Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

เทคนิคการใช้เส้นนำสายตากับภาพ Landscape

เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพด้วยเส้นนำสายตาเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความเข้าใจและประยุกต์สำหรับการถ่ายภาพแนว Landscape ซึ่งในความเป็นจริงเราใช้เส้นนำสายตาเป็นส่วนนึงในชีวิตประจำวันของเราด้วยซ้ำ เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตรายละเอียดแค่นั้นเองครับ

เทคนิคการใช้เส้นนำสายตากับภาพ Landscape

ลองนึกภาพเวลาที่เราขับรถไปไหนมาไหน เราจะเห็นสองข้างทางเป็นต้นไม้สูงบ่อย ๆ แล้วจะมีถนนเป็นเส้นนำอยู่ตรงกลาง ทำให้เราโฟกัสไปที่ปลายทางของถนนตลอดเวลา การถ่ายภาพก็เหมือนกัน เส้นนำสายตาจะดึงจุดสนใจจากขอบภาพไปยังกลางภาพหรือจุดที่เราตั้งใจให้มองเห็นนั่นเองครับ จะเห็นได้ว่าเส้นนำสายตานั้นอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา ถ้าเราฝึกจนเป็นนิสัยเราจะถ่ายภาพสวยขึ้นแน่นอน

เส้นนำสายตาคืออะไร? (ขอปูพื้นฐานสำหรับคนที่้อาจจะเพิ่งถ่ายรูปกันก่อนนะ)

ผมอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เส้นนำสายตาคือสิ่งที่จะช่วยดึงจุดสนใจของเราจากจุดเริ่มต้น ไปยังจุดที่เราต้องการ ซึ่งเส้นนำสายตาเหล่านี้จะเป็นการประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรานี่แหละ อาจจะเป็นเส้นถนนตามภาพตัวอย่างก่อนหน้านี้ แนวกำแพง หรืออะไรก็ตามที่เรามองดูแล้วเป็นเส้นที่มีรูปร่าง แล้วเราสามารถใช้มันเป็นหนึ่งขององค์ประกอบภาพ เพื่อดึงสายตาไปยังสิ่งที่เราต้องการให้คนดูเห็น เดี๋ยวเรามาดูตัวอย่างจากภาพด้านล่างนี้กัน

Source : Digital Photography School

ภาพด้านบนนี้เป็นการใช้เส้นนำสายตาที่เรียบง่ายมาก และมีประสิทธิภาพได้ยอดเยี่ยม คือเราใช้เส้นนำสายตาจากด้านข้างไปยังกลางภาพ นอกจากนี้ยังทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมดูน่าสนใจและมีเรื่องราวที่มากขึ้น

แก่นของแนวคิดหลักในการใช้เส้นนำสายตาคือ เส้นนำสายตาต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชมมองไปยังจุดสนใจให้ได้แค่นั้นเอง ซึ่งแรก ๆ ผมเข้าใจว่ามันจะดูงง แต่ฝึกไปเรื่อย ๆ จะเริ่มเข้าใจวิธีการใช้งานครับ ซึ่งคุ้มค่าต่อเวลาในการฝึกฝนแน่นอน มันเป็นพื้นฐานมาก ๆ ที่ใช้ได้กับภาพทุกแนวอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการเอาเส้นนำสายตามาใช้ เราต้องตอบตัวเองให้ได้ (ผมยกตัวอย่างคร่าว ๆ มานะครับ)

1. นำสายตาผู้ชมเข้าสู่ภาพถ่าย
2. นำสายตาผู้ชมจากจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่ง อาจจะขอบภาพมากลางภาพ
3. นำผู้ชมไปยังวัตถุ ตัวแบบ หรือสิ่งที่เราต้องการเน้นความน่าสนใจ

Source : Digital Photography School

นอกจากนี้การนำเทคนิคการใช้เส้นนำสายตายังนำมาใช้ร่วมกับกฎสามส่วนในการถ่ายภาพได้ด้วย ถ้าจำบทความพื้นฐานการถ่ายภาพได้ ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้แล้วนะครับ ซึ่งเมื่อเรานำเส้นนำสายตามาใช้กับกฎสามส่วนจะทำให้การถ่ายภาพ Landscape ได้น่าสนใจง่ายกว่าเดิมเข้าไปอีก

