Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

10 เหตุผลทำไมถ่ายภาพแล้วเบลอ ไม่คม

10 เหตุผลทำไมถ่ายภาพแล้วเบลอ ไม่คม ถ้าหากว่าภาพของเราไม่คม ผมเชื่อนะว่าเราไม่ใช่คนเดียวหรอกครับที่เป็นแบบนี้ มีคนที่เจอปัญหานี้เยอะเลย ซึ่งเป็นคำถามกับมือใหม่ที่เริ่มต้นเสมอครับว่า “ทำยังไงถึงถ่ายภาพแล้วออกมาคมชัด?”

ภาพถ่ายที่เบลอเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป และก็ยากนะถ้าจะตอบทั้งหมดโดยละเอียดว่าปัญหามันเกิดจากอะไรแน่ ในวันนี้มี 10 เหตุผลที่น่าจะพลาดกันบ่อยที่สุดแล้วทำให้ภาพเบลอ ไม่คม ครับ

1. Shutter Speed ช้าเกินไป ไม่มากพอที่จะหยุดวัตถุให้นิ่งได้

อันนี้เป็นข้อผิดพลาดสุดฮิตที่เจอประจำ เนื่องจากภาพเบลอเพราะว่าเราเลือกความเร็วชัตเตอร์ได้ไม่มากพอที่จะหยุดวัตถุนั้น ๆ ที่เคลื่อนไหวได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับโหมดถ่ายภาพที่เราเลือกให้กล้องปรับค่าบางอย่างอัตโนมัติให้ โดยไม่ได้เลือกความเร็วชัตเตอร์เป็นหลักนั่นเอง (เช่นโหมด A และโหมด Auto อื่น ๆ ที่ไม่ใช่โหมด S)

Photo by Jeremy Bishop on Unsplash

หรือไม่ก็เลือกความเร็วชัตเตอร์ด้วยตัวเองแหละ แต่ไม่ได้มากพอที่จะหยุดแบบไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ความเร็วชัตเตอร์ต้องสัมพันธ์กับระยะโฟกัสด้วย เช่น ระยะโฟกัส 200mm ความเร็วชัตเตอร์ก็ต้อง 1/200 ยืนพื้นไว้เลยเป็นต้น

Photo by Dmitriy Kolesnikov on Unsplash

แล้วควรตั้งความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ล่ะ! เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมให้บทความเกี่ยวกับรวมเรื่องเกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์ไว้ให้เลยครับ

2. ไม่ยอมใช้ขาตั้ง

ปรับความเข้าใจกันแปปนึง ไม่ได้แปลว่าต้องลากขาตั้งเดินไปทุกที่ ที่คุณไป ไม่ใช่แบบนั้นนะ แต่ว่าเมื่อเวลาที่ถ่ายภาพ landscape หรือภาพเที่ยว ที่เราต้องการภาพชัดทั้งภาพ เราต้องใช้รูรับแสงที่แคบลง (F เลขเยอะ ๆ) มันจะทำให้เราต้องลดความเร็วชัตเตอร์ลงเพื่อให้แสงเข้าเยอะขึ้น (คนส่วนใหญ่ไม่เพิ่ม ISO เยอะหรอกครับ โดยเฉพาะภาพ Landscape)

เมื่อความเร็วชัตเตอร์น้อยลงแล้วไม่เร็วพอที่จะถือไว้นิ่ง ๆ ได้ ภาพก็เบลอสิครับพี่น้อง ดังนั้นการที่เราใช้ขาตั้งกล้องกับการถ่ายภาพ Landscape มันก็จะทำให้เราได้ภาพที่นิ่งนั่นเองครับ นอกจากนี้ผมย้ำด้วยนะ ว่าควรปิดระบบกันสั่นในตัวกล้องด้วย เพราะขาตั้งกล้องที่มั่นคงทำให้กล้องนิ่งแล้วครับ แต่ระบบกันสั่นมันขยับตลอดเวลา ภาพมันก็จะเบลอเอาได้ครับ

Photo by Jakub Gorajek on Unsplash

3. เทคนิคการจับกล้อง หรือถือกล้อง ไม่ดี

เพื่อความมั่นคงที่ดีที่สุดให้เราถือกล้องตามแบบที่ช่างภาพแนะนำ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีเทคนิคอะไรมากครับ เผลอ ๆ ถ่ายภาพเองบ่อย ๆ เราก็จะปรับท่าทางได้เองด้วยซ้ำ แต่หลัก ๆ คือเวลายืน เท้าก็ห่างกันเล็กน้อย เท้าด้านใดด้านนึงอยู่ข้างหน้า และยืนให้มั่นคงเพื่อรักษาสมดลของร่างกายไม่ให้น้ำหนักเทไปมา แล้วก็ข้อศอกของเราแนบหน้าอกเพื่อที่จะได้ประคองได้นิ่งมากขึ้นครับ

