
การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้
การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน สำหรับหลายคนอาจจะยังงง ๆ อยู่ แต่ก็มีหลายคนที่พยายามจะพิชิตมันให้ได้ เพราะภาพที่ได้จากการถ่ายตอนกลางคืนมันดูสวยงามและเป็นอีกช่วงเวลานึงที่งดงามไม้แพ้ตอนกลางวันเลย ในสถานที่เดิม ๆ อาจจะดูเปลี่ยนบุคลิกไปเลยเพียงแค่เปลี่ยนช่วงเวลาของแสงเท่านั้น
การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้
แต่ว่าความท้าทายในการถ่ายภาพตอนกลางคืนก็คือการตั้งค่าของกล้อง และอุปกรณ์ที่ต้องใช้นี่แหละ ซึ่งเดี๋ยววันนี้เราจะมาเคลียร์กับปัญหาในเรื่อง การถ่ายภาพในตอนกลางคืน การถ่ายภาพในที่แสงน้อย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ใช้เทคนิคและอุปกรณ์เหมือน ๆ กันนี่แหละครับ

1. ฝึกใช้ Mode M ให้เข้าใจ เพื่อเราจะกำหนดค่าทุกอย่างของกล้องได้อย่างอิสระ
เทคนิคในการตั้งค่ากล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน อย่างแรกเลยยังไงก็หนีไม่พ้นโหมด M แน่นอน สำหรับคนที่เป็นมืออาชีพ หรือถ่ายภาพเก่งแล้ว ผมขออภัยถ้าต้องอธิบายตรงนี้ซ้ำครับ แต่สำหรับคนที่เริ่มถ่ายรูป เรื่องโหมด M นี่สำคัญมากครับ เพราะเราต้องกำหนดค่าทุกอย่างเอง เพื่อให้กล้องสามารถที่จะทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นครับ

ในการถ่าย Portrait เวลาที่ใช้ Mode M จะทำให้เราสะดวกในการที่จะเลือกปรับค่า รูรับแสง, Speed Shutter ที่เราถนัดด้วยตัวเราเองได้ จากนั้นจะปล่อยให้กล้องใช้ Auto ISO เองก็ได้ แม้ว่าบางคนจะเลือกใช้ Mode A ในการถ่ายรูปก็มีเหมือนกัน แต่อยากให้มือใหม่เริ่มถ่ายภาพกลางคืนสำหรับภาพ Portrait ด้วยโหมด M มากกว่าจะได้เข้าใจเรื่องกล้องมากขึ้นครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยโหมด M
สรุป เรื่องการถ่ายภาพตอนกลางคืนด้วยการใช้โหมด M นะครับ เพื่อที่เราจะสามารถกำหนดการตั้งค่ากล้องได้อย่างละเอียดทั้งค่า Shutter Speed, ISO, Aperture (รูรับแสง) ได้อย่างอิสระครับ
2. ใช้การถ่ายภาพด้วย Long Exposure และอาจจะต้องใช้ Shutter B (Blub Mode) ในการถ่ายภาพกลางคืน และวาดเส้นแสงไฟให้สวย
การถ่ายภาพโดยลากชัตเตอร์นาน ๆ ส่วนใหญ่เราจะใช้ไม่เกิน 30 วินาทีครับ ซึ่งปกติแล้วถ้าไม่ได้ใช้โหมด Blub มันก็จะลากได้แค่นั้น แต่ถ้าหากว่าเราต้องการลานาน ๆ จริง ๆ ก็จำเป็นต้องใช้ Shutter Blub Mode ในโหมดนี้จะทำให้เราสามารถที่จะควบคุมการเปิดและปิดม่านชัตเตอร์ได้ตามใจเรา

โหมดนี้จะทำงานก็คือ กดชัตเตอร์ค้างได้นานเท่าไหร่ กล้องก็จะเปิดรับแสงนานเท่านั้นเลยครับ แล้วพอใจเมื่อไหร่ก็ปล่อย เหมือนจะง่าย แต่ในความเป็นจริงเราต้องใช้อุปกรณ์ช่วยด้วยนะครับ นั่นก็คือพวกรีโมตชัตเตอร์ หรือสายลั่นชัตเตอร์

เพราะว่าการที่เราไปสัมผัสตัวกล้องตอนกด ภาพจะเบลอแน่นอน เพราะงั้นเราก็ต้องใช้พวกสายลั่นชัตเตอร์สำหรับโหมดนี้ด้วยนะ และขาตั้งกล้องก็จำเป็นมากเหมือนกันด้วยครับ

สรุปเรื่อง การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน ในหัวข้อนี้คือการใช้ Long Exposure ครับ โดยอาจจะต้องฝึกใช้ Shutter B ด้วย เมื่อต้องการลากชัตเตอร์นานเกิน 30 วินาที ซึ่งขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์จำเป็นมาก
3. ถ่ายภาพเป็น RAW File
เมื่อถ่ายภาพตอนกลางคืนนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องถ่ายภาพเป็น RAW File ไว้ด้วยนะ อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะว่าการที่ถ่ายภาพ RAW File จะทำให้เราได้ไฟล์ภาพที่มีขนาดใหญ่ 14 บิต (14-bit RAW) ซึ่งมีขนาดข้อมูลภาพที่กว้างมากกว่า เราสามารถเอาไฟล์ไปทำการโปรเซสได้ยืดหยุ่น จะแก้สีภาพ ลด Noise หรือตกแต่งยังไง ไฟล์ RAW ก็ให้คุณภาพเดิมที่ดีที่สุด ที่กล้องเราจะทำได้เลยครับ

