Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

11 เคล็ดลับพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับช่างภาพมือใหม่

เคล็ดลับพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับช่างภาพมือใหม่ แนวคิดที่เป็นเคล็ดลับพื้นฐานสำหรับคนเริ่มต้นถ่ายภาพ ซึ่งจะทำให้เราเริ่มต้นถ่ายภาพได้สนุกขึ้น ได้มุมมองใหม่ และมีแนวคิดในการพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพในแบบที่ตัวเองเป็นได้ครับ

11 เคล็ดลับพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับช่างภาพมือใหม่

1. อย่าด่วนตัดสินใจซื้ออุปกรณ์แบบมือโปร(แพง)ในทันที

ในตอนแรกใครก็อยากจะมีกล้องระดับมือโปรกันทั้งนั้น แต่ถ้าใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เลือกกล้องระดับกลางที่เหมาะสมกับเรา จะทำให้เราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายกว่า และไม่เครียด(โดยเฉพาะคนที่ต้องซื้อผ่อน) เพราะราคาอุปกรณ์ค่อนข้างสูง

เคล็ดลับพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับช่างภาพมือใหม่ Image by Stephan Müller on https://pixabay.com/

สิ่งสำคัญที่มากกว่าเรื่องเงินก็คือ อุปกรณ์ที่มีความสามารถจำกัด จะช่วยฝึกฝนทักษะเราได้ดีมาก เพราะเราต้องถ่ายภาพให้ได้ ภายใต้ข้อจำกัดของอุปกรณ์ เช่น กล้องอาจจะจุดโฟกัสน้อยกว่า เราจะรู้จักวิธีการรีคอมโพสต์ หรือว่าการที่เราอาจจะไม่มีเลนส์มุมกว้าง แต่แก้ปัญหาด้วยการถ่ายภาพแบบพาโนรามา แล้วก็ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราต้องถ่ายภาพภายใต้ข้อจำกัดของอุปกรณ์

นอกจากนี้เมื่อเราเริ่มถ่ายภาพเป็นแล้ว เราจะค่อย ๆ รู้ว่าอุปกรณ์ตัวไหนที่เหมาะสำหรับเราต่อไปในอนาคต คือตอนแรกที่เราซื้อกล้องเลย เรายังไม่มีประสบการณ์อะไรมาก เราอาจจะไม่รู้ว่ากล้องตัวไหน เลนส์ช่วงไหนเหมาะกับเรา การเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ถ้าเรามีงบจำกัดผมเชื่อนะ กล้องระดับเริ่มต้นหรือระดับกลาง ก็ให้อะไรดี ๆ กับเราเยอะเหมือนกัน

อ่านบทความวิธีเลือกซื้อกล้อง Mirrorless สำหรับปี 2018 ได้ที่นี่

รีวิวกล้องน้องใหม่ล่าสุด Fujifilm X-T100 เหมาะสำหรับคนเริ่มต้น อ่านได้ที่นี่เลย

2. ฝึกใช้ขาตั้งกล้องให้ชำนาญ

ในระยะแรกที่เราหัดใช้กล้อง เราอาจจะยังไม่รู้ว่าขาตั้งกล้องใช้ทำอะไรได้บ้าง (ก็รู้แหละมันเอาไว้ตั้งกล้องให้นิ่ง ๆ ไง) การตั้งกล้องให้นิ่ง เป็นอะไรที่สามารถสร้างสรรค์ภาพได้เยอะมาก เช่น การถ่ายภาพแบบให้แสงเป็นเส้น, หรือการถ่ายภาพ Night Photography เป็นต้น

เคล็ดลับพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับช่างภาพมือใหม่ Image by Pok Rie on Pexel

นอกจากนี้การเลือกซื้อขาตั้งกล้องก็ควรดูราคาที่เหมาะสมกับการใช้งาน ราคาสัก 2-4 พันบาทก็ได้ (ถูกกว่านี้อาจจะต้องดูดี ๆ มันอาจใช้ไม่เวิร์ค)

3. พกกล้องติดตัวตลอดเวลา

ในการถ่ายภาพแรก ๆ เนี่ยควรพกกล้องติดตัวตลอด เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์มาก การถ่ายภาพบ่อย ๆ ทุกครั้งที่มีโอกาสจะทำให้เราเก็บประสบการณ์ถ่ายภาพได้มากขึ้น และฝึกให้เราคิดมุมมองใหม่ ๆ ตลอดเวลา

เคล็ดลับพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับช่างภาพมือใหม่ Photo credit : Free image download from www.pexels.com

