Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

20 เทคนิคถ่ายภาพพิธีแต่งงาน และการเตรียมตัวให้พร้อมกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในงาน

งานแต่งงานเป็นงานพิเศษที่ได้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชีวิตของคนรัก นอกจากนี้สิ่งต่าง ๆ ที่ถูกจัดเตรียมไว้เพื่องานนี้ต้องมีความละเอียดอ่อน และต้องใส่ใจเป็นอย่างมากในทุกเรื่อง

ในฐานะที่เราเป็นช่างภาพ เราต้องเข้าใจวิธีการทำงานในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบในช่วงเวลาที่ประทับใจ ลองคิดว่าตอนที่เราแต่งงาน เราจะรู้สึกยังไง คงดีใจและมีความคาดหวังในหลายอย่างพร้อมกัน โดยเฉพาะความทรงจำ ความสุข ซึ่งเราต้องเก็บและถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่าย เป็นความรับผิดชอบที่ช่างภาพต้องใส่ใจ ดูแลอย่างเต็มที่ก็เลยมาเป็น 20 เทคนิคในการถ่ายภาพพิธีแต่งงานในวันนี้ครับ

1. เตรียมตัวให้พร้อมกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

สิ่งหนึ่งที่ช่างภาพต้องเตรียมตัวตลอดเวลาคือ การรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือแม้แต่ข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มันมีมากมายเลย ตั้งแต่เรื่องกล้อง เช่น ม่านชัตเตอร์ค้าง กล้องงอแง การ์ดพัง การ์ดใกล้เต็ม แฟลชเดี้ยงกลางงาน และอื่น ๆ เป็นต้น การรับมือกับสิ่งที่เอ่ยมานี้เป็นเรื่องจำเป็น ต้องวางแผนรับมือล่วงหน้า ลดความตึงเครียดในตัวลง เปิดใจให้กว้าง และฝึกสมาธิกับการคิดสินใจให้ดี ว่าถ้ามันเกิดเรื่องเลวร้ายจริง ๆ เราจะต้องมีแพลนต่อไปที่จะทำงานจนจบให้ได้ และต้องออกมาดีด้วย

2. บอกตัวเองว่าการถ่ายภาพเป็นงานที่สนุก และมีความสุข

Mindset (แนวความคิดของเรา) ควรจะต้องทำให้ตัวเองเข้าใจนะว่างานนี้ เป็นงานที่เราต้องมองเห็นความสุข เอาความเครียด หรือภาระความรับผิดชอบไว้ด้านหลัง แต่สิ่งที่เราต้องถ่ายทอดออกมา คือความทรงจำ ความสุข ความสนุก พยายามผ่อนคลายและเป็นส่วนหนึ่งของพิธีงานแต่งงานให้ได้ เพื่อให้เราสามารถสร้างสรรค์ถ่ายภาพ และเก็บบรรยากาศของการแต่งงานออกมาได้อย่างพิถีพิถัน

3. ตั้งโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องเสมอ

เหตุการณ์งานแต่งดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นในบางจุดในขณะที่เกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น การที่เรารัวชัตเตอร์ได้ ทำให้เราจับจังหวะได้ ดังนั้นไม่แปลกเลยที่จะเห็นช่างภาพจะค่อนข้างรัวชัตเตอร์ขณะที่พิธีเริ่ม คิดในใจเสมอว่า “จะพลาดไม่ได้”

4. เก็บบรรยากาศภาพหมู่ เพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว

การพยายามจับภาพทุกคนที่อยู่ในงานแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการบอกถึงแขกที่อยู่ในงาน และถ้าหากต้องการภาพที่ Creative มีเรื่องราว และสร้างความทรงจำที่ดีให้กับคู่บ่าวสาว การถ่ายภาพหมูของกลุ่มเพื่อนเจ้าบ่าว หรือเพื่อนเจ้าสาวนั้น เป็นการสร้างเนื้อเรื่องของภาพได้สมบูรณ์แบบเลยล่ะ

5. ใช้แฟลชอยู่เสมอ ใช้ให้ชำนาญ

ในระหว่างวันอาจจะมีเงาอยู่บนใบหน้าแบบ ก็อาจจะต้องใช้แฟลชในการลบเงาออก หรือแม้แต่ความแตกต่างของแสงที่เกิดขึ้นนแต่ละสถานที่ ดังนั้นการมีแฟลชติดตัวไปด้วยจะทำให้เราแก้ไขได้นะ

