
คู่มือถ่ายภาพท่องเที่ยวให้สวยด้วยแสงธรรมชาติ
คู่มือถ่ายภาพท่องเที่ยวให้สวยด้วยแสงธรรมชาติ การถ่ายภาพท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เราควบคุมหลาย ๆ อย่างไม่ได้โดยเฉพาะแสงธรรมชาตินี่แหละ ซึ่งการเข้าใจแสงธรรมชาติจะทำให้เราได้ภาพที่ถ่ายทอดความสวยงามตามช่วงเวลานั้น ๆ และได้ภาพที่สวยมากขึ้น เอาจริง ๆ เรื่องของแสงนี่แหละคือเคล็ดลับที่ดีในการถ่ายภาพเลย

คู่มือถ่ายภาพท่องเที่ยวให้สวยด้วยแสงธรรมชาติ
1. คุณภาพของแสงที่เหมาะกับสถานที่นั้น
มันคืออะไร? แสงมีคุณภาพด้วยเรอะ มีครับ แต่แสงที่ดีไม่ได้แปลว่ามันต้องสว่าง โอ้วมันจ้าซะเหลือเกินแทบตาบอดไรแบบนั้น เพียงแต่ว่าเราต้องดูว่าอย่างเราจะไปถ่ายภาพเที่ยวที่เน้นภูเขาเนี่ย เราก็ต้องดูแสงว่ามันสว่างพอที่จะทำให้วิวตรงนั้นดูสวยงามไหม บางที่สว่างมาก ๆ คอนทราสต์เยอะ ๆ ก็สวย ด้านนึงเห็นรายละเอียด อีกด้านเห็นเงา

หรือบางที่ก็ต้องการแสงนุ่ม ๆ เพื่อเก็บบรรยากาศสบาย ๆ แปลว่าคุณภาพแสงแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวมันคนละแบบกัน ถ้าเราทำการบ้านเรื่องสถานที่เที่ยวมาก่อน แล้ววางแพลนถ่ายภาพล่วงหน้า แล้วตามนั้น
ทริคอีกนิดนึงสำหรับบางคนไม่ได้ชอบถ่ายภาพเที่ยวที่เน้นทิวทัศน์ (Landscape) ที่เน้นคอนทราสต์เยอะมากนัก (มันร้อน แสบตา อาจจะไม่ชอบ) ก็สามารถเลือกช่ว
เวลาเช้า ๆ เกือบจะสาย หรือจะสังเกตช่วงที่เมฆมา แสงมันจะนุ่มลงครับ แม้ดวงอาทิตย์จะไม่ตก แต่เมฆบัง แสงจะนุ่มลง เราจดจำความรู้สึกนั้นไว้ ถ้าไปเที่ยวแล้วมีจังหวะดี ๆ แบบนั้นก็ถ่ายมาได้ครับ
2. เข้าใจสีของแสงในแต่ละช่วงเวลา
สีของดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ก่อนที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเนี่ย สังเกตตามชายหาดได้เลย แสงสีฟ้ามันจะอ่อน ๆ นุ่ม ๆ ในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้น แสงมันก็จะเป็นสีทอง แต่พอดวงอาทิตย์ขึ้นไปบนฟ้า มันก็จะสดใส

แต่พอดวงอาทิตย์ตกมันจะเป็นสีทอง ส้ม ๆ เลยพอดวงอาทิตย์กดินมันก็จะได้แสงท้องฟ้าสีน้ำเงินมา สังเกตไหมครับว่าแต่ละช่วงเวลาสภาพของแสงที่มีมันก็จะแตกต่างกัน การที่เราสังเกต และเข้าใจสีของแสงในแต่ละช่วงเวลา มันทำให้เราเก็บภาพได้หลากหลายความรู้สึก หลากหลายบรรยากาศ หลากหลายอารมณ์ แม้จะเป็นสถานที่เดียวกันก็ตาม

3. ทิศทางของแสงที่ส่อง
แสงที่มาจากด้านหน้า (Front Light) คือแสงที่มันอยู่ด้านหลังเราเนี่ยแหละ แล้วส่องไปด้านหน้าเรา แสงด้านหน้าเมื่อกระทบวัตถุโดยตรงจะทำให้สีสันด้านหน้าเราหายไป รายละเอียดเล็ก ๆ ของพื้นผิววัตถุจะลดลง เพราะแสงมันเข้าตรง ๆ เงาต่าง ๆ ที่เคยบอกความลึกของพื้นผิวมันก็หายไป

