Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

12 เทคนิคถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ ที่จะทำให้ภาพถ่ายของเราสวยมากยิ่งขึ้น

12 เทคนิคถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ ที่จะทำให้ภาพถ่ายของเราสวยมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะเป็นบทความที่จะช่วยปรับไอเดียและความคิดพื้นฐานในการถ่ายภาพให้เรามีมุมมองที่ดีขึ้น และสามารถที่จะเข้าใจเรื่ององค์ประกอบภาพและการถ่ายภาพได้มากขึ้นกว่าเดิม เป็นอะไรที่เพิ่มเติมกว่าการปรับตั้งค่ากล้องเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะคนที่อยากได้มุมมองเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการจัดองค์ประกอบภาพที่หลากหลายยิ่งขึ้น

12 เทคนิคถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ ที่จะทำให้ภาพถ่ายของเราสวยมากยิ่งขึ้น

1. ถ่ายภาพโดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก เมื่อคุณมีพื้นฐานที่ดีแล้ว

หัวข้อนี้ไม่ได้แปลว่าให้เราโยนเรื่องพื้นฐานทิ้งไปให้หมดนะ เรายังต้องทำความเข้าใจพื้นฐานในการส่งผลต่ออารมณ์ของภาพอยู่ดี พวกการจัดองค์ประกอบพื้นฐาน หรือการเข้าใจเรื่องการถ่ายภาพเบื้องต้นที่มีมา ยกตัวอย่างภาพด้านล่าง เราจะเคยได้ยินว่า “อย่าวางจุดสนใจไว้ตรงกลางภาพ เพราะจะทำให้ภาพดูไม่น่าสนใจ” แต่ภาพด้านล่างกลับทำให้เรารู้สึกแตกต่าง

อย่าเพิ่งปฏิบัติตามกฎการถ่ายภาพเพียงเพราะมีคนมาบอกว่า เราต้องถ่ายแบบนั้นแบบนี้ หรือต้องมีอะไรตามกฎเกณฑ์เสมอไป จะว่าไงดี การถ่ายภาพมันก็เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์อยู่ดี นั่นแหละที่บอกว่ากฎเกณฑ์ที่มีไว้เป็นพื้นฐานสำหรับเรียนรู้และอ้างอิงหลาย ๆ อย่างนั่นก็ใช่ แต่ว่าการใส่ไอเดีย การเล่าเรื่อง ความเป็นตัวเอง อะไรหลาย ๆ อย่างที่เราเรียกรวมกันว่า “สไตล์” นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายของแต่ละคนแตกต่าง

เราอาจจะเคยได้ยินอีกว่า อย่าถ่ายภาพกลางแดดที่แรงมาก ๆ เพราะจะทำให้แสงแบน ภาพไม่สวย

จากด้านบนจะเห็นได้ว่าภาพที่ได้ไม่ได้เป็นแบบที่กฎเกณฑ์ว่าเอาไว้เสมอไป เพราะงั้นการที่เราเลือกจะถ่ายภาพอะไรให้เอาความรู้สึก เรื่องราว เป็นส่วนสำคัญในภาพถ่ายของเราด้วย การถ่ายภาพเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ที่ว่าอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่มีมาเสมอไป การที่ถ่ายภาพตามกฎเกณฑ์ตลอดอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสูญเสียสไตล์ของเราเองก็ได้นะ ดังนั้นเราควรจะเลือกที่จะลองนำเสนอภาพด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากตัวเราเองด้วยนั่นแหละ

2. ให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์ และความรู้สึก

ภาพถ่ายที่ดึงดูดความสนใจของเรา หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่มีก็คือ ภาพถ่ายมันเชื่อมโยงอะไรบางอย่างภายในตัวเรา ทำให้คนดูรู้สึกบางอย่างกับภาพนั้น สามารถสัมผัสบางสิ่งบางอย่างเมื่อได้ดูภาพถ่ายนั้น ความรู้สึกคือทุกสิ่งทุกอย่างในการถ่ายภาพ ถ้าคนดูของเราไม่ได้เชื่อมโยงกับความรู้สึกใด ๆ กับภาพถ่ายของเราเลย ไม่แปลกถ้าคนจะจำภาพถ่ายของเราไม่ได้

ลองคิดดูมีภาพถ่ายที่วิ่งผ่านสมองเราและสร้างความจดจำมากมาย หลากหลายความรู้สึกจะอยู่ในภาพเหล่านั้น แต่ภาพที่สื่อความรู้สึก หรือทำให้คนดูจับต้องบางอย่างในภาพไม่ได้ ภาพนั้นก็จะถูกลืมไป ดังนั้นระหว่างที่เราถ่ายภาพออกมาเราก็ควรจะคิดถึงความสำคัญตรงนี้เช่นกัน

3. ใส่ความพยายามลงไปให้มากพอ “อย่าพอใจอะไรง่าย ๆ”

