Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

สอนตากล้องทำบล็อก #1 : ออกแบบ/วางแผน/เตรียมตัว

ขอบคุณผู้อ่านหลายท่านที่ได้หลังไมค์เข้ามาถึงเรื่องสอนการทำบล็อกเพราะด้วยบทความก่อนหน้าเรื่องข้อได้เปรียบของช่างภาพที่มีบล็อกเป็นของตัวเอง ผมก็เลยตัดสินใจในการที่จะเขียนบทความสอนทำบล็อกให้ฟรีไปเลย เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปผลิตผลงานได้เอง และสามารถกดหนดงบประมาณที่อยากจะลงทุนได้เอง

ก่อนเริ่มต้นทำบล็อกทำไมต้องมีการเตรียมตัว ผมอยากให้ปรับมุมมองของการสร้างบล็อกเหมือนกับการสร้างบ้าน เราต้องกำหนดก่อนว่าเราต้องการบ้านรูปแบบไหน ขนาดใหญ่เท่าไหร่ อยากจะให้มีส่วนไหนของบ้านบ้าง เช่น หน้าบ้าน หลังบ้าน ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ในการทำบล็อกก็ต้องมีส่วนที่เราจะต้องวางแผนเช่นเดียวกันผมขอเรียงหัวข้อตามนี้เลยครับ

1. วัตถุประสงค์ในการทำบล็อก

สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดจุดยืนของบล็อกว่าจะใช้ทำอะไร เช่น ใช้นำเสนอพอร์ตงานเพียงอย่างเดียว หรือใช้เป็นบล็อกที่เขียนรีวิวด้วย เผื่อว่าเราจะขายงานอื่น ๆ หรือว่าจะทำเป็นเว็บขนาดเล็กเพื่อพูดได้หลายเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพไปเลยก็ยังทำได้ ดังนั้นเราต้องตกลงกับเป้าหมายของการทำบล็อกก่อนว่า “เราจะใช้บล็อกนี้เพื่อจุดประสงค์อะไรบ้าง” และที่สำคัญเรื่องนี้มักจะส่งผลต่อการที่เราจะเริ่ม “ตั้งชื่อแบรนด์ของเราด้วย”

สำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกผมขออนุญาตวางโครงสร้างสำเร็จรูปไว้ให้นะครับ
1. เพื่อโชว์ผลงาน เน้นภาพถ่าย
2. เพื่อให้ลูกค้าต่อหาเราได้สะดวก
3. เชื่อมโยงกับ Social Media
4. เขียนบทความรีวิว ข่าว ท่องเที่ยว

เมื่อได้ทั้ง 4 อย่างนี้จะส่งผลให้เราสามารถดำเนินการวางแผนในข้อต่อไปได้ครับ

2.กำหนดหมวดหมู่ของเนื้อหาที่จะนำเสนอ

เมื่อได้หัวสองหัวข้อนี้จะทำให้เรามีโครงสร้างหมวดหมูเนื้อหาที่จะนำเสนอ เพราะตัวเว็บจะมีเมนู หน้าแสดงข้อมูลแต่ละอย่างซึ่งถูกแบ่งเป็นสัดส่วน ถ้าเอาวัตถุประสงค์ในข้อ 4 ไปสร้างเป็นหมวดหมู่เนื้อหาก็จะได้หมวดหมู่เนื้อหาดังนี้ครับ

Categories
– Portfolio สำหรับแสดงผลงาน
– News หรือ Blog สำหรับเขียนเรื่องราวทั่วไป ข่าวสาร บันทึกที่ต้องการ
– Reviews สำหรับบทความที่เรารีวิว
– About สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวกับตัวเราเอง
– Contact สำหรับเป็นข้อมูลติดต่อ ในหน้านี้มักจะมีฟอร์มให้ลูกค้ากรอกข้อมูลด้วยเลย

*เสริมย้อนกับไปข้อแรกนิดนึง เราจะไม่ได้กลุ่มของเนื้อหาบทความเลยถ้าไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะงั้นสิ่งแรกของการทำงานทุกอย่างคือเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ที่เราต้องการจากชิ้นงานนั้น ๆ ครับ

3. ช่องทางของเนื้อหาที่จะใช้เผยแพร่คอนเทนต์

การที่เราสร้างเนื้อหาที่ดีแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการทำให้คอนเทนต์ถูกมองเห็น ดังนั้นสำหรับยุคนี้ผมขอกำหนดช่องทางที่ใช้เผยแพร่ยอดนิยมตามลำดับดังนี้ครับ

