Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

เทคนิคถ่ายภาพทิวทัศน์ด้วย Landscape Filters

หลายคนเคยเห็นภาพ Landscape ที่รู้สึกว่าทั้งสี ทั้งมิติ ไม่เหมือนกับที่เราเคยถ่ายได้ ทั้งที่มุมเดียวกัน ปรับสี ปรับโทน ทำไมภาพของเราถึงยังไม่ได้แบบนั้นล่ะ ซึ่งมันมีเทคนิคที่ต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่าย Landscape อยู่อีกหน่อยที่จะพูดกันในวันนี้ครับ นั่นคือ “ฟิลเตอร์” ครับ

Source : Contrastly

พูดถึงเรื่องฟิลเตอร์ที่ใช้ในงาน Landscape เราอาจจะเคยเห็นมาบ้างในบ้านของเรา โดยวัตถุประสงค์ของ Filters เหล่านี้จะไม่เหมือนกับตัว Filter Protector (ฟิลเตอร์กันรอย และ UV) ทั่วไป โดยวัตถุประสงค์ของ Landscape Filters คือการทำให้เกิดเอฟเฟคบางอย่างในภาพ เช่น การปรับปรุงความอิ่มสีในภาพ การตัดแสงสะท้อนเพื่อให้ได้รายละเอียดกลับคืนมาในภาพ การลดทอนแสงลงเพื่อให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้นในตอนกลางวัน

สังเกตได้ว่าฟิลเตอร์พวกนี้จะทำงานกับแสงโดยตรงทั้งหมด เพื่อให้ได้แสงตามต้องการ ส่งผลให้เราสามารถตั้งค่ากล้องที่อยากจะได้ และทำให้เอฟเฟคของภาพตรงตามอย่างที่เราหวังเอาไว้ครับ เอาเป็นว่าเราไปทำความรู้จักกันก่อนว่าฟิลเตอร์พวกนี้มีแบบไหนบ้าง และมันมีรายละเอียดอะไร

Polarizers – ฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อน

สิ่งแรกที่ผมมักจะพูดถึงประจำเวลาแนะนำพวก Landscape Filter ทั้งหลายให้กับคนอื่น ๆ ก็คือ Polarizers, หรือ PL เรียกเป็นภาษาไทยก็คือพวกฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อน เจ้าสิ่งนี้ครั้งแรกที่ผมรู้จักผมคิดว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยจำเป็นนะ คิดว่าก็แค่ตัดแสงสะท้อนเอง แต่ที่จริงแล้ว Polarizers นี้เวลาที่เขาตัดแสงสะท้อน มันจะได้ทั้งรายละเอียดของพื้นผิวที่มันหายไปเพราะแสงสะท้อน สีที่กลับมา และรายละเอียดที่เราได้มานั้น ไม่ว่าจะกล้องดียังไง หรือซอฟต์แวร์เจ๋งแค่ไหน ก็ยังให้ไม่ได้เลยครับ

circular-polarizer : picture by Steve Hardy, source : Contrastly

เวลาที่เราใช้ Polarizers นั้น จะรู้สึกว่าสีอิ่มขึ้น เนื้อภาพดูมีน้ำหนัก ให้ความสวยที่ถูกใจมากขึ้น เฉดสีเรียกได้ว่ามาดีมาก นอกจากนี้เวลาที่เราถ่ายภาพผิวน้ำ หรือบริเวณที่มีแสงสะท้อน มันจะให้รายละเอียดอย่างที่เราไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนเลย ยังไม่หมดแค่นั้นนะครับ พวกท้องฟ้า รอยคลื่นบนเมฆ ความชัดเจนของสีบนท้องฟ้าก็กลับมาอีกด้วย

นอกจากนี้ฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อนนั้นยังสามารถใช้กับภาพช่วงกลางคืนได้ด้วย เพราะการถ่ายภาพกลางคืน หรือแสงช่วงค่ำ ๆ มันมีสีฟ้าติดมาค่อนข้างมาก Polarizers จะช่วยลดทอนแสงสีฟ้าเหล่านั้นลง ทำให้ภาพได้สีส้มแบบธรรมชาติกลับมามากขึ้น

Netural Density (ND) Filters – ฟิลเตอร์ตัดแสง, ฟิลเตอร์ลดแสง

neutral-density – picture by Luke Detwiler, Source Contrastly

ND Filters เป็นอีกหนึ่งฟิลเตอร์ที่ไม่มี ไม่ได้เลย จุดเด่นของมันคือการทำหน้าที่ลดปริมาณแสงที่จะเข้ามา สำหรับคนที่ยังเพิ่งรู้จักกับ ND Filters อาจจะงง ๆ ว่าทำไมต้องลดแสงลง.. เหตุผลเพราะว่าเมื่อเราต้องการเปิดความเร็วชัตเตอร์ให้นานขึ้น อย่างการถ่ายภาพน้ำตกเป็นเส้น หรือการถ่ายภาพลากก้อนเมฆ การเปิดความเร็วชัตเตอร์นานปริมาณแสงจะสูงมากจนไม่สามารถถ่ายภาพได้ ต้องมีอะไรสักอย่างเพื่อลดทอนปริมาณแสงนั้นลงไปครับ