ฟังรวม ๆ แล้วเหมือนจะไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วมันมีเทคนิคการใช้คือต้องรอช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์มันอยู่ในระดับต่ำกว่าท้องฟ้า พวกช่วงเช้า ๆ สาย ๆ หรือช่วงเย็น ๆ เพราะน้ำหนักของแสงที่ตกลงมาตรงหน้าวัตถุเต็ม ๆ มันไม่แรงมาก และให้ความรู้สึกที่เย็นสบาย(ถ้าช่วงเช้า) และอบอุ่น เมื่อเป็นแสงสีส้ม ๆ ช่วงเย็น
อันนี้แล้วแต่เทคนิคใครนะ มุมมองผมอาจจะให้ได้ไม่หมดครับ
แสงที่มาจากด้านหลังวัตถุ (Backlight) มันคือแสงที่อยู่ตรงหน้าเรา บ้านเราเรียก “แสงย้อน หรือ การถ่ายภาพย้อนแสง” ภาพย้อนแสงจริง ๆ แล้วมันให้ความรู้สึกที่ดูสวยงามได้นะถ้ารู้วิธี แต่มาคุยเรื่องจุดเด่นของแสงที่ย้อนก่อน เราสามารถนำมาสร้างภาพแบบซิลลูเอท (Silhouettes) ได้ หรือจะใช้แสงสว่างแบบนี้สร้างไฮไลต์ให้กับวัตถุ หรือสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วย

อยากรู้เรื่องการถ่ายภาพย้อนแสงเพิ่ม เดี๋ยวลองอ่านบทความ การถ่ายภาพย้อนแสงได้ที่นี่เลยครับ
แสงที่มาจากด้านข้าง (Sidelight) เป็นแสงที่ผมชอบมากที่สุดเพราะมันจัดการง่าย แล้วก็แสงนี้เหมาะสำหรับการเน้นรูปร่าง พื้นผิวต่าง ๆ ครับ และมันทำให้เห็นมิติมากขึ้นด้วย

คราวนี้เข้าใจเรื่องทิศทางของแสงแล้วมันเอาไปทำอะไรได้บ้างล่ะ มันอยู่ที่ว่าเราได้ลองเข้าใจและฝึกฝนประสบการณ์ของตัวเองในการจัดการกับแสงแต่ละรูปแบบแล้วหรือยัง การถ่ายภาพเที่ยวเราไม่สามารถเลือกสภาพแสงที่ต้องการได้ครับ แต่พอเราจะถ่ายรูปแล้ว และสภาพแสงที่เกิดขึ้นมันเป็นแบบไหน เราจะจัดการกับภาพของเรายังไง ประสบการณ์ที่มากขึ้นจะช่วยให้เราถ่ายภาพตามต้องการได้ดีขึ้นครับ
แสงช่วงบ่ายที่รุนแรง
แสงที่รุนแรงมากบนท้องฟ้า ซึ่งมีความสว่างสุด ๆ และมีโ?นสีแค่สีเดียว ตอนนี้เหมาะกับการถ่ายภาพเงา หรือเราจะเลือกถ่ายภาพในที่ร่มแทนก็ได้ เพราะแดดแรงคงมาเดินถ่ายอะไรก็ลำบากหน่อย ๆ

ถ้าพลาดเจอช่วงฟ้าครึ้มล่ะ แสงหมอง ๆ ไม่เคลียร์?
แสงกลางวันมีสีเล็กน้อย แต่ดูนุ่มนวล ไม่ค่อยมีเงา น้ำหนักแสงออกจะนุ่มหน่อยด้วยซ้ำ สำหรับแสงชนิดนี้เหมาะกับการถ่ายภาพดอกไม้ ภาพน้ำตกมาก ๆ เพราะถ้าแสงแรงเนี่ยมันจะเกิดจุดที่สว่างมากในก้อนหินหรือน้ำ แต่พอเมฆครึ้ม ๆ หรือท้องฟ้าครึ้มจะถ่ายภาพน้ำตกได้สวยครับ

ช่วงดวงอาทิตย์ตก (Golden Hour)
ดวงอาทิตย์ที่อยู่ต่ำ ๆ ในท้องฟ้า จะทำให้แสงดูอบอุ่น สิ่งสำคัญตรงนี้เลยเราต้องดูทิศทางของแสงที่กระทบวัตถุ อาคารต่าง ๆ เพราะมันจะให้แสง สีสันที่สวยงามมาก ๆ เป็นช่วงเวลาที่พีคสุด ๆ สำหรับการถ่ายภาพเที่ยวครับ และมีเวลาไม่นานมากนัก

ช่วงดวงอาทิตย์ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้า (Blue Hour)
การถ่ายภาพแสงแบบนี้มันจะสวยมาก แต่ต้องใช้ร่วมกับเทคนิค การถ่ายภาพด้วย Long Exposure เป็นหลัก เพราะต้องลากความเร็วชัตเตอร์นาน ๆ เพื่อเก็บแสง และถ้าหากว่าเราใช้แสงแบบนี้ร่วมกับภาพลักษณะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น น้ำ เมฆ หรือแสงไฟในเมือง มันจะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น

วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ และรู้จักกับแสงประเภทต่าง ๆ ที่มีผลต่อภาพก็คือ ให้เราศึกษามุมมอง สภาพแสงที่ชอบเป็นหลักก่อนจะดีกว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะอ่านโดยทำความเข้าใจแต่ไม่มีแรงบันดาลใจ หรือแรงจูงใจ ความชอบ ความสุขในการถ่ายรูปต้องนำมากก่อน แล้วเติมด้วยไอเดียที่มี เสริมด้วยความรู้เพื่อให้เราอ้างอิงกระบวนการถ่ายออกมาได้ครับ ดังนั้นก็เป็นกำลังใจให้กับการฝึกของทุก ๆ คนด้วยครับ