Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

12 เทคนิคการถ่ายภาพในเมืองตอนกลางคืนสำหรับมือใหม่

การถ่ายภาพในเมืองตอนกลางคืน อาจจะเป็นโจทย์ที่หลายคนอยากจะลอง ซึ่งปกติแล้วภาพแนวนี้ถ้าถ่ายเพื่อความสนุก ความสุข ก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรที่ต้องซีเรียสมากครับ เพราะหลักการจัดองค์ประกอบและแนวทางการถ่ายก็ไม่ได้ต่างกับการถ่ายภาพ Landscape มากนัก แต่ในวันนี้จะแนะนำในบางประเด็นที่อาจจะช่วยให้เราถ่ายภาพแนวนี้ได้ดีขึ้นครับ

1. ฝึกถ่ายภาพโดยใช้โหมด M เพื่อควบคุมภาพให้ได้ตามต้องการ

การถ่ายภาพมุมเมืองหรือ Cityscape ที่มีสภาพแสงน้อย โหมด M จะช่วยให้เราสามารถควบคุมกล้องให้ถ่ายภาพได้อย่างที่ต้องการ เพราะเราต้องทำงานกับทั้ง 3 ค่าด้วยตัวเองคือ

1. Shutter Speed -> ส่งผลกับเส้นแสงที่ได้ และปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้องด้วย
2. Aperture หรือรูรับแสง -> ส่งผลกับความชัดลึก ชัดตื้น และส่งผลกับปริมาณแสงที่ได้
3. ISO -> ส่งผลกับแสงหรือความสว่างในภาพ และหากมี ISO ที่สูงขึ้นก็จะทำให้ภาพเริ่มมี Noise เพิ่มขึ้นด้วย

Photo by Zoltan Kovacs on Unsplash

ค่าทั้ง 3 นี้มันไม่เคยมีสูตรสำเร็จหรอก อยู่ที่ว่าเราจะถ่ายภาพเพื่อเอาอะไรออกมา โดยทั้ง 3 ค่านี้จะมีความสัมพันธ์กันตลอด ดังนั้นการใช้โหมด M จะทำให้เราควบคุมทั้ง 3 อย่างนี้ได้อย่างอิสระ แต่สำหรับใครที่ยังอาจจะงง ๆ ว่าควรจะตั้งแบบไหนยังไง ลองอ่านบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องของ Shutter Speed และ Triangle Exposure ก่อนนะครับ

2. ฝึกถ่ายภาพคร่อมแสงหรือ Bracketing

บ่อยครั้งที่การถ่ายภาพ Cityscape จะมีลักษณะเหมือน ๆ Landscape ทั่วไปคือ ภาพที่จะถ่ายมันมี Dynamic กว้างมาก มีความแตกต่างของสภาพแสงในแต่ละจุดสูง ทำให้กล้องเราไม่สามารถเก็บรายละเอียดทั้งส่วนมืดและสว่างจบได้ในภาพเดียว มันก็เลยเป็นที่มาของการถ่ายคร่อมนั่นเอง

source : 500px

ยกตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยการคร่อมแสงใบนี้ ถ่ายในสภาพแสงที่ต่างกัน 7 ใบ แล้วเลือกภาพที่ต้องการมา 4 ใบเพื่อทำการรวมภาพ ทำให้เราได้แสงในจุดที่เราต้องการครับ สิ่งสำคัญในหัวข้อนี้ไม่ใช่เรื่องของการใช้ Bracketing อย่างเดียว แต่เป็นเรื่ององค์ประกอบภาพด้วย เพราะฉากหน้าที่มืดทำให้ภาพถ่ายแย่ลงครับ

source : 500px
source : 500px

3.การถ่ายภาพในเมืองตอนกลางคืน อาจต้องใช้โฟกัสแมนนวลให้เป็น เผื่อในตอนที่ต้องใช้จริง ๆ (Manual Focus)

