
7 วิธีการถ่ายภาพด้วยมือถือให้สวยฉบับรวบรัด
7 วิธีการถ่ายภาพด้วยมือถือให้สวยฉบับรวบรัด เราจะมาเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพแบบสบายๆ โดยไม่มีกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากกัน สิ่งที่เราจะมาเรียนรู้พร้อมกันวันนี้สามารถทำตามได้ง่ายๆ ด้วยมือถือของเราเอง เรามาเริ่มกันเลย
7 วิธีการถ่ายภาพด้วยมือถือให้สวยฉบับรวบรัด
1. การเปิดรับแสง (Exposure)
เชื่อว่าหลายๆคน ท่ีติดตามเรื่องการถ่ายภาพพอจะคุ้นเคยกับหัวข้อนี้เป็นอย่างดี และหลายๆคนอาจจะพอทราบมาบ้างว่า การปรับแสงที่สว่างมากเกินไปนั้นจะไปกระทบกับรายละเอียดของสีของวัตถุ ทำให้เราต้องกะค่าความสว่างให้เหมาะกับแสง ณ ตอนนั้นๆ ทำให้เราต้องเลือกอีกเหมือนกันว่าอยากได้ความสว่างที่มากขึ้นหรืออยากเก็บรายละเอียดมากกว่ากัน เราควรจะปรับค่าความสว่างให้พอเหมาะที่จะบาลานซ์เรื่องแสงและสีไปพร้อมๆกันได้ แต่สำหรับโหมดออโต้ของมือถือ สบายใจได้เลยเพราะกล้องมือถือจะคิดเผื่อให้มาเลยล่ะครับ

2. การใช้ระบบ Manual
ในข้อสองนี้จะต่อเนื่องมาจากข้อแรก วีธีการใช้โหมดที่เราสามารถปรับตั้งค่าได้เอง (Manual mode) ในการควบคุมแสงบนโทรศัพท์มือถือของเรา โดยการแตะไปที่หน้าจอและทำการเลื่อนขึ้นและลง เพื่อปรับความสว่างตามใจชอบ การปรับความสว่างนี้ตามที่กล่าวไปข้างต้นนั้น แสงและสีนั้นจะทำงานควบคู่กัน ถ้าเราอนุญาติให้แสงเข้ามามากเกินไปอาจจะทำให้สีของวัตถุนั้นดูไม่เป็นธรรมชาติหรือผิดเพี้ยนไป เราสามารถตัดสินใจเองได้เลยว่าอยากให้ภาพถ่ายของเราสื่อไปในทิศทางไหน การใช้โหมด M ทำให้เราได้เรียนรู้และพลิกแพลงเองได้
3. เรียนรู้ทิศทางแสง
การถ่ายรูปท่ามกลางแสงธรรมชาติ เราต้องรู้จักก่อนว่าแหล่งที่มาของแสงนั้นมาจากทางไหน เพื่อจะปรับทิศทางในการถ่ายภาพ และต้องแน่ใจว่าเราไม่ยืนสวนทางกับแสง เพื่อให้แสงส่องไปที่ตัวแบบได้อย่างเต็มที่ วิธีการคือยืนหันหลังให้แสงขณะที่เราถ่ายภาพ จะได้ภาพที่สวยงามมากขึ้นครับ แต่ถ้าอยากถ่ายภาพย้อนแสงก็ทำได้ครับ เราก็จะได้ภาพในลักษณะซิลลูเอทนั่นเองครับ ก็จะได้ภาพสวยไปอีกแบบ
4. แตะโฟกัสให้รูปภาพคมชัดขึ้น
การถ่ายภาพให้คมชัดเป็นวิธีที่ง่ายมากๆ โดยการแตะโฟกัสไปที่ตัวแบบหรือวัตถุ เพียงเท่านี้ก็จะได้รูปภาพที่คมชัด ซึ่งในสมาร์ทโฟนนั้นจะจับการโฟกัสได้รวดเร็วและแม่นยำในที่แสงมาก ถ้าในสถานการณ์ที่แสงน้อยจะลดการทำงานของเซนเซอร์ลง จะทำให้จับโฟกัสได้ช้าลงตามไปด้วย

