Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

เคล็ดลับการถ่ายภาพน้ำตก การตั้งค่า อุปกรณ์ที่ต้องมี และการจัดองค์ประกอบภาพ

การถ่ายภาพน้ำตก คนที่เริ่มต้นถ่ายจะคิดไม่ค่อยออกว่าจะถ่ายยังไง ถ่ายน้ำตกต้องมีอะไรบ้าง จะต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง ทำยังไงถึงจะถ่ายรูปน้ำตกให้ออกมาสวย เดี๋ยววันนี้เรามาเริ่มต้นด้วยกันเนอะ

จับภาพความเคลื่อนไหวของน้ำตก – Capture their motion.

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพน้ำตกก็คือ การมองเห็นถึงความเคลื่อนไหวของน้ำตก ละออกที่ค่อย ๆ ลอยออกมา เส้นของน้ำที่ไหลโค้งไปมาอย่างสวยงาม มันทำให้เรารู้สึกถึงออร่าของธรรมชาติและตื่นเต้นเสมอ

กุญแจสำคัญในการจับภาพการเคลื่อนไหวก็คือ “การตั้งค่าถ่ายภาพน้ำตก” เพราะการตั้งค่าแต่ละแบบจะให้ผลของภาพที่แตกต่างกันออกไป แล้วเราจะต้องตั้งค่าถ่ายภาพน้ำตกยังไงบ้างล่ะ?

ความเร็วชัตเตอร์ในการถ่ายภาพน้ำตก

สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้แบบชัด ๆ ก่อนคือ น้ำตกทุกที่มีความแตกต่างกัน ทั้งสภาพแสง แวดล้อม ดังนั้นอยากให้เข้าใจชัด ๆ ตรงกันก็คือ “ไม่มีค่า Shutter Speed ที่ตายตัว” เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับความเร็วของสายน้ำด้วย แล้วก็ลักษณะของเอฟเฟคที่เราต้องการด้วย

แต่ผมอธิบายคร่าว ๆ ได้ว่าการใช้ความเร็วชัตเตอร์สำหรับการถ่ายน้ำตกก็ประมาณ 1 วินาที – 6 วินาทีก็เริ่มดีแล้ว ส่วนที่เปิดความเร็วชัตเตอร์นานกว่านั้น อยู่ที่ว่าเราอยากได้ภาพสายน้ำแบบไหน ยิ่งเปิดนาน สายน้ำก็จะเป็นเส้นฟุ้ง ๆ มากขึ้น

F10, Speed 20sec, ISO 100

ขาตั้ง – อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพน้ำตก

อย่างที่บอกข้างต้นคือการถ่ายภาพน้ำตกต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1 วินาที และอาจจะนานกว่านั้น ดังนั้นการที่มีความเร็วชัตเตอร์ช้าแบบนี้ ต้องมีขาตั้งที่มั่นคง ไม่ทำให้กล้องสั่นไหวเวลาที่ถ่ายภาพ

Photo by David Bartus from Pexels

ค่าความไวแสง – ISO สำหรับการถ่ายภาพน้ำตกควรตั้งเท่าไหร่?

การถ่ายภาพน้ำตกก็เหมือนกับการถ่ายภาพ Landscape ทั่วไป เราจะใช้ ISO ให้น้อยที่สุด เพื่อช่วยให้เราสามารถที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้น และการที่ ISO ต่ำสุด จะลดการเกิดสัญญาณรบกวนในภาพ (Noise)

รูรับแสง – Aperture

ถ้าหากว่าเราต้องการให้แสงเข้ากล้องน้อย ๆ เพื่อที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้น เราต้องใช้รูรับแสงแคบที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ

แต่!! การใช้รูรับแสงแคบสุด จะทำให้เกิด Diffraction ในภาพ ทำให้ภาพไม่ได้คมที่สุดนะ (ถ้าอธิบายตรงนี้จะยาว) เอาเป็นว่าให้เข้าใจแบบนี้ครับ

ถ้าต้องการชัตเตอร์ที่นานที่สุด แสงเข้ากล้องน้อยที่สุด -> ให้ใช้รูรับแสงแคบที่สุดของเลนส์

ถ้าหากว่าเราต้องการลดแสง + ภาพคมด้วย -> F8 ถึง F11 แต่แน่นอนว่าแสงมันก็จะเข้ากล้องเยอะขึ้น และอาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำไม่ได้ ดังนั้นถ้าเลือกวิธีนี้จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยอีกหนึ่งอย่าง ดูในข้อต่อไปครับ

image by Pok Rie on Pexels

ฟิลเตอร์ตัดแสง & ฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อน – ND Filters & Polarize Filters

หากว่าเรายังไม่สามารถลดแสงตามที่ต้องการได้แม้ว่าจะตั้งค่ากล้องไปแล้ว แสงยังมากอยู่ เราต้องใช้แผ่นฟิลเตอร์พวกนี้ในการตัดแสงหรือลดแสงลงครับ นั่นคือ ND Filters เป็นหนึ่งใน Landscape Filters ที่ผมเคยเขียนบทความไว้ พวกนี้จะทำให้แสงเข้ากล้องน้อยลง และทำให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้นานขึ้น

นอกจากนี้ตัว Polarize Filters จะช่วยตัดแสงสะท้อน พวกไฮไลท์ต่าง ๆ ทำให้ภาพของเราเนี๊ยบขึ้นกว่าเดิมเยอะครับ สีสันอิ่ม มีชีวิตชีวามากขึ้น

เลือกช่วงเวลาให้ถูกต้อง – Shoot at the right time of day.

