Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

9 ข้อผิดพลาดที่เป็นเหตุถ่ายแล้วภาพเบลอ และวิธีแก้ไข

ใครก็ต่างเคยถ่ายภาพแล้วทำไมภาพมันเบลอ ไม่ชัด ทั้ง ๆ ที่ถือกล้องนิ่งแล้ว แต่มันเบลอได้ยังไงล่ะ? เดี๋ยวในวันนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่ามีข้อผิดพลาดอะไรที่เรายังไม่รู้ ซึ่งส่งผลให้ภาพของเรามันเบลอได้ล่ะเนี่ย

1. Back Focus (โฟกัสหลุดไปที่ด้านหลัง)

การโฟกัสหลุดไปด้านหลังหรือ Back Focus เนี่ยเป็นความหายนะที่ช่างภาพทุกคนต้องเจอแน่นอน เหตุการณ์นี้เกิดจากการที่เราโฟกัสแล้วครับ แต่ว่าจุดที่โฟกัสมันอาจจะอยู่ในเส้นขอบที่โฟกัสยาก กล้องเนี่ยอาจจะเข้าใจว่าโฟกัสเข้าแล้ว (เพราะเราใช้ออโต้โฟกัสถูกมั้ย) เมื่อเขาโฟกัสไปแต่พลาด มันก็หลุดไปด้านหลัง

out-of-focus : Photo by Osman Rana on Unsplash

หรืออีกกรณีที่เราใช้เลนส์ F กว้าง ๆ อย่าง F1.4 – F1.8 เราโฟกัสเข้าแล้ว แต่ดันมีการเคลื่อนไหวตอนถ่าย ก็อาจจะหลุดโฟกัสจากจุดที่ต้องการไปได้ (แต่ไม่ถึงกับหลุดไปด้านหลังนะ) มันก็ทำให้จุดที่เราต้องการนั้นเกิดการเบลอได้

วิธีแก้ไข

ให้โฟกัสแล้วถ่ายใหม่.. เวลาอยู่หน้างานก็พยายามเช็คโฟกัสดี ๆ ครับ คือถ่ายแล้วก็เอาภาพมาดูด้วยว่าโฟกัสเข้าตรงไหน หรือโฟกัสหลุดหรือเปล่า ช่วยได้เยอะมากครับ

2.Speed Shutter ต่ำเกินกว่าที่จะถือได้

ดั้งเดิมของเงื่อนไขการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ถือได้โดยไม่เบลอคือ ความเร็วชัตเตอร์ต้องไม่ต่ำกว่าทางยาวโฟกัส เช่น ถือเลนส์ 60mm ก็ต้องใช้ Speed 1/60 เป็นต้น  ถ้าใช้ระยะ 200mm ก็ต้อง 1/200 ในเคสนี้ถ้าไม่มีกันสั่นในกล้องหรือเลนส์ช่วยก็จะทำให้เกิดโอกาสเบลอของภาพได้ เพราะอาจจะมีจังหวะที่มือเราสั่น ดังนั้นถ้าใช้ทางยาวโฟกัสเท่าไหร่ ความเร็วชัตเตอร์ต้องสัมพันธ์กันด้วยครับ

blur-photo : Photo by Scott Umstattd on Unsplash

จุดที่มือใหม่มักพลาดคือเปิดโหมด (A) หรือเราจะคุมค่ารูรับแสงไว้ Shutter Speed จะปล่อยให้กล้องคำนวณ บางครั้งเมื่อแสงดรอปลง เขาก็จะไปลดความเร็วชัตเตอร์ลงนั่นเองครับ อาจจะต่ำกว่าที่เราจะถือได้เลยทำให้ภาพเบลอ ดังนั้นระมัดระวังเรื่องความเร็วชัตเตอร์ไว้ด้วยนะครับ

วิธีแก้ไข

1.ให้ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ขั้นต่ำสุดที่รับได้ไว้ครับ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้องกดความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกิน

2.รู้จักสภาพแสงกับกล้องของเราให้ดี ต้องตีภาพในหัวให้ได้ว่า พอเดินที่ร่ม กล้องเราจะเริ่มคำนวณแบบไหน อย่างผมใช้โหมด A เปิดรูรับแสงที่ F1.4 เมื่อออกกลางแดดความเร็วชัตเตอร์จะเพิ่มขึ้นเพื่อลดแสงลงให้น้อยลงแน่นอนและคงรูรับแสงไว้เหมือนเดิม แต่พอเข้ามาที่ร่มสิ่งที่จะเปลี่ยนคือความเร็วชัตเตอร์ลดลงเพื่อรับแสงให้มากขึ้น โดยที่รูรับแสงยังค่าเดิมเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจสภาพแสงและกล้องของเราเสมอครับ ทำให้เราคุมกล้องได้ดั่งใจ

