
คู่มือ Shutter Speed และเรื่องที่มือใหม่ต้องรู้ในการถ่ายภาพ
คู่มือ Shutter Speed และเรื่องที่มือใหม่ต้องรู้ในการถ่ายภาพ มีคนใช้คำค้นหาเข้ามาในเว็บเยอะเกี่ยวกับเรื่องของ Shutter Speed หรือความเร็วชัตเตอร์ ว่า ใช้ทำอะไร และ ทำไมเราต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ด้วย หรือไม่ก็ความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ มีประโยชน์อะไร มีไว้ทำอะไร ในวันนี้จะมาอธิบายพื้นฐานง่าย ๆ แต่มีความสำคัญมากกัน
คู่มือ Shutter Speed และเรื่องที่มือใหม่ต้องรู้ในการถ่ายภาพ
ความเร็วชัตเตอร์เป็นเครื่องมือที่ดีมากเลยนะในการที่จะควบคุมปริมาณแสง จะเข้ามาก เข้าน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วชัตเตอร์ หมายความว่าความเร็วชัตเตอร์มีผลกับความสว่างของภาพนั่นแหละ นอกจากนี้ความเร็วชัตเตอร์ยังเป็นตัวที่ใช้สร้างเอฟเฟกต์ที่น่าสนใจด้วย

พื้นฐานของความเร็วชัตเตอร์จริง ๆ สำคัญมาก เพราะมันเชื่อมโยงไปถึงความเข้าใจเรื่อง Triangle Exposure ด้วย ดังนั้นถ้าต้องการเข้าใจเรื่องนี้ และนำไปสู่การถ่ายภาพด้วยโหมด M ยังไงเราก็ต้องฝึกเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับ ความเร็วชัตเตอร์ หรือ Shutter Speed ให้ได้ครับ นอกจากนี้อย่างที่บอกว่าความเร็วชัตเตอร์ส่งผลกับเอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นในภาพด้วย
ความเร็วชัตเตอร์คืออะไร ? Shutter Speed คืออะไร ?
ภายในกล้องของเราจะมีเซ็นเซอร์อยู่ และตรงหน้าเซ็นเซอร์จะมีส่วนเล็ก ๆ เวลาถ่ายภาพจะได้ยินเสียง “แกร๊ก” เบา ๆ ส่วนนี้เรียกว่าชัตเตอร์ เมื่อถ่ายภาพตัวชัตเตอร์จะคอยเปิดให้แสงเข้าแล้วปิดเพื่อหยุดการเปิดรับแสง

ชัตเตอร์ที่เร็ว หรือความเร็วชัตเตอร์ที่สูง หรือสูงขึ้น หมายความว่า ระยะเวลาการเปิดชัตเตอร์จะสั้นลง แสงจะเข้าน้อยลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ชัตเตอร์จะเปิดรับแสงนานขึ้น แสงจะเข้ามากขึ้นนั่นเอง
อ่านบทความพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบวัดแสง
ความเร็วชัตเตอร์ หรือ Shutter Speed ดูยังไง นับยังไง วัดค่ายังไง?
ความเร็วชัตเตอร์วัดเป็นวินาที หรือ เศษส่วนของวินาที เช่น ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/100 หมายถึง 1/100 วินาที (หนึ่งส่วนหนึ่งร้อยวินาที) หรือ 0.01 วินาที ส่วนนี้เรียกว่า “ระยะเวลาการเปิดรับแสง” เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่เซ็นเซอร์ทำการสัมผัสแสง

กล้องส่วนใหญ่มีความเร็วชัตเตอร์ที่หลากหลายให้ปรับในกล้อง เริ่มจากระยะเวลา 1/8000 บ้าง 1/4000 บ้าง ไปจนถึงหลักวินาทีเลย นอกจากนี้ยังมีโหมด Blub หรือ Shutter Blub ที่เปิดกล้องได้นานเท่าที่ใจต้องการอีกด้วย
ควรตั้งค่า Shutter Speed เท่าไหร่ในการถ่ายภาพ ?
วกกลับไปที่โหมด Auto ในโหมดอัตโนมัติ กล้องของเราจะพยายามเดาความเร็วชัตเตอร์ที่ดีที่สุดเพื่อจับภาพของเราให้ได้ โดยวัดจากสภาพแสงที่เกิดขึ้นตอนนั้นด้วย แน่นอนว่ามันไม่ได้ตรงใจเราเสมอไปหรอก เพราะกล้องพยายามที่จะถ่ายให้ได้สภาพแสงพอดีเท่านั้นเอง