นอกจากนี้โอกาสที่เราจะถ่ายภาพได้พอดีเป๊ะ ๆ มันไม่มีง่าย ๆ หรอกนะครับ เพราะงั้นการถ่ายภาพที่ได้ไฟล์ยืดหยุ่นแบบ RAW File ก็จะช่วยให้เราได้ภาพที่สามารถนำไปทำต่อใกล้ดีที่สุดนั่นเอง ลองอ่านเพิ่มในบทความที่ลิงก์ด้านบนเกี่ยวกับ RAW และ JPEG ได้นะครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ RAW File
4. ให้นำไฟฉายไปด้วย
สถานที่ซึ่งเราไปถ่ายภาพตอนกลางคืนหลายที่ ส่วนใหญ่แล้วจะมืดมาก ๆ ถ้าหากคิดว่าไฟฉายที่ต้องเตรียมไปเป็นเรื่องตลกแล้วล่ะก็ คิดผิดเลยครับ การที่้เราพกไฟฉายไปด้วยนั้นจะทำให้เราเห็นรายละเอียดด้านหน้ากล้องเราว่ามีอะไรบ้าง และเราจะเห็นอุปกรณ์ทุกอย่างที่เราต้องใช้ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นขาตั้ง ตัวกล้อง สายลั่นชัตเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย สิ่งนี้จำเป็นมาก ๆ เลยนะครับ

5. เลือกการตั้งค่าให้ถูกต้อง เหมาะสม
การถ่ายภาพตอนกลางคืน ทำยังไงถึงจะเลือกตั้งค่าได้อย่างถูกต้องเหมาะสมล่ะ? ต้องเข้าใจเรื่อง ค่าความสัมพันธ์ทั้ง 3 อย่างก่อน Shutter Speed, ISO, Aperture หรือที่เรียกกันว่า Triangle Exposure นั่นแหละครับ เรื่องนี้ผมรู้สึกพูดบ่อยเอามาก ๆ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพทุกแบบเลย แต่ในนี้ผมจะอธิบายสั้น ๆ ให้เข้าใจนะครับจะได้ไม่เสียเวลา

Aperture หรือว่า รูรับแสง : เมื่อเปิดรูรับแสงมากขึ้น แสงก็จะเข้ากล้องได้มากขึ้น โดยค่า F น้อยแปลว่ารูรับแสงเปิดกว้าง ถ้า F มาก แปลว่ารูรับแสงแคบลงครับ การที่เปิดรูรับแสงกว้างขึ้นนั้นก็จะทำให้แสงเข้าเยอะและทำให้เกิดเอฟเฟคภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอง่าย ซึ่งการถ่ายภาพ Landscape เราอาจจะต้องใช้รูรับแสงแคบ ๆ ไว้ครับ เพื่อควบคุมระยะชัดให้ทั่วทั้งภาพนั่นเองครับ

Shutter Speed หรือ ความเร็วชัตเตอร์ : ความเร็วชัตเตอร์ยิ่งนาน แสงจะเข้ากล้องเยอะ แต่ก็จะทำให้เกิดภาพที่เริ่มเบลอได้เมื่อมีวัตถุเคลื่อนไหว หรือตัวกล้องเคลื่อนไหว แต่ถ้าความเร็วชัตเตอร์มาก ๆ แสงก็จะเข้ากล้องน้อย วัตถุที่เคลื่อนไหว ก็จะสามารถหยุดได้

ทีนี้สำหรับการถ่ายภาพในที่มืดผมสรุปว่าความเร็วชัตเตอร์นั้นเราสามารถเปิดนาน ๆ ได้นะ เพราะว่าการถ่ายภาพ Landscape ส่วนใหญ่วัตถุจะอยู่นิ่ง ๆ ครับ เว้นแต่พวกเรือ รถ ต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่อยู่เวลาที่มันเบลอก็จะเกิดเป็นเอฟเฟคเส้นที่สวยงาม ดังนั้นการถ่ายภาพเที่ยว หรือวิวเวลาใช้ Shutter Speed สามารถเลือกใช้แบบ Shutter นาน ๆ ได้ครับ เราถึงเรียกว่า Long Exposure นั่นเอง
ISO หรือ ค่าความไวแสง : ISO หรือค่าความไวแสงนี้เป็นตัวที่ทำให้เซ็นเซอร์รับสัญญาณแสงเพิ่มมากขึ้น มีผลข้างเคียงคือเมื่อ ISO สูงขึ้น ก็จะเจอ Noise เพิ่มมากขึ้นนั่นเองครับ แต่ไม่ต้องห่วง การตั้งค่ากล้องถ่ายภาพตอนกลางคืน เราสามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์นาน ๆ เพื่อเปิดรับแสงแทนได้ เราแทบจะถ่าย ISO ต่ำสุดกันเลยแหละ

