Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

10 เทคนิคถ่ายภาพด้วย Long Exposure

Long Exposure คือเทคนิคในการถ่ายภาพลากความเร็วชัตเตอร์ให้นาน ซึ่งถูกนำมาใช้ในการถ่ายภาพหลากหลายแนว เช่น การถ่ายภาพให้เอฟเฟคดาวเป็นเส้น (Star Trails), การถ่ายภาพลากก้อนเมฆ, การถ่ายภาพน้ำให้เกิดเอฟเฟคที่ดูนุ่มนวล สมูท ผมเชื่อครับว่าหลายคนก็คงอยากลองถ่ายภาพแบบนั้นบ้าง

การถ่ายภาพ Long Exposure เป็นคีย์หลักในเรื่องนี้เลย ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจนะ ถ้าใครยังไม่เข้าใจลองอ่านพื้นฐานในเรื่อง ถ่ายภาพยังไงให้แสงเป็นเส้น ก็ได้ครับ จะเข้าใจคีย์หลักในเรื่องนี้มากขึ้นเยอะเลย

จะว่าไปแล้วเทคนิคของ Long Exposure Photography นั้นเป็นการถ่ายภาพให้เกิดเอฟเฟคช่วงเวลาหนึ่งของแสงที่เข้ามาในกล้อง โดยแต่ละช่วงเวลาก็จะให้เอฟเฟคที่ต่างออกไป เช่น การถ่ายภาพเมฆไหล เมื่อเปิดเอฟเฟคนาน ๆ ก็จะยิ่งเห็นเอฟเฟคเมฆชัดเจนขึ้น หรือการถ่ายภาพไฟให้เป็นเส้น เมื่อเปิดความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้น เส้นก็จะยิ่งยาว เอาเป็นว่าตอนนี้เรามาดูกันครับว่าแค่ด้วยเทคนิค Long Exposure นั้นเอามาใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง

1. การถ่ายภาพดาวหมุน (Star Trails – Long Exposure)

เทคนิค Long Exposure นั้นนิยมใช้มากในการถ่ายภาพกลางคืน โดยเฉพาะเอามาดีไซน์ภาพดาวหมุน เพราะเมื่อเปิดชัตเตอร์ยิ่งนาน ยิ่งลากดาวให้เป็นเส้นได้ เมื่อเราได้ทิศทางที่ถูกต้องก็จะได้ดาวหมุนเป็นเอฟเฟคกลมสวย

อุปกรณ์และสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพดาวหมุนได้แก่
– ตัวกล้อง
– ขาตั้งกล้อง
– สายลั่นชัตเตอร์
– ระยะเวลา
– ซอฟต์แวร์ในการรวมภาพ

การถ่ายภาพดาวหมุนนั้นอาจจะเริ่มที่ 30 วินาทีเป็นต้นไป ซึ่งจะได้เส้นของดาวหมุนสั้น ๆ แต่เมื่อถ่ายนานมากกว่านั้น เราก็จะได้เส้นของดาวที่เยอะขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องระมัดระวังก็คือเรื่องของ Noise ในภาพ ดังนั้นวิธีการแก้ไขก็คือการรู้จักวิธีการลด Noise ในภาพด้วยซอฟต์แวร์อีกรอบ อาจจะใช้วิธี Blending เลเยอร์ภาพใน Photoshop อีกที (ซึ่งมีวิธีลด Noise หลายวิธี)

2. การถ่ายภาพพลุ (Fireworks Photography)

