Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

การกลับมาใช้ SIGMA fp เพื่อถ่ายวิดีโอสำหรับงาน YouTube เจออะไรบ้างที่น่าสนใจทั้งความน่าใช้และจุดที่ต้องสังเกต

การกลับมาใช้ SIGMA FP เพื่อถ่ายวิดีโอสำหรับงาน YOUTUBE เจออะไรบ้างที่น่าสนใจทั้งความน่าใช้และจุดที่ต้องสังเกต คอนเทนต์ในตอนนี้จะเป็นการเล่าประสบการณ์เรื่องกล้อง SIGMA fp ซึ่งผมเพิ่งกลับมาใช้งานครับ สาเหตุที่ต้องกลับมาใช้งานเพราะว่าในงาน YouTube ผมต้องการคุณภาพไฟล์วิดีโอที่สูงขึ้นมากกว่านี้ จากกล้องเดิมเป็น Sony A7C เป็นกล้องวิดีโอแบบ 8-bit ซึ่งเป็นกล้องที่ดีนะ ระบบ Auto Focus เร็วมาก และแม่นยำมากครับ

วิดีโอที่ถ่ายบน YouTube ใช้ SIGMA fp ในการทำงานทั้งหมดครับ

แต่ด้วยที่การทำงานวิดีโอที่เปลี่ยนไปผมต้องเรียนรู้เรื่องไฟล์วิดีโอเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย การที่ต้องเปลี่ยนกล้องวิดีโอใหม่ยกเซ็ตดูจะเป็นอะไรที่เปลืองงบเกินไปก็เลยกลับมาใช้ SIGMA fp แบบเต็มตัวซะเลยครับ

แต่ผมต้องบอกก่อนนะ Solution ผมไม่ใช้ไอเดียที่ดีที่สุด หรือว่าเป็นการทำงานที่สะดวกที่สุด คือมีทางเลือกหลายอย่างที่สะดวกกว่านี้ แล้วก็ทำงานได้ดีด้วย แต่สำหรับผมทางเลือกนี้เป็นทางออกเดียวที่เหมาะสมที่สุดครับ

จุดเด่นของกล้อง SIGMA fp ที่ผมชอบนะและเป็นข้อดีด้วย

1. ไฟล์ Cinema DNG RAW เป็นวิดีโอแบบไฟล์ ​RAW คุณภาพสูงทั้งสีและไดนามิกเรนจ์ที่กว้าง

ไดนามิกเรนจ์ของ SIGMA fp จะอยู่ที่ 12.5 Stop และเก็บสีบนความละเอียด RAW 12bit แสดงสีได้ 68.68 พันล้านสี และสามารถไล่โทนได้ 4,096 ระดับ ซึ่งเกินพอสำหรับงานที่ผมอยากจะได้

คือกล้องที่ผมอยากจะได้สำหรับงานก็มีเรื่องการเก็บแสงและสีนั่นแหละครับ โดยที่กล้องเดิมของผมเรื่องไฟล์มันไม่ได้ขนาดนี้ พอกลับมาใช้ SIGMA fp มันก็เพียงพอที่จะทำงานแบบเหลือ ๆ เลย แต่ก็ต้องปรับ Workflow เยอะเหมือนกัน รวมถึงความเข้าใจด้วยครับ

พอผมเอามาใช้งานจริงก็ชอบนะครับสำหรับการทำงาน แต่จากใจจริงผมก็บอกตามตรงว่าถ้าให้ใช้ Sony A7C ตัวเดิม มันก็ใช้พอแหละ แต่ด้วยที่ผมอยากขยับจากการใช้งานเดิมที่เป็นแค่ไฟล์ 8-bit ให้สูงขึ้น และมีกล้องตัวนี้อยู่แล้วก็เลยเอามาใช้ดีกว่าครับ

2. SIGMA fp เป็นกล้อง Full Frame และมีระบบเลนส์ให้ใช้หลากหลายทั้ง SIGMA L Mount และการใช้ Adapter แปลงได้หลากหลายสำหรับงานวิดีโอ

อีกเรื่องนึงที่ผมรู้สึกสบายใจคือ SIGMA มีเลนส์ให้ใช้เยอะครับ แม้ว่าจะเป็นกล้องที่แปลก ๆ หน่อยแต่ก็มีเลนส์ค่ายของตัวที่ ที่มีทั้งแบบเบาแล้วก็แบบหนักแต่คมด้วย

รวมไปถึงเลนส์ L ของเขาก็ยังเอาไปใช้กับ Panasonic ได้ด้วย เผื่อว่าวันนึงผมจะไม่ใช้กล้อง SIGMA แล้ว ย้ายไปเล่นฝั่งกล้อง Panasonic ก็ยังไหวนะครับเรื่องเลนส์ ไปต่อด้วยกันได้

แล้วก็สำหรับสายวิดีโอถ้าต้องการ Adapter แปลงเลนส์ ทาง SIGMA มี MC-21 สำหรับต่อกับเลนส์ของ Canon ได้ อันนี้ก็ทำให้เราหาเลนส์ใหม่ ๆ มาใช้ด้วยก็ได้นะ

หรือจะเป็นเลนส์อย่าง TTartisan ผมก็ใช้ตัวแปลงจาก Leica M Mount มาเป็น L Mount ก็ได้เหมือนกัน

3. การทำงานร่วมกับ Davinci Resolve 18 Beta ทำได้ดีมาก ๆ ตัดต่อได้สะดวก กล้องหลายตัวก็ทำได้นะ แต่ผมพูดถึง SIGMA fp ก็คือทำได้ดีเหมือนกันด้วย

