Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

ถ่ายภาพให้สวยด้วย การใช้ Foreground และ Layer ในภาพ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ถ่ายภาพให้สวยด้วย การใช้ Foreground และ Layer ในภาพ

หากว่าเราเป็นคนที่เดินทางท่องเที่ยวแล้วชอบถ่ายภาพวิวบ่อย ๆ และต้องการถ่ายรูปให้สวย ๆ เพื่อเล่าเรื่อง หรือถ่ายภาพเก็บบรรยากาศที่อยากจะจดจำเอาไว้แน่นอนว่าเราก็ต้องการที่จะให้ภาพของเราดูสวย มีมุมมองที่น่าทึ่ง น่าสนใจ ซึ่งในวันนี้เรามีวิธีการเกี่ยวกับ Foreground หรือว่าฉากหน้า ที่จะทำให้ภาพถ่ายของเราน่าสนใจมากยิ่งขึ้นครับ

ลองคิดดูนะ ภาพที่เราถ่ายได้ กับสิ่งที่เราเห็น มันเป็นเรื่องราวเดียวกันหรือเปล่า?

ก็เหมือนกับภาพถ่ายหลาย ๆ อย่างครับ ถ้าหากว่าเราได้คน สถานที่ หรือ Subject ที่ดี มันก็มักจะช่วยให้ภาพถ่ายเราดีขึ้น เช่น สถานที่สวย คนสวย ภาพมันก็ดูดีได้ แต่มันก็มีปัจจัยอีกนั่นแหละว่าวิวทิวทัศน์ที่เราถ่ายมานั้นมีแสงที่เหมาะสมไหม สวยไหม แล้วทำไมบ่อยครั้งสิ่งที่เราเห็นกับสิ่งที่เราถ่ายมาได้ทำไมมันเหมือนเป็นภาพคนละความรู้สึกกันเลยล่ะ?

ปัญหาหลักแรก ๆ คือเรื่อง “การจัดองค์ประกอบภาพ”

โดยทั่วไปปัญหาที่มักจะเจอในการถ่ายภาพทิวทัศน์หรือวิวก็จะเป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพนั่นแหละ ในมุมของคนที่เที่ยวแล้วถ่ายภาพหลายคนดูน่าสนใจเนื่องจากมีภาพที่สามารถบอกเล่าขนาดของสถานที่ เพราะงั้นเพื่อสร้างภาพถ่ายที่เล่าบรรยากาศและภาพที่ถ่ายทอดความรู้สึกได้ เราต้องแสดงให้เห็นถึงจุดสนใจในภาพ และจับความรู้สึกของขนาดนั้นในขณะที่เรากำลังเดินทางอยู่

https://www.photoschoolthailand.com/20-วิธีจัดองค์ประกอบภาพ/

การแก้ปัญหา ถ่ายภาพยังไงให้น่าสนใจ?

วิธีที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจคิดเหล่านี้ก็คือแบ่งภาพของเราออกมาให้เป็นส่วน ๆ เมื่อเราเข้าใจฉากที่ต้องการถ่ายภาพ ให้เราค่อย ๆ จัดองค์ประกอบเหล่านั้นที่เรามองเป็นส่วน ๆ มารวมไว้ในเรื่องราวเดียวกัน สิ่งสำคัญเลยคือการสังเกตแต่ละส่วนของภาพว่ามีเรื่องราวเป็นยังไง เอาตรงนี้ก่อน เรื่องตั้งค่ากล้องไว้ทีหลัง

วิธีเลือกเรื่องราวหลักของภาพ (บุคคล,สถานที่,เหตุการณ์)

เมื่อครู่ที่บอกไปสิ่งสำคัญเลยคือการสังเกตสถานที่นั้นก่อนที่เราจะถ่ายภาพหรือตั้งค่ากล้อง ลองใช้เวลาที่จะคิดและมองไปรอบ ๆ ก่อนว่าสถานที่ตรงนั้นจุดที่เราจะถ่ายภาพและใส่จุดสนใจลงในภาพคืออะไร อาจจะเป็นทะเลสาบ หรือภูเขา หรือว่าต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งการสังเกตและค่อย ๆ ใช้เวลากับสถานที่จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาของภาพที่เราจะถ่ายมากขึ้น (มันเป็นการพยายามสร้างเรื่องเล่าโดยนำเสนอผ่านทางภาพถ่ายครับ)