ตัวเลือกที่ดีกว่านั้นคือเปลี่ยนไปใช้โหมดในการควบคุมความเร็วชัตเตอร์อย่างโหมด S หรือเลือกที่จะปรับทุกอย่างเองด้วยโหมด M ก็น่าจะดีที่สุด เมื่อเราต้องการเริ่มที่สองโหมดนี้ เราต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วย (กำลังจะพูดถึงในเรื่องถัดไป)
กล้องสั่น ภาพเบลอ ขยับกล้องนิดหน่อยก็เบลอแล้ว ให้แก้ด้วย ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น
การสั่นไหวของกล้องเกิดขึ้นเมื่อเราถือกล้องอยู่ด้วยมือ ไม่ได้วางบนขาตั้ง ไม่ว่าเราจะทำยังไงเราก็ไม่สามารถยืนนิ่ง ๆ กว่านี้ที่จะถ่ายภาพได้ละ แล้วเราจะสามารถถ่ายภาพที่สั่นไหวนี้ให้หยุดนิ่งได้ยังไง

เรื่องง่าย ๆ ก็คือเราต้อง เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นแค่นั้นเอง เพื่อให้กล้องจับภาพได้เร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วผมจะเลือกดูจากระยะเลนส์ อันนี้พื้นฐานเลย ถ้าใช้เลนส์ระยะไหน ความเร็วชัตเตอร์ต้องไม่ต่ำกว่านั้น เช่น ระยะ 200mm ก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/200 เป็นต้น
ความเร็วชัตเตอร์ เร็ว หรือ ความเร็วชัตเตอร์ ช้า ดีกว่ากัน?
คำตอบคือ “ไม่มี” ที่ต้องอธิบายเรื่องนี้คือต้องการสร้างความเข้าใจ การที่กล้องออกแบบความเร็วชัตเตอร์หลากหลายแบบให้เราได้ใช้ ก็เพื่อตอบโจทย์ของเราให้ชัดเจนที่สุด สิ่งสำคัญคือ “เข้าใจโจทย์ของเราหรือยังว่าเราจะปรับความเร็วชัตเตอร์ไปทำไม?” เพราะถ้าไม่รู้ว่าจะปรับทำไม เราต้องวกกลับไปพื้นฐานเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง ว่าต้องเข้าใจนะว่า Shutter Speed ส่งผลยังไงกับภาพ

ย้ำอีกรอบคือ เมื่อเราใช้ชัตเตอร์เร็ว แสงก็เข้าน้อยลง วัตถุที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ จะหยุดนิ่งมากขึ้น ถ้าเมื่อไหร่ถ่ายภาพแล้วเกิดการเบลอ อยากให้ภาพนิ่ง ๆ ก็เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้น หรือว่าถ้าปริมาณแสงมันเยอะเกิน ถ่ายมาแล้วภาพสว่างโอเวอร์ ก็ให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์เหมือนกัน

ย้ำอีกรอบ สำหรับความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง ถ้าต้องการให้เกิดการเบลอในภาพ (ซึ่งเราจะพูดในหัวข้อถัดไปว่าจะเบลอไปทำไม) หรือว่าต้องการที่จะลดปริมาณแสงลง จากสว่างเวอร์ให้มาพอดี เราก็ลดความเร็วชัตเตอร์ซะเลย ประมาณนั้น
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับโหมด M หรือ Manual Mode
ภาพสว่าง ภาพมืด แสงมาก แสงน้อย ปรับความเร็วชัตเตอร์ มีผลกับเรื่องนี้ทั้งหมด
การปรับความเร็วชัตเตอร์มีผลโดยตรง บอกเลยนะว่าโดยตรง กับปริมาณแสงที่เข้ามา ถ้าเรารู้แล้วว่าภาพสว่างไป ก็เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้แสงลดลงกลับมาพอดี นอกจากนี้ถ้าหากว่าแสงมันน้อยไป ก็ลดความเร็วชัตเตอร์ให้แสงเข้ามาพอดีเหมือนกันนั่นแหละ

