
EP.4 : Expert so easy ถ่ายขั้นเทพได้ผลลัพธ์แบบมืออาชีพ เรียนรู้การตั้งค่ากล้องและอุปกรณ์แบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของ Videography ที่ดีที่สุด
ในการถ่ายทำ Videography ที่ผ่านมานั้น เราจะพูดถึงภาพรวมพื้นฐานกว้าง ๆ ของการถ่ายวิดีโอ ทั้งเรื่องแนวทางการคิดคอนเทนต์ การตั้งค่าเบื้องต้น แต่ในวันนี้เราจะก้าวไปสู่ระดับ Expert ซึ่งจะรวมทุกวิธีที่มืออาชีพใช้ และเกี่ยวข้องกับงาน Videography ทั้งหมด ซึ่งทุกเทคนิคนี้เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ และต้องใช้ เพื่อให้เราผ่านไปถึงขั้นตอนการถ่ายทำ Videography ที่มีประสิทธิภาพได้
1. การเลือกใช้กล้องแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่รองรับกับงานที่ต้องใช้ และไร้ปัญหาในการทำงาน
สำหรับการทำงานด้าน Videography ที่เน้นความเป็นมืออาชีพและจริงจัง ผมจะแนะนำให้เลือกใช้กล้องระดับ Full Frame เพื่อให้ได้ความสามารถหลายอย่างสำหรับงานวิดีโอมืออาชีพโดยเฉพาะซึ่งจุดเด่นจะมีดังนี้

1.1 ได้คุณภาพเนื้อไฟล์วิดีโอที่ดีกว่ากล้องเซ็นเซอร์เล็ก เพราะตัวเซ็นเซอร์ใหญ่พื้นที่รับภาพมีมากขึ้น ก็จะได้คุณภาพที่ดีตามไปด้วย

1.2 การออกแบบตัวกล้อง Full Frame คือกลุ่มคนมืออาชีพ ดังนั้น ความสามารถใหม่ ๆ และการใช้งานจริงก็จะถูกบรรจุในกล้อง Full Frame ของ Sony แทบทุกอย่าง เช่น โปรไฟล์สี, ระบบโฟกัส, เลนส์ที่รองรับ, พอร์ตเชื่อมต่อ, ซอฟต์แวร์พิเศษที่รองรับ (Sony Catalyst) ซึ่งกล้องในระดับ Professional ของ Sony จะช่วยขยายขีดความสามารถในการถ่ายวิดีโอได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับกล้องที่เซ็นเซอร์เล็กกว่า

1.3 การถ่ายวิดีโอในพื้นที่แสงน้อย ทำได้ดีกว่า เพราะตัวขนาดเซ็นเซอร์ใหญ่กว่า ทำให้ Noise น้อยลง และช่วยเพิ่มจังหวะในการถ่ายได้ดีมากขึ้น

1.4 คุณภาพของเลนส์ระดับ G Master ที่มีให้เลือกมากกว่า สำหรับการทำ Videography แบบมืออาชีพ
เมื่อทราบเหตุผลเหล่านี้แล้ว ผมยืนยันได้เลยว่ากล้องระดับ Full Frame ไม่ว่าจะเป็น Sony A7C, Sony A7III และ Sony A7S III นั้น เป็นกล้องระดับ Professional เซ็นเซอร์ Full Frame ที่เราควรเลือกนำมาถ่าย Videography ในระดับมืออาชีพ ที่เน้นความจริงจัง และการทำงานในหลากหลายสถานการณ์ โดยเราสามารถที่จะไว้ใจความสามารถของตัวกล้องกับการทำงานได้อย่างเต็มที่