ถ่ายภาพเมื่อสภาพแสงดีที่สุด

การถ่ายภาพทิวทัศน์ สภาพแสงที่ดีนั้นทำให้ภาพดูสวยขึ้นมาแบบมีพลังเอาได้สบาย ๆ เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มต่ำกว่าท้องฟ้า (ช่วง Twilight) จะเป็นช่วงที่ท้องฟ้าสวยมาก ๆ ครับ จะทำให้ภาพถ่ายของเราดูมีมิติ มีพลังมาก

เริ่มดีไซน์ Layer ในภาพ

เมื่อเราเลือกเรื่องราวหลักในภาพ อาจจะเป็นภูเขา หรืออะไรก็ได้ สมมุติว่าเลือกได้แล้ว และได้เวลาที่เหมาะสมแล้ว ที่ต้องทำต่อไปเลยคือการคิดเกี่ยวกับเลเยอร์ภาพ ในการที่จะใส่วัตถุที่น่าสนใจไว้ด้านหน้าของวัตถุหลัก และรวมไว้ในองค์ประกอบภาพของเรา ซึ่งแน่นอนเราก็ต้องเดินหามุมที่มันดีที่สุดสำหรับภาพของเรานั่นเอง

แล้วอะไรคือความหมายของภาพที่น่าสนใจล่ะ?

ในการถ่ายภาพทิวทัศน์นั้นจะแบ่งออกประมาณ 3 ส่วนด้วยกันครับคือ ส่วนแรกเป็นส่วนด้านหน้าจากแบบหลัก นั่นคือฉากหน้า (Foreground) ส่วนที่สองคือส่วนกลาง หรือระยะกลางจากกล้อง (Middle ground) และส่วนที่เป็นพื้นหลัง คือห่างจากตัวหลักในภาพไป (Background)

การที่เราแยกส่วนภาพออกแบบนี้ และวางเรื่องราวออกเป็นสามส่วนแบบนี้ก็จะทำให้ภาพของเรามีเรื่องราวตั้งแต่จุดที่ใกล้กล้องที่สุดไปจนถึงจุดที่อยู่ห่างออกไปนั่นเองครับ มันสร้างมิติและความลึกให้กับภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี

จะดียิ่งขึ้นถ้าหากว่าฉากหน้านำสายตาไปสู่ด้านหลังด้วยเส้นนำสายตาต่าง ๆ อาจจะเป็นแม่น้ำ หรือแนวต้นไม้ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการภาพวิว ทิวทัศน์ใหญ่ ๆ และต้องการให้ความรู้สึกที่เติมเต็มทั้งภาพ สามารถที่จะเล่าเรื่องให้คนดูได้รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกนั่นเองครับ

อะไรที่ทำให้ฉากหน้าสวย และมีความน่าสนใจ?

สิ่งที่เราสามารถใช้เพื่อสร้างองค์ประกอบที่น่าสนใจสำหรับภาพทิวทัศน์ เริ่มจากฉากหลังก่อน ส่วนใหญ่เราจะใช้เนินเขา เทือกเขา

สำหรับชั้นกลางให้มองหาแนวของต้นไม้ เนินเขาระยะกลาง กลุ่มของวัตถุ หรือว่าแม้น้ำ ทะเลสาบ หากเรามีพวกทะเลสาบอยู่ด้านหน้า ให้ลองถ่ายภาพด้วยมุมที่ต่ำลง เราจะเห็นเงาสะท้อนที่มากขึ้น ซึ่งสามารถที่จะสร้างจุดสนใจได้

สุดท้ายสำหรับวัตถุที่อยู่หน้าสุดซึ่งเป็น Foreground มันอาจจะเป็นก้อนหิน กลุ่มหญ้า หรือแม้แต่คน ซึ่งวัตถุที่อยู่ฉากหน้านั้นจะสร้างน้ำหนักและสมดัลภาพ ทั้งหมดนี้ควรให้ความสำคัญกับ Balance หรือความสมดุุลในภาพด้วยครับ หากใครสนใจเรื่องสมดุลในภาพสามารถอ่านเพิ่มได้เลย