การถ่ายภาพแบบรวดเร็ว ถ่ายแช๊ะแล้วก็จบไปก็เป็นภาพถ่ายที่ไม่ต้องคิดหรือว่าพยายามมากนัก แต่อยากให้เราคิดถึงเสมอในเคล็ดลับก่อนหน้านี้ว่า ภาพถ่ายที่มีความหมาย ย่อมมาจากผลของการตัดสินใจในการเล่าเรื่องบางอย่าง อย่างรอบคอบ และละเอียด หากเราต้องการเปลี่ยนการเล่าเรื่องเดิม ๆ ภาพเดิม ๆ เราก็ควรจะเพิ่มความพยายามในภาพถ่ายของเราให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยก็เรื่องของการจัดองค์ประกอบและมุมมองภาพ

ส่วนใหญ่ผมจะชอบคำพูดของช่างภาพท่านนึงที่ผมเจอมากับตัว ซึ่งเขาพูดออกมาโดยไม่ตั้งใจแต่กระทบความรู้สึกผมอย่างรุนแรงมาก คำนั้นพูดว่า “อย่าพอใจอะไรง่าย ๆ สิ ลองถ่ายหลาย ๆ ภาพดูหรือยัง?” เป็นคำพูดที่เขาพูดกับคนอื่นนะ แต่ผมยืนฟังอยู่ตรงนั้นแล้วก็คิดเชื่อมโยงประโยคนี้กับหลาย ๆ เรื่องได้อย่างละเอียด มันใช้ได้กับทุกเรื่องจริง ๆ นะกับคำว่า “อย่าพอใจอะไรง่าย ๆ”

ภาพถ่ายที่ดีถูกใส่ความพยายามเข้าไปเยอะมาก ถึงแม้มุมมองของเราอาจจะไม่สวยเหมือนคนอื่น ๆ แต่เชื่อเถอะ ภาพที่เราใส่ใจในความพยายามกับภาพถ่ายของเรา มันย่อมสวยและดูมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่มากกว่าภาพที่เราถ่ายโดยไม่คิดอะไรแน่นอน

ส่วนความพยายายามที่ว่าคืออะไรน่ะเหรอ เราต้องลองเช็คตัวเองแล้วแหละ องค์ประกอบดีพอหรือยัง รายละเอียดในภาพสามารถที่จะสื่อสารกับคนดูได้มากพอไหม หรือว่าเราควรปรับปรุงอะไรให้มากขึ้นกว่านี้อีก การใส่ความพยายามสักส่วนหนึ่งเข้าไปมากกว่าเดิม ภาพเราก็ต้องดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

4. ลดความเข้าใจที่ซับซ้อนให้น้อยลงที่สุด ทำให้คนดูเข้าใจถึงภาพถ่ายเราได้ง่ายที่สุด

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้การสื่อสารของภาพและอารมณ์คือการลดความซับซ้อนลง เล่าเรื่องราวให้ชัดเจน ทำให้คนดูสามารถเข้าถึงรายละเอียดในภาพถ่ายของเราได้ เราต้องรู้ว่าอะไรที่กำลังรบกวนภาพของเรา หรืออะไรในที่ไม่ควรอยู่ในภาพของเรา เราควรเปลี่ยนองค์ประกอบใหม่ไหม เป็นต้น

5. หาแสงที่ดีให้กับภาพถ่ายของเรา

แม้ข้อแรกสุดที่ผมได้บอกออกไปว่าภาพถ่ายของเราไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ก็ได้ แต่ก็ยังเสริมด้วยว่าบางพื้นฐานมันก็ควรมีอยู่อย่างเช่น เรื่องของแสงที่ดี ก็มีผลกับภาพแบบเน้น ๆ เช่นกัน การเลือกแสงที่ดีให้กับภาพถ่ายของเรา อย่างเช่นช่วง Golden Hour หรือชั่วโมงที่แสงอาทิตย์ตกและขึ้น จะเป็นช่วงที่นิยมมาก ๆ ในการถ่ายภาพ

เพราะการเลือกช่วงเวลานี้ยังไงฟ้าก็มีโอกาสที่จะสวยสดใสมาก ๆ แล้วในทางกลับกัน ถ้าหากเราไม่เลือกแสงที่ดีให้กับภาพ ก็ยากที่ภาพนั้นจะสวยได้ เพราะแสงก็เป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ ในการถ่ายภาพเหมือนกันนะ

6. เก็บภาพบรรยากาศรอบ ๆ บ้าง แทนที่จะมุ่งเน้นแค่จุดสนใจหลักอย่างเดียว

เวลาที่เราถ่ายภาพอย่างเช่นมุมมหาชนต่าง ๆ เราจะโฟกัสไปที่ภาพหลักภาพนึงซึ่งนั่นก็ดีแหละนะ แต่บริเวณรอบ ๆ เราก็อาจจะเจอมุมที่สวยได้เหมือนกัน ดังนั้นเวลาที่เราถ่ายภาพให้เตือนตัวเองเสมอว่าควรมองไปรอบ ๆ เพื่อไม่ให้เราพลาดอะไรที่ดีไป ซึ่งมันมีโอกาสเกิดขึ้นได้นะ