2. การเลือกใช้ไมโครโฟนให้ถูกต้องกับงานมืออาชีพ เพราะไมโครโฟนแต่ละตัว เหมาะกับงานที่ไม่เหมือนกัน
ไมโครโฟนที่เราใช้ในการบันทึกเสียง มีความหลากหลายในการใช้งานที่แตกต่างกัน เพราะเรื่องของเสียง สภาพแวดล้อมของห้อง หรืองานอีเวนต์ต่าง ๆ มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นเราควรจะรู้ว่าต้องเลือกใช้งานแบบไหนเพื่อให้ได้เสียงที่ดีสำหรับงานของเรา
2.1 เมื่อทำรายการสัมภาษณ์ไม่เกินสองคน ควรเลือกใช้ไมค์แบบไวเรสติดปกเสื้อ เพื่อคุณภาพเสียงพูดที่ดี และการจัดการที่ง่ายที่สุด
กรณีที่เราถ่าย Video และต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องสัมภาษณ์ผู้คน ถ้าต้องการคุณภาพเสียงพูดที่ดี และการจัดการง่ายที่สุด ควรเลือกใช้ไมโครโฟนแบบ Lavalier หรือไมค์ติดปกเสื้อ เพื่อให้ได้คุณภาพเนื้อเสียงพูดที่ดีที่สุด และการจัดการง่ายมากที่สุด ทำให้เราสามารถที่จะพร้อมบันทึกเสียง มีสมาธิกับการถ่ายวิดีโอได้มากขึ้น

2.2 เลือกใช้ Shotgun Microphone ถ้าต้องการถ่ายวิดีโอแบบ Documentary เก็บเสียงบรรยากาศ และเวลาในการจัดการน้อง ต้องยกกล้องรีบถ่ายเลย
ในกรณีที่เราจะต้องทำงานคนเดียว และอยากได้ทุกอย่างแบบจบในตัวเดียวเลย ควรเลือกใช้ไมโครโฟนแบบ Shotgun กรณีที่เราต้องการทำ Videography แนวท่องเที่ยว เดินทาง หรือการถ่าย Documentary ซึ่งทุกอย่างเราต้องการ Workflow ที่ทำงานได้เร็วที่สุดและน้อยชิ้นที่สุด ก็ควรเลือกใช้ Shotgun Microphone

ซึ่งไมโครโฟนชนิดนี้จะเก็บเสียงด้านหน้าและบรรยากาศโดยรอบทั้งหมดมา อีกทั้งไมโครโฟนประเภทนี้จะติดอยู่บน Hotshoe ของกล้อง ทำให้เราสามารถที่จะเปิดกล้องเปิดไมโครโฟน แล้วก็ทำการถ่ายวิดีโอได้ทันที

เพียงแต่มีข้อควรระวังอยู่สองเรื่องคือ ต้องระวังเสียงบรรยากาศโดยรอบ เข้ามารบกวนเสียงพูด เพราะไมโครโฟนประเภทนี้ก็จะรับเสียงโดยรอบมากกว่าไมโครโฟนแบบติดปกเสื้อ กับอีกเรื่องคือ ห้องแคบ ๆ ที่จะมีโอกาสเกิดการสะท้อนของเสียง ไมโครโฟนประเภทนี้ต้องระวัง เพราะไม่เหมาะกับห้องแคบ ๆ และมีเสียงสะท้อนครับ

ไมโครโฟนสองตัวนี้เป็นแบบที่เรียบง่ายที่สุดในการถ่ายทำ Videography ที่รวดเร็ว ทำงานได้อย่างคล่องตัว และได้คุณภาพเสียงที่อยู่ในระดับมืออาชีพ
2.3 กรณีที่ทำรายการใหญ่ มีการสัมภาษณ์มากกว่า 3 คนขึ้นไป ต้องใช้ไมโครโฟนร่วมกับ Audio Interface เพื่อที่จะดึงเสียงจากไมโครโฟนหลาย ๆ ตัวรวมไว้ในที่เดียวกัน
ในกรณีที่เราทำ Videography แบบสัมภาษณ์คนกลุ่มใหญ่ ใช้ไมโครโฟนหลายตัว เราจะต้องใช้ไมโครโฟนเหล่านั้นร่วมกับตัวกลางที่ทำหน้าที่รวมเสียงทุกไมโครโฟนเข้าด้วยกัน เรียกว่า Audio Interface เพื่อทำการรวมเสียงจากทุกไมโครโฟน เข้ามาที่อุปกรณ์ตัวที่ว่านี้ จากนั้นส่งสัญญาณเสียงไปที่กล้องอีกทีนึง ซึ่งจะทำให้เราจัดการกับระบบเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ Audio Interface ก็สามารถที่จะบันทึกเสียงเป็น Backup ให้กับงานของเราได้ด้วยครับ
3. การตั้งค่าสีแบบมืออาชีพ ตั้งค่ายังไงเพื่อให้การถ่ายทำ Videography ของเราได้ไฟล์ที่ดีและเหมาะกับการตัดต่อ
ต่อมาคือเรื่องการตั้งค่า Video แบบมืออาชีพเพื่อให้เราได้ไฟล์ที่ดี ทำงานง่าย ทั้งขั้นตอนการถ่ายทำ และการทำสี ซึ่งส่วนนี้สำคัญมาก เพื่อให้เราได้สีที่ไม่ผิดเพี้ยน และได้แสงที่เหมาะสมกับการทำงาน ซึ่งในส่วนขั้นตอนนี้ ตัว External Monitor มีความสำคัญมาก

