Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

เซ็นเซอร์กล้องกับทุกเรื่องที่ควรรู้ในภาษามือใหม่ แตกต่างกันยังไง มีผลอะไรกับภาพ

เซ็นเซอร์กล้อง กับทุกเรื่องที่ควรรู้ในภาษามือใหม่ แตกต่างกันยังไง มีผลอะไรกับภาพ ตั้งแต่ทำเว็บ PhotoschoolThailand มาก็ยังไม่ได้คุยเรื่องของเซ็นเซอร์กล้องเลยว่า แต่ละแบบขนาดเท่าไหร่ มีคำถามเข้ามาเยอะครับ บ้างอธิบายก็ดราม่า (บางคนดราม่าเรื่องประสิทธิภาพกัน) บางคนก็ไม่มีเวลามากพอในการอธิบาย วันนี้ผมก็เลยจะเรียบเรียงแบบง่าย ๆ มาให้เข้าใจกันว่ามันมีอะไรบ้าง เป็นยังไง แตกต่างกันมากไหม แล้วเราควรจะเลือกใช้แบบไหนดี

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง Full Frame, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป, Image by Matt Whitacre available on Unsplash

เซ็นเซอร์กล้อง กับทุกเรื่องที่ควรรู้ในภาษามือใหม่ แตกต่างกันยังไง มีผลอะไรกับภาพ

Sensor Size หรือขนาดของเซ็นเซอร์กล้องถ่ายรูปปัจจุบันมันพัฒนามาไวมาก แล้วมีหลายขนาด เมื่อก่อนจะมีแค่กล้อง Compact แล้วก็ APS-C ซะส่วนมาก ตอนนี้มันมีเยอะ เยอะสุด ๆ เดี๋ยวจะไล่ให้ดูเลยครับ

– Medium Format
– Full Frame
– APS-C
– Micro 4/3
– 1″
– 1/2.3″
– 1/3″

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง Full Frame, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป,

ผมอธิบายเป็นภาษาง่าย ๆ นะครับ ในบรรดาเซ็นเซอร์ที่ยกตัวอย่างมา เซ็นเซอร์ที่แลดูจะถูกเทียบเป็นตัวกลางไว้คือ Full Frame ที่เรียกแบบนี้ก็เพราะว่ามันมีขนาดเท่า 1 เฟรมเหมือนกับกล้องฟิล์มขนาด 35mm ในยุคนั้น ส่วน Medium Format มันใหญ่กว่า Full Frame ไปอีก ขอไม่พูดถึงเพราะมันยังไม่ได้รับความนิยมกว้างสำหรับคนทั่วไปแบบเรา และราคาสูงมาก เพราะงั้นในเนื้อหานี้จะวางที่ Full Frame เป็นหลัก

กล้องถ่ายรูปเซ็นเซอร์ Full Frame จะมีขนาด 36x24mm, กล้องถ่ายรูปเซ็นเซอร์ Micro Four Third จะมีขนาด 17.3x13mm ดูจากรูปด้านบนตามด้วยนะครับ

ถ้าเซ็นเซอร์ทั้งสองตัวมีความละเอียดที่ 16 ล้านพิกเซลเหมือนกัน ในกล้อง Micro Four Third พิกเซลแต่ละตัวจะมีขนาดเล็กกว่า เพราะมันเบียดอยู่ในพื้นที่เซ็นเซอร์เล็ก ๆ แต่เมื่อเทียบกับ Full Frame แล้ว มันมีพื้นที่มากกว่าสองเท่าตัว ทำให้พิกเซลมีขนาดใหญ่กว่า แม้ว่าจะเป็นความละเอียด 16 ล้านพิกเซลเท่ากันก็ตาม

เซ็นเซอร์เล็กกับใหญ่ส่งผลอะไรกับภาพถ่ายล่ะ!?