6. ใช้ความคิดสร้างสรรค์เติมเข้าไปบ้าง

หากเราสัมผัสได้ถึงความคิดสร้างสรรค์มุมมองที่ใหม่ออกไปจากที่เคย หรือรู้สึกได้ว่าอยากจะลองสร้างสรรค์ภาพสไตล์ใหม่ดู ให้ลองดูให้สุดเลย แต่ก็ต้องดูเรื่องของเวลาในการถ่ายภาพ เทียบกับเวลาพิธีด้วยนะ เพราะเรื่องสำคัญที่สุดในงานนี้คือการถ่ายภาพ คู่บ่าว สาว แขกฝ่ายชาย แขกฝ่ายหญิง

7. อย่าลบภาพที่ทำพลาด มันอาจจะใช้ได้ดีก็ได้

หลายคนถ่ายภาพแล้วพยายามเลี่ยงข้อผิดพลาดจนแอบมีนิสัยรักความสมบูรณ์แลลอยู๋หน่อย ๆ ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องได้ ต้องไม่พลาด ต้องสวยทุกใบ เอาเข้าจริงเราทำแบบนั้นไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าเราควรคิดแบบนี้ ภาพที่เราคิดว่าพลาดบางทีมันแก้ให้สวยได้ก็มี ฝึกให้เราถ่ายทุกอย่าง เก็บทุกอย่างก่อน ปล่อยมันเป็นไปตามธรรมชาติ พลาดแล้วมาดูทีหลัง ไม่โอเคจริง ๆ ค่อยลบ ยังดีกว่าไปลบหน้างาน เดี๋ยวต้องมากดลบอีก ถ่ายภาพอีก ถ้าเผลอลบผิดภาพอีกทำไงอ่ะ จริงไหม

8. ใส่ใจกับพื้นหลัง หรือฉากหลังให้มาก

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการถ่ายภาพงานแต่งคือ ฉากหลังมีคนเดินไปมาตลอด เราไม่สามารถที่จะควบคุมคนที่เดินไปมาในงานได้เลย ฉากหลังเนี่ยเราก็ควรใช้สมาธิและจังหวะครับ ถ้าต้องการพื้นหลังสวย ๆ เกลี้ยง ๆ แบบไม่มีคนเข้ามากวนอ่ะนะ

อีกอย่างคือการเลือกฉากหลังที่ดี ทำให้มันเล่าเรื่องราว รายละเอียดภายในงานได้ด้วยตัวมันเอง เช่น แสงไฟสีส้มในงาน หรือสีของตีมในงาน เป็นต้น

9. ถ่าย RAW เสมอ เช็คด้วย มีบางคนรู้ว่าต้อง RAW ลืมเช็คเป็นไงละ กด JPG มา เงิบ 55

หลายคนมักจะรู้ละแต่ขออธิบายซ้ำนะครับ เพราะมือใหม่มาอ่านก็มี, RAW File สร้างความยืดหยุ่นให้กับภาพถ่าย และทำให้เราสามารถตกแต่งภาพถ่ายได้รายละเอียดเยอะมาก เช่น การแต่งจากที่มืด ๆ ให้สว่างได้ หรือแม้แต่การปรับแก้ไขสีที่ผิดเพี้ยนก็ยังพอทำได้ ดังนั้นควรตั้งค่าการถ่ายไว้ที่ RAW เสมอ

ทีนี้มาถึงคิวของคนที่รู้ว่าต้องถ่าย RAW กันบ้าง เช็คด้วยครับ เช็คเสมอว่าที่กดมามันเป็น RAW ใช่ไหม ไม่ใช่บอกตัวเองว่า ฉันไม่เคยถ่ายออกมาเป็น JPG นะ กด RAW ตลอด, ก็ใช่อยู่ แต่บางทีเผลอเปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจก็มี ได้ JPG มาทั้งงาน สะพรึงเลยนะครับ

10. ใช้ตัวกระจายแสง (Diffused Light)

ถ้าเราใช้แฟลชแยก ก็ควรจะมีตัวกระจายแสงด้วย เพื่อทำให้แสงฟุ้ง นุ่ม เหมือนการถ่าย Portrait อ่ะนะ แล้วตัว Diffused Light เนี่ยใช้ได้ดีเมื่อเพดานต่ำ ๆ ปกติแล้วเราจะยิงแฟลชขึ้นเพดานถูกมะ ถ้าเพดานต่ำทีนี้จะเริ่มยิงให้สะท้อนเบา ๆ ยากละ ก็ใช้ตัวนี้ช่วยได้ หรือบางคนอยากจะลดแค่กำลังแฟลชลงอันนั้นก็พอทำได้แหละ (แต่ใช้ตัวกระจายแสงง่ายกว่าเหอะ)

