Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

7 วิธีถ่ายภาพให้มีมิติ เติมเสน่ห์และความน่าสนใจให้ภาพ

7 วิธีถ่ายภาพให้มีมิติ เติมเสน่ห์และความน่าสนใจให้ภาพ นอกจากการวางองค์ประกอบให้สวยงาม เรื่องเเสง เรื่องสีสัน เเละเทคนิคเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการถ่ายภาพเเล้ว การเติมความน่าสนใจให้กับภาพ โดยการสร้างมิติให้กับภาพ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้เช่นกัน เพราะมิติของภาพทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับภาพ ไม่ได้รู้สึกเเบนบาง เเต่ให้ความรู้สึกถึงระยะทาง หนาบาง ลึกตื้น สร้างความซับซ้อนอย่างมีเสน่ห์ให้กับภาพอีกด้วย

7 วิธีถ่ายภาพให้มีมิติ เติมเสน่ห์และความน่าสนใจให้ภาพ 

1. ใช้ระยะเลนส์ที่เหมาะสมเเละปรับรูรับเเสงให้กว้าง 

การปรับรูรับเเสงให้กว้าง เป็นวิธีการเเรกที่มักจะถูกเเนะนำเกี่ยวกับการสร้างมิติให้ภาพ การถ่ายภาพด้วยรูรับเเสงกว้าง จะทำให้เห็นภาพมีความลึกตื้น โดยจุดที่ถูกโฟกัสจะชัด เเละจุดที่ไม่อยู่ในโฟกัสจะเบลอไป ซึ่งก็สามารถทำได้ ในกรณีที่ใช้ระยะเลนส์ที่เเตกต่างกันด้วย เช่นเลนส์ระยะยาว ถ้าวัตถุอยู่ใกล้เกินไป ก็จะเกิดภาพเบลอในจุดที่ใกล้ และจุดที่อยู่ในระยะโฟกัสด้านหลังจะชัด หรือถ้าระยะโฟกัสอยู่ด้านหน้า ด้านหลังก็จะถูกเบลอฟุ้งไป ทำให้ภาพเกิดมีระยะชัด ระยะเบลอ ทำให้ภาพดูมีมิตินั่นเอง 

2. ใช้เส้นนำสายตา หรือการจัดมุมมอง (Perspective)

เส้นนำสายตาจะเป็นเส้นโค้งเส้นตรง ก็สามารถเป็นเส้นนำสายตาได้ โดยหน้าที่ของเส้นนำสายตาคือการพาสายตาไปยังจุดที่ต้องการ ในกรณีที่ต้องการให้มีมิติเกิดขึ้นในภาพ ก็จะเป็นเหมือนการสร้างระยะลวงตาหรือสร้างมุมมองที่ลวงตา เพื่อให้เห็นจุดโฟกัสโดดเด่น เเละส่วนอื่นลดความสำคัญลง โดยส่วนมากจะเห็นการจัดเส้นนำสายตาให้พุ่งจุดสนใจอยู่ที่ตัวเเบบที่อยู่ตรงกลางภาพ เเล้วจะทำให้เห็นตัวเเบบจะลอยเด่นออกมาชัดเจน 

3. ใช้เเสงและเงาวาดลวดลาย

เเสงเเละเงาที่เกิดจากเเสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามากระทบตัวเเบบ สร้างมิติลึกตื้น ทั้งยังมีเส้นหนา บาง ที่เกิดจากการเกิดเงาเมื่อเเสงส่องผ่านวัตถุบางอย่างอีกด้วย โดยเเสงธรรมชาติ จะมีผลต่อภาพทั้งสีสัน เเละปริมาณเเสง  ดังนั้นการใช้เเสงเเละเงาที่ได้จากเเสงธรรมชาติ ต้องกำหนดเวลา เเละวางเเผนการถ่ายภาพให้ดีพอสมควร

4. ใช้การวางเลเยอร์ให้ภาพ (Foreground Midground Background)

เลเยอร์ภาพจะมีฉากหน้า ฉากกลาง เเละฉากหลัง การวางจุดเด่นไว้ที่ฉากกลางโดยมีฉากหน้าเเละฉากหลัง ก็จะทำให้ภาพดูมีมิติ หรือการวางเพื่อให้ฉากหน้าดูเด่นก็จะให้ผลเช่นเดียวกัน การสร้างเลเยอร์ภาพ อาจจะใช้มุมกล้องช่วย เช่น การวางกล้องให้อยู่ระดับต่ำกว่าระดับสายตา โดยให้ฉากหน้ากินพื้นที่ในภาพประมาณ 2 ใน 3 เพื่อให้ฉากหน้าเด่นขึ้นมาได้ 

5. ใช้ขนาดเปรียบเทียบ

เทคนิคถ่ายภาพสนุก ๆ บางภาพไม่ได้ให้สัดส่วนหรือขนาดภาพที่แท้จริง เเต่เป็นการเล่นกับขนาด หรือการลวงตาด้วยขนาดของวัตถุ โดยการจัดวางระยะ เช่น การวางดวงอาทิตย์บนมือ การยืนสองคน เเต่อยู่ระยะที่ห่างเเตกต่างกัน หรือการใช้เลนส์ที่มีความบิดโค้งของเลนส์ เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ให้กับภาพเช่นการยืดขาออก  เพื่อให้ดูขายาวขึ้น หรืออาคารโค้งงอ ผิดแปลกไปจากเดิม ก็ทำให้ภาพดูมิมิติขึ้นด้วย 

6. ใช้ไฟเสริม กำหนดเเสงเงา เเละสีสันให้กับภาพ 

นอกจากเเสงธรรมชาติจะช่วยกำหนดเเสงเงาให้กับตัวเเบบแล้ว การใช้เเสงสังเคราะห์ ก็ช่วยสร้างภาพให้มีมิติได้เช่นกัน ทั้งการถ่ายภาพโดยใช้ไฟเสริม ไฟสตูดิโอ หรือไฟเอฟเฟกต์ที่มีสีสัน ก็ช่วยให้ภาพดูน่าสนใจ ทั้งยังสามารถควบคุมปัจจัยเเสงเอง ความเข้มเเสง ระดับความอ่อน ความนุ่มของเเสง เลือกระยะเวลาเอง ทั้งยังไม่จำป็นต้องรอเวลาเพื่อถ่ายภาพด้วย

7. ใช้การตีกรอบภาพกำหนดจุดวางสายตา

การตีกรอบภาพเป็นการกำหนดความสนใจของภาพ อย่างเจาะจงว่าจะต้องมองตรงจุดไหน เป็นเหมือนการตีกรอบความคิดให้กับผู้ชม ซึ่งการกำหนดกรอบให้ภาพ ก็เป็นการสร้างมิติให้กับภาพเช่นกัน เพราะจะมีส่วนที่อยู่ด้านหน้า หรือด้านหลัง เพื่อทำหน้าที่เป็นกรอบภาพให้กับจุดโฟกัส ภาพที่เห็นจึงมีความลึกตื้นที่เกิดจากการวางกรอบให้ภาพนั่นเอง 

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพ Landscape ได้ที่นี่

เข้ามาพูดคุยเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

Exit mobile version