เริ่มต้นให้เราตั้งค่าให้กล้องถ่ายความละเอียดที่ 4K 10bit 4:2:2 สำหรับ Sony A7S III ถ้าเป็นกล้อง Sony A7C, Sony A7III สามารถตั้งเป็น 4K ตามปกติได้เลย

จากนั้นสิ่งสำคัญคือค่า Picture Profiles ผมแนะนำเป็น Sony HLG เพราะเป็นโปรไฟล์ที่ทำงานได้ง่ายที่สุดแล้ว สำหรับคนเริ่มต้นและสามารถทำงานระดับมืออาชีพได้ (ส่วน Slog ตอนนี้ยังไม่แนะนำให้มือใหม่ใช้ เหมาะกับคนที่เข้าใจ Workflow ที่ขั้นสูงกว่า)

จากนั้นให้เราเลือกตั้งค่า Color Space เป็น BT2020 ซึ่งจะทำให้เราเก็บรายละเอียดของสีได้เยอะมาก เพื่อในการใช้งานจริงเราจะแปลงสีตรงนี้เป็น Rec709 ให้ตรงกับหน้าจอทีวี มอนิเตอร์ ที่มาตรฐานปัจจุบันใช้ การเลือกแบบ BT2020 จะเหมาะสมที่สุด ณ เวลานี้

สิ่งสำคัญคือตรงนี้ครับ คือ External Monitor คือหัวใจสำคัญ ที่จะเป็นเหมือนคนที่ช่วยให้เราเข้าใจสีและแสงที่กล้องเห็น โดยการต่อจอแยกผ่าน HDMI จากกล้องมาที่จอ และให้จอนั้นนำการแสดงผลที่ได้จากกล้องมาแปลงเป็น Rec709 เพื่อให้เราเห็นสีจริงในขั้นตอนการตัดต่อเลย เวลาถ่ายทำเราก็จะยึดการแสดงผลจาก External Moitor นี้ แต่การบันทึกยังเป็น BT2020 นะ เพียงแต่เขาแปลงการแสดงผลเพื่อให้เราเห็นภาพสุดท้ายในขั้นตอนการถ่ายทำเลย จะลดโอกาสการผิดพลาดได้มากครับ และการ Record วิดีโอของเรา เราจะบันทึกในหน้าจอ Monitor เลย

นอกจากนี้การตั้งค่า White Balance ให้เราใช้ Color Chart ในการบาลานซ์สีในขั้นตอนการถ่ายทำ เราก็จะได้ค่า White Balance และสีที่ตรงมากสุด ๆ เลยทีเดียว
4. การตั้งค่าเสียงแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้เนื้อเสียงที่ดีที่สุดสำหรับงาน
ต่อมาคือเรื่องของค่าเสียงที่เราต้องรู้ ว่าเราควรตั้งค่าเสียงยังไง เพื่อให้เราได้เสียงที่คมชัด เสียงไม่แตก และเหมาะกับทุกการทำงาน

เริ่มต้นให้เราตั้งค่าเสียงในกล้อง Sony ของเราก่อน ให้อยู่ที่ระดับ 12 เพราะเป็นการรับเสียงที่ยังไม่มากเกินไป และอยู่ในระดับที่พอดี

หลังจากนั้นให้เราต่อไมโครโฟนแยกเข้าไป จากนั้นลองพูดในระดับเสียงปกติดู จากนั้นให้สังเกตตรง Meter ของเสียงเข้า โดยให้ระดับเสียงพูดอยู่ที่ -12db จะได้เสียงที่ไม่แตก และเนื้อเสียงคมชัด