ผมใช้ SIGMA fp กับการตัดต่อด้วย Davinci ผมสามารถที่จะทำงานอย่างเป็นระบบครับ ทั้งเรื่องของการทำงานร่วมกับตัวไฟล์ RAW ของ ​SIGMA fp เอง แล้วก็เครื่องมือของการจัดการระบบไฟล์ กล้องตัวนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับการทำงานด้านตัดต่อครับ

4. บันทึกข้อมูลลง SSD โดยตรง ถ้าเทียบความจุเดียวกันกับการดูแล มันลงทุนได้ค่อนข้างคุ้มสำหรับผม แล้วก็ต่อคอมตรงได้เลย

กล้อง SIGMA fp มีข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นข้อได้เปรียบคือสามารถที่จะต่อ USB-C แล้วบันทึกไฟล์ Cinema DNG ลงไปที่ SSD ได้โดยตรงเลย ซึ่งเมื่อเทียบกับกล้อง Mirrorless ตัวอื่น ๆ ที่อยู่ในตลาดอาจจะใช้ CF Express Type-A ซึ่งราคาก็ค่อนข้างสูง (แน่นอนว่าสะดวกกว่า) แต่ในมุมผมด้วยงบที่จำกัดก็ชอบที่จะใช้รุ่นนี้ครับ

จุดด้อยของกล้อง SIGMA fp และมีที่รับได้และต้องทนใช้กับเขาไปด้วยก็มีตามนี้ครับ

1. SIGMA fp ต้องเป็นกล้องที่อาศัยความเข้าใจในการใช้ ถ้ามือใหม่ใช้โดยไม่ได้ฝึกเรียนรู้เรื่องกล้องหรือไฟล์วิดีโอมาก่อนจะเหนื่อยและสับสนมาก

ถ้าจะให้ว่ากันตามตรงกล้องรุ่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ก็สามารถใช้ได้ง่าย ๆ ในตอนเริ่มต้นครับ เพราะว่าต้องเข้าใจพื้นฐานเรื่องของไฟล์วิดีโอรวมไปถึง Software ที่ใช้จัดการเยอะเลย ถ้าเทียบกับกล้อง Mirrorless ที่ใช้ถ่ายวิดีโอทั่วไป ผมว่า SIGMA fp ใช้ยากกว่าพอสมควรครับ

2. แบตเตอรี่หมดค่อนข้างเร็วนิดหน่อย ประมาณ 40-45 นาที สำหรับการถ่ายวิดีโอต่อเนื่องแบบ Cinema RAW DNG การทำงานวิดีโอก็ต้องวางแผนเยอะหน่อย

สำหรับ SIGMA fp การใช้งานต่อเนื่องนั้นผมเคยทดสอบเปิด Record ทิ้งไว้ตั้งแต่แบตเต็มจนหมด อัดเป็น Cinema DNG เลย ก็ได้ประมาณ 40-45 นาที แบตถึงจะหมดครับ ผมคิดว่าแอบเร็วไปหน่อยเพราะน่าจะได้สัก 1 ชั่วโมงก็ยังดี

แต่ก็มาคิดอีกมุมคือแบตเตอรี่ก้อนเล็กมาก แล้วก็กล้องประมวลผลค่อนข้างหนักเพราะบันทึก Cinema DNG ก็เลยคิดว่าพอรับได้ครับกับจุดนี้

3. ตัว Cage ของ SIGMA fp ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ทำให้การติดพ่วงอุปกรณ์แบบคนเซ็ตอาจจะตอบโจทย์ได้ไม่หมด ต้องประยุกต์เอา

อีกสั่นนึงที่ผมคิดว่าเป็นจุดที่แอบเป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยไปในตัวคือ SIGMA fp มีขนาดเล็กครับ และด้วยความที่ขนาดเล็กนี้เองเลยทำให้ Cage ของตัว SIGMA fp เล็กตามไปด้วย

ปัญหาก็เลยเกิดคือถ้าหากคุณต้องการต่ออุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมเหมือนกล้องอื่น ๆ เช่น ต่อทั้งไมค์แยก จอแยก ต้องการยึดกับตัว Cage เลย ซึ่งพื้นที่ของ SIGMA fp จะมีน้อยกว่านั่นเอง อาจจะต้องพึ่งพาการจัดการที่มากกว่าปกติครับ

4. การแสดงผล Output ของ SIGMA fp ถ้าไม่ใช่การ Output แบบ ProRes RAW ผ่าน HDMI สีที่มันออกมา จะถูกแสดงผลที่ Color Space Rec 709 ครับ เวลาถ่ายจะลำบากมาก เพราะเราไม่สามารถเห็นการแสดงผลจริง ๆ ของมันได้เลย

เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องที่มีปัญหาแบบมากมายจนผมต้องยอม แต่ก็ใช้นะครับคือการแสดงผลของจอ SIGMA fp นั้นจะแสดงผลเป็น Color Space Rec 709 ครับ ซึ่งมันไม่ได้ตรงกับสีที่บันทึกเลย แม้ว่าจะใช้จอแยกอย่าง Ninja V มาเป็น Monitor แล้วก็ตามครับ

เว้นเสียแต่ว่าคุณจะบันทึกเป็น ProRes RAW ลง Ninja V ตรง ๆ อันนั้นก็สีตรงครับ แต่ Davinci ผมก็จะอ่านไฟล์นี้ไม่ได้ คิดว่าอนาคตคงจะลองจอ Blackmagic ครับ ถ้าบันทึกเป็น ​BRAW ก็น่าจะทำให้การถ่ายวิดีโอแบบนี้ง่ายขึ้นครับ

Exit mobile version