Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

เทคนิคถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้น [มีภาพตัวอย่างและการตั้งค่า]

เทคนิคถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้น เคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้น เราจะคุ้นชินกับการถ่ายภาพถนนที่มีแสงรถวิ่งเป็นเส้น ที่จริงแล้วมีวิธีการถ่ายภาพง่ายนิดเดียว วันนี้จะมาอธิบายกระบวนการคิด อุปกรณ์ที่ต้องใช้ การตั้งค่ากล้อง และวิธีการถ่ายภาพนะ

เทคนิคถ่ายภาพให้แสงเป็นเส้น [Update]
เรามีวีดีโอด้วยนะ ฝาก Subscribe ที่ YouTube ให้ด้วยล่ะ http://www.youtube.com/photoschoolthailand

1. หัวใจสำคัญคือ “ความเร็วชัตเตอร์”

ความเข้าใจเรื่อง Speed Shutter คือหัวใจของการถ่ายภาพแบบนี้ โดยปกติเราจะตั้งสปีดชัตเตอร์ให้สูงเพื่อหยุดภาพที่เคลื่อนไหวให้นิ่ง แต่วิธีนี้จะตรงกันข้ามกันคือเราจะเปิดให้ชัตเตอร์ช้าลง เพื่อให้กล้องรับแสงได้นานขึ้น เมื่อวัตถุวิ่งผ่านหน้ากล้องเช่น รถที่เปิดไฟหน้า เราก็จะเห็นวัตถุวิ่งเป็นเส้นนั่นเอง เดี๋ยวจะสอนตั้งค่านะไม่ต้องห่วงสำหรับคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องชัตเตอร์มากนัก แต่ก็อยากจะย้ำนะ ว่ายังไงพื้นฐานก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น

ความเร็วชัตเตอร์คือหัวใจสำคัญทำให้สามารถถ่ายภาพเก็บแสงเป็นเส้นได้

2. ความเข้าใจเรื่องเวลาและสภาพแสง

ต่อมาให้สังเกตว่าภาพแนวนี้ทำไมมักจะเป็นช่วงเวลากลางคืน เพราะง่าย ๆ เลย การถ่ายภาพแนวนี้เราจะต้องเปิดชัตเตอร์นานเพื่อเก็บแสงรถวิ่งให้เป็นเส้น เมื่อเปิดรับแสงนาน มีโอกาสที่กล้องจะรับแสงเข้ามาสว่างเกินไป ดังนั้นเมื่อถ่ายช่วงตั้งแต่หกโมงเย็นลงไปจะเป็นสภาพแสงที่เหมาะครับ

อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเราถ่ายช่วงค่ำหน่อย พฤติกรรมของคนขับรถ “ต้องเปิดไฟหน้า” ทำให้เราได้เส้นบนถนนที่เยอะ ไม่ใช่แค่นั้นหรอก ท้องฟ้าที่ดวงอาทิตย์ตกแต่ยังเหลือแสง เราจะได้แสงออกแนวส้มยามตะวันตกดิน ถ้าค่ำไปกว่านั้นก็ยังได้สีท้องฟ้าอมน้ำเงิน ตามช่วงเวลา เป็นสีท้องฟ้าที่ดูมืดแต่สวย

สิ่งสุดท้ายคือเราจะมองเห็นไฟในอาคารตามตึกต่าง ๆ เมื่อถ่ายช่วงกลางคืน ดังนั้นถ้ามองภาพรวมทั้งหมดในเรื่องนี้ ” Slow Speed Shutter + Timing + Location” สามเรื่องนี้ต้องเข้าใจนะครับ

ความเข้าใจเวลาและสภาพแสงเป็นเรื่องสำคัญ

3. ขาตั้ง + สายลั่นชัตเตอร์

การเปิดชัตเตอร์ที่นาน เราจะเปิดประมาณ 4 วินาที (ที่จริงไม่มีตายตัวหรอก แต่แนะนำว่า 4 วินาทีขึ้น) ด้วยมือเปล่าเราไม่สามารถถือได้ เราจะต้องตั้งกล้องไว้บนขาตั้งเพื่อไม่ให้ภาพเบลอครับ สังเกตตามสะพานลอย คนที่ถ่ายภาพแนวนี้จะต้องใช้ขาตั้งในการจับกล้องไว้ให้นิ่งครับ

