Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

EP.3 : Advanced So Easy 7 เทคนิคในการถ่าย Videography ให้ดูน่าสนใจและมีความแตกต่างที่ชัดเจน

ในเรื่องที่ 3 วันนี้เราจะมาสอนเทคนิคเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่าย Video ให้มีความน่าสนใจ และมีความแตกต่างที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในหัวข้อนี้จะลงลึกเรื่องของการทำเนื้อหาว่า ทำยังไงให้คอนเทนต์ของเรานั้นไม่เหมือนคนอื่น และไม่เหมือนในเชิงสร้างสรรค์ ดูเป็นมืออาชีพ แน่นอนว่าต้องอยากทำให้คนอื่นติดตามเรามากขึ้นด้วย ในวันนี้เราจะมาแชร์ความลับเรื่องนี้กันครับ

1. เนื้อหา Content ต้องมาก่อน คอนเทนต์ต้องช่วยเหลือคนได้ และเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักจะเจอ

คอนเทนต์ที่ดี ควรสร้าง Branding หรือทำให้เกิดการจดจำที่ดีกับคนดูได้ด้ว ยซึ่งส่วนนี้ผมจะใช้เทคนิคในการทำ Inbound Content Marketing เข้ามาเป็นหัวใจหลักครับ เดี๋ยวจะค่อย ๆ อธิบายนะว่ามันมีเทคนิคยังไง

คอนเทนต์หลัก ๆ จะมีประมาณ 3 ส่วนด้วยกันคือ

1.1 Good to know –  รู้ก็ดีนะ ไม่รู้ก็ได้ คอนเทนต์ประเภทนี้คือ ความต้องการในเนื้อหาต่ำ คนที่ผ่านมาอาจจะเลือกดูหรือไม่เลือกก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตเขามาก เช่น อัพเดตข่าวสาร เป็นต้น

1.2 Must Know – เนื้อหาที่เราคาดว่า คนดูกลุ่มคอนเทนต์x`ของเรา ควรจะรู้เรื่องนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้มาก่อน แต่ถ้าเขาสนใจ เขาต้องรู้ เพราะดีกับชีวิตเขา เช่น คอนเทนต์กลุ่มกล้องอย่างผมก็มักจะตั้งชื่อ “เทคนิคการถ่ายภาพด้วยโหมด M ที่มือใหม่ควรรู้”, “วิธีถ่ายภาพยังไงไม่ให้ภาพมืด” คอนเทนต์กลุ่มนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาให้กับคนดูได้ และเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักเจอ แต่เขาไม่รู้ เราถึงต้องนำเสนอให้เขารู้

1.3 Need to Know – เนื้อหาที่คนดูจำเป็นต้องรู้ และเขามักจะค้นหามันผ่าน Google หรือ YouTube Search ตลอดเวลา ซึ่งผมมักใช้กับคอนเทนต์ประเภทที่เกิดปัญหาแล้วต้องแก้ เช่น “วิธีการกู้ไฟล์ที่หายไปใน SD Card” หรือจะเป็นหัวข้อ “วิธีแก้ไขเมื่อกล้องจมน้ำ” ซึ่งเนื้อหากลุ่มนี้ เป็นเนื้อหาที่คนดูจะวิ่งเข้าหาตลอด ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี หัวข้อพวกนี้ก็จะมีคนที่เจอปัญหาทุกปี ซึ่งเป็นแก่นของการทำ Inbound Content Marketing นั่นเอง

ทีนี้เวลาทำเนื้อหาให้แตกต่าง เราก็สามารถที่จะเลือกหัวข้อที่มีประสิทธิภาพได้ตั้งแต่เริ่มต้น ความต่างของชาแนลเราก็จะเริ่มไม่เหมือนคนอื่นแล้ว เพราะเนื้อหาของเรานั้นมีคุณภาพ และมันแก้ปัญหาให้กับเขาได้

2. นำเสนอในเรื่องราวที่เข้าใจได้ง่าย และทำตามได้ง่ายด้วย

ต่อมาหลังจากเราได้หัวข้อแล้ว อันนี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเลือกดูเราต่อ ๆ หลังจากนี้ไหมก็คือ “เนื้อหาต้องเข้าใจง่าย” และ “สามารถทำตามได้ง่ายด้วย” ซึ่งเนื้อหาที่เข้าใจได้ง่ายนั้นก็จะทำให้คนที่กำลังมีปัญหาอยู่ สามารถรับรู้วิธีแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ดูแล้วไม่เครียด ดูแล้วรู้สึกว่า ปัญหาให​ญ่ ๆ ถูกนำเสนอให้แก้ได้ง่าย ๆ

