Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

5 ข้อผิดพลาดที่ควรเลี่ยง ซึ่งทำให้ทักษะ และพัฒนาการด้านการถ่ายภาพแย่ลง

การที่เราชอบถ่ายภาพแล้วก็ซื้อกล้องมาถ่ายภาพตามใจตัวเองเป็นเรื่องใครทำได้ง่าย ใครจะทำยังไงก็ได้ แต่การเป็นช่างภาพ หรือการถ่ายภาพเพื่อหารายได้ เป็นอีกก้าวนึงที่แตกต่างออกไปจากการถ่ายทั่วไปเลย ซึ่งในวันนี้เราจะคุยในประเด็นเรื่องของข้อผิดพลาด 5 อย่างที่จะทำให้เรามองเห็นจุดที่ควรระมัดระวัง และก้าวหน้าต่อไปได้

#1. ถ่ายภาพรับงาน บ่อย ชิน จนกลายเป็นเครื่องจักร (ถ่ายเพื่อปั่นชิ้นงาน ปั่นเงิน ความครีเอทีฟลดลง)

การเป็นช่างภาพมืออาชีพถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหนึ่งของการถ่ายภาพเราเลยก็ว่าได้ เพราะเราได้ค่าตอบแทนแล้วนี่ การได้รับค่าตอบแทนจากสิ่งที่เรารักก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอ? ดีสิครับ ดีมาก แต่ประเด็นที่จะสื่อก็คือ เมื่อเราถ่ายภาพจนมาถึงจุดที่จากเราเรียนรู้และพัฒนา การเป็นการถ่ายเพื่อแค่เป็นงาน มันก็หลุมพรางอย่างหนึ่งนะ

Photo credit : Free download from https://www.rawpixel.com/

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างงานพิธี หรืองานถ่ายภาพเพื่อส่งบรรณาธิการต่าง ๆ เขาจะมีรูปที่ต้องการอยู่แล้ว เราก็มักจะถ่ายภาพที่เรารู้แล้วล่ะว่าภาพนี้ใช้ได้ ขายได้ เราก็จะเริ่มผลิตรูปภาพทำนองนี้ออกมาบ่อย ๆ ยิ่งใครที่รับงานเยอะ ๆ จะเจอภาวะที่แบบว่า รูปภาพหลาย ๆ งานมันเหมือนมีลักษณะที่เหมือนกันเต็มไปหมด

หนัก ๆ เข้าช่วงนึงผมก็เคยรับงานถ่ายภาพแบบปั่นเงินเหมือนกัน มองแค่ว่ามันคืองาน ถ่ายปุ๊บแต่งภาพเสร็จกลับบ้านรับเงิน พอมองดี ๆ เรามองข้ามสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยหลงใหลในการถ่ายภาพ การหามุมมองใหม่ ๆ การทำลองผลิตผลงานใหม่ให้มีความน่าสนใจในทุก ๆ งานน สิ่งนี้แหละเป็นตัวที่ประคองความคิดสร้างสรรค์ของเราให้ผลิตไอเดียใหม่ออกมาเสมอ เพราะงั้นควรระมัดระวังความคิดตัวเองในการถ่ายภาพรับงานด้วยนะครับ อย่ามองว่าแค่ถ่ายภาพปั่นงาน ทำเงินอย่างเดียว มองถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอด้วย

#2 ประกายไฟ แรงบันดาลใจ หายไป

ลองย้อนนึกถึงตอนที่เราถ่ายภาพครั้งแรก ช่วงแรกมันมีแต่อะไรน่าตื่นเต้นมาก มีอะไรให้เรียนรู้เยอะ มองเห็นโลกในทรรศนะของการถ่ายภาพที่มากมาย สามารถที่จะตื่นเช้าออกไปถ่ายภาพหลายชั่วโมงเลย

แต่บางครั้งเมื่อเราถ่ายภาพบ่อย ๆ เริ่มรับงานต่อเนื่องเข้าเราอาจสูญเสียประกายไฟที่ว่านี้ก็ได้ ความสดใสของการถ่ายภาพของเราลดลง แรงใบดาลใจค่อย ๆ หายไป ความคิดสร้างสรรค์อยู่กับที่

อ้าวแล้วจะทำยังไงล่ะ? ไม่ยากครับ แม้ว่าบางครั้งการรับงานถ่ายภาพที่มากมายอาจจะทำให้เราหลงลืมบรรยากาศแรกในการถ่ายภาพที่เรารักไป เราก็แค่หาเวลาให้กับตัวเองและย้อนกลับมาทบทวนในประสบการณ์แรกของเราว่าอะไรเป็นตัวจุดประกายให้อยากได้กล้องสักตัวมาถ่ายาพ อะไรที่ทำให้เราตื่นตัว อะไรกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เราตลอดเวลา พยายามค้นหาแรงผลักที่หายไปนั้นให้เจอ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถฟื้นฟูประกายไฟในใจของเราได้เองแหละ

#3 ความขี้เกียจเป็นเหตุ

ไม่ว่าอะไรก็มีบ้างแหละที่เราจะขี้เกียจ หรือเบื่อ ๆ เปื่อย ๆ ไร้พลังงานกับสิ่งที่ทำ บางทีมันไม่มีเหตุผลเนอะ ความขี้เกียจทุกคนต้องเคยผ่านมาบ้างแหละ แต่ผมก็จะกระตุ้นตัวเองเสมอนะว่า ภาพถ่ายที่ดีมันมาพร้อมกับความพยายามเสมอ ถ้าเราขยันใส่ใจรายละเอียด ขยันที่จะหามุมมองใหม่ ๆ และพัฒนาตัวเอง มันส่งผลกับภาพถ่ายเราโดยตรงได้เลยนะ