หลายครั้งในการถ่ายภาพที่แสงน้อยมาก ๆ ระบบโฟกัสของกล้องอาจจะทำงานไม่ได้ตามที่เราคิดครับ ซึ่งปกติถ้ากล้องระดับโปร ๆ เลยจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแบบนี้เท่าไหร่ เพราะมันโฟกัสในที่แสงน้อยได้ดีมาก(ยิ่งใช้กับเลนส์โปรของค่ายก็ประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก)

source : 500px

แต่ว่ามันก็ไม่เสมอไปครับ บางครั้งเราอาจจะต้องหมุนโฟกัสด้วยตัวเอง จะดีกว่าถ้าหากเราฝึกใช้ให้เป็น ง่าย ๆ ก็แค่ใช้ Live View ในการตรวจสอบว่าโฟกัสที่เราหมุนไปนั้นเข้าไหมครับ แต่เอาจริง ๆ ข้อดีของการโฟกัสแบบแมนนวลคือ เมื่อเราได้ระยะชัดที่เราต้องการแล้ว เราก็ไม่ต้องมาถ่ายภาพโฟกัสใหม่ให้เหนื่อยครับ ไว้ตอนเปลี่ยนมุมของภาพค่อยโฟกัสใหม่ก็ได้นั่นเอง

4. เก็บภาพเส้นแสงให้ได้ เพราะมันถ่ายทอดความสวยงามในเมืองได้ดี

เส้นแสงที่อยู่ในเมืองนั้นมีเสน่ห์ที่สวยงามมาก แล้วช่วยเพิ่มมิติให้กับภาพถ่ายด้วย ซึ่งเราอาจจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ประมาณ 25-30 วินาที ในการเก็บเส้นแสงครับ หลังจากนั้นถ่ายภาพเก็บมาเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เส้นแสงที่ถูกใจ หรืออาจจะเลือกหลาย ๆ ภาพแล้วมาตกแต่งให้สวยงามอีกครั้งก็ได้

Image by kristovedenoja on https://kristovedenoja.com/

5. ฝึกจัดการกับแสงสะท้อนให้ได้

บ่อยครั้งที่เราถ่ายภาพในเมืองจะเป็นพวกตึกสูง ๆ เราต้องถ่ายภาพทะลุกระจก ซึ่งแน่นอนเราจะเจอพวกแสงสะท้อน หรือเงาสะท้อนจากกระจก มันก็มีวิธีในการจัดการโดยใช้อุปกรณ์ที่จัดการตรงนี้โดยเฉพาะ และอุปกรณ์ทั่วไปในการมาประยุกต์

Photo by Begirl All Over The World

หากเรามีพวกฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อน ก็สามารถที่จะช่วยให้เราสะดวกในการถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นครับ สามารถจัดการได้ดีประมาณนึงเลย หรืออีกอย่างนึงที่เราทำได้แบบไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมเลยคือ เราต้องวางเลนส์ใกล้กับกระจกที่สุดครับ และเอาผ้าสีเข้มปิดรอบ ๆ กล้องไว้เพื่อไม่ให้แสงสะท้อนเข้าไป

แน่นอนว่าเราต้องดูด้วยว่ากระจกในด้านของเรามีฝุ่น รอยนิ้วมืออะไรมัว ๆ บังไว้หรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณภาพของภาพที่เราได้ลดลงไปครับ

6. ไปก่อนเวลาถ่ายเสมอ เพราะบางครั้งเรามุมมหาชนเราต้องแย่งจุดถ่ายภาพกัน

คนที่ถ่ายภาพ Landscape จะรู้ดีถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะมุมมหาชนที่คนชอบไปถ่ายภาพเยอะ ๆ ลองสังเกตให้ดีว่าเราจะเห็นช่างภาพหลาย ๆ คนอยู่ในจุดเดียวกันเยอะมากในช่วงพลบค่ำ เพราะเป็นช่วงที่แสงท้องฟ้ากำลังสวยเหมาะกับการถ่ายภาพ Landscape

Image by Picasa

เราต้องไปก่อนเวลาเพื่อเลือกมุม ตรวจสอบบริเวณโดยรอบให้เรียบร้อยว่าจะถ่ายมุมไหนบ้าง มุมไหนก่อน มุมไหนถ่ายทีหลัง และหลายครั้งเราจะกางขาตั้งรอแสงไว้แบบนั้น ถ้าหากว่าเราไปช้า ไม่มีที่กางขาตั้งล่ะก็แย่แน่นอนครับ เราอาจจะไม่ได้ถ่ายภาพในมุมที่ตั้งใจเลือกไว้ก็เป็นไปได้ครับ

7. ถ่ายภาพมุมสะท้อนน้ำ

การถ่ายภาพมุมเมืองบางคร้ังเราก็จะเจอตึกและน้ำครับ การถ่ายภาพมุมสะท้อนน้ำทำให้เราเห็นบรรยากาศในเมือง เห็นหลอดไฟตามตึกที่เปิด สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพถ่ายของเมืองในตอนกลางคืนสวยงามมากขึ้น