นอกจากนี้การเปิดชัตเตอร์นาน ๆ หรือที่เรียกว่า Long Exposure ก็ยังทำให้เกิด Noise ได้นะครับ แต่กล้องบางตัวมีคำสั่งพวก Noise Reduction สำหรับภาพ Long Exposure อยู่ ถ้ามีก็ให้เปิดไว้ด้วยนะ
อ่านบทความเจาะลึกเรื่อง Triangle Exposure สำหรับมือใหม่ให้เข้าใจ
6. การตั้งค่าระบบวัดแสง
ถ้าให้แนะนำส่วนใหญ่เราจะใช้การวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพสำหรับมือใหม่น่าจะง่ายกว่า แล้วคอยดูผลของภาพครับว่าตรงกับที่ต้องการไหม นอกจากนี้คอยดู Histogram ด้วยนะครับ พยายามระมัดระวังอย่างให้ Highlight หลุดครับ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบวัดแสงสำหรับมือใหม่
7. เวลาจัดคอมโพสต์ในที่แสงน้อย ให้ถ่ายด้วย ISO สูงไปเลยครับ
เทคนิคนึงในการจัดคอมโพสต์ภาพตอนกลางคืนคือ เราจะใช้ ISO สูงดันขึ้นไปเลย เพื่อง่ายต่อการมองจอภาพ แล้วก็ไม่ต้องรอลั่นชัตเตอร์ 30 วินาทีแล้วรออะไรแบบนั้น วิธีนี้จะช่วยให้ประหยัดเวลาในการจัดองค์ประกอบภาพในที่มืด ๆ ได้ง่ายแบบสุด ๆ ไปเลย พอจัดได้แล้วค่อยกลับมาตั้งค่าแบบเดิมครับ

8. ถ่ายคร่อมแสง นำภาพมาทำ HDR ถ้าหากต้องการ Dynamic ที่มากขึ้น
เวลาที่เราถ่ายภาพตอนกลางคืนบางครั้งเราอยากจะได้รายละเอียดหรือ Dynamic ที่ดีขึ้นมาหน่อย เราสามารถที่จะถ่ายคร่อมแสง (Bracket) เพื่อที่จะนำภาพมารวมกันได้ครับ ซึ่งถ้ามีเวลาก็ลองดูได้นะครับ เป็นวิธีที่ดีมากเหมือนกัน

9. ใช้ Histogram ให้คุ้นเคย และตรวจสอบภาพเหล่านั้นด้วย Histogram
หลังจากที่เราถ่ายภาพแล้วให้ดูที่ Histogram ของภาพที่จะบอกข้อมูลของภาพ แสง ที่กล้องเก็บมาได้ ซึ่งการมองกราฟ Histogram นี้จะช่วยให้เรามีข้อมูลประกอบว่าภาพที่ได้มานั้นมีได้ขอบเขตข้อมูลของแสงเป็นแบบไหน และควรจะแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ไหมเป็นต้นครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้วิธีอ่านค่า Histogram สามารถดูที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้ครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Histogram สำหรับมือใหม่
10. ฝึกฝนบ่อย ๆ เรียนรู้กับการจัดองค์ประกอบ และการดูภาพที่ถ่ายตอนกลางคืนให้บ่อย ๆ เข้าไว้
หากเราไม่รู้เลยว่าภาพในตอนกลางคืนที่เราจะถ่าย ควรออกมาแบบไหน เราควรเริ่มตั้งแต่วันนี้เลยคือ หลงรักภาพถ่ายเหล่านั้นและลองไปเปิดดูตาม Flickr ก็ได้ครับ เพราะมีภาพแนวนี้เยอะเลย ในเว็บพวกนี้จะบอกทั้งการตั้งค่า ระยะเลนส์ที่ใช้ และเราจะเห็นว่าลักษณะของภาพถ่ายที่มีนั้นเป็นยังไง เราสามารถที่จะถ่ายภาพแบบนั้นยังไงได้บ้าง ศึกษาให้บ่อย ดูให้เยอะ และทดลองทำจริงด้วย ไม่นานเราก็สามารถที่จะถ่ายภาพสวย ๆ ได้ตามใจแน่นอนครับ

อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการถ่ายภาพตอนกลางคืน และขาดไม่ได้เลยนะ
1. ขาตั้งกล้อง
2. สายลั่นชัตเตอร์
3. ไฟฉาย
4. เลนส์มุมกว้าง (ถ้ามี) ก็จะทำให้ได้ภาพที่กว้างขึ้น
5. พวก Netural Night Filter (ถ้ามี)
รวมบทความการถ่ายภาพพื้นฐานสำหรับมือใหม่
– การตั้งค่ากล้องสำหรับมือใหม่ เริ่มพื้นฐานจากศูนย์กันเลย
– ISO คืออะไร รวมทุกอย่างที่ต้องรู้เรื่อง ISO
– คำแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพให้นิ่งและไม่เบลอ
– 7 ไอเดียการฝึกถ่ายรูปสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้อง
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่