3.Speed Shutter ต่ำเกินกว่าที่จะหยุดภาพไว้ได้

อันนี้คล้ายกับเรื่องบน แต่ต่างกันตรงที่ความเร็วชัตเตอร์เราไม่เร็วพอจะหยุดวัตถุให้ได้ แล้วก็จะมักมีคำถามมาหาผมบ่อย ๆ “แล้วต้องใช้เท่าไหร่ดี?” อันนี้อยู่ที่วัตถุของเราแล้วครับว่าเคลื่อนที่เร็วแค่ไหน ถ้ารถยนต์วิ่ง, ม้าวิ่งในสนามก็ 1/250-1/400++ แน่นอน แต่ถ้าคนเดินไปมาสัก 1/125 ก็น่าจะพอ ดังนั้นจะรู้ว่าเท่าไหร่แบบเป๊ะ ๆ สิ่งที่เราทำได้คือการฝึกครับ ฝึกจนรู้ว่าควรใช้สปีดเท่าไหร่ในสถานการณ์ไหน

Photo by Melissa Newkirk on Unsplash

4.ถ่ายภาพบุคคล แต่โฟกัสที่ตาไม่เข้า

อันนี้เรื่องพื้นฐานที่หลายคนอาจจะรู้แล้ว แต่ขออธิบายสำหรับคนยังไม่รู้นะครับ การถ่ายภาพบุคคล การจะถ่ายภาพให้ดูคมชัดและถ่ายทอดอารมณ์ได้ดี เราต้องโฟกัสที่ดวงตาครับ (เวลาเรามองใครเราก็มองที่ตาเขาเนอะ) และต้องเป็นสายตาที่อยู่ใกล้เราที่สุดด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกเรื่องก็คือการจัดวางองค์ประกอบให้เหมาะสมด้วย

ถ้าภาพบุคคลถ่ายโคลสอัพแล้วไม่โฟกัสตา มันจะดูเบลอ ๆ แปลก ๆ เพราะเรามองที่ตาแต่ในภาพไม่ได้โฟกัสตา มันก็จะแปลก ๆ ครับ แต่ก็มีบางคนโฟกัสผมบ้าง ไหล่บ้าง อันนั้นแล้วแต่คอมโพสครับ แต่เบสิกให้โฟกัสตาก่อนเนอะ

Photo by Thais Muniz on Unsplash

5.ใช้ ISO ได้ไม่มากพอ (ใช้ ISO ไม่เหมาะสมกับภาพที่ต้องการ)

ในบางสถานการณ์ถ้าอยู่ในพื้นที่แสงน้อย แล้วเราต้องการคุมชัดลึก บางครั้งเนี่ยก็ต้องยอมที่จะใช้รูรับแสงแคบเพื่อคุมความชัดและดัน ISO ครับ (ในกรณีที่ไม่มีขาตั้ง) เพราะว่าอะไร บางครั้งผมก็เปิด F1.4 เพราะไม่อยากดัน ISO แต่ว่า F1.4 มันจะเอาชัดทั้งภาพคงจะเป็นไปได้ยาก (แต่ก็ทำได้นะถ้าเข้าใจเรื่อง Hyper Focal)  เพราะงั้นถ้ายังไม่ชินแล้วอยากได้ภาพก็ใช้ F แคบแล้วดัน ISO เถอะนะครับมันอาจจะไม่ได้ดันเยอะมากแต่น่าจะช่วยให้ได้ภาพเลย

Photo by Kaique Rocha from Pexels

6.ถ่ายภาพขณะที่ตัวเราเคลื่อนที่อยู่ (เดิน,นั่งรถ)

มันเป็นทริคง่าย ๆ ที่แทบไม่ต้องเขียนก็ได้ (ฮา) แต่ว่ามันต้องเขียนแหละ บางทีเราเดินไปถ่ายไป ซึ่งถ้าความเร็วชัตเตอร์ไม่โอเคพอ ดังนั้นถ้าตั้งใจจะถ่ายรูปจริง ๆ ก็ควรหยุดเพื่อถ่ายรูป มันไม่ใช่แค่นั้นครับ มันเป็นเรื่องของคอมโพสต์ด้วย อีกเรื่องคือถ้าหากอยู่บนรถแล้วอยากถ่ายภาพก็ถ่ายไปเถอะครับ เราทำอะไรไม่ได้นอกจากยกกล้องขึ้นมาถ่าย แต่เพิ่ม Shutter Speed และใช้ F แคบ ๆ เพื่อคุมระยะชัดหน่อยก็ดีครับ