กรณีที่เราต้องการเพิ่มลดเสียง ควรเพิ่มลดเสียงผ่านตัวไมโครโฟนโดยตรง จะทำงานได้ง่ายครับ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ เราค่อยไปเพิ่มระดับเสียงในกล้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพียงเท่านี้เราก็จะได้ระดับเสียงที่มีคุณภาพและดีที่สุดสำหรับการทำงานของเราครับ
5. การเลือกใช้เลนส์ให้ได้ผลลัพธ์แบบมืออาชีพ
สำหรับการเลือกใช้เลนส์นั้นผมจะอธิบายละเอียดหน่อยเพื่อให้เราได้มีคู่มือการเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับการทำงานจริง ๆ และทำงานได้อย่างเป็นระบบ

เลนส์ฟิกซ์ กับเลนส์ซูม ควรเลือกอะไร
คำถามคือควรเลือกใช้เลนส์ฟิกซ์ในกรณีไหนบ้าง กรณีที่เราต้องการคุณภาพสูงสุดในช่วงนั้น เพราะจะได้ทั้งรูรับแสงกว้าง และความคมชัดของเลนส์ฟิกซ์จะมีมากกว่าเลนส์ซูมและเลนส์ซูมล่ะ เราควรเลือกใช้เลนส์ซูมในกรณีที่เราไม่สะดวกจะเปลี่ยนเลนส์บ่อย ๆ และเราต้องการความยืดหยุ่นของช่วงที่มันมีมากกว่า แม้ว่าจะไม่ได้รูรับแสงกว้างสุดแบบเลนส์ฟิกซ์ แต่เราเน้นไปที่ความสะดวกกกว่านั่นเอง

การเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะกับสิ่งที่เราจะเล่าในการถ่ายทำ Videography
1. Ultra Wide เหมาะกับการเล่าพื้นที่กว้างมาก ๆ เช่น ห้อง สถานที่ ทิวทัศน์ เราจะใช้ระยะ 14mm, 16mm หรือเลนส์ Zoom 16-35mm เป็นต้น เลนส์ช่วงนี้จะเก็บบรรยากาศต่าง ๆ เข้ามาได้มาก และสามารถที่จะบรรยายทุกเรื่องราวไว้ใน Shot เดียวได้

2. Wide เน้นการเล่าเรื่องราวที่แคบลงมา หรือเป็น Shot หลักใน Videography เราได้ จะเป็นระยะ 24mm ไปจนถึง 40mm โดยประมาณ ซึ่งเลนส์ที่แนะนำก็จะมีระยะ 24mm, 35mm

3. Normal จะเน้นการเล่าเรื่องที่จะเป็นสิ่งนั้น ๆ โดยตรง เช่น คนที่กำลังพูด แต่เราต้องการความโดดเด่นมากกว่าสองเลนส์ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ระยะก็จะเป็น 50mm ซึ่งช่วยให้เราดึงอารมณ์ของจังหวะนั้น ๆ ออกมาได้ดีมาก

4. Close up เราจะเน้นดึงรายละเอียดเฉพาะสิ่งนั้น ๆ มาเป็นพิเศษ เช่น สายตา อารมณ์ รอยยิ้ม ต่าง ๆ จะเป็น Footage เสริมใน Video ของเรา ที่จะขยายอารมณ์ ณ จังหวะนั้นได้ชัดเจนขึ้น เลนส์ที่เราใช้ก็มักจะเป็น 85mm, 24-70mm ที่เป็นช่วงซูมตั้งแต่ 50mm ขึ้นไป

ใน 4 แบบที่เราได้บอกมานี้จะเป็นระยะที่ครอบคลุมการทำงานของเราแทบทั้งหมดเลย ทำให้เราสามารถที่จะถ่ายวิดีโอได้อย่างสบายใจ และได้คุณภาพของงานที่สูงมาก ๆ
6. การตั้งค่ากล้องแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้การตั้งค่าที่เหมาะสมที่สุด
ต่อมาคือเรื่องของการตั้งค่ากล้องสำหรับงานวิดีโอ เพื่อให้เราได้ Motion Blur และการตั้งค่าแสงที่โอเคที่สุด ซึ่งในขั้นตอนนี้เราจะต้องใช้ External Monitor และ Variable ND Filter ไปด้วย เพื่อให้เราสามารถจัดการกับปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้องได้

