Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

10 เคล็ดลับการถ่ายภาพดอกไม้ไฟ

การถ่ายภาพดอกไม้ไฟ หรือพลุไฟ (Fireworks) เรามักจะมีโอกาสได้ถ่ายเฉพาะช่วงเวลาสำคัญ ๆ เท่านั้น ซึ่งหลายคนก็ใฝ่ฝันที่จะถ่ายภาพพลุไฟนี้แหละ มันให้ความท้าท้ายและสนุกมากครับ แต่ก่อนที่เราจะถ่ายภาพดอกไม้ไฟ เราต้องรู้เรื่องอะไรบ้างล่ะ?

ปูพื้นฐานกันก่อน แก่นของการถ่ายภาพดอกไม้ไฟ หรือการถ่ายภาพพลุไฟ พื้นฐานมาจากเรื่องของ Long Exposure การเปิดม่านชัตเตอร์ให้นานเพื่อสามารถลาก Shutter Speed ได้ เหมือนกับการลากเส้นแสงรถเลย แต่ความยากที่เพิ่มขึ้นมาคือเรื่องของจังหวะในการเริ่มต้นเก็บแสง และหยุดการรับแสง หลังจากนั้นก็เป็นการนำมาโปรเซสซ้อนภาพพลุ (เล่าให้เห็นภาพรวมนะครับ)

ในวันนี้เราจะไม่ลงเรื่องการแต่งภาพ แต่จะมาพูดเรื่องการถ่ายยังไงให้ได้ภาพกันก่อน เอาเป็นว่าเรามาเริ่มกันเลยครับ

1. ใช้ขาตั้ง

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการถ่ายภาพดอกไม้ไฟคือการใช้ขาตั้ง ก็อย่างที่บอกครับพื้นฐานคือการถ่ายภาพ Long Exposure เมื่อเราต้องลาก Shutter Speed ให้นาน กล้องก็ต้องนิ่งครับ ขาตั้งต้องมี

เรื่องกล้องและเลนส์เป็นเรื่องจำเป็นอยู่แล้วเนอะ ผมก็เลยไม่อยากขยายความมาก เพียงแต่เสริมว่าใช้เลนส์ช่วง Normal หรือ Telephoto ไว้จะเหมาะสมกับการถ่ายภาพแนวนี้มากกว่า เพราะเราจะสามารถจัดมุมมองจากระยะไกลได้

2. ใช้สายลั่นชัตเตอร์

สายลั่นชัตเตอร์ คือหัวใจอีกอย่างของการถ่ายภาพเก็บแสงพลุ เพราะเวลาที่เรากดให้กล้องเปิดรับภาพนั่น กล้องจะมีการเคลื่อนที่เนื่องจากแรงกดของเรานั่น ดังนั้นการใช้สายลั่นชัตเตอร์เราสามารถกดสั่งกล้องจากสายลั่นได้เลย ที่สำคัญคือเวลาที่เราสั่งเปิดม่านและปิดม่าน เราจะใช้ร่วมกับโหมด Blub (ต้องใช้สายลั่น) ดังนั้นสายลั่นสำคัญมากครับ

3. ใช้โหมด M ในการถ่ายภาพ

การถ่ายภาพดอกไม้ไฟเราต้องทำการปรับตั้งค่ากล้องเองทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลอย่างที่เราต้องการ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องชำนาญเลยคือการตั้งค่าด้วยโหมด M, ไม่ใช่แค่รู้ว่ามันปรับค่าที่ไหนนะ แต่ต้องรู้ว่าภาพในหัวที่เราอยากจะได้ กับค่าที่ต้องใช้ เราควรปรับมันยังไงด้วย

แล้วจะรู้ได้ยังไงล่ะ? ก็คือต้องทำความเข้าใจเรื่อง Long Exposure ก่อนครับ หลังจากนั้นจะเริ่มรู้ว่าควรตั้งค่าให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ยังไง การปรับค่ากล้องมันไม่มีตายตัวนะ มันอยู่ที่สภาพแสงและแวดล้อม ณ ตอนนั้นครับ ดังนั้นไม่สามารถบอกได้เลยว่าต้องตั้งค่าเท่าไหร่ ต้องฝึกซ้อมเอง ทดลองเก็บประสบการณ์เองครับ