หรือบางครั้งเราไม่ได้ใช้ขาตั้ง แต่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าปกติที่เราถือได้ เราก็อาจจะต้องเอาหลังพิงกำแพงไว้แล้วประคองให้ดีขึ้นเป็นต้นครับ

ภาพโดย Pexels จาก Pixabay

4. ใช้รูรับแสงกว้างเกินไป

ขนาดของรูรับแสงจะมีผลโดยตรงกับความคมชัดของภาพในการกำหนดระยะชัดลึกของภาพ ซึ่งจำเป็นมากในการถ่ายภาพ Landscape เพราะเราต้องการทำให้ภาพชัดทั้งภาพ แล้วช่วงที่คมสุดของรูรับแสงเลนส์แต่ละตัวจะอยู่ราว ๆ F5.6-F11

ดังนั้นเมื่อเราต้องการภาพที่ชัดทั้งภาพ แล้วให้ภาพคม ให้ระยะชัดที่มากพอก็ควรต้องใช้ F แคบครับ ประมาณ F5.6-F11 นั่นแหละที่ผมแนะนำ แต่ถ้ามากกว่านั้นภาพจะเริ่มลดความคมชัดลงครับ (ไม่ใช่ F ยิ่งแคบสุดภาพยิ่งคมนะ การที่ค่า F มากเกินไป ภาพชัดทั้งภาพก็จริง แต่ความคมจะไม่ใช่แล้ว) มันจะเกิดอาการที่เรียกว่า Lens Diffraction ครับเมื่อใช้ F แคบเกินไปครับ ลองดูภาพด้านล่างได้

Lens Diffraction, Source : Photographylife

ดังนั้นระยะชัดที่จะให้ได้ชัดทั้งภาพส่วนใหญ่ผมก็จะแนะนำที่ F8 – F11 ครับ แล้วก็ที่เหลืออยู่ที่ความเร็วชัตเตอร์ ขาตั้ง กับปัจจัยอื่น ๆ ครับ

5. ไม่ใช้ออโต้โฟกัส และไม่เช็คโฟกัสหลังถ่ายภาพ

หัวข้อนี้จริง ๆ ไม่อยากพูดถึงเพราะน้อยคนจะเล่นมือหมุน แถมมือหมุนยุคนี้มีทั้ง Adapter Techart ที่ทำให้มือหมุนออโต้โฟกัสได้ กับระบบ Peaking Focus ที่ทำให้มือหมุน โฟกัสแมนนวลได้คมขึ้น

แต่ก็ต้องอธิบายครับ การใช้ออโต้โฟกัสยุคนี้ประสิทธิภาพก็ดีขึ้นมาก ยังไงก็เปิดใช้จะดีที่สุดครับ นอกจากนี้ให้เช็คโฟกัสทุกครั้งหลังการถ่ายภาพด้วยว่าโฟกัสเข้าหรือมีข้อผิดพลาดหรือเปล่า นี่คือสิ่งสำคัญนะครับ เช็คโฟกัสเสมอครับว่าโฟกัสเข้าไหม เสียเวลานิดหน่อยยังดีกว่าภาพเบลอนะครับ

Photo by Federico Bottos on Unsplash

6. โฟกัสผิดที่

แม้ว่าเราจะมีเลนส์ที่แบบโคตรจะคมแค่ไหน และแสงสว่างเพียงพอต่อการถ่ายภาพชัดลึกมากแค่ไหน แต่ว่าถ้าหากเราโฟกัสพลาด โฟกัสไม่ถูกจุดมันก็พังเอาง่าย ๆ เหมือนกัน สำหรับคนถ่ายภาพมานานแล้วอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพผมยังจำได้เลยว่าตัวเองก็ไม่ได้รู้เรื่องจุดโฟกัสอะไรหรอก ขอแค่กล้องมันโฟกัสเข้า ดังติ๊ด ๆ ก็ถ่ายแล้ว

Photo by Patrick Hendry on Unsplash

แต่จริง ๆ แล้วเราควรเลือกจุดที่ควรโฟกัสให้ถูกต้องครับ ว่าเราต้องการให้ส่วนไหนชัด แล้วก็เลื่อนจุดโฟกัสไปให้อยู่ตรงนั้น แล้วโฟกัสให้เข้า จากนั้นค่อยถ่ายครับ บางครั้งมือใหม่อย่างผมตอนแรกก็เลือกให้กล้องเลือกระบบโฟกัสให้แบบอัตโนมัติ บางทีกล้องก็อาจจะพลาดได้เหมือนกันกับการเลือกจุดที่โฟกัสให้ผิดที่ ดังนั้นควรโฟกัสให้ถูกครับว่าควรโฟกัสที่จุดไหนในภาพ

7. ใช้โหมดโฟกัสที่ไม่ถูกต้อง

ในกล้องมีโหมดโฟกัสหลักที่ให้เราเลือกใช้อยู่ก็คือ AF-S หรือ One Shot Autofocus ควรใช้เมื่อวัตถุนั้นคงที่, ต่อมาคือ AF-C หรือ AI-Servo คือระบบออโต้โฟกัสแบบต่อเนื่อง เหมาะกับวัตถุที่เคลื่อนไหวผ่านในเฟรมภาพ โฟมดที่สามคือโหมดอัตโนมัติ AF-A หรือ AI Focus AF