อีกเรื่องนึงคือเราต้องวางวิธีการนำเสนอ ให้เขาสามารถทำตามได้ง่ายด้วย ถ้าเกิดเข้าใจได้ง่ายแต่ดันทำตามได้ยาก คอนเทนต์มันก็ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพนั่นเองครับ จะสังเกตว่าพวก ​Content How to ที่ดูแล้วทำตามได้ง่าย มักจะ Viral ทันที

3. ใส่ใจกับมุมกล้องและ Insert ต่าง ๆ เพื่อที่จะขยายรายละเอียดของเรื่องราว

เรื่องมุมกล้องเราเคยพูดถึงมุมกล้องไปแล้ว แต่เราจะขยายรายละเอียดเพิ่มในส่วนนี้ว่าเราควรจะทำยังไงกับ Insert หรือการถ่ายมุมเจาะเพื่อเพิ่มเรื่องราวให้มากขึ้น

โดยปกติเวลาที่เรานำเสนอเนื้อหาอยู่ หรือกำลังพูดเรื่องวิธีแก้ปัญหา แม้แต่การรีวิวเองก็ตามนั้น ในสมองและความคิดของคนดู เขากำลังคิดภาพตาม ซึ่งเราไม่รู้ว่าภาพตรงนั้นที่เขากำลังจินตนาการนั้น เป็นภาพเดียวกับเราไหม ที่แย่กว่านั้นคือ ถ้าเขานึกภาพตามไม่ออก จะทำให้เขารู้สึกอึดอัด และรู้สึกว่าเนื้อหานั้นทำตามได้ยาก นั่นเป็นเหตุผลว่าเวลาเราถ่ายวิดีโอ ทำไมเราต้องถ่ายไว้หลาย ๆ มุมและต้องใส่มุม Insert ไว้ตลอดเวลา

ดังนั้นตอนที่เราทำคอนเทนต์ให้เราใส่ใจกับมุม Insert ให้เยอะเป็นพิเศษ ต้องถ่ายมาให้ครบและดีพอที่เวลาเรานำเสนอ เราสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เดียวกันส่งให้กับเขาได้ เพื่อที่เขาจะเข้าใจและสนใจในเนื้อหาเรา จนสามารถที่จะแก้ปัญหาให้กับเขาได้

4. การเลือกใช้ Microphone ที่เหมาะสมสำหรับการบันทึกเสียง

ในการทำคอนเทนต์นั้นนอกจากเรื่องของภาพวิดีโอที่สวยงาม ก็ยังมีเรื่องของเสียงพูดที่ต้องได้เนื้อเสียงที่มีความเหมาะสมกับวิดีโอของเรา ซึ่งไมโครโฟนจะเป็นหัวใจสำคัญของประเด็นนี้

เนื้อเสียงเวลาที่ผมรีวิว ผมก็มักจะเลือกใช้ไมโครโฟนแบบ Shotgun ที่เหมาะกับห้อง และเก็บเนื้อเสียงได้ดี เวลาที่เอาเสียงพูดไป Process ต่อจะทำให้เราได้เนื้อเสียงที่ดีตรงตามความต้องการผมมากขึ้น เช่น ผมเป็นคนเสียงเล็กหน่อย ก็สามารถเพิ่มเนื้อเบสให้แน่นขึ้นได้ด้วยการเอาเสียงไปแต่งเพิ่มในขั้นตอนการตัดต่อ ซึ่งไมโครโฟนจะเป็นตัวชี้วัดส่วนนึงเลยว่า เก็บข้อมูลมาได้ดีแค่ไหน

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของไมโครโฟนสำหรับใช้นอกสถานที่ด้วย ผมก็เลือกที่จะใช้ไมโครโฟนแบบหนีบปก (Lavalier Microphone) ซึ่งไมโครโฟนตัวนี้จะมีจุดเด่นคือการรับเสียงเขาจะอยู่ในระยะใกล้ ๆ ปากของเรา ทำให้เราเสียงรบกวนภายนอกไม่เข้ามาในไมโครโฟนมาก ช่วยให้เราถ่ายวิดีโอและต้องพูดนอกสถานที่ได้สะดวกด้วย ทำให้ขั้นตอนการผลิตงานนั้นราบรื่นที่สุด ปัญหาน้องที่สุดด้วย

ดังนั้นการเลือกไมโครโฟนนั้นต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษครับ เพราะช่วยให้เราได้เนื้อเสียงการพูดที่เหมาะกับวิดีโอของเรา