ในการเริ่มต้นถ่ายภาพพลุให้ใช้โหมดแมนนวล ถ้ากล้องใครอยู่ในแมนนวลมีคำสั่งแฟลชออโต้อยู่ก็ให้ปิดให้เรียบร้อยครับ, การที่อยู่ในโหมดแมนนวลนั้นจะทำให้เราตั้งค่าได้อย่างอิสระ ทั้งเรื่องรูรับแสง ในบทความนี้จะแนะนำให้ตั้งค่ารูรับแสง (F) ที่ F/11 ความเร็วชัตเตอร์ลองสัก 1/2 วินาที ส่วน ISO 100 ถ้าเกิดว่าภาพมืดเกินไปก็ให้ปรับลดความเร็วชัตเตอร์ลงแทน โดยคงค่ารูรับแสงไว้เหมือนเดิม, อีกวิธีนึงที่นิยมกันตลอดก็คือโหมด Bulb ซึ่งจะทำให้เราเปิดม่านชัตเตอร์ได้ตามใจต้องการ แต่ต้องใช้คู่กับสายลั่นชัตเตอร์ครับ

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือขาตั้งกล้องต้องมีความมั่นคง รับน้ำหนักกล้องได้ดี, และก็พยายามเก็บภาพพลุให้มีเส้นยาว ๆ ก็จะช่วยให้เก็บภาพพลุที่สวยงามได้

3. การถ่ายภาพวาดแสงไฟ (Light Painting)

การถ่ายภาพวาดแสงไฟนั้นจะใช้พื้นฐานการถ่ายภาพแนวนี้เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ Location ต้องมืดมาก เพื่อตัดแสงรบกวนก่อน เราจะเก็บแค่แสงไฟจากไฟฉาย หรือแท่งเรืองแสงเท่านั้น สำหรับการตั้งค่าก็ลองตั้งสัก F11, ISO100 แล้วเลือกชัตเตอร์ระหว่าง 11-30 วินาที อันนี้แล้วแต่แวดล้อม สภาพแสงที่เก็บมาได้ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราควรเปิดระยะเวลาสักเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อกดชัตเตอร์ก็วาดไฟตามเวลาที่เรากำหนดไว้ได้เลย อันนี้ง่ายกว่าการถ่ายพลุเยอะ เพราะเราสามารถสั่งเพื่อนได้นั่นเองครับ

4. ถ่ายภาพน้ำตก ลากสายน้ำให้นุ่ม

เราคงเคยเห็นภาพน้ำตกนุ่ม ๆ ลากให้เป็นสายแล้ว แน่นอนว่าใช้การถ่ายลากชัตเตอร์นาน ๆ ทั้งนั้นเลย ซึ่งเรามักจะเปิดชัตเตอร์ให้นานสัก 1 วินาที หรือมากกว่านั้นถ้าเราต้องการน้ำให้นุ่ม และฟุ้ง ความยากคือถ้าสภาพแสงสว่างมาก ๆ เราอาจจะต้องใช้ ND Filter เพื่อตัดแสงให้น้อยลง (ตอนกลางวันแสงจะเยอะมาก ถ้าถ่ายภาพลากชัตเตอร์นาน ๆแสงมักจะล้น เราควบคุมได้ด้วยการใส่ ND Filter ตัดแสงนะ)

5. ถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheels)

การถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์เป็นการเปิดม่านชัตเตอร์ระหว่างที่ชิงช้าสวรรค์กำลังเคลื่อนที่ จะเปิดชัตเตอร์สปีดระหว่าง 1-30 วินาที ขึ้นอยู่กับความเร็วของชิงช้า และความต้องการเส้นแสงที่เราต้องการ

6. ถ่ายภาพเก็บเส้นแสงไฟ

การถ่ายภาพเก็บเส้นแสงไฟ เป็นการถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมตลอดกาล เนื่องด้วยสถานที่ในเมืองแทบทุกที่ ขอแค่โลเคชั่นมีความโดดเด่นก็สามารถถ่ายได้ ซึ่งการถ่ายก็ง่าย ๆ เลย อาจจะตั้งที่ F16 หรือต่ำกว่าก็ได้แล้วแต่เรา แล้วตั้งสปีดให้ได้สัก 10-20 วินาที (เอาจริง ๆ ก็แล้วแต่ว่าอยากจะตั้งยาวเท่าไหร่อ่ะนะ)