แล้วควรใช้โหมดไหนล่ะ? ถ้าถ่ายภาพ Landscape ก็ควรใช้ระบบโฟกัสแบบ AF-S ถ้าภูเขามันอยู๋กับที่อ่ะนะ (ภูเขาไม่ได้สไลด์หนีไปไหน 555) มันจะทำให้เมื่อโฟกัสเข้า ระบบโฟกัสก็จะรอเรากดชัตเตอร์ลงเพื่อถ่ายโดยที่ไม่ไปวิ่งหาโฟกัสใหม่

แต่ถ้าเราถ่ายภูเขาด้วย AF-C ล่ะ? ระหว่างที่เรากำลังกดถ่าย ใบไม้ขยับ โฟกัสมันก็จะวิ่งไปที่ใบไม้แล้วครับพี่น้อง ใบไม้ชัด ภูเขาเบลอ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราควรเลือกโหมดโฟกัสให้ถูกต้อง

ใครอยากอ่านเรื่องระบบโฟกัสแบบยิบ ๆ อ่านตรงด้านล่างนี้ได้เลยผมเขียนบอกไว้แล้วจ้า

https://www.photoschoolthailand.com/ระบบโฟกัส-สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ/

8. ไม่ใช้แมนนวลโฟกัส (เมื่อถึงเวลาที่ควรต้องใช้)

เอ้า เมื่อกี้บอกให้ใช้ออโต้ อันนี้บอกให้ใช้แมนนวลโฟกัส มันคืออะไร? มันก็คือในเวลาที่ระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติไม่ได้ให้ความแม่นยำเหมือนอย่างที่เคยได้ เช่น การถ่ายภาพดาว แล้วต้องการให้กล้องโฟกัสที่ Inifity ค้างไว้ ก็ควรต้องใช้ Manual Focus หรือบางครั้งจุดที่เราจะโฟกัสมันต้องละเมียดมาก ๆ ระบบออโต้โฟกัสให้ความคมชัดได้ไม่มาพอ ก็ให้เราใช้มือหมุนแล้วขยายส่วนที่ต้องการให้ชัดไว้ในจอ LCD ครับ จะทำให้เราโฟกัสได้แม่นยำแบบสุด ๆ เหมือนกัน (ถ่ายภาพสินค้า ถ่ายภาพดาว ภาพวิวบางสถานการณ์ผมก็ใช้แมนนวลโฟกัสนะ)

9. ใช้ Filter คุณภาพต่ำเกินไป ทำให้ภาพเบลอได้ง่าย ๆ เบลอทุกภาพด้วยนะ

มีกรณีแบบนี้เหมือนกันสำหรับบางคนที่ใช้เลนส์อย่างดีเลย แต่เลือกฟิลเตอร์คุณภาพถูก ๆ ทำให้ความคมชัด หรือแสงผ่านตัวฟิลเตอร์ได้น้อย มันก็ทำให้ภาพออกมาด้อยกว่าที่เลนส์มันทำได้ตามปกติ ดังนั้นการเลือกใช้ฟิลเตอร์ควรเลือกที่มีคุณภาพหน่อยครับ ให้เหมาะสมกับเลนส์ที่เราใช้ด้วยนะครับ

10. ใช้เลนส์คุณภาพแย่

ประเด็นนี้ที่ผมพูดอันสุดท้ายเพราะว่ายุคนี้เลนส์ดี ๆ มีมากแล้วครับ แต่ว่ามีเลนส์บางตัวอาจจะไม่ได้ให้ความคมชัดที่เหมาะสมพอกับความละเอียดของกล้อง ส่วนใหญ่เลนส์ความคมชัดจะเริ่มลดก็ตั้งแต่ระยะซูมมาก ๆ ช่วงระยะท้าย ๆ บางเลนส์ความคมมันก็ลดลงครับ

หรือเลนส์ไวด์(มุมกว้าง)ราคาถูก มันก็จะคมกลาง ๆ ภาพหลังพ้นกลางภาพไปก็เริ่มเบลอเยอะมากแม้จะใช้รูรับแสงแคบแล้วก็ตามก็มีครับ นอกจากนี้เลนส์บางตัวกำลังขยายไม่ดีพอกับกล้องที่เราใช้ (บางคนใช้กล้องความละเอียด 36 ล้านขึ้นไป แต่เลนส์กำลังขยายรายละเอียดไม่มากพอ) ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามคุณภาพเลนส์ครับ

ทั้งหมดนี้ก็เป็น 10 ประเด็นสุดฮิตที่ทำให้ภาพถ่ายของเราเบลอได้ครับ หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับหลาย ๆ คนได้นะครับ

Exit mobile version