Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

10 เทคนิคการใช้เลนส์มุมกว้างกับภาพ Landscape

การใช้เลนส์มุมกว้างกับภาพ Landscape ในการถ่ายภาพ Landscape นั้นสิ่งที่หลายคนได้ยินมาคือการเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง (Ultra-Wide Angle Lens) ลักษณะของเลนส์พวกนี้คือสามารถรับภาพได้กว้างมากตามชื่อเลย แต่หลายคนที่เคยซื้อเลนส์มุมกว้างไปก็มักจะเจอปัญหา เพราะมันกว้างมาก เลยทำให้การจัดองค์ประกอบ และการเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิก ลักษณะของการใช้งานเลนส์มุมกว้าง ทำให้ไม่สามารถจัดภาพได้อย่างใจ วันนี้เรามาทำความเข้าใจเทคนิคในการใช้เลนส์มุมกว้างกันครับ ซึ่งเราจะลงรายละเอียดในการถ่ายภาพ Landscape กันเลย

10 เทคนิค การใช้เลนส์มุมกว้างกับภาพ Landscape เพื่อให้ภาพถ่ายออกมาสวย

1. จัดองค์ประกอบภาพผ่าน Live View จะทำให้เห็นภาพรวมง่ายขึ้น

การใช้ Live View ในการจัดองค์ประกอบภาพจะทำให้เราสามารถเห็นภาพรวมง่ายขึ้น เหมือนเราดูภาพผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเลย เมื่อเราเห็นภาพรวมง่ายขึ้นแล้ว ทำให้เราค่อย ๆ เก็บรายละเอียดในการจัดองค์ประกอบได้ดีขึ้นครับ

เพิ่มเติมนิดนึง ผมไม่รู้หรอกนะว่าใครจะมองว่าเราเป็นมือใหม่หรือเปล่า เพราะบางคนกลับมองว่าคนที่ใช้ Live View แล้วมันดูไม่โปร (ผมเคยเจอมาแบบนี้จริง ๆ ) แต่ผมอยากให้เหตุผลอีกมุมนึงนะว่า อะไรที่ทำให้เราถ่ายภาพได้สวย และจัดการได้สะดวก ก็ทำไปเถอะครับ

2. ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอ

เมื่อเรามองภาพรวมได้แล้วสิ่งที่เราต้องทำต่อมาคือ “การใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ” เพราะภาพรวมที่เกิดขึ้น มันคือรายละเอียดเล็กน้อยทั้งหมดนี่แหละมารวมกัน ดังนั้นหลาย ๆ อย่างที่เราควรสังเกตตั้งแต่ ทิศทางแสงเป็นยังไง สิ่งที่จะนำเสนอในภาพคืออะไร ดีเทล์โอเคไหม หรือต้องเพิ่มอะไรเข้ามาไหม รายละเอียดพวกนี้ควรดูให้หมดนะครับ โดยเฉพาะเรื่องจัดองค์ประกอบภาพ

3. ใช้รูรับแสงแคบเพื่อคุมระยะชัด

ในการถ่ายภาพ Landscape เพื่อการคุมระยะชัดควรใช้ F สัก F8-F16 เพื่อให้ชัดทั้งภาพครับ และพยายามอย่าใช้รูรับแสงแคบสุด เพราะมันทำให้คุณภาพของภาพลดน้อยลงครับ จริง ๆ แล้วเลนส์แต่ละตัวจะมี F ที่คมที่สุดต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ราว ๆ F5.6-F11 ที่ผมเจอมานะ แต่แนะนำใช้ราว ๆ F8-F16 นี่แหละกำลังโอเคเลย

เพิ่มเติมอีกเรื่อง ทำไมต้องคุมระยะชัด เพราะการถ่ายภาพ Landscape เราต้องการให้เกิดการชัดทั้งภาพครับ จำเป็นต้องใช้รูรับแสงที่แคบเพื่อให้ระยะชัดนั้นครอบคลุม เราก็อยากให้คนดูภาพเราสวย ๆ แบบทั้งภาพถูกไหมครับ ^^ ความชัดเจนทั้งภาพเป็นเรื่องสำคัญมากเลยน๊า

4. ใช้ Focus Stacking เพื่อให้เกิดความคมชัดทั่วทั้งภาพ

การใช้ Focus Stacking คือการโฟกัสในหลาย ๆ จุดของภาพที่เราต้องการ จากนั้นนำระยะชัดเหล่านั้นไปรวมกันใน Photoshop เทคนิคนี้เมื่อก่อนผมใช้กับภาพสินค้าบ่อย ๆ เพื่อคุมความชัดของตัวสินค้าทั้งหมด ซึ่งการถ่าย Landscape ก็สามารถนำเทคนิคนี้มาใช้ได้เหมือนกันครับ

