Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

วิธี Import และ Export ภาพใน Adobe Lightroom และการจัดการไฟล์ให้เป็นระบบ #2

วิธี IMPORT และ EXPORT ภาพใน ADOBE LIGHTROOM และการจัดการไฟล์ให้เป็นระบบ ในตอนนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องวิธีการ Import และ Export ภาพใน Adobe Lightroom 2021 ซึ่งการ Import และ Export คืออะไร ก็จะเป็นขั้นตอนการโหลดไฟล์ภาพและการเซฟภาพที่แต่งแล้วออกไปใช้งานนั่นเอง ซึ่งในตอนนี้จะแนะนำเรื่องการจัดการไฟล์ให้เป็นระบบรวมเข้ามาด้วยครับ

มาเริ่มต้นที่การ Import ซึ่งจะเป็นการโหลดภาพเข้ามาใน Lightroom ซึ่งโดยปกติแล้วการ Import ภาพเข้า Lightroom ทั่วไปมันก็ง่าย ๆ ครับคือเราจะเลือกโหลดภาพเข้ามาตรง ๆ ก็จบเลย แต่ที่ผมต้องอธิบายเยอะเพราะขั้นตอนของผมใส่พื้นฐานของการบริหารจัดการไฟล์ให้เป็นระบบไปด้วยเลย เพื่อที่เวลาเราทำงานระยะยาวนั้น ไฟล์มันจะไม่ปนมั่วกันไปหมดและไม่สร้างภาระในการจัดการไฟล์ในอนาคตครับ

ดูวิดีโอสอนได้ที่นี่เลย

Chapter 2 : วิธี Import และ Export ภาพใน Adobe Lightroom และการจัดการไฟล์ให้เป็นระบบ

เริ่มต้นยกตัวอย่างผมจะมีภาพ RAW File ใน SD Card อยู่แบบนี้นะครับ ผมจะทำการคัดลอกภาพทั้งหมดออกมาใส่ไว้ใน Folder ที่ใช้ทำงานจริง

โดยผมจะสร้าง Folder หลักก็คือ RAW เอาไว้แบบนี้ก่อน เพื่อให้รู้ว่า Folder นี้คือ RAW File ทั้งหมด

ต่อมาคือด้านในผมจะตั้งชื่อ Folder ด้านในให้แยกการเก็บไฟล์ตาม ปี เดือน วัน และชื่องานวันนั้น ยกตัวอย่างเช่น “2020-02-02 ณัชชา SIGMA Lenses for Canon” เพื่อให้รู้ว่าภาพในโฟลเดอร์นี้ถ่ายเมื่อไหร่และถ่ายอะไรมา ทำให้เวลาที่เราใช้งานไฟล์ RAW ไม่ว่าจะเป็นการโหลดไฟล์ให้เพื่อน, การ Import ภาพเข้า Adobe Lightroom หรือการเอาภาพไปใช้ใน Software อื่น ๆ มันทำงานได้อย่างเป็นระบบมาก

แล้วที่สำคัญอีกอย่างคือ ผมจะไม่ทำการลบภาพในเมมออก จนกว่าจะมีกระบวนการคัดลอกภาพทั้งหมดเข้าไปที่เครื่องแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาภาพหายครับ ถ้าระบบจัดการไฟล์ภาพเราดี การทำงานทั้งหมดของเราก็จะดีและเป็นระบบด้วย

ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการ Import ไฟล์ภาพครับ ขั้นตอนนี้จะเริ่มง่ายละ ให้เรากดที่ Import เลย แล้วเราก็ไปยัง Folder ตำแหน่งที่เราเก็บภาพเอาไว้ ให้สังเกตเลยว่าขั้นตอนนี้จะสั้นมากและทำงานเป็นหมวดหมู่ เพราะเราสร้าง Folder อย่างเป็นระบบไว้ตั้งแต่ตอนแรกแล้ว

พอเราคลิกไปยัง Folder นั้น ตัว Lightroom จะแสดงผลภาพทั้งหมดให้เราเห็นในด้านขวาครับ ซึ่งเราจะเลือก Import ทีละภาพก็ได้นะ แต่สำหรับผมคือ ผมจะมาคัดภาพในขั้นตอนการทำงานไปด้วย ก็มักจะเลือก Select All แล้ว Import เข้าไปทีเดียวเลย

ทีนี้ภาพทั้งหมดก็จะแสดงผลให้เราเห็นว่า Import เรียบร้อยแล้ว และด้านซ้ายของเมนูจะแสดงให้เห็นว่าโฟลเดอร์ทั้งหมดที่เรา Import มานั้นเป็นยังไง ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นการ Import ครับ

ต่อมาคือเรื่องของการ Export ภาพกันบ้างแล้ว การ Export ภาพนั้นก็จะเป็นการเอาภาพที่เราตกแต่งแล้วเนี่ย เซฟออกไปเป็นไฟล์ JPG หรือไฟล์อื่น ๆ ที่เราจะใช้ ซึ่งขั้นตอนก็จะง่าย ๆ เลยคือ ให้เราคลิกขวาที่ไฟล์ภาพนั้นและเลือก Export แต่ในกรณีที่เลือก Export หลายภาพ เราสามารถที่จะกด Command (Control) + A เลือกทุกไฟล์ก็ได้ หรือจะกดคลิกเลือกหลาย ๆ ภาพแล้วก็ Export ก็ได้ครับ