การตั้งค่ารูรับแสง
ค่ารูรับแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้การละลายฉากหลังที่มากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่เราก็จะใช้ F2.8 เป็นค่าหลัก เพราะไม่เกิดการละลายฉากหลังเยอะเกินไป แต่ถ้าหากต้องการจะละลายฉากหลังมากกว่านั้นให้ได้สูงสุด ก็จะใช้ F1.4 ซึ่งมีไม่บ่อยนัก

สำหรับการตั้งค่ารูรับแสงเพื่อเน้นความชัดทั้งภาพ เราก็จะ F4 ขึ้นไปเลย อาจจะถึง F8 เลยก็ได้ แล้วแต่ว่าเราต้องการระยะชัดของภาพมากน้อยแค่ไหนแต่สิ่งที่ต้องรู้คือ เมื่อรูรับแสงแคบลง แสงก็จะเข้าน้อยลง แต่ถ้ารูรับแสงกว้างขึ้น ปริมาณแสงก็จะเข้ามากขึ้นนั่นเอง
ต่อมาคือเรื่องของ Shutter Speed เราต้องตั้งค่าเพื่อให้ได้ Motion Blur
การที่มี Motion Blur มันก็จะได้ฟิลอารมณ์ Cinematography โดยปกติเราจะตั้งค่าเฟรมเรตวิดีโอที่ 24fps ก่อน และจากนั้นเราจะตั้ง Shutter Speed คงที่ ที่ 1/50 ซึ่งตามหลักการของการตั้งค่า Shutter Speed คือการตั้งค่า Shutter Speed เป็นสองเท่าของเฟรมเรต

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องรู้คือแสงจะเข้ากล้องเยอะมาก เพราะด้วยที่ Shutter Speed เราค่อนข้างอยู่ในระดับที่ต่ำ การรับแสงจะทำได้เยอะ ทำให้เมื่อเราถ่ายวิดีโอกลางแจ้ง แสงจะจ้ามากจนเกินระดับที่กล้องจะรับได้ จำเป็นต้องมี Variable ND Filter ในการที่จะกรองแสงให้ลดลง เพื่อเหมาะกับ Shutter Speed ที่เราตั้งนั่นเอง
จากนั้นการตั้งค่า ISO เราจะตั้งตามความเหมาะสมกับแสงที่เราถ่ายได้ตอนนั้น
ค่า ISO จะเป็นความไวแสง ที่เราจะตั้งหลังจากเราได้ค่าหลัก 2 ค่าแรกที่บอกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งการตั้งค่า ISO เป็นไปได้ควรตั้งแบบคงที่ ว่าเราจะใช้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดการคาดเคลื่อนของค่า ISO แต่ถ้าหากกรณีที่เราต้องการถ่ายแบบ Long Shot และอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแสงบ่อย ๆ อาจจะเลือกตั้งเป็น Auto ISO แต่มีการกำหนด Maximum ISO ไว้หน่อย เพื่อไม่ให้ความสว่างในวิดีโอเราเปลี่ยนแปลงจนสังเกตได้

7. การใช้อุปกรณ์กันสั่นแบบมืออาชีพ เพื่อให้วิดีโอของเรา นิ่งและ Smooth สำหรับทุกการถ่ายทำ
ต่อมาคือการเลือกใช้ Gimbal Stabilizer และอุปกรณ์ที่ทำให้เราสามารถกันสั่นกล้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผมแนะนำว่า ถ้าหากต้องการเดินถ่ายจริงจังเลย ควรใช้ DJI RS2 สำหรับเป็น Gimbal Stabilizer เพื่อบาลานซ์กล้องและเดินถ่ายได้เลย

นอกจากนี้ควรมีขาตั้งพกติดตัวบ้าง กรณีที่ต้องถ่ายทำ Videography บางจังหวะที่เราไม่ต้องถือ Gimbal ตลอดก็ได้ แต่เป็นการตั้งบนขาตั้งแทน เช่น การถ่ายสัมภาษณ์ เราตั้งบนขาตั้งเลย ทุกอย่างจะโอเคมากเทคนิคทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เราสามารถถ่ายวิดีโอแบบมืออาชีพได้เลย และช่วยให้เราทำงานได้จริงครับ