Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

5 ไอเดียสำหรับมือใหม่ การถ่าย Long Exposure

5 ไอเดียสำหรับมือใหม่ การถ่าย Long Exposure เทคนิคที่เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพกลางคืนให้ได้แสงที่สวย ก็คือการใช้ Long Exposure เพราะเราจะเปิดการรับแสงของกล้องได้นาน ทำให้เราได้คุณภาพของแสงที่ดีมาก ๆ และยังมีเอฟเฟกต์จากการเปิดชัตเตอร์นาน ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเราสามารถนำเอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นนี้มาเป็นไอเดียสำหรับการดีไซน์ภาพให้สวย

5 ไอเดียสำหรับมือใหม่ การถ่าย Long Exposure

1. การถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์ ให้ไฟเป็นเส้น

ในการถ่ายภาพชิงช้าสวรรค์ตอนกลางคืน ให้เราเข้าใกล้กับวัตถุให้มากขึ้น แล้วก็ใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้รายละเอียดมาก ๆ หน่อย จากนั้นวางกล้องไว้บนขาตั้งเสมอ

เนื่องจากเราต้องให้องค์ประกอบทั้งหมดคมชัด เราจะเลือกรูรับแสงที่แคบ ๆ ระหว่าง F11-F32 (เอาจริง ๆ ผมก็แนะนำ F11-F16 นี่ก็เยอะแล้วล่ะ จากนั้นให้ใช้โหมด M ก็ได้ หรือโหมด S ก็ได้ เลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการ ซึ่งระยะเวลายิ่งนาน ก็จะยิ่งส่งผลกับเส้นแสงของชิงช้าสวรรค์ครับ

สิ่งสำคัญคือตอนที่ถ่ายควรใช้สายลั่นชัตเตอร์ เวลาที่ถ่ายจะได้ไม่ต้องสัมผัสตัวกล้อง เพราะมันทำให้กล้องขยับแล้วภาพก็จะเบลอครับ ถ้าหากว่าเราพลาดลืมเอาสายลั่นชัตเตอร์ไปให้ใช้ตัวถ่ายภาพแบบจับเวลาถอยหลังเอาก็ได้ครับ

2. การถ่ายภาพ Star Trails หรือดาวหมุน

การเปิดรับแสงที่ยาวนานในตอนกลางคืนของท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงดาวสามารถที่จะสร้างเส้นแสงที่สวยงามขึ้นได้จากการหมุนของโลก นั่นคือดาวหมุนนั่นเอง ซึ่งพอพูดถึงเรื่องดาวหมุนแล้วมันจะยากสำหรับมือใหม่ไหมล่ะ เดี๋ยวเรามาดูกันครับ

ให้เราเลือกการถ่ายภาพไปที่โหมด Blub หรือ Shutter B ครับ เพราะโหมดนี้จะเปิดรับแสงนานตามอย่างที่เราต้องการเลย ซึ่งปกติเราจะตั้ง Long Exposure ได้แค่ 30 วินาทีเท่านั้นถ้าหากไม่ได้ใช้ Blub อ่ะนะ ดังนั้นในโหมด Blub นี้แหละจะทำให้เราลากชัตเตอร์ได้นานสุด ๆ ส่วนการตั้งค่ารูรับแสงระหว่าง F2.8 – F4 เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ใช้รีโมทชัตเตอร์เหมือนเดิมสำหรับการถ่ายภาพ ทีนี้การใช้ Long Exposure สำหรับถ่ายดาวของแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนอาจจะลากชัตเตอร์ยาวสัก 10-15 นาทีได้เลย แต่สำหรับบางคนอาจจะเลือกถ่ายแค่ช่วงเวลานึงอาจจะ 5-10 นาที ต่อรูป จะได้ดาวหมุนช่วงสั้น ๆ แล้วก็กดถ่ายใหม่ จากนั้นเอาภาพแต่ละภาพมารวมแสงดาวหมุนให้เป็นภาพเดียวทีหลังก็ได้ครับ อันนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคแต่ละคน

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

3. การถ่ายภาพแสงที่ถนนให้เป็นเส้น

แสงไฟจากหน้ารถบนถนน และเส้นแสงบนถนนที่ลากยาวเราจะเห็นว่ามันให้ผลลัพธ์ที่สวยงามเหมือนกันสำหรับการถ่ายภาพ Long Exposure แบบนี้ และเป็นวิธีเริ่มต้นง่าย ๆ กับการเปิดรับแสงนาน ๆ สำหรับมือใหม่ ลองเลือกถนนที่มีการจราจรแน่น ๆ หน่อย เพื่อให้เราได้เส้นแสงที่มีจำนวนมากหน่อย เราจะใช้รูรับแสงที่แคบเพื่อควบคุมระยะชัดครับ จากนั้นลองถ่ายดู ส่วนใหญ่ผมจะชอบที่ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 5-10 วินาที เส้นแสงก็เยอะแล้วล่ะครับ

4. การถ่ายภาพน้ำในทะเลให้ฟุ้ง ๆ หน่อย

วิธีก็จะเหมือนกับการถ่ายภาพ Long Exposure หลาย ๆ แบบก็คือเราจะใช้ขาตั้งกล้องครับ แล้วก็ใช้รูรับแสงเยอะที่สุด สิ่งสำคัญคือให้เราหมุนโฟกัสไปที่ Infinity ใช้ โหมด M ในการถ่ายก็ได้ครับ ส่วนความเร็วชัตเตอร์จะอยู่ราว ๆ 5-30 วินาที ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้ Effect น้ำแบบไหน

5. เข้าใจเรื่องผลกระทบของสภาพแวดล้อมแสงที่มีผลต่อการตั้งค่าและอุปกรณ์ในการใช้งาน

การเปิดรับภาพกลางคืนของเราแต่ละคน จะเห็นได้ว่ามันขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่าง หากสภาพแวดล้อมรอบข้างของเรามีแสงอยู่มาก ความเร็วชัตเตอร์เราจะสั้นลง เพราะปริมาณแสงโดยรอบจะเยอะ ถ้าหากว่าเรากำลังถ่ายภาพโดยที่แวดล้อมเรามืดมาก ๆ ความเร็วชัตเตอร์มันก็จะเปิดได้นานมากขึ้นด้วย

ในการถ่ายภาพที่มีผลกับเส้นแสง เราต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์อย่างน้อยสัก 1/15 วินาทีขึ้นไป ซึ่งการถือถ่ายด้วยมือทำไม่ได้แน่ ๆ เราต้องใช้ขาตั้ง และนอกจากนี้คือเรื่องรูรับแสงที่ใช้ ควรใช้รูรับแสงที่แคบหน่อยเพื่อควบคุมระยะชัด อย่างการถ่ายภาพไฟบนถนน เราอาจจะเลือกใช้ F8 – F11 ในการถ่ายก็ได้เพื่อให้ระยะชัดครอบคลุมทั้งภาพ สิ่งสำคัญคือการฝึกครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

Exit mobile version