เมื่อเซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่กว่า ก็มีพื้นที่ในการที่จะรับแสงได้ดีกว่าตามไปด้วย ทำให้ประสิทธิภาพต่อสัญญาณรบกวนพวก Noise ก็มีมากกว่า, Dynamic Range ก็ดีกว่าเซ็นเซอร์เล็ก แม้ว่าปัจจุบันการพัฒนาด้านเซ็นเซอร์จะดีขึ้นมากแล้ว กล้องเซ็นเซอร์ขนาดเล็กก็มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ประสิทธิภาพที่เกิดจากกายภาพเรื่องขนาดเซ็นเซอร์ ตัวกล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับเซ็นเซอร์เล็กก็ยังมีข้อเด่นในเรื่องดังกล่าวมากกว่าอยู่ดี (แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นั้นด้วย)

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง Full Frame, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป, Image by ShareGrid available on Unsplash

เพราะงั้นถ้าการรับแสงได้ดีขึ้น ทำให้เวลาที่เราใช้กล้องไม่ต้องเร่ง ISO ให้สูงเกินไปมากนัก เพราะมันจะทำให้ Noise เพิ่มขึ้นมาตามอัตราของ ISO นั่นแหละ เพราะงั้นเราจะสังเกตได้เลยว่ากล้องเล็ก ๆ เวลาดัน ISO ปริมาณ Noise มันก็เยอะกว่า เพราะตัวพิกเซลแต่ละอันมีขนาดเล็กกว่า การรับแสงก็แย่กว่า และด้วยพื้นที่เซ็นเซอร์น้อย พิกเซลที่เยอะมาก ๆ เป็นล้านตัวต้องเบียดอยู่ในเซ็นเซอร์เล็ก มันแออัด ยิ่งบวกกับการเร่งสัญญาณอีก มันก็เลยทำให้ Noise สูงขึ้นง่ายนั่นเอง

ขอตรงนี้เลยนะ อ่านแล้วไม่ดราม่า อยากจะให้ความรู้กันเรื่องจุดเด่นจุดด้อย แล้วไปปรับปรุงวิธีการใช้งาน การถ่ายภาพกันมากกว่า ผมก็ใช้กล้องเซ็นเซอร์ทุกไซส์แหละ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป, Image by Dennis Klein available on Unsplash

อ่านบทความเสริม
– รวมทุกอย่างที่ต้องรู้ พื้นฐานการวัดแสง สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ
– การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพบุคคล

แล้วถ้ามันดีขนาดนั้น ทำไมทุกเจ้าไม่ทำเซ็นเซอร์กล้องถ่ายรูปให้มันใหญ่หมดทุกค่ายเลยล่ะ?

เรื่องราคาก็มีประเด็น กล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ ต้นทุนมันสูงขึ้นครับ และราคาก็เอาเรื่องพอสมควรเลยทีเดียวแหละ เพราะงั้นในด้านการตลาดจึงมีการแบ่ง Segment ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อตอบโจทย์คนที่ต้องการใช้งานกล้องในแต่ละจุดนั่นเองครับ

มาพูดที่เรื่องของ กล้องตัวคูณ มันคืออะไร แล้ว Crop Factor มันคืออะไร

เราต้องเคยได้ยินเรื่องกล้องตัวคูณกันแน่นอนแหละ ไม่ว่าจะเป็นกล้องเซ็นเซอร์ Micro Four Third หรือ APS-C ก็ยังเป็นกล้องตัวคูณแหละ กล้องอะไรที่ Sensor เล็กกว่า Full Frame ก็เป็นกล้องตัวคูณทั้งหมด ใน Specification ของกล้องพวกนี้จะระบุไว้เลยว่า 1.5x, 1.6x, 2x ซึ่งหมายถึงการคูณระยะเลนส์นั่นเองครับ

ยกตัวอย่าง กล้องถ่ายรูป Olympus Mirrorless และ กล้องถ่ายรูป Panasonic Mirrorless จะเป็นเซ็นเซอร์ Micro 4/3 จะมีการคูณระยะอยู่ที่ 2x เมื่อใช้เลนส์อย่าง 14-42mm เราจะได้ระยะเมื่อเทียบกับกล้อง Full Frame ที่ 28-84mm นั่นเอง