5. ถ่ายภาพสถานที่เดียวกันในระยะที่ต่างกันบ้าง

การถ่ายภาพ Landscape เราจะเห็นได้เลยว่าหลาย ๆ สถานที่จะมีภาพเดียวกัน แต่มีมุมมองต่างกัน เลนส์แต่ละช่วงนั้นจะเล่าเรื่องราวที่มีลักษณะต่างกันออกไป ดังนั้นหากเรารักที่จะพัฒนาฝีมือในด้าน Landscape จริง ๆ จัง ๆ ลองถ่ายภาพสถานที่เดียวกัน แล้วใช้ระยะที่ต่างกันในการเล่าเรื่องบ้าง จะทำให้มุมมองของเราเปิดกว้างมากขึ้น และได้ภาพที่สวยในแบบที่ต่างกันออกไป

6. ลองถ่ายภาพในมุมต่ำบ้าง เพื่อให้ความสำคัญและรายละเอียดของฉากหน้ามากขึ้น

วัตถุขนาดเล็กจะมีรายละเอียดมากขึ้นเมื่อเราถ่ายเข้าใกล้เขามากขึ้น เช่น ดอกไม้ หญ้า ต่าง ๆ เราสามารถขยายรายละเอียดฉากหน้าได้มากขึ้นเพียงแต่ถ่ายมุมกดลงไปบ้าง หรือถ่ายในระดับมุมกล้องที่ต่ำลงนั่นเอง เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทำให้ภาพเราดูมีพลังมากขึ้น และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

7. ลองถ่ายภาพในระดับความสูงที่มีความแตกต่างกันบ้าง

ความสูงที่แตกต่างกันก็สามารถทำให้อารมณ์และการเล่าเรื่องต่างกันออกไปได้ เช่น การถ่ายเสยขึ้นจากมุมต่ำ ก็เป็นการเล่าถึงความอลังการของวัตถุนั้น ๆ ทำให้วัตถุนั้นดูใหญ่ขึ้น หรือถ่ายในระยะปกติ ภาพก็ดูกว้างมีมิติ เรื่องราวมีรายละเอียดหลายอย่างที่ให้เราสังเกตอยู่ในนั้น เพราะงั้นลองถ่ายภาพในความสูงที่ต่างกันบ้าง ทำให้เราได้มุมสวย ๆ เยอะขึ้นแน่นอน

8. มองหา Perspective ที่มีความแตกต่างกัน

การเปลี่ยนตำแหน่งที่เล็กน้อยในการถ่ายภาพ จะทำให้เกิด Perspective ที่มีความแตกต่างกันออกไป เพียงแค่ลองแพนกล้องนิดหน่อย หรือลองเอียงนิด ๆ ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสมกับมุม กับสถานที่นั้นครับ ถ้าเราเคยไปถ่ายรูปกับเพื่อนที่ซีเรียส ๆ หน่อยในเรื่อง Landscape จะเห็นได้เลยว่าเขาค่อย ๆ ถ่ายเก็บไป จุดนึงถ่ายหลาย ๆ มุมค่อยย้ายที่ถ่ายเป็นต้น ทำให้เราได้มุมมองที่มากขึ้นนะ

9. ใช้ Distortion ให้เกิดประโยชน์

Distortion ก็คือการบิดเบี้ยวของเลนส์ Ultra-Wide ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเลนส์มุมกว้างมาก ๆ จะเกิดการเบี้ยวของภาพบริเวณขอบ ๆ ซึ่งมันทำให้ภาพดูพุ่ง ๆ หน่อยเวลาใช้เลนส์มุมกว้าง เราสามารถนำมาประยุกต์ให้ภาพดูน่าสนใจได้นะครับ

10. ใส่ใจและให้ความสำคัญกับมุมมองให้มาก ๆ

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในการให้ความสำคัญกับมุมมองภาพโดยเฉพาะมุมด้านล่างของภาพทั้งสองด้าน เพราะเป็นจุดที่ดีมากในการจัดวางเส้นนำสายตาดึงเข้ามาในเฟรมภาพ ซึ่งเรื่องมุมมองไม่แค่กับเลนส์ Ultra-Wide เท่านั้น แต่สำหรับทุก ๆ เลนส์ ทุก ๆ การถ่ายภาพเลยมากกว่า

เรื่องเกี่ยวกับเลนส์มุมกว้างนี้ถ้าหากใครยังงง หรือรู้สึกว่ามันลึกไปหน่อย ลองเริ่มจากพื้นฐานบทความที่เกี่ยวข้องนี้ได้ครับ

Source : https://petapixel.com/2017/09/08/10-tips-using-extreme-wide-angle-lenses-landscape-photography/

>> พื้นฐานการถ่ายภาพที่ควรรู้ <<

>> การใช้เส้นนำสายตากับภาพ Landscape <<

Exit mobile version