11. Active ตัวเองเสมอ ตื่นตัวตลอดเวลา

การที่เราถ่ายภาพงานแต่ง จังหวะดี ๆ มันโผล่มาแป๊ปเดียว เช่น บางทีอยู่ ๆ เจ้าสาวน้ำตาไหลเฉยเลย แค่ 1 วินาที เจ้าสาวเอามืดปาดน้ำตา แว๊บบบบ เรียบร้อย อดถ่ายฉากสวย ๆ, หรือบางทีเขาหันหน้ามองกันแค่แว๊บเดียว เรียกได้ว่าการรับถ่ายงานแต่ง สติต้องโฟกัสกับเฟรมภาพและคนสำคัญในงานตลอด ดังนั้นควรวางแผนเลือกมุมในงานพิธี ดูด้วยว่าคนสำคัญในงานนั่งตรงไหน แล้วก็โฟกัสกับการถ่าย

12. ควรมีช่างภาพคนที่สอง อย่าคิดว่าจะลุยเดี่ยวเด็ดขาด (มีแบบนี้จริง ๆ นะ)

งานแต่งเรียกได้ว่ากว่าสามสี่เหตุการณ์ที่จะเก็บภาพมันเกิดพร้อมกันในวินาทีเดียวกันได้เสมอ ดังนั้นสังเกตช่างภาพอาชีพที่รับงานแต่ง ไปเป็นทีมมาก เพราะต้องเก็บให้หมด ลดการเคลื่อนไหวให้น้อยลงได้ แล้วก็ช่วยให้เก็บภาพได้ครบทุกอารมณ์ในหลายจุด ในเวลาเดียวกัน

ผมเคยฉายเดี่ยวเพราะได้เหตุผลมาว่าคู่บ่าวสาว ไม่อยากจ้าง ไม่อยากให้งบเงิน (เป็นคนรู้จัก) อยากบอกตรง ๆ ว่าหนักมาก วิ่งไปวิ่งมา เราอยากเก็บภาพให้ครบไง กด ๆ แบกกล้องหนัก ๆ พุ่งไปทางนั้นที ทางนี้ที ไหนจะต้องหลบคนในงานอีก เหนื่อยกว่าปกติเป็นเท่าตัวด้วยนะ

13. ควรมีกล้องติดตัวสัก 2 บอดี้ เลนส์ต่างระยะกัน

สำหรับการถ่ายภาพรับงาน เราต้องมองแบบมือาชีพแล้ว การมีสองบอดี้ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนเลนส์ (ลองสังเกตดูได้เราจะเจอช่างภาพแบกกล้องเยอะ) อีกอย่างคือ ช่วยให้เราถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้น เพราะเลนส์ต่างระยะกัน ที่สำคัญถ้ากล้องไปพังหน้างาน แล้วยังมีอีกกล้องนึงก็สบายใจได้ มันมีนะโชคไม่เข้าข้าง ม่านค้างกลางงาน บันเทิงแน่นอนครับ จะรับงานควรมีกล้องสำรองเสมอนะ

14. สังเกตและเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ

รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เรามักจะมองข้ามไป พวกแหวน หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทุกอย่างที่เกิดแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ในฐานะที่เป็นช่างภาพเราก็ควรเก็บมาให้หมดครับ เพราะเขาแต่งงานกันครั้งเดียว

15. ปิดเสียง Beep ซะ

งานแต่งบางครั้งพิธีเดินไปด้วยความเงียบ และเรียบง่าย บ่อยครั้งมันทำลายบรรยากาศภาพดี ๆ ด้วยเสียง Beep, Beep เวลาโฟกัส ไม่พอเสียงชัตเตอร์อีก Beep แกร๊ก!! แล้วเวลาย้ำนะ โอ้ว เพลิน ลดเสียงอะไรลงได้ก็ลดเลยครับ มันทำให้คนไม่ต้องพุ่งสายตามาที่้เราเวลาถ่ายภาพด้วย

