Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

7 เทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยวเพื่อให้ภาพสื่อสารเรื่องราวและถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีขึ้น

7 เทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยวเพื่อให้ภาพสื่อสารเรื่องราวและถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีขึ้น การถ่ายภาพนอกจากจะเป็นการบันทึกความทรงจำและความประทับใจกับเหตุการณ์ที่เจอ หรือสถานทีที่สวยงามแล้ว ยังเป็นการสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ให้กับผู้ชมภาพได้อีกด้วย หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ถ่ายภาพ เมื่อกลับมานั่งย้อนดูภาพก็เชื่อได้ว่าภาพเหล่านั้นจะกลับมาพูดคุยและสื่อสารอารมณ์ เรื่องราวในขณะนั้นให้กับเราได้ ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเสน่ห์ของภาพถ่ายเลยล่ะครับ

7 เทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยวเพื่อให้ภาพสื่อสารเรื่องราวและถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีขึ้น

1. ใช้ตัวบุคคลเป็นตัวแบบหลักเพื่อเล่าเรื่อง

บุคคลเป็นตัวแบบหลักที่สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างชัดเจน ทั้งท่าทางที่แสดงออก และสายตาที่ให้ เป็นการสื่อสารที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ความสนุกสนาน สดใส ความเศร้า ความเหงา การเก็บอารมณ์และท่าทางของตัวแบบที่เป็นบุคคล จึงช่วยให้ภาพสื่อสารออกมาได้เข้าใจง่ายมากขึ้นครับ 


2. ใช้เลนส์ระยะที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและสื่อสารได้ถึงพลังของธรรมชาติ 

การเลือกใช้ระยะเลนส์ที่เหมาะสมกับการเล่าเรื่องช่วยให้การสร้างสรรค์ภาพและสื่อสารภาพได้ชัดขึ้นด้วย เช่นการใช้เลนส์ระยะเทเลโฟโต้เพื่อการถ่ายภาพให้เห็นรายละเอียดของวัตถุที่มีระยะไกล หรือรายละเอียดของทิวทัศน์บางส่วนที่อยู่ไกลออกไป 

การใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้เห็นเรื่องราวและรายละเอียดแบบภาพรวม เพื่อให้เป็นองค์ประกอบของเรื่องราวในภาพทั้งหมด และการใช้เลนส์แบบมาโครเพื่อเก็บรายนละเอียดของวัตถุที่อยู่ใกล้ เพื่อให้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ถูกสร้างสรรค์จากธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง 


3. ใช้สีสันเพื่อช่วยเน้นและให้อารมณ์ภาพได้ชัดเจนมากขึ้น 

สีสันในภาพช่วยให้การสื่อสารด้านอารมณ์ชัดขึ้น การใช้โทนสีที่เป็นโทนอบอุ่น ดูมีพลัง สดใน การใช้สีโทนเย็น โทนมืด สร้างความลึกลับ น่าค้นหา หรือความเหงา หดหู่ หรือการใช้คู่สีที่ตัดกันเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับภาพ ใช้สีโทนใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างมิติและการสื้อสารอารมณ์ที่คล้อยตามกัน ซึ่งสีสันที่อยู่ในภาพได้สร้างอิทธิพลในความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ของผู้มองภาพได้ด้วยเช่นกัน

4. ใช้การจัดองค์ประกอบและการใช้มุมมองภาพเพื่อให้เข้าใจภาพได้มากขึ้น 

การจัดองค์ประกอบ การจัดวางเพื่อให้ตัวแบบหรือเรื่องที่ต้องการจะเล่าอยู่ในจุดสนใจ หรือการใช้การตีกรอบภาพ การสร้างเส้นนำสายตา ก็จะช่วยให้สายตามองไปยังจุดที่ต้องการได้ในทันที นอกจากนี้มุมมองที่ใช้ในการถ่ายภาพ เช่นมุมก้ม มุมเสย ก็ใช้สร้างความเข้าใจและสื่อสารได้เช่นกัน เช่นมุมเสย ช่วยให้ภาพดูยิ่งใหญ่ สถานที่ดูกว้าง และถ้าหากตัวแบบมีขนาดที่เล็กกว่าภาพโดยรวม จะสื่อสารได้ถึงความเล็กน้อยของตัวแบบ เมื่อเทียบกับเรื่องราวที่อยู่รอบตัว   


5. ใช้การแต่งภาพ การตัดภาพ หรือการแต่งสีเพิ่มแสงและเงา เพื่อแสดงอารมณ์ภาพได้ชัดขึ้น

เมื่อถ่ายภาพกลับมาแล้ว บางครั้งจะรู้สึกว่าภาพบางภาพยังสื่อสารได้ไม่ชัดเจน การตตัดแต่ง หรือการเพิ่มลดสี การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อตกแต่งแสง และเงาสามารถช่วยให้อารมณ์ของภาพโดดเด่นและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

6. ใช้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นการสื่อสารภาพในขณะนั้น ๆ ได้เอง 

การถ่ายภาพเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผู้คนและการดำเนินไปของเรื่องราวในวิถีชีวิตประจำวัน ก็เป็นการใช้ตัวแบบหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก หรือการถ่ายภาพที่ดูจังหวะที่มีความบังเอิญและพอดีอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งเรามักจะเรียกแนวการถ่ายภาพในลักษณะนี้ว่าเป็นแบบสตรีทนั่นเอง

7. ใช้เทคนิคการตั้งค่าและการใช้อุปกรณ์เสริม เพื่อให้ภาพสื่อสารได้ชัดยิ่งขึ้น 

นอกจากจะเป็นเรื่องความสวยงามของสถานที่ ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ และความสวยงามของวิถีชีวิตในสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว การตั้งค่าและการใช้อุปกรณ์เสริมในการถ่ายภาพ ก็จะยิ่งช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้น ภาพสวยขึ้น และสื่อสารเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้นด้วย เช่นการถ่ายภาพให้เห็นการเคลื่อนไหว สายไฟสายน้ำฟุ้งละมุน หรือการถ่ายภาพเพื่อหยุดการเคลื่อนไหว ซึ่งการถ่ายภาพเหล่านี้ต้องอาศัย อุปกรณ์ขาตั้งกล้อง การใช้ฟิลเตอร์ และการตั้งค่าเพื่อให้กล้องถ่ายภาพได้ในแบบที่ต้องการ ความรู้ในการถ่ายภาพในลักษณะนี้ สามารถหาข้อมูลได้จากหนังสือภาพถ่าย กลุ่มถ่ายภาพ สามารถเรียนรู้ได้แบบฟรี ๆ เลยครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมก่อนเดินทางท่องเที่ยวได้ที่นี่

Exit mobile version