Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

7 วิธีการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพ Portrait ด้วยมือถือ

7 วิธีการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพ Portrait ด้วยมือถือ การถ่ายภาพด้วยมือถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวไปแล้ว เพราะมือถือกลายเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวและใช้งานอย่างต่อเนื่อง กล้องบนมือถือจึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ง่าย ทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงถ่ายภาพสวยให้รายละเอียดภาพสูง แต่ถึงแม้ว่ากล้องมือถือจะฉลาดและทำงานได้ดีหลายด้าน

เรื่องการจัดองค์ประกอบและมุมมองยังคงเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นและเป็นลักษณะเฉพาะตัวของช่างภาพเลยทีเดียวครับ วันนี้เราจะดูถึง 7 วิธีการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพ Portrait ด้วยมือถือ ว่าจะมีวิธีไหน และจะจัดองค์ประกอบอย่างไรบ้าง

1. ใช้กฏสามส่วนในการจัดองค์ประกอบและสัดส่วนการวางภาพ

กฏสามส่วนเป็นกฏพื้นฐานที่ใช้ในการจัดองค์ประกอบถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยการจัดวางภาพเพื่อให้อยู่บนแนวเส้นของจุดตัดหรือบนจุดตัดสี่จุด ที่เกิดจากเส้นแนวนอนสองเส้นที่ขนานกันตัดกับเส้นแนวตั้งสองเส้นขนานกัน การจัดองค์ประกอบแบบนี้ ใช้ได้ทั้งภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และการถ่ายภาพวัตถุสินค้าก็ทำได้เช่นกัน

การถ่ายภาพ Portrait ด้วยมือถือก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน บนมือถือเราสามารถเปิดการใช้งาน Grid ได้ โดยการเข้าไปที่ การตั้งค่า และเปิดการใช้งาน Grid ซึ่งก็จะมีให้เลือกขนาดภาพ ได้ตามที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นภาพที่มีขนาดจัตุรัส หรือแนวขวาง แนวตั้ง ก็เลือกจัดวางได้ ซึ่งการใช้งาน Grid ก็อาศัยหลักการของจุดตัดเก้าช่อง คือการวางจุดโฟกัส ตัวแบบ ใบหน้าของตัวแบบ หรือดวงตาของตัวแบบที่จุดตัด เพียงเท่านี้ก็เป็นการจัดองค์ประกอบให้สวยด้วยมือถือแบบง่าย ๆ แล้ว

2. ถ่ายแบบเต็มเฟรมจะนำสายตาไปยังจุดนั้นในทันที

การถ่ายภาพ Portrait โดยมีพื้นหลังที่มีรายละเอียดมากเกินไป อาจทำให้เสียสมาธิและไม่ได้ดึงผู้ชมไปที่จุดโฟกัสของรูปภาพเพราะจะทำให้ผู้ชมมองไปรอบ ๆ แทน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมรู้ว่าควรจะวางสายตาไว้จุดไหน คือเราต้องบอกและนำสายตาไปยังจุดนั้นในทันที วิธีถ่ายภาพให้เต็มเฟรมก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ชมมองแล้วรู้ในทันทีว่าจะต้องมองอะไร 7 วิธีการจัดองค์ประกอบในการถ่ายภาพ Portrait ด้วยมือถือ

ข้อดีของการจัดองค์ประกอบแบบเต็มเฟรมคือ ลดควาซับซ้อนของภาพลง ภาพเข้าใจง่าย สื่อสารได้ชัดเจน กำหนดจุดความสนใจได้อย่างแม่นยำไม่สับสน ซึ่งการจัดแบบเต็มเฟรมไม่ใช่เพียงแต่การวางใบหน้าของตัวแบบอยู่เต็มเฟรมเท่านั้น การจัดองค์ประกอบแบบเต็มเฟรมทำได้สองแบบ ทั้งการใช้ Positive space คือนำเสนอตัวแบบเต็มเฟรม หรือโดยใช้ Negative space ก็เป็นวิธีการหนึ่งของการจัดภาพแบบเต็มเฟรมเช่นเดียวกัน

3. บอกให้ตัวแบบทำท่าทางหรือจัดองค์ประกอบของร่างกาย

ในการถ่ายภาพบางโอกาสหรือบางงานช่างภาพต้องทำงานร่วมกับนางแบบอาจจะเป็นนางแบบมืออาชีพ หรือมือสมัครเล่นก็ตาม การจะทำงานให้เข้ากันได้กับนางแบบก็ต้องมีการตกลงทำความเข้าใจ เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างราบลื่นที่สุด การพูดคุยเรื่องงานอาจจะทำก่อนหน้านี้ตอนติดต่อและการพูดทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้งก่อนเริ่มงานด้วยกันก็จะทำให้เข้าใจงานมากขึ้น และทำงานง่ายขึ้น