ส่วน APS-C จะมีทั้ง 1.5x และ 1.6x ส่วนใหญ่ (บางค่ายมี 1.3x ก็มี) ก็ต้องคูณในระยะตาม Crop Factor ของค่ายนั้น ๆ ครับ ให้ลองดูภาพด้านล่างนะ

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง Full Frame, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป,

ปกติแล้วเมื่อแสงผ่านเข้ามาด้านหน้าเลนส์แล้วมันไปตกที่ด้านหลังเลนส์ จะเป็นลักษณะวงกลม ตรงกลม ๆ นี้เรียกว่า Image Circle เซ็นเซอร์ของกล้องจะวางอยู่ในวงของ Image Cricle พอดีเพื่อที่จะรับแสงเข้ามานั่นเอง ยกตัวอย่างถ้าหากว่าเราใช้เลนส์ที่ 50mm F1.8 บนกล้อง Full Frame เซ็นเซอร์จะวางใน Image Circle แบบพอดี

แต่ถ้าหากว่าเลนส์ตัวเดียวกันนี้ใส่บนเซ็นเซอร์อย่าง APS-C ภาพที่เซ็นเซอร์เก็บมาได้ ก็จะมีเฉพาะตรงส่วนกลางของ Image Circle เท่านั้นเอง บริเวณขอบ ๆ ของเราจะไม่ได้ภาพมา ผลที่ได้คือภาพที่ออกมามันโดน Crop ออก หรืออีกนัยนึงก็คือมันเหมือนภาพที่เราได้ถูกซูมเข้าไปโดยที่เราไม่ได้เพิ่มระยะเลยนั่นเอง แต่เกิดจากเซ็นเซอร์เล็กกว่า Image Circle ทำให้เราได้ระยะของเลนส์ที่ไกลกว่าเดิม (ถูกคูณมากกว่าเดิม)

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง Full Frame, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป,

ถ้าหากว่าเราเอาเลนส์ 50mm ตัวนี้มาใส่บนกล้องขนาด Full Frame เราก็จะได้ภาพตามปกติ แต่ถ้าเกิดว่าเราเอาเลนส์ตัวนี้ใส่ในกล้องที่มีเซ็นเซอร์เล็กกว่า ยกตัวอย่าง ASP-C ก็จะได้ระยะที่เท่ากับ 50mm x 1.5 คือเป็นระยะที่ 75mm แทน

และถ้าหากเป็นเลนส์ 50mm มาใส่ในกล้อง Micro Four Third ล่ะ ระยะก็จะเป็นสองเท่าคือ 50mm x 2 เท่ากับ 100mm ครับ ยิ่งเซ็นเซอร์เล็กเท่าไหร่ ระยะการคูณมันก็จะเยอะมากขึ้น ถ้าพวกเซ็นเซอร์ขนาด 1/2.3″ อันนี้จะคูณระยะที่ 5.6x เลย จาก 50mm จะกลายเป็น 280mm ครับ

อ่านบทความเสริม
– รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ ISO สำหรับมือใหม่ และการใช้งานที่ถูกต้อง
– วิธีการใช้ Auto ISO สำหรับมือใหม่ และการตั้งค่าไม่ให้ Noise เยอะเกินไป

ข้อดีของกล้องตัวคูณที่มือใหม่อาจจะมองไม่เห็น กล้องตัวคูณจะมีขนาดเล็กกว่า เบากว่า ราคาถูกกว่า