7. การถ่ายภาพฟ้าผ่า

การถ่ายฟ้าผ่านั้นเป็นอะไรที่โคตรจะท้าทายช่างภาพ เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราแค่ได้ทำการตั้งค่าและกดชัตเตอร์รอครับ ที่เหลือคือเรื่องดวงและความอดทน โดยที่ค่า F จะเลือกที่ประมาณ 8, ISO100 และความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 15-30 วินาที และถ่ายไปอย่างนั้นเรื่อย ๆ หากโชคดีก็ได้สายฟ้าที่สวยงามเลยแหละ

สิ่งสำคัญคือขาตั้งกล้องต้องนิ่ง ๆ ด้วยนะ ที่เหลือก็แล้วแต่โชคชะตาว่าจะทำให้เราได้สายฟ้าที่สวยแค่ไหน

8. ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้นและภาพดวงอาทิตย์ตก (Sunrise or Sunsets)

การถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นหรือว่าดวงอาทิตย์กำลังตกนั้น เป็นจังหวะที่ยอดเยี่ยมสำหรับการถ่ายภาพ Long Exposure ซึ่งในการถ่ายภาพมักจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า Golden Hour เพราะแสงจะสวยที่สุด เวลาที่เราถ่ายภาพทิวทัศน์ในช่วงนี้ จะทำให้ได้แสงท้องฟ้าที่สวยงามมาก ๆ และยิ่งให้ความเร็วชัตเตอร์ที่ยาว ทำให้เราเก็บภาพของแสงในช่วงนี้ได้สวยครับ

นอกจากนี้การใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บภาพ ทำให้ได้รายละเอียดของบรรยากาศมามากอีกด้วย ส่วนความเร็วชัตเตอร์นั้นก็จะใช้ระหว่าง 5 วินาที – 30 วินาที ถ้ามีแม่น้ำ หรือสายน้ำบริเวณนั้น น้ำก็จะเบลอเป็นเส้นที่สวยงามอีกด้วย

9. การถ่ายภาพแพนนิ่ง หรือภาพวัตถุเคลื่อนที่ (Panning & Moving Subject Photography)

การถ่ายภาพวัตถุเคลื่อนที่ หรือการถ่ายแบบ Panning เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการถ่ายภาพที่ทำให้เห็นโมชั่น หรือรูปแบบของการเคลื่อนไหว โดยที่จุดโฟกัสยังให้ภาพที่ชัดเจน ซึ่งการตั้งค่ากล้องสำหรับถ่าย Panning นั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ และสภาพแสงในตอนนั้นด้วย

แต่หัวใจหลักของการถ่าย Panning นั้น ถ้ารถที่เคลื่อนที่เร็วหน่อยก็อาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 แต่ถ้าเป็นรถที่วิ่งช้า ตามถนนรถเยอะ ๆ ก็ 1/60 แต่ถ้าเป็นสนัขวิ่งก็ 1/40 เป็นต้น

10. การถ่ายภาพเก็บเงาสะท้อน (Reflections)

การถ่ายภาพ Long Exposure สำหรับการถ่ายภาพเงาสะท้อนน้ำ ช่วยทำให้น้ำดูสมูท นิ่ง และเห็นเงาหรือแสงไฟที่น้ำชัดเจน ซึ่งวิธีการในการถ่ายนั้นจะเหมือนกับการถ่ายภาพน้ำตกที่เคยพูดไป ยิ่งเราลากความเร็วชัตเตอร์ให้นาน เงาที่น้ำยิ่งชัดเจน และน้ำยิ่งนิ่งกว่าเดิม ควรเลือกสถานที่ซึ่งมีไฟหลากหลายสี จะทำให้ภาพดูหลากหลายและดึงดูดสายตาครับ

source : https://contrastly.com/long-exposure/

Exit mobile version