Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

10 การจัดองค์ประกอบที่ควรฝึกให้เป็นก่อนไปเที่ยว

10 การจัดองค์ประกอบที่ควรฝึกให้เป็นก่อนไปเที่ยว การจัดองค์ประกอบเป็นการเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุตัวแบบและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดองค์ประกอบมีทฤษฎีที่ให้ศึกษาอยู่อย่างมากมายแต่ในบทความนี้ จะไม่ลงรายละเอียดทฤษฏีการจัดวางในลักษณะต่าง ๆ แต่จะพูดถึง 10 การจัดองค์ประกอบที่ควรฝึกให้เป็นก่อนไปเที่ยว เพื่อว่าตอนเราไปเที่ยวเราจะได้ถ่ายสวย ๆ กลับมาเยอะ ๆ ยังไงล่ะ 

10 การจัดองค์ประกอบที่ควรฝึกให้เป็นก่อนไปเที่ยว

1. เส้นสายภายในภาพใช้เพื่อเป็นเส้นนำสายตา 

เส้นสายในภาพ ซึ่งหมายถึง สิ่งใดก็ตามที่ทำให้เกิดเป็นเส้นในภาพ เช่น แสง เงา แม่น้ำ ทางเดิน รั้ว สายไฟฟ้า เมื่ออยู่ในภาพจะทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆในภาพเข้าด้วยกัน เส้นนำสายตาไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นที่มีความหนาเท่ากัน บางเส้นอาจจะเลือนลางแต่ยังคงทำหน้าที่ได้ชัดเจน ดังนั้นเส้นนำสายตาในภาพจึงสำคัญเพราะจะกำหนดจุดสนใจและดึงสายตาเข้าไปที่จุดสนใจในภาพ 

2. ให้แสงและเงาในการเน้นบางส่วนบางจุดของภาพเพื่อสร้างความน่าสนใจ 

แสงและเงาเป็นการสร้างมิติภาพได้รูปแบบหนึ่ง การเกิดแสงและเงาทำให้ภาพดูไม่แบนราบทั้งยังสามารถเน้นจุดเด่นบางจุด เช่นการนำเสนอรูปร่างหรือรูปทรง แสงและเงาที่เกิดขึ้นจะช่วยเน้นขอบโค้งให้ชัดเจนขึ้น หรือการถ่ายภาพย้อนแสงเพื่อให้เกิดเงาดำ ที่มีรูปร่างชัดเจน หรือที่เราเรียกว่าการถ่ายภาพแบบซิลลูเอทก็ดึงดูดสายตาได้ด้วยเช่นกัน

3. จัดระยะของวัตถุในภาพและการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างพอดี 

ระยะของวัตถุที่อยู่ในภาพก็จะให้ความรู้สึกกับภาพด้วยเช่นกันหรือที่เรียกว่า “breathing space” การมีช่องว่างอยู่ในเฟรมหรือที่ภาษาทั่วไปเรียกว่า “ช่องไฟ” นั่นเอง เพื่อให้วัตถุหรือตัวแบบมีช่องว่าง ก็จะทำให้ภาพดูรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด 

4. วางภาพให้สมดุลแบบสมมาตร

การจัดวางให้เกิดความสมดุลในภาพโดยให้น้ำหนักของแต่ละวัตถุในภาพแล้วชั่งน้ำหนักของภาพ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ สัตว์ อะไรก็ตามที่อยู่ในเฟรมภาพ ต้องไม่ให้ความรู้สึกว่าหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง  และทำให้ภาพ เอียงบางครั้งวัตถุที่เป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ หลายอันก็ช่วยถ่วงน้ำหนักของภาพกับวัตถุอีกฝั่งหนึ่งที่ดูมีน้ำหนักมากด้วยเช่นกัน วิธีการง่าย ๆ คือนึกว่าถ้าแบ่งภาพเป็นสองส่วนซ้าย ขวา ภาพทั้งสองภาพจะเหมือนเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน

5. ให้จุดสนใจอยู่ตรงกลางภาพ สื่อสารเข้าใจง่าย ตรงจุด

การวางตัวแบบตรงกลางภาพ เป็นการสื่อสารภาพที่เข้าใจง่ายที่สุดเพราะเป็นการบ่งบอกว่า สิ่งที่อยู่ตรงกลางภาพคือจุดสนใจและต้องการให้มองจุดนั้นเป็นพิเศษ ดังนั้นถ้าไปเที่ยวแล้วมีเวลาจัดองค์ประกอบน้อยอาจจะลองวางจุดสนใจไว้ตรงกลางก็ได้ครับสื่อสารเข้าใจง่าย ได้ภาพสวยละน่าสนใจด้วย

