้ด้วยเช่นกัน ลองหาของเล่น สิ่งของมาเป็นตัวแบบ แล้วลองฝึกก็ได้ครับ

วันที่ 7 สร้างกรอบภาพ
กรอบภาพทำหน้าที่ในการกำหนดและตีกรอบเพื่อให้สายตามองไปยังจุดที่ต้องการได้ในทันที ลองใช้กรอบที่มีอยู่ในธรรมชาติ ต้นไม้ กิ่งไม้ หรือสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัว หรือจะใช้ฉากหน้าเพื่อเป็นกรอบภาพก็ได้เช่นกัน การสร้างกรอบภาพทำได้ทั้งการถ่ายภาพทิวทัศน์และการถ่ายภาพบุคคล

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพได้ที่นี่
- 15 วิธีฝึกถ่ายภาพให้สวยขึ้นสำหรับมือใหม่
- พื้นฐานเรื่องสีกับการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ และวิธีการใช้สีเพื่อสื่ออารมณ์ภาพ
- การละลายฉากหลัง และ DEPTH OF FIELD คืออะไร มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง เรื่องพื้นฐานที่มือใหม่ควรรู้
- 5 เรื่องน่ารู้สำหรับมือใหม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพและอุปกรณ์
- OVEREXPOSURE ปัญหาการถ่ายภาพแล้วแสงเกินสำหรับมือใหม่ และวิธีในการแก้ไขทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ
- 5 วิธีที่จะทำให้ภาพเล่าเรื่องได้ (STORYTELLING IN PHOTOGRAPHY)
- 7 ข้อดีของการใช้ขาตั้งกล้อง ในการถ่ายภาพและวิดีโอ เรื่องที่มือใหม่เพิ่งหัดถ่ายภาพควรรู้