นอกจากนี้แม้แต่เราเอานิ้วกดปุ่มชัตเตอร์ที่กล้องก็จะทำให้ภาพเบลอเหมือนกัน มี 3 วิธีที่จะทำให้กล้องนิ่งเมื่อต้องถ่ายภาพ

1. ตั้งเวลาถอยหลังให้กล้องกดชัตเตอร์เอง ข้อดีคือถูก แต่ข้อเสียคือ ต้องมากดแล้วรอให้มันลั่นชัตเตอร์ตามเวลาที่นับถอยหลัง ถ้าเกิดจังหวะดี ๆ มาในช่วงที่กล้องนับถอยหลังก็อดได้ภาพไป

2. ใช้แอพพลิเคชั่นต่อกับกล้อง ซึ่งกล้องมิลเรอร์เรสยุคนี้มีเยอะแยะครับ อาจจะใช้แบบนั้นก็ได้ แต่ไม่ใช่ทุกกล้องที่ทำแบบนี้ได้ อย่างเช่น DSLR บางรุ่น

3. สายลั่นชัตเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานและก็ยังนิยมอยู่ คือเราจะต่ออุปกรณ์เพิ่มให้เรากดชัตเตอร์ได้จากสายลั่น ทำให้กล้องไม่สั่นครับ แนะนำวิธีนี้ง่ายสุด

ขาตั้งและสายลั่นชัตเตอร์คือสิ่งที่ขาดไม่ได้

ภาพนี้ขอบคุณเบิร์ดเพื่อนผมมากครับ เขาชอบใช้เวลาว่างหลังเลิกงานไปถ่ายตามที่ต่าง ๆ เลยนำภาพตัวอย่างมาให้ดูกัน สังเกตว่าถ้าเป็นช่วงค่ำ ท้องฟ้าจะมีทั้งน้ำเงิน ทั้งสีฟ้าที่ยังพอสว่างอยู่ ตึกเห็นชัด มีป้ายไฟชัดเจน แสงท้องฟ้าไม่รบกวนไฟตามตึก ที่สำคัญไฟของรถจะมีเยอะมาก เห็นชัดเจนครับ

Sony A7S + F 16-35mm F4 ZA OSS
16mm @F14 Speed 56 Sec, ISO200

หลักการเดียวกันกับภาพเมื่อครู่ครับ แต่ตอนนี้เราจะเล่นกับเส้นไฟที่ถนน ถ้าเยอะ แล้วดูลงตัวจะสวยขึ้นเยอะมากเลย สังเกตได้ว่าไฟเบรครถจะสีแดง แต่ถ้าไฟทั่วไปจะสีเหลือง เราสามารถใช้ถนนแต่ละเส้นในการสร้างสรรค์จุดเด่นของพื้นที่นั้นได้ครับ

Sony A7S + F 16-35mm F4 ZA OSS
16mm @F16 Speed 35 sec, ISO 200

อันนี้ก็หลักการเดียวกันหมดครับ แต่สังเกตว่าถ้าเส้นถนนเยอะเกินไป อาจจะทำให้เส้นไฟรกได้ ต้องลองหาจังหวะที่ดีด้วยนะครับ

Sony A7S + F 16-35mm F4 ZA OSS
16mm @F11 Speed 26 sec, ISO 100

ภาพนี้ใช้ประยุกต์ในการถ่ายเหวี่ยงไฟได้ ถ้าอยากเรียนรู้วิธีเหวี่ยงไฟแบบเทพ ๆ แนะนำติดตามที่เพจกันได้เลยนะคร้าบ 

Olympus OM-D E-M5 Mark II + 7-14 F2.8 Pro
7mm @F4 Speed 2 sec, ISO 200

สิ่งสำคัญที่อยากจะแนะนำก็คือ “การฝึกฝน” ถ้าไม่มีการฝึกฝนแล้ว แชร์บทความไป อ่านไป ก็อาจจะไม่เก่งเท่ากับลองทำเองด้วย (แต่ก็แชร์ให้ผมหน่อยนะ) นั่นแหละครับ อยากให้ลงมือทำ แล้วพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องครับ

Exit mobile version