5. เลือกใช้ระยะเลนส์ที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายวิดีโอ และทำงานร่วมกับกล้องได้ดี

เลือกใช้ระยะเลนส์ให้เหมาะสมกับการนำเสนอ ยกตัวอย่างเช่น มุมกล้องหลักคนเดียว ถ้าอยากให้เป็นทางการหน่อยก็ประมาณ 35mm-50mm อันนี้แล้วแต่ว่าต้องการเจาะตัวคนพูดแค่ไหน เฟรมวิดีโอก็จะเน้นไปที่ตัวคนพูด โดยที่ภาพไม่ดูหลวมเกินไป

หรือว่ามุมมองที่ต้องการความตื่นเต้น ดูกว้าง ๆ หน่อยก็อาจจะประมาณสัก 16-24mm แล้วแต่ว่าเราต้องการความกว้างขนาดไหน มุมมองพวกนี้จะดูกว้าง เก็บบรรยากาศต่าง ๆ เข้ามาได้ดี ทำให้ตัววิดีโอของเรามีความน่าสนใจมากขึ้น และได้ Footage ที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราอยากจะเล่า

หรือจะเป็นมุม Close Up สำหรับถ่าย Portrait Video ก็อาจจะประมาณ 85mm จะทำให้เราสามารถเจาะตัวแบบได้มากขึ้นกว่าเดิม และดูสวยงาม เพราะงั้นการเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับการถ่ายวิดีโอก็เป็นส่วนสำคัญนะ

6. ตั้งค่ากล้องให้สีตรงในขั้นตอนการถ่าย ทำให้ได้สีสันที่ตรงไม่ผิดเพี้ยน

อีกจุดนึงที่พลาดไม่ได้เลยคือเรื่องสี มือใหม่ส่วนใหญ่จะพลาดเรื่องการตั้ง White Balance Auto ซึ่งจะทำให้สีของวิดีโอนั้นไม่คงที่ เพราะกล้องจะปรับให้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน ซึ่งบางครั้งสภาพแสงก็ไม่สามารถใช้ Auto เพื่อตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ดังนั้นการเลือกค่า White Balance ให้ตรงคือส่ิงสำคัญมาก ๆ แล้วขั้นตอนแก้สีวิดีโอคือแก้ได้ค่อนข้างลำบาก และไม่ได้ยืดหยุ่นเหมือนภาพนิ่ง ดังนั้นเราต้องใช้ขั้นตอนที่เหมาะสม

ในกล้อง Sony จะมีโหมดที่ Custom ค่า White Balance ได้ ผมจะเลือกใช้ Custom White Balance และใช้ White Balance Card แบบพกพา ซึ่งกล้อง Sony จะให้เราถ่ายภาพไปบริเวณพื้นที่สี ที่เราใช้อ้างอิงค่า White Balance ซึ่ง White Balance Card จะมีความแม่นยำมาก ๆ และทำให้เราได้ค่า White Balance ที่ตรง

นอกจากนี้ผมจะใช้หน้าจอ monitor แบบแยกด้วย เพราะใช้เช็ค RGB Parade ว่าได้สีที่บาลานซ์มาถูกต้องอย่างที่คิดไว้แล้วจริง ๆ จะทำให้เราได้สีที่ถูกต้อง เหมาะกับการนำมาใช้ในการตกแต่งต่อ ขั้นตอนการถ่ายผมจะเลือกใช้ Sony HLG 2020 (BT2020) มา แล้วเวลาปรับแต่งขั้นตอนตัดต่อจะใช้ไฟล์ Lut ของ BT2020 แก้เป็น ​Rec709 เพื่อให้ได้สีที่เหมาะกับการเอาไปลงสื่อวิดีโอทุกสื่อครับ

7. การทำ Skin Tone ให้ตรงโดยปรับแต่งเพิ่มในขั้นตอนการตัดต่อด้วย Final Cut Pro X

สุดท้ายคือขั้นตอนของการเอาไฟล์วิดีโอมาแต่งให้สีตรงด้วยการใช้ Final Cut Pro ผมจะเลือกใช้ Lut ของ HLG 2020 to Rec 709 สำหรับกล้อง Sony และจากนั้นจะไปดูที่ Vector Scope เราจะปรับ Skin Tone ให้อยู่ในเส้นอ้างอิงของ Skin Tone เพื่อให้เราได้สีผิวที่ตรง ทำให้เราได้สีที่ดูธรรมชาติ ไม่ผิดเพี้ยนนั่นเอง

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

Exit mobile version