แล้วสามารถใช้อะไรเป็นเส้นนำสายตาได้บ้าง? (ผมยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ ให้เลยนะ)

– ถนน
– รางรถไฟ
– ชายฝั่งทะเล
– ทางเดิน
– น้ำตก
– ลำธาร
– กรวดหินบนชายฝั่ง

สรุป ได้ว่ามันเป็นอะไรก็ได้ที่ขอให้รูปร่างออกมาเป็นเส้นแล้วใช้เพื่อดึงสายตาตามวัตถุประสงค์ที่ผมได้อธิบายไปข้างต้นนั่นเองครับ

รูปแบบของเส้นนำสายตาที่เอามาใช้ได้ง่าย

Source, Digital Photography School

เส้นนำสายตาสามารถเป็นรูปแบบไหนก็ได้ จะเส้นตรง เส้นโค้ง ทแยง แนวนอน แนวตั้ง ได้หมด ซึ่งแต่ละเส้นมีความพิเศษด้วยนะคือจะให้อารมณ์ที่ต่างกัน ยกตัวอย่างภาพด้านล่างนี้จะเป็นเส้นนำสายตาแบบแนวตั้ง ซึ่งให้ความรู้สึกที่มั่นคง แข็งแรง หนักแน่น พอนำมาใช้กับภาพ Landscape ก็จะทำให้จุดสนใจดูมีพลังขึ้นมาเลย

Source, Digital Photography School

แต่ถ้าหากเป็นเส้นทแยงมุมจะสร้างความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ ทำให้ภาพที่ดูน่าเบื่อ ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

มาดูเส้นนำสายตาแบบโค้งกันบ้าง เส้นนำสายตาแบบโค้งข้อดีคือจะช่วยสร้างความน่าสนใจ และสามารถทำให้ผู้ชมกวาดสายตาไปรอบ ๆ บริเวณนั้นได้ ทำให้ภาพส่งรายละเอียดให้กับคนดูได้มากยิ่งขึ้นด้วย เพราะเวลาสายตามองตามเส้นนั้น ๆ ไปก็ได้มองเห็นบริเวณรอบ ๆ ไปด้วยนั่นเองครับ

Source, Digital Photography School

เส้นนำสายตาแบบรูปตัว S (S-Curve) จะเห็นตามแนวหาดกับถนนบ่อย ๆ ซึ่งถ้ามีโอกาสถ่ายถนนผมก็ชอบเลือกมุมแบบนี้นะ เพราะมันดูน่าสนใจดี เหมือนงูเลื้อยเลย ฮ่า ๆ แต่ประเด็นคือลากสายตาเข้ากลางเฟรมได้ง่าย ๆ เลย

Source, Digital Photography School

เส้นนำสายตาที่โค้ง แต่มีน้ำหนักโค้งที่หนักหน่วงกว่า เรามักจะเห็นตามโฆษณารถยนต์สปอร์ตที่ภาพสาดเส้นโค้งให้ดูอันตราย น่ากลัว ตื่นเต้น ประมาณนั้นครับ

“สิ่งสำคัญของเส้นนำสายตาคือ ต้องนำสายตาผู้ชมเข้าไปที่จุดสนใจของภาพ และไม่ควรจัดให้เส้นนำสายตาลากคนดูออกจากภาพนะครับ”

ข้อสรุป

Source, Digital Photography School

การจัดองค์ประกอบภาพด้วยเส้นนำสายตาเป็นเทคนิคที่ดูธรรมชาติที่สุด คนที่ถ่ายภาพ Landscape สามารถนำไปใช้เพื่อนำสายตาผู้ชมมองเข้าไปถึงจุดสนใจในภาพได้อย่างเป็นธรรมชาติ และทำให้ภาพถ่ายของเราดูมีมิติ เล่าเรื่องราวได้น่าสนใจมากขึ้น และย้ำนะครับเส้นนำสายตาต้องนำผู้ชมไปยังจุดสนใจในภาพ ไม่ใช่ลากสายตาผู้ชมออกจากภาพนะครับ

Source : https://digital-photography-school.com/how-to-use-leading-lines-effectively-in-landscape-photography/

Exit mobile version