การคูณระยะของกล้องตัวคูณถ้าหากเราเป็นคนที่ชอบถ่ายวัตถุที่อยู่ไกล ๆ อย่าง สัตว์ป่า นก หรือการถ่ายกีฬาข้างนาม เรื่องระยะไกล ๆ ก็มีความได้เปรียบเรื่องระยะเลนส์ที่ไกลขึ้น ทำให้เราไม่ต้องเข้าใกล้มาก และน้ำหนักแบกก็ลดลงไปอีก อย่างเช่น ถ้าหากเราใช้กล้อง Full Frame เพื่อจะถ่ายภาพระยะไกลเราอาจจะต้องใช้เลนส์ 600mm ซึ่งใหญ่มากแล้วก็หนักมาก ๆ แต่ถ้าเป็นกล้องขนาด Micro Four Third ที่มีระยะคูณสองก็ใช้แค่ 300mm ก็ได้ระยะที่เท่ากันแล้ว เล็กกว่า เบากว่ามาก

กล้องตัวคูณที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C หรือ Micro Four Third ณวมถึงเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่าขนาดอื่น ๆ ก็มีเลนส์ที่ออกแบบมาให้ใช้กับตัวเองโดยเฉพาะ เหมือนกับที่ Full Frame มีเหมือนกัน และก็มีข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ ขนาดมันไม่ใหญ่เพราะเซ็นเซอร์มันเล็กนั่นเอง แต่ก็ได้ระยะที่เท่ากับเซ็นเซอร์ Full Frame เหมือนกัน แถมราคาก็ถูกกว่า น้ำหนักก็เบากว่า พกสะดวกและพกสนุกมากกว่า เที่ยวก็ทำได้สนุกกว่า

ระยะชัด หรือ Depth of Field ในกล้องตัวคูณ และกล้องฟูลเฟรม

Depth of Field หรือ DOF หรือเดฟ พวกนี้มันคือระยะชัด เช่นถ้าหากบอกว่า DOF ตั้งแต่ระยะ 1 เมตร ถึง 3 เมตร ก็คือภาพที่จะชัดตั้งแต่จุดที่ห่างจากตัวเราไป 1 เมตร ถึง 3 เมตร ถ้าอะไรที่อยู่ใกล้กว่านี้หรืออยู่ไกลกว่านี้ มันก็จะเบลอหรือว่าหลุดโฟกัสในระยะชัดออกไปนั่นเอง

เซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่าจะทำให้ระยะ Depth of Field บางกว่า ถ้าเทียบในระยะที่เท่ากันกล้อง Full Frame มันก็จะทำพวกหน้าชัดหลังเบลอได้ง่ายกว่านั่นเองครับ

เซ็นเซอร์กล้อง, เซ็นเซอร์กล้อง Full Frame, เซ็นเซอร์กล้อง APS-C, กล้องถ่ายรูป, Image available on https://pxhere.com/

ทีนี้เรามาคุยพื้นฐานเรื่องการเกิดภาพชัดตื้น (ชัดเฉพาะจุด แล้วที่เหลือเบลอ) และภาพชัดลึก (คือชัดทั้งภาพ) มันมีปัจจัยอะไรที่เข้ามาเกี่ยวบ้าง (จริง ๆ เคยทำวีดีโอสอนแล้วนะ)

– รูรับแสงกว้าง (ค่า F น้อย) เกิดชัดตื้น, รูรับแสงแคบ (ค่า F มาก) เกิดชัดลึก
– เลนส์ทางยาวโฟกัสน้อย (ระยะ mm น้อย) ทำให้ภาพยิ่งกว้าง และภาพยิ่งชัดลึกง่าย, ส่วนทางยาวโฟกัสมาก หรือว่าไกล (ระยะ mm เยอะ) ทำให้ภาพชัดตื้น
– ยิ่งใกล้จุดโฟกัสหรือแบบหลักมากเท่าไหร่ และตัวแบบห่างจากฉากหลังมากเท่าไหร่ หลังมันก็จะละลายมากขึ้น

อ่านบทความเสริม
9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ FIX
– 5 เหตุผลดี ๆ ในการเลือกเลนส์ Fix 35mm ไว้ใช้ตอนไปเที่ยว