3.1 Facebook
3.2 Google Search
3.3 YouTube
3.4 Twitter

การกำหนดช่องทางที่เราจะนำเนื้อหาไปใช้ จะส่งผลต่อการกำหนดแพลตฟอร์มของระบบที่เราจะนำมาใช้ครับ เพราะแต่ละแพลตฟอร์มจะมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน และแฟลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์รองรับสื่อโซเชียลมีเดียหลาย ๆ ที่ก็อาจจะต้องเป็นสเกลที่เริ่มมีค่าใช้จ่ายแล้ว

และความสำคัญของการกำหนดช่องทางอีกเรื่องก็คือ มันส่งผลต่อการออกแบบเนื้อหาให้เข้ากับสื่อที่เราเอาไปเผยแพร่ อย่างเช่น Facebook ต้องมีเนื้อหาที่ไม่ยาวจนเกินไป, หรือถ้ายาวก็ต้องเป็นเนื้อหาที่ผู้อ่านต้องการจริง, มีการแสดงผลที่เหมาะสมกับหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นต้น

4. แพลตฟอร์มที่เราจะนำมาใช้

ถ้าจะอธิบายง่าย ๆ แพลตฟอร์มเป็นเหมือนระบบที่เราจะเลือกใช้ในการสร้างบล็อกสำเร็จรูป ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างมากคือ WordPress สามารถเริ่มต้นได้ฟรี หรือจะเป็น Blogger ก็ได้(แต่อันนี้เน้นเขียนบล็อกซะมากกว่า), หรือถ้าใครอยากเน้นโชว์ภาพอย่างเดียวไม่อะไรมากมายก็อาจจะใช้ Flickr อย่างเดียวก็ยังได้เลย

สรุปให้เป็นตัวเลือกง่าย ๆ สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นเร็วไม่ต้องวางแผนอะไรมาก
1. WordPress สามารถเริ่มต้นได้ฟรี, มี Theme ให้เลือกเยอะ, สามารถต่อยอดได้ไกล ไปจนถึงระดับ Commercial เลย และเว็บผมก็ใช้ระบบนี้อยู่ครับ
2. Medium อันนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นใช้เขียนบล็อก รีวิว เราสามารถทำพอร์ทงานเป็นบล็อกแบบเขียนรายละเอียดก็ได้ครับ แพลตฟอร์มนี้เราจะเห็นคุณ ต่อ ชานนท์ เขาเขียนรีวิวที่ Medium บ่อย ๆ
3. ใช้ Hosting ของตัวเอง + WordPress อันนี้จะค่อนข้าง Advance หน่อย คือเราจะต้องเช่า Domain Name + Hosting จากผู้ให้บริการ และทำการเซ็ตค่าระบบ WordPress ที่นำมาใช้เองทั้งหมด จุดเด่นคือสามารถกำหนดทุกอย่างได้ตามความต้องการ
4. Flickr อันนี้หลายท่านก็ยังใช้กันอยู่ เป็น Social Media ตัวนึงที่สามารถใส่ภาพตามต้องการ พร้อมรายละเอียดได้เลย แต่สิ่งที่ทำไม่ได้เหมือนแพลตฟอร์มอื่น ๆ คือการกำหนดหมวดหมู่อื่นที่เราอยากทำ โดยเฉพาะการเขียนคอนเทนต์ ส่วนติดต่อประสานงานที่มีประสิทธิภาพ และ SEO ที่ดีอาจจะหายจากตรงนี้ไป
5. Blogger อันนี้บล็อกฟรีที่มีนานแล้ว สำหรับคนที่อยากลองเริ่มเขียนหรือใส่ผลงาน ถ้าใครอยากลองทำทั่วไปก็ลองก่อนได้ครับ แต่ผมแนะนำให้ใช้แพลตฟอร์มอย่าง WordPress หรือ Medium มากกว่า

5. กำหนดชื่อแบรนด์ของตัวเอง

อ่านมาอย่างยาวก็มาถึงสุดท้ายของเนื้อหาแล้ว นั่นคือการตั้งชื่อแบรนด์ของเราเอง ถ้าเรามีข้อมูลครบตั้งแต่ข้อ 1-4 แล้วก็จะทำให้เราตั้งชื่อแบรนด์ที่ชัดเจนกับสิ่งที่เราต้องการมากขึ้นครับ จากนั้นเราก็เอาชื่อไปจดโดเมน .com หรืออะไรก็ตามแต่เราต้องการได้เลย

อย่าเพิ่งท้อนะ สเตจแรกอาจจะเหนื่อยหน่อยเพราะมันต้องกำหนดโครงสร้างทุกอย่าง ต่อไปเราจะเริ่มลงมือทำกันแล้ว สเตจต่อไปจะเริ่มง่ายขึ้นครับ ค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจนะครับ ถ้าส่วนไหนผมบกพร่อง ตกหล่น แล้วอยากจะได้คำตอบก็สามารถทิ้งทำถามไว้กับผมได้เลยครับ

Exit mobile version