7 เทคนิคถ่ายภาพเปลี่ยนมือใหม่ให้เป็นมือโปร
7 เทคนิคถ่ายภาพเปลี่ยนมือใหม่ให้เป็นมือโปร สำหรับผู้ที่เริ่มหัดถ่ายภาพและอยากที่จะมีพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการถ่ายภาพ ซึ่งจะทำให้คนเริ่มต้นนั้นสามารถหาแนวทางในการฝึกฝนเทคนิค และการสังเกตเรื่องสีสัน แน่นอนว่าจะทำให้เราถ่ายภาพเก่งขึ้นได้

7 เทคนิคถ่ายภาพเปลี่ยนมือใหม่ให้เป็นมือโปร
1. ใช้เทคนิคการซ้อนกรอบภาพ (Subframing)
เทคนิคการซ้อนกรอบภาพ การเพิ่มกรอบในกรอบภาพเป็นอีกเทคนิคที่น่าสนใจและเพิ่มลูกเล่นให้กับภาพถ่ายของเรา โดยจะช่วยให้ดึงความสนใจไปที่ตัวแบบของเราได้อย่างเจาะจง ซึ่งจะมีวิธีการที่แยกย่อยออกไปอีก อย่างเช่น เราสามารถใช้องค์ประกอบที่อยู่ในฉากหลังหรือฉากหน้า แสง สี และพื้นผิวของวัตถุ หรือการผสมผสานกันเพื่อสร้างองค์ประกอบของภาพที่สวยคมมากขึ้นได้
2. ทฤษฎีของสี ( Color Theory )
สีส่งผลต่อการถ่ายทอดเรื่องราวของภาพถ่าย เมื่อความสัมพันธ์สีมีความเกี่ยวเนื่องในทุกแขนงเช่น วัฒนธรรม ประสบการณ์ซึ่งในการเลือกโทนสีนั้นให้คำนึงถึงความหมายที่เราจะนำเสนอ ทั้งยังสามารถสื่อสารถึงอารมณ์ของภาพได้ด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ของสีมีหลายแบบด้วยกันเช่น
* Complementary คือ โทนสีที่ตรงข้ามกันในวงล้อสี แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีชีวิตชีวา
* Split complementary คือ สีคู่ตรงกันข้ามที่เยื้องไปทางด้านซ้ายและด้านขวา
* Triadic คือ การดึงสีสามสี ที่มีระยะห่างจากตัวมันเองเท่าๆกันในวงล้อสี
* Analogous คือ สีข้างเคียงที่อยู่ทั้งด้านซ้ายและขวาในวงล้อสี ที่มีสีคล้ายคลึงกัน

3. การนำสีที่ต่างกันสุดขั้วมาแมทช์กัน (Color blocking)
การถ่ายภาพในลักษณะนี้ช่างภาพจะต้องมิกซ์แอนด์แมทช์ระหว่างฉากหลังและชุดของนางแบบ เป็นการใช้สีที่ต่างวรรณะ สีสันฉุดฉาด แตกต่างแบบสุดขั้ว ที่เมื่อจับคู่สีแล้วทำให้ดูแปลกตาและดึงดูดสายตาของผู้ชม
4. พื้นที่ว่างรอบๆตัวแบบหรือวัตถุ (Negative space)
เทคนิคนี้จะช่วยให้ตัวแบบของเราโดดเด่น และส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ทำให้ผ่อนคลายและไม่รู้สึกอึดอัดมากเกินไป แถมยังรู้สึกสบายตาอีกด้วย โดยการเลือกสถานที่ ที่สามารถมองเห็นท้องฟ้ามุมกว้าง อาจจะเป็นทะเล ภูเขา ก็ได้ เลือกช่วงเวลาและแสงธรรมชาติ ซึ่งไม่ว่าจะถ่ายในช่วงเวลาไหน ลักษณะของแสงจะส่งผลต่ออารมณ์ ณ ตอนนั้นๆที่แตกต่างกันออกไป
5. องค์ประกอบในการถ่ายภาพ ( Composition )
การจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพนั้นเป็นส่วนที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่เราจะต้องแม่นยำและฝึกฝนบ่อยๆ วิธีนี้จะช่วยเราในเรื่องของการนำเสนอและบอกเล่าเรื่องราวของภาพถ่ายให้กับผู้ชม ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
กฎสามส่วน ( Rules of third ) จะช่วยให้น้ำหนักของภาพบาลานซ์และบรรยายเรื่องราวของภาพได้อย่างชัดเจน

กรอบภาพ ( Framing ) จะช่วยจำกัดพื้นที่การมองได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ความสนใจตรงไปยังตัวแบบได้ทันที

เส้นนำสายตา ( Leading lines ) ช่วยในเรื่องของการแบ่งสัดส่วนของภาพได้อย่างดี อีกทั้งยังดึงจุดสนใจไปยังวัตถุหรือตัวแบบจะนำเสนอ

แสงและเงา ( Light/Shadow) ช่วยสร้างมิติให้กับภาพ

6. เข้าใจเรื่องระยะเลนส์หรือทางยาวโฟกัส ( Focal length )
ระยะเลนส์มีผลกับลักษณะของภาพที่ได้ การใช้ความยาวโฟกัสที่แคบลงเพื่อลดการดึงดูดจากวัตถุโดยรอบ และใช้ความยาวโฟกัสที่กว้างขึ้นเพื่อภาพที่ถ่ายออกมาจะมีมุมที่กว้างมากขึ้น

เช่นการใช้เลนส์มุมกว้าง 24 มม. เพื่อการถ่ายภาพทิวทัศน์ การถ่ายภาพบุคคลด้วยเลนส์ 50 มม. เพื่อให้ได้ขนาดและรูปร่างเสมือนจริง ทั้งยังให้พื้นหลังมีโบเก้กลมสวยงาม หรือการถ่ายภาพบุคคลละลายฉากหลังละมุนด้วยเลนส์เทเลโฟโต้

7. การพัฒนาภาพถ่ายให้ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาดียอดเยี่ยมด้วย Post-Processing
เมื่อพัฒนาเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพแล้ว สิ่งที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาไปควบคู่กันไปด้วยคือการแต่งภาพ ซึ่งอย่างที่เราเห็น ภาพใบหนึ่งประกอบด้วยการผ่านกระบวนการ Post-Processing หลายขั้นตอนกว่าจะออกมาสวยงามตามที่ตั้งใจ
ทั้งหมดนี้เป็น 7 เทคนิคพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรากฐานในการถ่ายภาพใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อพัฒนาสู่การเป็นมือโปรครับ
พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND
อ่านบทความสำหรับมือใหม่
- 3 เรื่องพื้นฐานที่ HISTOGRAM สามารถบอกได้
- 5 ประเด็นหลักที่ช่วยให้ถ่ายภาพคมชัดสวยสำหรับมือใหม่เริ่มต้นถ่ายภาพ
- 3 คู่สีที่จับคู่เมื่อไหร่ก็ให้ภาพสวยโดดเด่นสะดุดตา
- 7 วิธีการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพจากการดูภาพถ่ายสำหรับมือใหม่
- 3 กฏพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพใช้งานได้เลยสำหรับผู้เริ่มต้น