6. การใช้ฉากหน้าเพื่อกระตุ้นความน่าสนใจและใส่มิติให้กับภาพ

ใช้ FOREGROUND ช่วยให้ภาพดูมีมิติโดยภาพจะเห็นระยะใกล้ไกล ภาพที่ได้จะไม่ดูแบน ซึ่งฉากหน้ายังทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตา เพื่อดึงความสนใจไปยังภาพด้วยสร้างมิติให้กับภาพ ดูมีความใกล้หรือไกลออกไปทำให้ภาพดูมีมิติสวยงามน่าสนใจ

7. การจัดกรอบภาพเพื่อกำหนดความสนใจไปยังตัวแบบโดยตรง

การจัดเฟรมอย่างเป็นธรรมชาติคือการใช้กรอบต่าง ๆ ที่อยู่ตรงหน้าเราเพื่อจัดเฟรมวัตถุใช้กำหนดจุดความสำคัญของภาพ โดยให้ตัวแบบอยู่ในกรอบยิ่งเป็นการกำหนดขอบเขตการมองให้กับคนดูว่าให้มองจุดใดของภาพวิธีนี้จะดึงดูดสายตาสู่ภาพถ่ายและเน้นโฟกัสไปที่ตัววัตถุ ซึ่งการใช้เฟรมนี้สามารถสร้างขึ้นได้โดยใช้สิ่งต่าง ๆ มากมายที่เราจะพบได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นกิ่งก้านซุ้มอุโมงค์กรอบประตูจากระยะเลนส์ที่ทำให้ภาพเบลอบางจุด

8. เปลี่ยนมุมมองภาพ ขนาดภาพ หรือจากภาพแนวนอนเป็นแนวตั้ง

การถ่ายภาพโดยทั่วไป ปกติแล้วจะชินกับการจัดวางมุมกล้องแบบระดับสายตาดังนั้นถ้าอยากลองถ่ายภาพเพื่อให้ภาพดูน่าสนใจและเล่าเรื่องในมุมมองที่ต่างไป ลองเปลี่ยนมุมกล้อง อาจจะใช้มุมเงย มุมก้ม นั่งลง หรือนอนลง เปลี่ยนขนาดภาพ หรือจากภาพแนวนอนเป็นแนวตั้งจะช่วยให้ภาพมีแนวการมองที่เปลี่ยนไป ภาพก็จะดูสวยแปลกตา และน่าสนใจขึ้น

9. ใช้คนหรือสิ่งของเพื่อให้เป็นขนาดอ้างอิงแสดงความยิ่งใหญ่ของสถานที่

เทียบขนาดกับสิ่งของหรือตัวบุคคลในธรรมชาติจะแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ทั้งขนาดที่ใหญ่โตของภูเขาหรือความสลับซับซ้อนของแนวเขาที่สวยงาม หรือแม้แต่พืชหรือสัตว์ขนาดเล็กที่พบเห็น ซึ่งหากต้องการสื่อถึงขนาดที่แท้จริง สามารถใช้ตัวบุคคล หรือสิ่งของ เป็นขนาดอ้างอิงได้เพื่อให้ภาพได้เล่าเรื่องได้ชัดเจนมากขึ้น

10. ถ่ายภาพให้เห็นความเคลื่อนไหว (ส่วนใหญ่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม ขาตั้งกล้อง ND FILTER ช่วย)

การถ่ายภาพเพื่อให้เห็นลักษณะการเคลื่อนไหวทิศทางการเคลื่อนที่ การขยับของวัตถุรอบตัวเเบบหรือการเคลื่อนที่ของตัวเเบบเองส่วนมากจะใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ Long exposure เช่น น้ำตกฟุ้ง คนเดินบนถนน ไฟรถเป็นเส้นสาย 

การใช้ขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์เป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์งานถ่ายภาพ โดยการปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ให้เปิดรับเเสงนานขึ้นส่วน การถ่ายภาพน้ำตกฟุ้ง หรือน้ำทะเลนุ่ม ๆ ส่วนใหญ่ต้องใช้ ND FILTER ช่วย โดยจะสร้างภาพที่เบลอในบริเวณที่มีการเคลื่อนที่ จึงช่วยเล่าเรื่องราวและทำให้ภาพดูน่าสนใจได้ด้วยนะ

อ่านบทความพื้นฐานการถ่ายภาพได้ที่นี่

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

Exit mobile version