แต่! ถ้าลดความเร็วชัตเตอร์แล้วมันถือถ่ายไม่ได้ ก็ให้ตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ในระดับที่ถือถ่ายได้ ถ้าภาพยังมืดอยู่ให้ทำยังไงล่ะ!? ก็เพิ่ม ISO เร่งความไวแสง ชดเชยในส่วนที่เราลดความเร็วชัตเตอร์ไม่ได้แล้วยังไงล่ะ!
อ่านบทความเจาะลึกเรื่องของ ISO ที่มือใหม่ต้องรู้
ปรับความเร็วชัตเตอร์เอา Effect ทั้งหลาย ต้องการถ่ายภาพ Effect Motion Blur หรือวาดแสงให้เป็นเส้น การถ่ายภาพ Long Exposure ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง
Motion Blur เกิดจากเวลาที่เราถ่ายภาพ Subject หรือวัตถุใด ๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ แล้วเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในการถ่ายมันก็จะทำให้เกิด Motion Blur ขึ้น ดังนั้นการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ก็มีประโยชน์ในการสร้างสรรค์ภาพเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าวิธีเรียนรู้เกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์คือการเลือกให้เหมาะสมกับมุมมองของเราเองนั่นแหละ ถ้าหากว่าเราไม่รู้เลยว่าควรเพิ่มความเร็วชัตเตอรืเพื่ออะไร หรือลดความเร็วชัตเตอร์เพื่ออะไร ให้เราย้อนกลับไปทบทวนเรื่องนี้ใหม่ จะได้เข้าใจมากขึ้นครับ

แถมให้เรื่องสูตรการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ วิธีลัดในการถ่ายภาพแต่ละอย่างเพื่อเป็นแรงบันดาลใจว่าควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณเท่าไหร่ ถ่ายอะไร (ยกมาจากเรื่องที่เคยเขียนนะ)
1. การถ่ายภาพดาวหมุน มักใช้ความเร็วชัตเตรอ์สัก 10 นาทีขึ้น
การถ่ายภาพดาวหมุนมักจะใช้ความเร็วชัตเตอร์นาน ๆ หรือว่าช้ามาก ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสไตล์นะ บางคนเปิดถ่ายด้วยชัตเตอร์ต่ำ ๆ สัก 30 วินาที แล้วเอาไปรวมภาพใน Photoshop ก็ได้เหมือนกัน แต่เอาเป็นว่าถ่ายได้นะ

2. การถ่ายภาพท้องฟ้าให้มองเห็นดาว (ความเร็วชัตเตอร์ 21-30 วินาที)
ภาพดาวปกติทั่วไปก็จะถ่ายที่ 21-30 วินาที แต่ก็ต้องถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างนะ แต่ถ้าถ่ายนานเท่านี้แล้วดาวเห็นเป็นเส้น ๆ ก็ให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นมาหน่อยเพื่อให้ดาวนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว

3. การถ่ายภาพน้ำตกให้เป็นเส้นนุ่ม ๆ (ใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1-12 วินาที)
การถ่ายภาพน้ำตกจะใช้ความเร็วชัตเตอร์สัก 1 – 12 วินาที อันนี้แล้วแต่ Effect ของน้ำที่เราอยากจะได้แหละนะ ผมก็แนะนำอีกครั้งว่าเราควรมี ND Filter ไว้สำหรับตัดแสงให้เรียบร้อยด้วย เพื่อไม่ให้แสงในกล้องของเราเกิดการ Over ครับ