ทีนี้ด้านล่างต่อมาจะเป็นการสร้างโฟลเดอร์ใหม่ซ้อนไปในโฟลเดอร์ที่เราเลือก ที่จริงเราสามารถเซฟภาพลงในโฟลเดอร์ได้โดยตรงเลยนะ แต่ที่ผมแนะนำคือให้ติ๊กเลือกตัวนี้ครับ และตั้งชื่อ “ปี เดือน วัน และชื่อชุดภาพนั้น” เพื่อให้ทำงานได้อย่างเป็นระบบ เวลาที่ไฟล์มันเซฟภาพออกไป มันก็จะแยก Folder ให้เราเรียบร้อยเลย เราทำงานง่ายขึ้นนะ

ต่อมาเป็นเรื่องของ File Setting อันนี้สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องคุณภาพไฟล์เวลาเราเซฟออกไป หลายคนไม่สังเกตตรงนี้ พอเซฟออกไปแล้ว ไฟล์ไม่คมชัด ขนาดไฟล์เปลี่ยน ภาพไม่โอเค มันอยู่ที่ตรงนี้แหละ

JPEG – ก็คือไฟล์ภาพบีบอัดที่เราเอาไว้ใช้อัพลงเฟซ, หรือเอาไปใช้ในงานสื่ออื่น ๆ ได้ ส่วนใหญ่ผมก็จะเลือกแบบนี้ครับ

Quality – คือคุณภาพของไฟล์ มันจะคิดเป็น 0-100 จากความละเอียดสูงสุดของไฟล์ ผมจะเลือกเต็ม 100 เลย ถ้าหากว่าใครเลือกตัวนี้ไม่เต็ม 100 คุณภาพไฟล์มันก็จะลดลงมานะ ถ้าถามว่ามันมีไว้ทำอะไร ก็เผื่อว่าบางคนทำสื่ออย่างเว็บ ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องใส่คุณภาพเต็มร้อย เขาก็จะมาลดตรงนี้ลงครับ แต่ในกรณีนี้ผมใส่เต็ม 100 เลย

Watermarking คือการใส่ลายน้ำ อันนี้ผมยังไม่เลือกละกันครับ เราเอาไว้อธิบายในตอนหลัง ๆ ผมจะสอนทำลายน้ำสวย ๆ ให้นะ

Metadata คือข้อมูลของรูปเราทั้งหมด ผมก็จะเลือกใส่ไปทั้งหมดนะครับ

ต่อมาเรื่องของ Filename เราสามารถที่จะตั้งชื่อไฟล์ใหม่ให้กับภาพทั้งชุดนี้ได้นะ โดยกดเลือก Rename to แล้วเลือกว่าจะให้มันตั้งให้หรือเราจะตั้งเองก็ได้ ซึ่งปกติผมจะทำงานไฟล์ RAW และ JPEG เป็นชื่อเดียวกัน เวลาตามหาภาพมันจะได้ไม่ซับซ้อน ตัวเลือกนี้ผมจะเลือก Original นะครับ

ต่อมาคือ Output Sharpening เป็นการทำให้ภาพคม ผมจะไม่เลือกนะครับ ถ้าจะทำผมจะไปทำในขั้นตอนต่าง ๆ ให้จบก่อน Export ไม่งั้นเราไม่เห็นว่า Output ของไฟล์จริงมันยังไง หรือตอนเอาภาพไปทำต่อ ผมอาจจะไป Sharpening ใน Photoshop อีกทีก็ได้ อันนี้ไม่ควรเลือกนะครับ แต่ถ้าใครอยากให้มัน Sharpening ให้ก็เลือกได้ อันนี้แล้วแต่ครับ

ต่อมา Color Space ก็ให้เลือกที่เราใช้กัน ทุกวันนี้ผมใช้ sRGB นะครับ ให้เลือกตัวนี้นะ เลือกแบบที่เราใช้นะครับ

สุดท้าย Post Processing ผมเลือกเป็น Do nothing ครับ คือไม่ต้องทำอะไร อันนี้ที่จริงเราเลือกได้ว่าพอมันเซฟเสร็จให้เปิด Photoshop เลยไรงี้ ผมคิดว่าเราเลือกทำงานทีละขั้นตอนให้เป็นระบบจะดีกว่า จากนั้นกด Export ครับ ทีนี้เราก็รอโหลดแล้วก็ไปดูว่าภาพทั้งหมดเซฟออกมาเรียบร้อยไหม เราจะเห็นว่าทุกอย่างก็ออกมาตามท่ีเราตั้ง พร้อมให้เราเอาภาพไปใช้ต่อได้เลยครับ

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

อ่านบทความ ADOBE LIGHTROOM CLASSIC ได้ที่นี่

Exit mobile version