7. ปรับปรุงภาพถ่ายของเราเมื่อไปถ่ายภาพ ณ สถานที่จริงด้วย

เรามักจะคุ้นเคยกับกระบวนการแต่งภาพหลังจากที่ถ่ายมาแล้ว แต่จะดีกว่านั้นถ้าเราพยายามที่จะปรับปรุงภาพถ่ายของเราระหว่างที่ไปถ่าย ณ สถานที่จริง ทำให้เราสามารถจัดองค์ประกอบซ้ำ ๆ หลากหลายรูปแบบได้

บางครั้งเราอาจจะถ่ายภาพในสถานที่เดียวแต่รูปแบบการนำเสนอ การจัดองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไปก็ทำให้ภาพของเรามีความหลากหลายมากขึ้น และมีมุมสวย ๆ ให้เลือกภาพเยอะขึ้นด้วย

8. สังเกตรายละเอียดโดยรวมของภาพอยู่เสมอ

เวลาที่เราถ่ายภาพเราควรสังเกตด้วยว่าภาพรวมของเนื้อหาในภาพของเรามันเล่าเรื่องได้ดีพอแค่ไหน และมีอะไรเข้าไปรบกวนภาพเยอะหรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้การสื่อสารของภาพถ่ายเราไม่เคลียร์หรือชัดเจนพอ เราควรจะดูภาพรวมของสิ่งที่่เราถ่ายอยู่เสมอว่า มันดีพอแล้วหรือยัง หรือว่ายังมีอะไรรบกวนในภาพอยู่ไหม ต้องถ่ายใหม่ไหม เป็นต้น

9. ให้ความสำคัญกับเนื้อหาหลักในภาพว่ากำลังจะสื่อสารอะไร

เวลาที่เราถ่ายภาพเราจะคิดอยู่เสมอว่าเราจะเล่าอะไร เช่น วิวนี้ดูสวยงาม ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เรานำเสนอ หรือเนื้อหาหลักที่จะนำเสนอต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่ทำให้คนดูเข้าใจประเด็นในภาพผิดไป เวลาที่เรานำสิ่งต่าง ๆ มานำเสนอในภาพต้องส่งเสริมประเด็นของเนื้อหาหลักในภาพด้วยนะ

10. ใส่ใจเรื่องมุมมองของการนำเสนอ

หนึ่งในเครื่องมือที่หลายคนมองข้ามคือเรื่องของมุมมองในการนำเสนอ ยกตัวอย่าง เวลาที่เราต้องการถ่ายต้นไม้ให้ดูใหญ่ มุมมองที่นำเสนอก็ควรจะทำให้รู้สึกว่าต้นไม้มีขนาดใหญ่จริง ๆ ซึ่งมุมมองในการนำเสนอของเราจะมีมากขึ้นถ้าหากเราดูรูปเยอะ ๆ และฝึกถ่ายบ่อย ๆ

11. ฝึกซ้อมอยู่เสมอ หาโจทย์ให้ตัวเองทุกครั้งที่ถ่ายภาพ

สิ่งสำคัญที่ทำให้การถ่ายภาพของเรามีความก้าวหน้ามากขึ้น ง่ายที่สุดก็คือการออกไปถ่ายรูปนี่แหละ แต่การออกไปถ่ายก็ควรจะมีโจทย์ทุกครั้งด้วยว่าเราจะออกไปถ่ายอะไร เราต้องการอะไรจากการออกไปถ่ายภาพในครั้งนี้ มีสิ่งไหนที่เราต้องฝึกซ้อมเป็นพิเศษ เป็นการวางเป้าหมายในการถ่ายภาพได้อย่างชัดเจนเลยล่ะ

12. ทดลองถ่ายภาพแม้ในวันที่สภาพอากาศอาจจะไม่เป็นใจ

หัวข้อนี้อาจจะดูแปลกสักหน่อย แต่เป็นการฝึกที่ดีได้นะ แม้ว่าบางวันสภาพอากาศมันไม่ได้เอื้อเอาซะเลย แต่ในเหตุการณ์จริงเราอาจจะเจอกับสิ่งเหล่านี้ก็ได้ การที่เราให้โอกาสตัวเองในการฝึกทำอะไรแบบนี้จะช่วยให้เรามีประสบการณ์ที่จะถ่ายภาพได้ เช่น ถ้าเราไปเที่ยวแล้วเกิดฝนตกจริง ๆ ล่ะ เราจะถ่ายอะไร เราสามารถนำเสนออะไรลงไปในภาพถ่ายของเราได้บ้าง แม้วันที่ฟ้าฝนอาจจะไม่เป็นใจ

รวมบทความการถ่ายภาพพื้นฐานสำหรับมือใหม่

– การตั้งค่ากล้องสำหรับมือใหม่ เริ่มพื้นฐานจากศูนย์กันเลย
– ISO คืออะไร รวมทุกอย่างที่ต้องรู้เรื่อง ISO
– คำแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพให้นิ่งและไม่เบลอ
– 7 ไอเดียการฝึกถ่ายรูปสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้อง
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

Exit mobile version