Image by Gambar Lampu Berdiri & Lampu Gratis – Pixabay

8.เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเสมอ

ขาตั้ง สายลั่นชัตเตอร์ ฟิลเตอร์แผ่น (Landscape Filters) ต่าง ๆ เตรียมให้พร้อมเสมอครับ เพราะถึงช่วงเวลาที่ต้องถ่ายเราต้องโฟกัสกับจะหวะนั้นทั้งหมด ถ้าหากว่าเราลืม หรืออุปกรณ์ไหนไม่พร้อมที่จะถ่ายภาพ จะทำให้ทุกสิ่งที่เราเตรียมมาเพื่อการถ่ายภาพนั้นเสียหายทั้งหมดได้ โดยเฉพาะอารมณ์ของเราครับ

Image by Likerklikk on Pexels

การที่เราคาดหวังว่าจะได้ภาพสวย ๆ กลับไปนั้นต้องผ่านการวางแผนและการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นใส่ใจกับอุปกรณ์ของเราให้พร้อมนะครับ

9.ถ่ายภาพช่วง Golden Hour (เอาจริง ๆ อันนี้ก็ไม่กลางคืน แค่แสงเริ่มน้อยลง แต่ท้องฟ้าสีสวย)

เรื่องนี้จริง ๆ พูดแทบจะทุกหัวข้อของการถ่ายภาพเกี่ยวกับพวก Landscape การถ่ายภาพในช่วงเย็น มักเรียกว่าช่วง Twilight หรือ Golden Hour ซึ่งจะให้สีท้องฟ้าที่สวยมาก ทำให้ภาพถ่ายเราดูน่าสนใจได้สบาย ๆ ขอแค่มี Location ดี ๆ ก็พอแล้วครับ

Image credit : Free download from Unsplash

10.เก็บบรรยากาศให้มีคนอยู่ในภาพบ้างก็ได้

การถ่ายภาพในเมืองตอนกลางคืน บางครั้งเราอาจจะเจอคนเดินไปมา ซึ่งอันนี้แล้วแต่ทัศนะของแต่ละคนอ่ะนะ ปกติบางครั้งเราก็อยากได้ภาพเมืองที่มีแต่เส้นแสงดูสงบ แต่บางครั้งเราก็อยากได้ภาพเมืองที่ติดคนมาบ้างเพื่อเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในเมือง อันนี้ก็อยู่ที่ความชอบครับ แต่อยากให้เปิดมุมมองบ้างครับว่าบางครั้งถ่ายติดคนมาก็ไม่ได้เสียหายอะไรนะ แถมเล่าเรื่องราวได้มากขึ้นด้วย

Image by Luke Stackpoole on Unsplash

11. ดูภาพถ่ายตัวอย่างของสถานที่ ที่เราจะไปให้เยอะ ๆ

การทำการบ้านก่อนไปถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และช่วยให้เราที่จะหามุมมองได้เร็วขึ้น ปกติผมจะเลือกถ่ายมุมมหาชนเหมือนคนอื่นเพื่อฝึกตัวเองก่อน อย่างน้อยก็ถือว่าได้มาแล้วแหละ และได้ภาพมุมมหาชนไป ทีนี้ก็เหลือมุมอื่น ๆ ที่เราอยากจะถ่ายตามใจเราบ้าง เพราะงั้นการที่เราเลือกดูหลาย ๆ มุมก่อนไปทำให้เราเตรียมตัวในการถ่ายภาพได้มากขึ้น และมีมุมมองเกี่ยวกับสถานที่นั้นมากขึ้นด้วยครับ

Image credit : Free download from Unsplash

12. ฝึกที่จะรอคอย

สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของการรอคอยครับ เพราะว่าหลาย ๆ ครั้งเราไม่ได้กดชัตเตอร์แกร๊กเดียวแล้วจะได้ภาพสวย ๆ เลย แต่ผ่านการที่เราจะรอคอยจังหวะสวย ๆ อย่างเช่นเส้นแสง หรือว่าท้องฟ้า แสงของช่วงนั้นเป็นต้น เพราะงั้นแล้วฝึกฝนที่จะอดทนและรอคอยจังหวะบ้างครับ บางครั้งมุมสวย ๆ มาก็มาหาเราเองนะอยู่ที่ว่าเราจะรอคอยจังหวะนั้นหรือเปล่าครับ

Exit mobile version