4.ภาพ Landscape หรือทิวทัศน์ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/125 – 1/2 วินาที
ภาพวิวทั่วไปใช้ 1/125 ก็ได้ หรือถ้าอยากช้ากว่านั้นก็สัก 1/2 วินาที แต่ว่าก็แล้วแต่คนชอบแหละนะ แต่สำหรับบางคนถ่ายลากฟ้านาน ๆ หลายวินาทีก็มี อันนี้แนะนำเป็นภาพนิ่งปกติที่ไม่ได้เล่นเทคนิคอะไรมากอะนะ ควรมีขาตั้งด้วยนะคร้าบถ้าจะถ่ายชัตเตอร์ที่ต่ำกว่า 1/30 วินาที

5.ภาพกิจกรรมเด็ก (ความเร็วชัตเตอร์ 1/250)
ภาพกิจกรรมเด็กประมาณ 1/250 ครับ จะจับภาพเด็ก ๆ ได้ ถ้าเด็กวิ่งเร็วกว่านั้นแล้วเบลอก็ลองปรับให้เยอะกว่านี้ แต่ก็ต้องดูสภาพแสงจริงที่เกิดขึ้นด้วย แต่แนะนำว่าประมาณนี้แหละ

6.การถ่ายแพนนิ่ง, Panning Cars (ความเร็วชัตเตอร์ 1/125 – 1/30 วินาที)
ถ่าย Panning รถประมาณ 1/125 – 1/30 ถ้าถ่ายลักษณะนี้ควรฝึกการแพนให้คุ้นมือนะ ไม่งั้นเบลอทั้งภาพแน่ ๆ เป็นการตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำ แล้วแพนกล้องตามวัตถุจะได้เอฟเฟกต์แบบนี้

7.Airshow (ความเร็วชัตเตอร์ 1/250-1/800)
ภาพที่แสดงผาดโผนบนท้องฟ้า พวกจรวดแบบนั้นก็สัก 1/250 สำหรับคนที่ต้องการเอฟเฟคอย่างแพนนิ่ง หรือให้มันเห็นมูฟเมนต์เบลอ ๆ หน่อย (อาจจะใช้ความเร็วช้ากว่านี้ก็ได้ถ้าไหว) แต่ถ้าต้องการภาพนิ่งกริ๊บ ๆ ก็ 1/800 ขึ้นไปจ้า

8.ภาพสัตว์ป่า (ความเร็วชัตเตอร์ 1/250 – 1/800)
ภาพสัตว์ป่าตอนอยู่นิ่ง ๆ ไม่ต่างจากการตั้งค่าสำหรับภาพเด็ก ๆ เลย 1/250 ครับ แต่ถ้าหากว่ามันวิ่งเร็วขึ้นก็นั่นแหละ 1/800 ก็ไหวน๊า

9.ภาพนกกำลังบิน (ความเร็วชัตเตอร์ 1/2000 – 1/4000)
ภาพนิกบิน อันนี้ประมาณ 1/2000 เลยสำหรับการจับจังหวะ ถ้าหากแสงจ้ามากขึ้นมาก ๆ ก็เพิ่มเป็น 1/4000 ครับ

10.ภาพกีฬาทั่วไป (ความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 – 1/2000)
ภาพกีฬาทั่วไปกลางแจ้งประมาณ 1/1000 ครับ ถ้าแสงเยอะกว่านั้นก็เพิ่มขึ้นได้แต่ถ้าหากกีฬาเป็นในร่มการใช้ Speed ขนาดนี้ต้องดัน ISO สูงขึ้นนะครับ ระมัดระวังนิดนึงจ้า

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่
- 9 เทคนิคถ่ายภาพตอนกลางคืน
- 7 วิธีลัดสำหรับมือใหม่ ถ่ายโหมด M ด้วยตัวเอง
- ถ่ายภาพในที่มืดยังไงให้คม
- 7 เหตุผลสำหรับมือใหม่ทำไมต้องใช้โหมด M
- วิธีการใช้ Auto ISO สำหรับมือใหม่และการตั้งค่าไม่ให้ Noise เยอะเกินไป