4. ทำลิสต์รายการของภาพที่เราต้องการถ่าย

บางครั้งเราอาจจะไม่สะดวกที่พกกล้องติดตัว แต่เราสามารถวางแผนภาพที่เราอยากจะถ่ายได้ ซึ่งมันเหมือนกับเกมส์ หรือภาระกิจระยะสั้น ที่ทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เช่น อยากถ่ายแนวสตรีท ก็โน้ตไว้ อยากถ่ายแนว Portrait ก็โน้ตไว้ด้วย แบบนี้ก็จะทำให้เรามีโจทย์เพิ่มขึ้น เราค่อยไล่รายละเอียดว่า เราอยากเริ่มถ่ายเมื่อไหร่ วันไหน ถ่ายยังไง มีใครไปบ้าง อะไรแบบนั้น เมื่อมีเป้าหมาย วิธีการจะเริ่มมาทันทีครับ เพราะงั้นในวันนี้เริ่มลิสต์ไว้ได้เลยนะ

Photo credit : Free image download from www.pexels.com

9 วิธีดูหนังยังไงให้ถ่ายภาพสวย มีวิธีนี้ด้วยนะ ลองอ่านดูได้

5. พยายามท่องเที่ยวหรือเลือกไปสถานที่ใหม่ ๆ ให้เยอะขึ้นกว่าเดิม

อย่าขลุกตัวดูแต่รูปอยู่ในห้อง เพราะนั่นไม่ได้สร้างมุมมองใหม่ให้เราสักเท่าไหร่ การที่เรามีกล้องและถ่ายแต่ของในบ้านส่วนใหญ่แล้วมันจะเกิดความเคยชิน และแรงบันดาลใจจะน้อย ดังนั้นวิธีง่าย ๆ คือลองหาสถานที่เที่ยวในจังหวัดของตัวเอง หรือหาโอกาสท่องเที่ยวบ้าง เราจะเริ่มพบอะไรใหม่ ๆ ที่เราอยากจะเล่าเรื่อง อยากจะถ่ายภาพมาบอกต่อ และประสบการณ์ใหม่จะช่วยเชื่อมโยงไอเดียในการถ่ายภาพให้มากขึ้น

Image by Tookapic on Pexels

6. สนุกกับการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ อย่าเครียด อย่าจมกับทฤษฏีจนเกินไป

สิ่งหนึ่งของการถ่ายภาพที่เป็นงานอดิเรกก็คือ การถ่ายภาพทำให้เราเกิดการเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด อันนี้ของจริงเลย บางคนถ่ายภาพมาหลายปีก็ยังพูดว่าตัวเองยังเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอด เรื่องมุมมองและการเล่าเรื่อง เป็นการสื่อสารผ่านภาพที่ถูกพัฒนาอยู่ตลอด ดังนั้นขอให้เราเปิดใจที่จะสนุกกับการถ่ายภาพ อย่าจมกับทฤษฏีเกินไป(รู้บ้างก็ได้ ก็ช่วยได้อยู่ แต่ไม่ควรไปเครียดจนธาตุไฟแตก)

Image by Bhupendra Singh on Pexels

การสนุกกับการเรียนรู้มันทำให้เราเปิดตัวเองที่จะยอมรับสิ่งใหม่มากขึ้น และพร้อมจะลองอะไรแปลก ๆ มันไม่มีเงื่อนไขหรือกรอบเข้ามาบีบมุมมองของเราด้วย ผมกับเพื่อน ๆ ชอบมีคำพูดว่า “มือใหม่บางคนที่ถ่ายภาพโดยไม่สนกฎเกณฑ์เนี่ยน่ากลัว เพราะเขาจะฝึกจัดวางองค์ประกอบสวย ๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว และบางคนไม่มีทฤษฏีมาครอบคลุมความคิดตัวเอง” นี่เป็นเรื่องที่เจอกับตัวเลยแหละ

7. หามุมมองใหม่ ๆ จากสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างความท้าทายให้ตัวเอง

ในโซเชียลอย่าง Flickr หรือ Facebook (แต่ผมนะนำ Flickr) จะมีกลุ่มคนที่ถ่ายภาพอยู่ บางกลุ่มใช้เลนส์หรือกล้องที่เราถืออยู่ก็มี สังคมนี้จะลงรูปบ่อย เราจะเห็นทั้งคอมโพสต์ทั้งการตั้งค่ากล้อง ที่ทำให้เราฝึกเรียนรู้และได้มุมมองใหม่

ก่อนซื้อเลนส์ผมมักจะมาฝังใน Flickr แล้วค้นหาว่าใครใช้เลนส์แบบที่ผมกำลังจะซื้อบ้าง เพราะจะได้มั่นใจว่าเลนส์ตัวนี้แหละ ตอบโจทย์อย่างที่เรามี, หรือแม้แต่การเรียนรู้มุมมองจากคนเก่ง ๆ เพื่อนำมาปรับและพัฒนาตัวเองครับ