4. Manual Focus เป็นสิ่งสำคัญ

เหตุผลที่ต้องใช้โหมด Manual Focus ก็เพราะว่าเราไม่สามารถกดโฟกัสที่ตัวพลุได้เลย เพราะการเคลื่อนไหวของพลุมีตลอด แม้ว่ากล้องเราจะโฟกัสได้เร็วแค่ไหนก็อย่าลืมด้วยว่า เราต้องเปิดการรับแสงตั้งแต่พลุเริ่มยิง ดังนั้นจะรอโฟกัสแล้วค่อยกดอีกทีมันไม่เวิร์คแน่ ๆ

ดังนั้นกระบวนการที่แนะนำเป็นอย่างนี้ครับ คือเราต้องแมนนวลโฟกัสไว้ (ถ้ากล้อง Mirrorless ยุคนี้ก็ดีมากที่มีระบบช่วยในการโฟกัสแบบแมนนวล )หลังจากนั้น เราก็แค่จัดองค์ประกอบแล้วถ่ายครับ ไม่ต้องโฟกัสใหม่ตลอด

5. ISO ตั้งที่ต่ำสุดไว้ เพื่อลดปริมาณ Noise

เรื่องพื้น ๆ ในการถ่ายภาพ Long Exposure คือเราไม่ต้องการ Noise ในภาพครับ ให้เราใช้ ISO ที่ต่ำที่สุด และข้อดีของ ISO ต่ำคือทำให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้นครับ

6. ความเร็วชัตเตอร์ที่นานหน่อยสัก 5-10 วินาทีก็ได้

ก่อนที่เราจะรู้ได้ว่าค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ควรเป็นเท่าไหร่ เราต้องลองดูสภาพแวดล้อม และทดลองถ่ายเพื่อดูผลลัพธ์ก่อน จากนั้นค่อยเริ่มปรับครับ วิธีถ่ายดอกไม้ไฟมันมีหลายแบบนะ บางคนค่อย ๆ ถ่ายเก็บไปรวมในภาพเดียว หรือบางคนถ่ายเป็น Long Exposure ยาว ๆ ในใบเดียวก็ได้ อันนี้ต้องหา Work Flow เอาเองนะ แต่ก็แนะนำสำหรับคนที่ยังไม่เคยถ่าย จะคลำ ๆ ถ่ายก็สัก 5-10 วินาทีประมาณนี้แหละ

7. เลือกใช้รูรับแสงแคบเพื่อคุมความชัดและลากชัตเตอร์ได้นาน

เลือกใช้ F แคบเลยสัก F5.6-F8 เนื่องจากเราต้องคุมความชัดของลายดอกไม้ไฟ และการลดรูรับแสงลงจะทำให้ลายเส้นของดอกไม้ไฟเล็กและดูชัดเจนขึ้น แต่ถ้ารูรับแสงกว้างจะให้เส้นดูกว้าง ดูฟุ้ง ๆ นอกจากนี้รูรับแสงกว้างทำให้โอกาสที่ปริมาณแสงจะโอเวอร์มากกว่าด้วย

8. ใช้ ND Filter ลดปริมาณแสงลง

ถ้าในเวลาที่เราถ่ายท้องฟ้าไม่ได้มืดลงตามที่ต้องการ วิธีที่ช่วยได้คือลดปริมาณแสงด้วย ND Filter ซึ่งผมเคยได้อธิบายไว้ในบทความ Landscape Filters ซึ่งช่วยให้เราใช้ชัตเตอร์สปีดให้นานขึ้นได้ครับ

9. การจัดองค์ประกอบภาพสำคัญกว่าเทคนิค

อย่าลืมว่าการถ่ายภาพคือการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย มันเป็นเรื่องของศิลปะด้วย ดังนั้นการจัดองค์ประกอบภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่ามองว่าการถ่ายภาพคือการตั้งค่ากล้องแบบนี้ ๆ แล้วจะได้ภาพสวย มันไม่ใช่แค่นั้นน๊า

10. ฝึกถ่ายภาพ และฝึกโปรเซสภาพด้วย

การที่เราจะได้ภาพถ่ายที่ตรงตาม Concept และสมบูรณ์ตามต้องการ สิ่งแรกคือการฝึกบ่อย ๆ ทั้งทางด้านความรู้ และประสบการณ์ในการปฏิบัติ นอกจากนี้การฝึก Process ภาพ ทำให้เราสามารถปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เราอาจจะถ่ายพลาดมา หรือทำให้มันสมบูรณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Adobe Lightroom, Adobe Photoshop ก็ได้ครับ

Exit mobile version