16. พูดคุยกับคู่สามีภรรยา

พยายามเข้าใจความคาดหวังของคนจ้างเราเสมอ ว่าเขาต้องการภาพแบบไหน ส่วนไหน ยังไง ซีเรียสอะไรที่สุด การตอบโจทย์ความคาดหวังลูกค้าคือสิ่งสำคัญมาก เราอาจจะถ่ายภาพสวย สวยโคตร ๆ อลังการ แต่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ดันชอบภาพอีกแบบ กลายเป็นงานเราไม่สมบูรณ์เอาได้ง่าย ๆ ถามเขาก่อนเลยว่าต้องการภาพแบบไหนบ้าง จากนั้นก็จัดเต็มไปเลยครับ

17. เตรียมตัวก่อนเสมอ นั่นคือเรืองสำคัญมาก

หลายสิ่งที่ผิดพลาดและไม่พร้อม มันเกิดขึ้นได้ทุกวินาทีในงานแต่ง ดังนั้นถ้าเราไม่เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือไม่รู้จังหวะงานพิธีอะไรเลย มันจะแย่เอา ผมยกตัวอย่างที่เคยเจอ ผมเห็นแล้วว่าทางเดินที่เราถ่าย มีโอกาสที่คนร่วมงานจะยกมือถือออกมาถ่ายภาพ ขวางเฟรมผมแน่นอน ผมวางแผนก่อน บอกเจ้าหน้าที่ในงานว่า ขอความกรุณางดหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายเพื่อให้เกียรติบ่าวสาว และภาพถ่ายเป็นหน้าที่ของช่างภาพ เป็นต้น

ลองคิดดูถ้าผมไม่ทำแบบนี้ ผมแทบจะวิ่งหามุมหลบภาพกล้องมือถือที่เข้าเฟรม เหนื่อยนะ แถมเวลามือคนเข้าไปในเฟรมเนี่ย โทนอารมณ์มันเฟลมาก ๆ เลย เพราะมันไม่ควรอยู่ในภาพถ่าย

18. สำรวจสถานที่ให้พร้อม

การเข้าใจสถานที่ ทำให้เรารู้ทางเดิน รู้มุม รู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคร่าว ๆ แล้ว ทำให้เราวางแผนถ่ายภาพได้ว่า ต่อไปเจ้าสาวจะเดินมาทางนี้นะ ควรใช้เลนส์อะไรถ่าย วิ่งไปรอก่อนไหม หรือให้ใครประจำตำแหน่งนี้ เรียกได้ว่าการเข้าใจสถานที่ทำให้ได้มุมที่ดีมาก ดีกว่าการไถสด ๆ หน้างานแน่นอน

19. ควรให้เจ้าของงานแต่งตั้งคนประสานงานกับช่างภาพเสมอ

บางครั้งเราต้องทำงานกับหลายคนในงานแต่ง ไม่ใช่แค่ช่างภาพ ควรมีคนประสานงานคอย Support การทำงานของช่างภาพเสมอ ดังนั้นเรื่องนี้คุณควรวางแผนและแจ้งกับคนจ้างว่า คนประสานงานจะคอยช่วยอะไรช่างภาพบ้าง ทำให้เขาได้ภาพแบบไหนที่ดีขึ้นบ้าง ยิ่งงานสเกลใหญ่ยิ่งจำเป็นเลยล่ะ

20. ทำ Check List ไว้ด้วยว่าได้ภาพครบทุกแบบตามที่สั่ง

บ่อยครั้งเขาบรีฟมุมภาพมาเยอะ แต่เราไม่จด หรือไม่ทำ Check List ไว้เลยว่าเขาต้องการภาพแบบไหนบ้าง หรือบางทีเราลืมเองว่าเก็บมาครบไหม มัวแต่ถ่าย ๆ กด ๆ ดังนั้นมี Check List ติดตัวไว้บ้าง เอาไว้เช็คดูว่าเราถ่ายภาพได้ดี และครบตามโจทย์ที่เขาต้องการ

ผมเคยนะ มัวแต่กดภาพคู่บ่าวสาว พ่อแม่เจ้าบ่าวมีภาพน้อยกว่าที่ผมคิดไว้ อันนั้นเป็นความเผลอในตอนที่เพิ่งรับงานถ่ายภาพใหม่ ๆ ลองคิดดูถ้าผมไม่ได้กดภาพพ่อแม่เจ้าบ่าวในงานมาเลยจะเป็นยังไง โดนด่ายับแน่ ๆ ดังนั้นทำ Check List ด้วยครับ

Exit mobile version