Photo credit : Free image download from www.pexels.com

8. เรียนรู้จากภาพของตัวเองที่เคยถ่ายไปแล้ว

ทำได้ด้วยเหรอ? ได้สิ หลาย ๆ ครั้งถ้าเราลองมานั่งดูภาพที่เคยถ่าย เราจะมองเห็นข้อผิดพลาดในภาพของเรา หรืออาจจะเห็นลักษณะของภาพที่เราถ่ายแล้วชอบ เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปอ้างอิงในการถ่ายครั้งต่อไป โดยเฉพาะการตั้งค่าต่าง ๆ เช่น เราอาจจะรู้สึกว่าการถ่ายด้วย F1.4 มันเบลอเยอะเกินไป รอบหน้าอาจจะเลือกปรับ F ให้แคบลงเพื่อคุมความคมชัด

หรือว่าบางทีเราอาจจะมองว่าช่วงเวลาที่ถ่ายภาพตอนนั้นอาจจะไม่เหมาะ ควรเปลี่ยนช่วงเวลามาถ่ายภาพแนวนี้ก็ได้ (มักจะเป็นกับภาพช่วงทไวไลท์) เพราะงั้นภาพถ่ายที่เราเคยถ่ายมา จะบอกข้อดีข้อเสียของเราเองนั่นแหละ

Photo Credit: Sawinery.net

9. เรียนรู้กฎพื้นฐาน ต้องเรียน ไม่เรียนไม่ได้ (ย้ำหลายรอบ เคยเขียนไว้แล้วด้วย ฮ่า ๆ)

พื้นฐานน่าเบื่อ แต่มันได้ใช้ตลอด และทุกเทคนิคที่มันเกิดขึ้น มันก็มาจากพื้นฐานนั่นแหละ แล้วพื้นฐานมันก็มีไม่กี่อย่าง การจัดองค์ประกอบ เรื่องสี เรื่องการตั้งค่ารูรับแสง ความไวแสง ความเร็วชัตเตอร์ พวกนี้ต้องรู้ เมื่อพื้นฐานแน่นเวลาที่เราต่อยอดหรือเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มันจะทำได้ดีเอง

อ่านบทความพื้นฐานการถ่ายภาพทั้งหมดได้ที่นี่เลย

พื้นฐานนี่แหละโคตรจะสำคัญ ขนาดนักกีฬายังมีการฝึกซ้อมพื้นฐานอยู่ตลอดเวลาเลย ถ้าพื้นฐานไม่แน่น จะไปฝึกเทคนิคอะไรก็เอาไปใช้ได้ไม่เต็มที่หรอกครับ เพราะทุกเทคนิคมันก็อิงมาจากพื้นฐานนั่นแหละ (อุตส่าห์พิมพ์ย้ำละนะ อิอิ)

10. ฝึกให้ตัวเองรักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ อย่าขี้เกียจ

เรื่องมุมมองของความคิดเราเนี่ยมันส่งผลกับพฤติกรรมเราเลยนะ ถ้าเราขี้เกียจ ถ่ายภาพเราก็จะขี้เกียจ ถ่ายไปงั้น ๆ ทำไปงั้น ๆ แต่ถ้าเกิดว่าเรารักมัน เราชอบที่จะถ่าย เราจะเริ่มใส่ใจ เวลาเรารักใครสักคน.. เราก็ใส่ใจถูกปะ เวลาเราเบื่อที่จะเทคแคร์ใคร เราก็ไม่อยากจะสนใจคนนั้นเหมือนกัน

การถ่ายภาพก็ไม่ต่างอะไร ถ้าเรารัก เราใส่ใจ รายละเอียดในการที่จะถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่องราวมันจะเพิ่มขึ้นมาเอง แล้วเรื่องพวกนี้อุปกรณ์จะแพงแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้ กล้องคือคือกล้อง แต่สิ่งที่ออกมาจากความคิดมันคือเรื่องราว ศิลปะ และการสื่อสารที่มาจากมนุษย์อย่างเราออกมาเป็นภาพถ่ายนี่แหละ

Imaage by Skitterphoto on https://www.pexels.com/

11. อย่ากลัวเรียนรู้ ทดลอง หรือทำอะไรใหม่ ๆ

ตอนถ่ายภาพครั้งแรก ผมโคตรจะอายเลย ถ่ายไม่สวย ถ่ายแล้วเพื่อก็ถามว่า “ถ่ายอะไรมาเหรอ” บางทีก็เสียความมั่นใจไปบ้าง แต่ถ้าเรามัวแต่อาย มัวแต่ปิดกั้นตัวเอง แล้วเมื่อไหร่จะถ่ายภาพได้สวยล่ะ เพราะงั้นลองไปเลย ภาพเสียก็เสีย ก็เรียนรู้ปรับปรุงเอา ฝึกทุกวัน ทำไมจะไม่เก่งล่ะจริงไหม ^^

Photo credit : Free image download from www.pexels.com
Exit mobile version