การถ่ายภาพ Landscape ผมย้ำเสมอในหลาย ๆ บทความว่าต้องเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม การถ่ายภาพน้ำตกก็เหมือนกัน มันเป็นหนึ่งในภาพ Landscape เราต้องเลือกว่าสถานที่ตรงนั้นเนี่ย เวลาไหนเหมาะกับการถ่ายภาพ

โดยส่วนใหญ่ถ้าถ่ายภาพ Landscape เราจะเลือกช่วงที่แดดไม่แรงมากนัก เพราะถ้าแดดแรงมาก มันจะมีคอนทราสต์เยอะ (ส่วนมืดกับส่วนสว่างต่างกันเยอะ) สังเกตได้ถ่ายภาพช่วงเที่ยง แดดเปรี้ยง ส่วนที่สว่างก็จ้าเลย ส่วนที่มืด ก็มืดแบบเน้น ๆ ดังนั้นพอเราไปถ่ายภาพ Landscape พวกใบไม้ ก้อนหินที่มีน้ำอยู่ มันจะมีไฮไลท์เยอะมาก แสงจะสว่างมากกกกก

ส่วนวัตถุพวกที่อยู่ใต้ใบไม้ก็จะมืดหนัก เพราะเงาใบไม้มันแรงไง ดังนั้นที่ผมอธิบายก็อยากจะให้เข้าใจว่าการเลือกช่วงเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก

Image by Robert Bye from Unsplash

แล้วควรจะเลือกถ่ายตอนไหนล่ะ? ควรเลือกถ่ายช่วงที่แดดไม่แรงครับ หรือเลือกช่วงที่เป็น Golden Hour (ช่วงทไวไลท์) ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือก่อนพระอาทิตย์ตกนั่นเองครับ ลองนึกดี ๆ เวลาที่เราเห็นช่างภาพแบกขาตั้งวิ่งถ่ายภาพ Landscape ก็เป็นช่วงเวลาเหล่านี้แหละครับ และแสงช่วงนี้มันสวยมาก โคตรจะสวยสุด ๆ ทีนี้เราต้องลองประยุกต์และฝึกถ่ายภาพในช่วงเวลาเหล่านี้ให้คล่องครับ

ค้นหาองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจ – Find an interesting composition.

ที่ผ่านมาผมได้เกริ่นด้านเทคนิคไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่ขาดอยู่คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ องค์ประกอบภาพ การถ่ายภาพน้ำตกให้มีความน่าสนใจนั้นเราก็ต้องเลือกที่จะจัดองค์ประกอบภาพให้มีความน่าสนใจ แต่ถ้าคิดไม่ออกผมมีไอเดียให้ในบทความ 20 วิธีจัดองค์ประกอบภาพให้น่าสนใจครับ

Image from https://www.pixel4k.com/

พยายามหามุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ มุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น – Look for an unusual viewpoint.

ส่วนใหญ่เวลาที่เราเห็นน้ำตกตรงหน้าเนี่ย เราก็มักจะถ่ายมันมาตรง ๆ แบบนั้น ซึ่งอยากจะบอกว่ามันก็สวยแหละ แต่ทุก ๆ คนก็ถ่ายภาพแบบนั้นกัน ทำให้เราไม่มีเรื่องราวแปลกใหม่อะไรไปอวดคนอื่น หรือมันมีมุมอลังการงานสร้างอีกหลายมุมที่เราต้องสร้างมันขึ้นมา ถ่ายทอดมันขึ้นมาให้ได้ ดังนั้นเราอาจจะต้องลองลุยน้ำลงไป หรือหามุมใหม่ ๆ ต้องลงทุนใช้เวลากับมันนะในการเดินหามุมใหม่ รับรองว่าภาพเราจะดูน่าสนใจแน่นอน

Image from https://www.pexels.com/

ใส่ภาพคนหรือฉากหน้าที่น่าสนใจเข้าไปบ้าง – Include scenery or people.

ภาพน้ำตกที่เราถ่ายมาจะสวย ดูมีมิติ และเรื่องราวมากขึ้น เมื่อเราใส่ใจกับฉากหน้า หรือใส่ภาพคนลงไป มันจะทำให้เห็นมิติมุมลึกมากขึ้น และถ้าหากเป็นน้ำตกใหญ่ เมื่อมีคนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบภาพนั้นจะทำให้เราเปรียบเทียบและมองเห็นว่าน้ำตกมันใหญ่นะ มันดูอลังการมีพลัง

Image by Susan Yin from Unsplash

ถ่ายภาพน้ำตกทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน เก็บมาให้หมด

เนื่องจากน้ำตกมีความสูง ส่วนใหญ่เราก็จะถ่ายแนวตั้งกันซะมากเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ แต่ผมแนะนำว่าถ่ายมันมาทั้งหมดแหละทั้งแนวตั้งและแนวนอน มันเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปได้มากเลยนะ

นอกจากนี้สิ่งที่ผมเขียนมันก็ไม่ใช่บทสรุปทั้งหมด คุณอาจจะเลือกสไตล์การถ่ายภาพที่เป็นแนวของตัวเองเพื่อให้ภาพมันสมบูรณ์มากขึ้น และเป็นเรื่องราวที่คุณอยากจะเล่านั่นแหละครับ

Exit mobile version