Graduated Neutral Density (GND) Filters – ฟิลเตอร์ครึ่งซีก

picture by Hafsteinn Robertsson, Source : Contrastly

ฟิลเตอร์แบบ Graduated Neutral Density ปกติผมจะชอบเรียกสั้น ๆ ว่า gradient filter เพราะมันให้เอฟเฟคคล้ายการใส่ Gradient ใน Adobe Lightroom, แล้วมันยังไง ก็คือว่าหน้าที่มันจะทำการลดทอนแสงคล้ายกับ ND Filters แต่มันจะทำหน้าที่แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เหตุผลที่ต้องลดแสงครึ่งเดียวเพราะบางครั้งเราต้องการกดแสงสว่างที่ท้องฟ้าลงอย่างเดียว เพื่อให้รายละเอียดท้องฟ้ากลับมา ทำให้เราสามารถถ่ายภาพ Landscape ได้สวยขึ้น

ภาพตัวอย่าง Graduated Filter ของ Nisi

Special Effect Filters – ฟิลเตอร์ที่ให้เอฟเฟคเฉพาะ

picture by kuhnmi, Source : Contrastly

ฟิลเตอร์พิเศษพวกนี้ใช้เพื่อสร้างเอฟเฟคสนุก ๆ แต่อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากมายนัก เพราะบางเอฟเฟคสามารถทำได้ใน Photoshop, เอฟเฟคเฉพาะพวกนี้นิยมใช้กับช่างภาพที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์มในสมัยก่อน กับช่างภาพปัจจุบันที่ชอบใส่เอฟเฟคอะไรแปลก ๆ ให้ดูโดดเด่นในภาพ

ตัวอย่างคือภาพเอฟเฟคแบบแฉกดาว เราจะเห็นว่าแฉกมันพุ่งขึ้นมาเยอะกว่าปกติ, หรืออาจจะเคยเห็น Soft-Focus Filters คือจะทำภาพให้ดูฟุ้ง ๆ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคล อารมณ์เหมือนจะเกือบ ๆ ภาพที่โฟกัสเบลอนิด ๆ ทำให้ภาพดูอารมณ์เพ้อฝัน อยู่ในฝันเป็นต้น

UV Filters, Protector Filters

picture by Robert Pittman, Source : Contrastly

UV Filters เป็นฟิลเตอร์ที่ใช้ป้องกันตัวเลนส์ชิ้นหน้ามากกว่า แต่ด้วยการใส่คุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV บางชนิดเช่น UV-2A, 2B, 2C และ 2E เป็นต้น โดยส่วนตัวผมใช้ Protector Filter มา ไม่เคยเลยนะว่าต้องเจาะจงซื้อ Filter Protector ที่กันรังสี UV โดยเฉพาะ เพราะใส่หรือไม่ใส่ฟิลเตอร์แบบ UV ผมมองไม่ออกเลย, เพราะผมซื้อ Protector Filter มาไว้กันหน้าเลนส์เท่านั้นครับ แล้วก็ถ้าสังเกตการพูดคุยกันเกี่ยวกับ UV Filter นั้นน้อยมาก สิ่งสำคัญอยากให้ไปมองถึงการป้องกันหน้าเลนส์มากกว่า และการผ่านของแสง ต้องดีจริง และไม่ทำให้ภาพเราสีผิดเพี้ยนแค่นั้นเอง

Landscape Filters ในปัจจุบันจะมีให้เราเลือกใช้อยู่ 2 แบบหลัก ๆ คือฟิลเตอร์แบบกลม ที่ใช้หมุนติดเข้าที่หน้าเลนส์ และฟิลเตอร์แบบแผ่นที่ใช้ติดกับตัว Holder และตัว Holder จะทำหน้าที่ติดตั้งเข้าที่หน้าเลนส์อีกทีครับ ซึ่งขอแนะนำพวกอุปกรณ์ไว้คร่าว ๆ ก่อน เดี๋ยวเนื้อหาจะออกทะเลไป ^^ ถ้าเนื้อหาจะเจาะลงที่เรื่องของ Holder,Filters ในส่วนอุปกรณ์ผมขอไว้ในบทความต่อไปนะครับ

photo by mararie, Source : Contrastly
Exit mobile version