คอนเซ็ปต์ของภาพที่ช่างภาพมีอยู่ในจินตนาการ อาจจะเป็นเรื่องที่อธิบายยากแต่ก็ต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจ ซึ่งนางแบบเค้าจะรอฟังและรอคำสั่งอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไรให้ทำอะไร หลายครั้งที่ภาพออกมาไม่ตรงใจ อาจจะไม่ใช่เพราะนางแบบ แต่เป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันซึ่งช่างภาพอาจจะต้องทำตัวอย่างให้เห็น เพื่อให้นางแบบเข้าใจอย่างชัดเจนขึ้นนั่นเองครับ

4. ใช้เส้นนำสายตาเพื่อดึงความสนใจเข้าไปที่จุดสนใจของภาพ

เส้นสายที่อยู่ในภาพสามารถทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตาได้ ทั้งเส้นตรง เส้นโค้ง หรือเส้นประที่เกิดจากการเรียงตัวตามธรรมชาติ เช่น สายน้ำ ก้อนเมฆ แนวพุ่มต้นไม้ หรือเส้นสายที่เกิดจากการปลูกสร้างเช่น สะพาน สานไฟ กำเแพง รั้ว ทางเดิน

ซึ่งในการถ่ายภาพ Portrait เราสามารถที่จะใช้เส้นนำสายตาเหล่านี้ ในการดึงความสนใจเข้าสู่ตัวแบบได้ เช่นการใช้ถนน ราวสะพาน ลวดลายบนกำแพง แม้แต่มือหรือแขนของตัวแบบ หรือเงาที่เกิดขึ้นในภาพ ก็ทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตาด้วยการถ่ายภาพโดยมีเส้นนำสายตานอกจากจะทำให้ดึงดูดความสนใจเข้าสู้ตัวแบบแล้ว ภาพโดยรวมก็ดึงดูดความสนใจด้วยเช่นกันครับ

5. กำหนดกรอบและเฟรมภาพเพื่อกำหนดจุดความสนใจอยู่ในกรอบภาพ

การดึงความสนใจและกำหนดความสนใจให้กับภาพ Portrait สามารถจัดวางให้อยู่ในเฟรม หรือที่เราเรียกกันว่าการวางกรอบภาพครับ การวางกรอบภาพก็เหมือนกับการกำหนดความสนใจว่าจะต้องมองหรือให้ความสนใจในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้นในกรณีนี้ เรากำหนดให้ตัวแบบเป็นจุดสนใจครับ

การสร้างกรอบภาพในการถ่ายภาพ Portrait ที่ได้ไม่ยาก ทั้งการใช้ Foreground  หรือการใช้วัตถุแวดล้อม ในการกำหนด เช่น ขอบประตู กรอบหน้าต่างก็ทำได้เหมือนกันครับ หรือจะถ่ายภาพลอดผ่านวัตถุทึบแสงหรือโปร่งแสงก็เป็นการสร้างกรอบภาพที่น่าสนใจครับ  ภาพตัวอย่างเราใช้มือของนางแบบเป็นกรอบภาพได้เลยครับ

6. ถ่ายภาพจากมุมที่แตกต่าง

โดยปกติแล้วการถ่ายภาพ Portrait เรามักจะยกมือถือขึ้นมาในระดับสายตาและถ่ายภาพ แต่ถ้าหากเราลองเปลี่ยนระดับการวางมือ ให้ต่ำลงเช่นระดับเอว นั่งลง หรือวางกล้องมือถือแนบกับพื้น หรือยกสูงขึ้น ใช้ไม้เซลฟี่ยืดให้สุด การทำแบบนี้ก็เป็นการเปลี่ยนนมุมมองภาพให้เป็นมุมก้ม มุมเงย หรือมุมเสยได้และภาพที่ได้จะเป็นมุมมองใหม่ ซึ่งก็อาจจะเป็นมุมใหม่ที่ดูสวยและแปลกตาได้

นอกจากการปรับมุมถ่ายภาพที่แตกต่างแล้ว การเปลี่ยนเลนส์ก็เป็นการเปลี่ยนมุมมองด้วยเช่นเปลี่ยนจากเลนส์ระยะปกติที่ใช้ถ่ายภาพ Portrait เป็นเลนส์ที่ถ่ายภาพมุมกว้างก็เป็นการใช้เลนส์เพื่อเปลี่ยนมุมมองได้เช่นกันครับ ทั้งยังนำเสนอรายละเอียดของตัวแบบที่แตกต่างกันอีกด้วยครับ

7. ละกฏบ้างสร้างสรรค์หรือทดลองการถ่ายภาพแนวใหม่

การทำตามกฏเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นเพราะเมื่อมีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว การปรับประยุกต์ใช้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปแล้วล่ะครับ การถ่ายภาพอาจจะต้องตามใจความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองบ้างหรือลองอะไรใหม่ ๆ การออกนอกกฏบ้าง ซึ่งบางครั้งก็ได้ภาพที่ให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ บางภาพมีสไตล์และองค์ประกอบที่โดดเด่น ดังนั้นสำหรับใครที่เพิ่งจะเริ่มต้นถ่ายภาพ ลองออกนอกกฏดูบ้าง อาจจะได้เรียนรู้เทคนิคดี ๆ ด้วยตัวเองครับ

อ่านบทความพื้นฐานการถ่ายภาพได้ที่นี่

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

Exit mobile version