Photo by tyler hendy from Pexels

7.หน้าเลนส์ไม่สะอาด เปื้อนฝุ่น คราบมันจากนิ้วมือ

เรื่องเงิบ ๆ ที่อาจจะเกิดโดยที่เราไม่ระวัง คือบางจังหวะเลนส์อาจจะไปโดนนิ้วเรา มือเรา หรือแขนเรา เวลาที่เราถือหรือวางก็ได้ พวกนี้เวลาโดนร่างกายเรามันจะติดไขมันบาง ๆ ที่นิ้วเราไปด้วยครับ พอเราถ่ายเนี่ย บางครั้งเบลอ ๆ เพราะมันมีวัตถุอยู่ที่หน้าเลนส์นั่นเองครับ

วีธีแก้

ก็เช็ดคราบมันออกให้ดี ๆ ครับ เท่านั้นเอง เรื่องเล็ก ๆ แต่ส่งผลกับภาพเนี่ยบางทีก็ต้องใส่ใจนะ

Photo by Jens Mahnke from Pexels

8.โฟกัสหลุดเพราะพื้นที่นั้น ๆ แสงไม่เพียงพอ

ความสามารถในการโฟกัสจะลดลงทันทีเมื่ออยู่ในพื้นที่แสงน้อย จะเกิดอาการวืดวาด โฟกัสหลุดได้บ่อย ๆ ยิ่งจุดที่เราเลือกโฟกัสมันมืด ๆ ยิ่งวืดง่าย ดังนั้นการถ่ายภาพให้คมชัด ไม่หลุด ก็ควรเลือกจุดที่กล้องเราโฟกัสง่าย ๆ ครับ แล้วการที่เลือกเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างก็จะช่วยให้กล้องโฟกัสได้ดีขึ้น (เพราะแสงมันเข้ามากขึ้นไงล่ะ) ดังนั้นเมื่อเจอสถานการณ์ที่แสงน้อย อย่าลืมเลือกโฟกัสจุดที่มันมีความสว่างเหมาะสม ช่วยกล้องนิดนึงครับ เมื่อกล้องทำงานได้ง่ายขึ้น เราก็ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นนั่นแหละครับ

Photo by OVAN from Pexels

9.ใช้ขาตั้งไม่ถูกวิธี

เมื่อใช้ขาตั้งกล้องจุดที่เรามักพลาดกันก็คือ

  1. ขาตั้งไม่มั่นคงพอ
  2. ไม่ได้ใช้สายลั่นชัตเตอร์ ทำให้กล้องสั่นไหวเวลากดชัตเตอร์

การใช้ขาตั้งกล้องที่ดีจะทำให้กล้องของเรามั่นคง ไม่ขยับเวลาที่ลมพัดแรง เวลาถ่ายภาพก็จะได้ภาพที่นิ่งครับ อีกเรื่องคือเวลาที่เราใช้สายลั่นชัตเตอร์ กล้องก็ไม่ต้องขยับเมื่อเทียบกับการที่เราไปกดที่ตัวกล้อง กล้องเราขยับแน่นอนครับ เพราะงั้นเรื่องเล็กน้อยแบบนี้แหละส่งผลกับภาพของเราโดยตรงเลย

นอกจากนี้การปิดกันสั่นของกล้องที่อยู่บนขาตั้งก็เรื่องสำคัญเหมือนกันครับ เพราะขาตั้งเรามั่นคงแล้ว แต่กันสั่นยังขยับเซ็นเซอร์อยู่ก็ไม่โอเคครับ ดังนั้นเมื่อเราใช้ขาตั้งแล้วให้ระลึกไว้เลยว่าควรปิดระบบกันสั่นให้เรียบร้อย อ้อ ปิดกันสั่นเลนส์ด้วยนะ

Photo by Mateusz Dach from Pexels

ข้อสรุป

เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่เคล็ดลับระดับช่างภาพมือโปรที่ยุ่งยากอะไร แต่ว่ามันเป็นพื้นฐานที่เราควรเข้าใจ และนำไปใช้ติดตัวตลอด เพราะพื้นฐานเล็ก ๆ พวกนี้ผมย้ำตลอดว่า มันสำคัญมาก และส่งผลกับภาพเราโดยตรงที่จะให้มันชัด ไม่เบลอ โฟกัสได้ถูกจุดตามที่เราต้องการครับ

Exit mobile version