การเตรียมตัวให้พร้อมคือเรื่องสำคัญ

ตอนนี้มีข้อมูลเยอะแล้วจากที่เล่ามา ให้เราตัดสินใจได้ละว่าจะเล่าเรื่องอะไร มองเห็นอะไรจากตรงนั้น และแต่ละส่วน ฉากหน้า ระยะกลางภาพ และพื้นหลัง มีอะไรที่จะเล่าบ้าง จากนั้นเราเลือกจุดที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพ การเตรียมตัวทั้งทางด้านความคิดและอุุปกรณ์ต้องพร้อมสำหรับที่จะถ่ายภาพตรงนั้นออกมา รวมถึงการเตรียมตัวพร้อมรอช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย ถ้าเตรียมครบส่วนนี้ก็เลือกเลนส์ที่เราต้องการจะใช้เล่าเรื่องราวและเตรียมตัวถ่ายภาพได้เลย

รวมทุกอย่างในภาพให้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ทรงพลัง สื่อสารได้

ผมก็ต้องวกกลับมาพูดเรื่องกฎสามส่วนอีกแล้วสินะ ฮ่า ๆ ด้วยการเลือกกล้องและอุปกรณ์พร้อมเรื่องราวในภาพที่เราคิดไว้แล้ว ที่เหลือเราแค่จัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสม ง่ายที่สุดคือการใช้กฎสามส่วน กับเรื่องราวทั้งสามเลเยอร์ที่เราได้พูดไปแล้ว ในส่วนของเส้นที่ตัดกันของกฎสามส่วน ก็ควรเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจที่สุดในภาพครับ

ใครสนใจเรื่องกฎสามส่วนก็อ่านเพิ่มได้ที่นี่เลย

https://www.photoschoolthailand.com/กฎสามส่วน-สำหรับมือใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ/

ยกตัวอย่างภาพถ่ายเช่นการวางเส้นขอบฟ้าเป็นเส้นใหญ่ ซึ่งใช้กฎสามส่วน เป็นส่วนบนสุด แล้วก็มีดวงอาทิตย์ขึ้นตั้งอยู่บนหนึ่งในทางแยกของเส้น ฉากหน้ามีความน่าสนใจเป็นเรื่องหลักก็จะใช้พื้นที่สองส่วน มีเส้นนำสายตาตั้้งแต่ขอบภาพไปยังกลางภาพจนถึงภูเขาเลย

ฉากหน้าเล่าเรื่องราวของน้ำที่อยู่ด้านหน้า มองเห็นพื้นที่เป็นเกล็ดน้ำแข็งหน่อย ๆ ทำให้สัมผัสได้ถึงสภาพอากาศและช่วงเวลาที่ไม่ได้มีแสงอาทิตย์เยอะมากนัก ขนาดของน้ำที่อยู่ด้านหน้าแบ่งเป็นสองส่วน ให้คนดูมองเห็นส่วนสำคัญก็คือน้ำนี่แหละ และดูแล้วสัมผัสได้ว่าน้ำมันใหญ่นะ กว้างนะ เพราะมีภูเขาเป็นตัวเทียบด้วยนั่นเอง

อย่าลืมด้วยนะการถ่ายภาพทิวทัศน์ก็สามารถถ่ายได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน อยู่ที่ไอเดียของเราครับว่าเราต้องการจะสื่อสารออกมายังไงนั่นเองครับ

การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์

โดยทั่วไปสำหรับการถ่ายภาพ Landscape หรือภาพวิวนั้นจะมีการตั้งค่าเพื่อคุมระยะชัดทั้งภาพ (เพราะเราต้องการให้ภาพชัดทั้งหมด เล่าทุกอย่างในภาพ) เราก็จะใช้รูรับแสงที่แคบ อาจจะ F8-F11 ครับ เพื่อคุมระยะชัดให้ทั่วทั้งภาพ สิ่งสำคัญเลยคือขาตั้งกล้องครับ ถ้าสภาพแสงเริ่มน้อย เราก็ต้องใช้ Shutter Speed ที่ช้าลง ขาตั้งจะช่วยให้ภาพไม่สั่นไหว อย่าลืมสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทชัตเตอร์ด้วยนะ

ในบทความนี้จะเป็นการพูดรวม ๆ ซึ่งหลัก ๆ จะหนักไปทางด้านความคิดและการจัดองค์ประกอบภาพนะครับ ถ้าหากใครต้องการคำถามอะไรเพิ่มเติมสามารถโพสต์ถามเข้ามาได้ครับ ผมพยายามจะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ แต่ก็อาจจะมีข้อบกพร่องไปก็ขออภัยนะครับ สามารถแวะเข้ามาติชมได้เสมอครับ ขอบคุณครับ

source : https://digital-photography-school.com/using-layers-foreground-interest-better-landscape-photography/

Exit mobile version