5. ใช้กฏสามส่วนกำหนดการวางตัวแบบและกรอบภาพ
มีคนเคยบอกว่ารูปถ่ายนั้นเปรียบเหมือนการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในหัวข้อต่อไปนี้จะพูดถึงเรื่องการวางกรอบภาพและองค์ประกอบในภาพ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีซับซ้อนสำหรับมือใหม่ การถ่ายภาพนั้นถ้าปราศจากองค์ประกอบต่างๆไป จะทำให้ภาพนั้นดูไม่มีเรื่องราว ไม่ดึงดูดความสนใจ

ในกฎการถ่ายภาพทั่วๆไป อย่างเช่น กฎสามส่วน ที่จะช่วยให้ภาพถ่ายของเราบาลานซ์และช่วยให้ภาพถ่ายของเราดูสวยงามมากขึ้น ก่อนอื่นเลย เราต้องเปิดใช้งาน grid lines บนสมาร์ทโฟนของเรา การถ่ายภาพโดยใช้เส้นตัด 9 ช่องนี้มีวิธีการทำตามที่ง่ายมากๆ คือการวางตัวแบบให้อยู่บนจุดที่เส้นตัดกันพอดี จะยิ่งสร้างเรื่องราวให้กับภาพมากขึ้น รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆที่ปรากฎอยู่บนภาพจะเป็นตัวช่วยในการเสริมเรื่องราวอีกด้วย
6. ใช้งานโหมด Ultra wide เพื่อสร้างความโดดเด่นแปลกตา
ความสามารถนี้อาจจะเป็นโหมดที่มีข้อจำกัดสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นที่เก่ากว่า มากกว่า 3-4 ปีขึ้นไป เลนส์ไวด์ได้ถูกพัฒนาและปรับใช้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากขึ้น เพราะลักษณะการใช้งานของผู้คนได้เปลี่ยนไปด้วย การใช้เลนส์ไวด์ในการถ่ายภาพจะช่วยสร้างมิติของภาพให้ดูน่าดึงดูดมากขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้เลนส์ปกติในการถ่าย เห็นภาพได้กว้างขึ้น ทั้งส่วนโค้งของภาพสร้างความแปลกตาและยังช่วยให้ภาพดูโดดเด่นขึ้นได้ด้วย
7. การปรับแต่งภาพเพื่อให้ได้โทนและสีของภาพอย่างที่ต้องการ
ในข้อสุดท้ายนี้อาจจะเป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน ว่ามีทักษะการปรับแต่งภาพมากน้อยแค่ไหน เราสามารถเข้าไปดูสไตล์การปรับแต่งภาพตามบทความสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Lightroom, Snapseed หรือ Photoshop เพื่อทำให้ภาพดูสมจริงในด้านการแสดงอารมณ์และความรู้สึก
และทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่คุณสามารถทำตามได้ง่ายๆ ด้วยสมาร์ทโฟนของคุณเอง เพื่อการถ่ายภาพด้วยมือถือที่ดีขึ้น อย่าลืมนำทั้ง 7 ข้อนี้ไปฝึกฝนกันบ่อยๆ นะครับ
พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND
อ่านบทความสำหรับมือใหม่
- 3 เรื่องพื้นฐานที่ HISTOGRAM สามารถบอกได้
- 5 ประเด็นหลักที่ช่วยให้ถ่ายภาพคมชัดสวยสำหรับมือใหม่เริ่มต้นถ่ายภาพ
- 3 คู่สีที่จับคู่เมื่อไหร่ก็ให้ภาพสวยโดดเด่นสะดุดตา
- 7 วิธีการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพจากการดูภาพถ่ายสำหรับมือใหม่
- 3 กฏพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพใช้งานได้เลยสำหรับผู้เริ่มต้น