กล้องถ่ายรูป, Depth of Field, Image Sensor Image by Matthew Hamilton available on Unsplash

สมมติว่ากล้องเซ็นเซอร์ Full Frame ใช้เลนส์อย่าง 50mm แล้วเราใช้กล้องเซ็นเซอร์ APS-C ถ่ายระยะเดียวกัน เราจะต้องใช้เลนส์ 35mm เพื่อให้ระยะที่คูณออกมาแล้วใกล้เคียงกับ 50mm ที่สุด แม้ว่าจะได้ช่วงของ 50mm เท่ากับตัว Full Frame แต่ Depth of Field ที่เกิดขึ้น ก็ยังเป็นของระยะ 35mm อยู่นะครับ มันจะไม่บางเท่ากับของ Full Frame การคูณระยะของเซ็นเซอร์เกิดจากการที่ไปครอปภาพเฉพาะบริเวณส่วนตรงกลางของ Image Circle มา ดังนั้นระยะของเลนส์จริง ๆ ไม่ได้เปลี่ยน 35mm ยังคงมี Depth of Field แบบ 35mm อยู่ และมันก็จะเข้าเงื่อนไขที่ว่าระยะ 35mm จะมี Depth of Field หรือความชัดลึกที่มากกว่า 50mm นั่นเองครับ

35mm F1.8 ของ APS-C จะมีระยะชัด (Depth of Field) ที่ประมาณ 50mm F2.8 ของ Full Frame ครับ

ยิ่งเซ็นเซอร์ของเรามีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ การที่เราใช้ช่วงเลนส์ที่กว้างขึ้นเพื่อให้ระยะที่คูณออกมาเท่ากับ Full Frame ผลที่ตามมาก็คือว่า ยิ่งกว้างก็ยิ่งชัดลึกมากขึ้น การละลายฉากหลังที่เราอยากจะได้ง่าย ๆ ก็ยากกว่าเดิม สังเกตได้เลยว่ากล้องคอมแพคที่มีเซ็นเซอร์เล็ก ๆ จะถ่ายละลายฉากหลังได้ค่อนข้างยาก

กล้องถ่ายรูป, Depth of Field, Image Sensor

สรุปเกี่ยวกับเรื่องของขนาดเซ็นเซอร์ภาพ

ข้อดี – กล้องถ่ายรูป เซ็นเซอร์ Full Frame

เซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่กว่า ให้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า เวลาถ่ายกลางคืนใช้ ISO สูง จะจัดการเรื่อง Noise ที่ดีกว่า และยังมี Dynamic Range ที่ดีกว่าเซ็นเซอร์เล็ก ๆ การถ่ายภาพเพื่อละลายฉากหลังก็ทำได้ง่ายกว่า

Image by Jakob Owens available on Unsplash

อ่านบทความพื้นฐานมือใหม่
30 ไอเดียการจัดองค์ประกอบที่จะทำให้ภาพถ่ายของคุณสวยขึ้น

ข้อเสีย – กล้องถ่ายรูป เซ็นเซอร์ Full Frame

ขนาดตัวกล้องก็จะใหญ่ตามเซ็นเซอร์ และเลนส์ก็จะใหญ่ตามไปด้วย นอกจากนี้น้ำหนักก็จะมากขึ้นด้วย ราคาก็แพงกว่า การถ่ายภาพแบบชัดทั้งภาพก็จะทำได้ยากกว่า ถ้าหากเราชอบกล้องเซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ ลองหากล้องยอดนิยมในตลาดอย่างเช่น

Nikon FX (Nikon Full Frame) (Nikon D600, Nikon D610, Nikon D750, Nikon D810, Nikon D850, Nikon D5)
Canon Full Frame (Canon EOS 6D, Canon EOS 6D Mark II, Canon EOS 5D Mark III, Canon EOS 5D Mark IV, Canon EOS 1DX Mark II)
Sony Full Frame (Sony A7, Sony A7II, Sony A7III, Sony A7R, Sony A7RII, Sony A7RIII, Sony A7S, Sony A7SII, Sony A9)