Image By arthurhidden

แต่ถ้าเราขี้เกียจ นอกจากฝีมือไม่พัฒนาแล้ว เรายังเปิดโอกาสให้กับตัวเองที่ได้เอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาอยู่ในชิ้นงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความละเอียดในงานที่ลดลง หรือแม้แต่ทัศนคติในการรับงานแต่ละครั้งด้วย ถ้าเราเบื่อ เราขี้เกียจจริงให้ลองถามว่าเรารักที่จะรับงานไหม ถ้ายังรัก เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงความคิด และหาอะไรใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะการถ่ายภาพให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

#4 จมอยู่กับปัญหาเรื่องเงิน

ไม่ว่าตอนนี้การถ่ายภาพของเราจะเป็นอาชีพหรือไม่ก็ตาม หรือในใจเราอยากจะให้เป็นแบบนั้น เมื่อนั้นก็จะเริ่มมีเรื่อง “เงิน” เข้ามาเป็นประเด็น ซึ่งด้านการถ่ายภาพเนี่ยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง โดยมีต้นทุนหลายอย่างที่ช่างภาพอย่างเราต้องรับผิดชอบ

photo by Rawpixel on Envato Elements

ถ้าหากว่าเป็นการถ่ายภาพฟรีแลนซ์ไม่เพียงแค่ต้องจัดหาอุปกรณ์ถ่ายภาพที่จำเป็นเท่านั้น แต่ก็ยังรวมค่าใช้จ่ายในการโปรโมตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพวก Facebook Ads, ค่าทำบล็อก, ต้นทุนการทำคอนเทนต์ด้วย รวม ๆ ก็คือค่าส่งเสริมการตลาดนั้นแหละ บ่อยครั้งสิ่งเหล่านี้เนี่ยนำไปสู่สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องการเงินเป็นประเด็นหลัก เพื่อส่งเสริมการตลาด หรือเพื่อให้เราสามารถมีงานเข้ามามากขึ้น (ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้แหละ หาเงินยากขึ้น)

สิ่งสำคัญก็คือเราควรจะจัดการเกี่ยวกับด้านธุรกิจให้ดี เป็นอีกหนึ่งทักษะที่เราควรจะบริหารให้เป็น ตลอดจนกลยุทธในการแข่งขันระยะยาวด้วย เพื่อให้เงินทุกบาทคุ้มค่าที่สุด อย่าลืมว่าเมื่อเกิดความเครียด หรือการโฟกัสไปที่ปัญหาเรื่องเงินเมื่อไหร่ การถ่ายภาพของเราย่อมขาดโฟกัสที่ชัดเจนไปได้นะ ส่งผลกับชิ้นงานและพัฒนาการของการถ่ายภาพเราโดยตรงได้เลย

#5 ตัวติดอยู่กับกล้องตลอดเวลา (มากเกินไป)

หลายคนที่ถ่ายภาพต้องเคยบอกว่าเขาอยู่กับกล้องตลอดเวลา จนบางคนบอกว่าแทบขาดไม่ได้ มันกลายเป็นส่วนนึงของชีวิตอะไรแบบนั้น ซึ่งถ้ามองดี ๆ มันก็จริงนะ เป็นวิธีที่ดีเลยที่จะทำให้เราสามารถพร้อมที่จะถ่ายภาพได้ตลอดเวลา แล้วบ่อยครั้งเราก็กลัวว่าโอกาสเหมาะ ๆ มาแล้วแต่ดันไม่ได้เอากล้องมางี้ แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหนล่ะ??

Image Konstantin Kolosov on Envato Elements

ในฐานะช่างภาพหลายคนก็อาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นนะ เมื่อก่อนผมก็พกกล้องตลอดเวลาจนขาดมันไม่ได้เลย แต่เพื่อนผมที่เป็นช่างภาพอาชีพก็เคยมาพูดให้ฟัง เวลาเขาไปเที่ยวกับลูกและภรรยา เขาก็ใช้แค่กล้องมือถือ เขาวางกล้องหลักไว้ที่บ้าน เขาบอกว่าเมื่อไหร่ที่พกกล้องอยู่เขารู้สึกว่าตัวเองอยู่ติดกับงานตลอดเวลา เขาไม่สามารถที่จะผ่อนคลายหรือเพลิดเพลินไปกับวันหยุดเพื่อหาไอเดีย ประกายความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้เต็มที่ (เพราะการทำงานมันก็ต้องอยู่กับกล้อง เลนส์และอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเต็มเหนี่ยวจนหมดแรงอยู่แล้ว)

เรามักเคยได้ยินว่าอะไรที่ดี ๆ เมื่อมันมากไปสิ่งที่ดีมันก็จะไม่ดีก็ได้ เรื่องนี้ก็จริงนะ บางครั้งเราอาจจะต้องอยู่ห่างจากกล้องเพื่อลดความตึงเครียดบ้าง (มันก็แล้วแต่บุคคลนะ) แต่บางครั้งการปล่อยตัวเองจากสิ่งที่ยึดอยู่ เพื่อเปิดมุมมองใหม่อย่างเต็มที่ มันก็เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน และสามารถที่จะกระตุ้นแรงบันดาลใจในมุมมองใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากแบบเดิมได้

ซึ่งทั้งหมด 5 เรื่องที่กล่าวมานี้มันอาจจะไม่ตรงกับทุก ๆ คนในทุก ๆ เงื่อนไขวิถีชีวิต แต่ก็เป็นจุดที่เป็นเราสามารถรับรู้และปรับปรุงในการดำเนินงาน หรือดำเนินชีวิตกับการถ่ายภาพได้ครับ ถ้าหากใครมีประเด็นไหนที่น่าสนใจมากกว่า 5 เรื่องนี้ก็สามารถแนะนำเข้ามาได้นะ

Exit mobile version