ไม่ได้ลงครบทุกรุ่นนะ ลงรุ่นที่จำได้ ฮ่า ๆ

Image by chuttersnap available on Unsplash

ข้อดี – กล้องถ่ายรูป เซ็นเซอร์ APS-C, Micro Four Third

– ให้ไฟล์รูปอยู่ในระดับดีถึงดีมากเลย แม้ว่าคุณภาพอาจจะยังไม่เท่า Full Frame แต่ก็มากเหลือเฟือสำหรับการใช้งาน เอาไปทำงานในหลายระดับ โดยเฉพาะระดับการใช้งานของคนทั่วไปนี่เหลือ ๆ
– ราคากล้องก็ไม่สูงเกินไปมากนัก (เว้นรุ่นท็อปของค่ายนั้น ๆ อาจจะสูงหน่อย) น้ำหนักกล้องและน้ำหนักตัวเลนส์เบากว่าเดิมพอสมควรและ พกพาได้สะดวกกว่า
– ถ่ายภาพที่เน้นความชัดลึกได้ง่ายขึ้น เช่น วิว แมลง อาหาร เครื่องประดับ คือมันคุมระยะชัดได้สะดวกกว่า
– ได้เปรียบเรื่องการถ่ายภาพระยะที่อยู่ไกล ๆ เพราะผลของการคูณระยะ

ข้อเสีย – กล้องถ่ายรูป เซ็นเซอร์ APS-C, Micro Four Third

– ไฟล์ภาพอาจจะยังไม่ดีเมื่อเทียบกับกล้องเซ็นเซอร์ Full Frame ในเทคโนโลยีปีเดียวกัน
– การถ่ายภาพละลายหลังทำได้มากก็จริง แต่ถ้าในระยะของเลนส์เดียวกัน รูรับแสงเดียวกัน ก็ยังมีความต่างอยู่คือ APS-C มีความชัดตื้นที่น้อยกว่า ผมกลับมองว่าเป็นข้อแตกต่างแต่ไม่ใช่ข้อเสียเลยทีเดียวเพราะประเด็นนี้ แก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนตัวเลนส์, การเล่นระยะถ่าย, เล่นรูรับแสงของเลนส์ แก้ไขปัญหาตรงนี้ได้)

Image by Kushagra Kevat available on Unsplash

ข้อดี – กล้องถ่ายรูป เซ็นเซอร์ 1 นิ้ว อย่างกล้องคอมแพค

– กล้องมีขนาดที่เล็กมาก น้ำหนักเบา พกพาง่ายมาก ไฟล์ก็สวยด้วย

ข้อเสีย – กล้องถ่ายรูป เซ็นเซอร์ 1 นิ้ว อย่างกล้องคอมแพค

– ไฟล์ภาพอาจจะไม่ดีเท่ากล้องเซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่า

อันนี้ก็เป็นเนื้อหาภาพรวมคร่าว ๆ ซึ่งมันก็เยอะพอสมควรเลยแหละ เลือกกล้องที่เราชอบ เหมาะกับตัวเราเอง ไม่อยากให้ไปคลั่งกับความสามารถของอุปกรณ์มากครับ มันดราม่ากันเปล่า ๆ แล้วพูดกันไม่รู้จบ ส่วนตัวที่เขียนบทความนี้เพราะมีคำถามเรื่องการอธิบายกันมามาก จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราดราม่าเรื่องประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน เพราะด้านการตลาดกล้องมันถูกแบ่ง Segmentation มาเรียบร้อยก่อนพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์มาละ อยากให้เราสนุกกับการถ่ายภาพที่เรารักกันมากกว่าครับ

อ่านบทความเสริม
– รวมทุกอย่างที่ต้องรู้ พื้นฐานการวัดแสง สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ
– การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพบุคคล

Exit mobile version