Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

8 สิ่งที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อเลนส์ตัวที่สอง [ฉบับมือใหม่]

8 สิ่งที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อเลนส์ตัวที่สอง ทำไมต้องคิดแบบนั้นล่ะจริงไหม? สิ่งที่ยากที่สุดกับการตัดสินใจซื้ออุปกรณ์กล้องอันใหม่มักจะมีรายละเอียดประมาณนี้

แล้วตัวเลือกไหนที่มันจะตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการได้ล่ะ? บทความ “8 สิ่งที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อเลนส์ตัวที่สอง” นี้เป็นเนื้อหาที่จะทำให้คนที่ตัดสินใจจะซื้อเลนส์สามารถใช้ประกอบตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อเลนส์ตัวใหม่ได้ง่ายขึ้นครับ

1. งบประมาณ กำหนดงบไว้ รับรองว่าเลือกได้ง่ายขึ้น ไม่บานปลาย
แต่ละคนก็จะมีงบประมาณแตกต่างกันออกไป จำนวนเงินที่จ่ายก็จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเลือกเลนส์ตัวไหนมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจซื้อบ้าง ไม่ว่างบประมาณของเราตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงเลนส์ที่เราอยากจะได้ แต่ผมก็อยากให้ลองอ่าน 8 สิ่งที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อเลนส์ตัวที่สองก่อน อย่างเพิ่งเบื่อกันนะครับ

วิธีการคิดแบบง่าย ๆ ก็คือ เอางบเป็นตัวตั้ง แล้วเลือกเลนส์ที่เหมาะสมกับเราที่สุดในงบเท่านี้ อย่าซื้อเลนส์ที่เกินกำลังตัวเอง เพราะนอกจากจะทำให้วางแผนการเงินลำบาก เก็บเงินยากกว่าจะได้มา หนัก ๆ เข้าก็อาจจะต้องเป็นหนี้ผ่อนเลนส์ก็มี ลองคิดดี ๆ ว่าคุ้มไหมกับการที่ลงทุนเลนส์สักตัวนึงกับงบเท่านี้ที่ต้องจ่ายออกไป

กำหนดงบประมาณกำลังซื้อสำหรับการเลือกซื้อเลนส์

2. ขนาดเซ็นเซอร์ (เหมาะสำหรับคนที่ใช้ APS-C หรือ Full Frame)
สำหรับหัวข้อนี้จะตรงกับคนที่เลือกใช้กล้องแบรนด์ที่ผู้ผลิตออกแบบมาทั้งกล้อง APS-C และFull Frame มันจะมีปัญหาโลกแตกบางประการที่มักจะพบกันอยู่บ่อย ๆ คือถ้าตอนนี้เราใช้กล้อง APS-C อยู่ เช่น Sony A6500 แล้วลึก ๆ มีแผนว่าอาจจะซื้อ Full Frame ก็ทำให้เกิดคำถามว่าควรจะซื้อเลนส์สำหรับ APS-C ไปเลยไหม หรือจะข้ามไปที่เลนส์สำหรับ Full Frame เลย เผื่ออัพไปกล้องใหญ่อย่าง Sony A7 II เป็นต้น จะได้ไม่ปวดหัวเรื่องหาเลนส์ใหม่ตอนย้ายไป Full Frame (แต่ปวดหัวเรื่องราคาแทน เพราะราคามักจะสูงกว่า)

เพราะงั้นเราต้องวางแผนว่าเราจะอยู่กับกล้องตัวนี้ (กล้องเซ็นเซอร์เท่านี้) ไปนานแค่ไหนก่อนย้าย ถ้ามีแผนจะย้ายไม่ช้าก็เร็ว อาจจะเลือกเลนส์ Full Frame ไว้รอเลย ส่วนใหญ่คนที่ซื้อเลนส์ Full Frame ใช้กับกล้อง APS-C ก็มักจะเป็นเลนส์ Fix มากกว่า เพราะถ้าเป็นเลนส์ซูม ช่วงจะแตกต่างกันเมื่อเอาเลนส์ Full Frame มาใช้ในเซ็นเซอร์ APS-C

2. ขนาดเซ็นเซอร์ (เหมาะสำหรับคนที่ใช้ APS-C หรือ Full Frame) แต่ภาพประกอบเป็นเซ็นเซอร์ Micro 4/3 เน้อ 🙂

3. อย่ามองที่ช่วงซูมสูงสุดเป็นหลัก (มักจะเกิดกับมือใหม่ที่เพิ่งเล่นกล้อง)
ตอนผมเล่นกล้องใหม่ ๆ ก็คิดว่าเลนส์ที่มีช่วงซูมเยอะ ๆ หรือซูมได้สูงสุดเยอะ ก็จะยิ่งดีสำหรับตัวเอง จริง ๆ มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่เราต้องนำมาพิจารณามากกว่าช่วงซูมเยอะ ๆ ครับ

*สำหรับช่างภาพที่มีประสบการณ์มาบ้างแล้วผมอธิบายเผื่อจะได้เข้าใจตรงกัน ตอนที่ซื้อกล้องครั้งแรก ส่วนใหญ่ถ้าก็มักจะเจอเลนส์ก็มักจะมาระยะมาตรฐานคือ 18-55 เวลาเราซูมมันก็จะได้แค่ติ๊ดเดียว ไม่เยอะมาก คนที่เล่นกล้องใหม่ ๆ แล้วเริ่มด้วยเลนส์ตัวที่สองบางคนอาจจะคิดว่ายิ่งซูมยาว ๆ ได้ยิ่งดีไม่ต้องเดิน (มีคนคิดแบบนี้จริง ๆ นะ) อันนั้นดีจริง แต่เหตุผลตรงนี้เราต่างรู้กันดีว่าไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดครับ แล้วเดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มว่าทำไมในข้อถัดไปเนอะ

3. อย่ามองที่ช่วงซูมสูงสุดเป็นหลัก (มักจะเกิดกับมือใหม่ที่เพิ่งเล่นกล้อง)

4. ต้องรู้ก่อนว่าจะเอาเลนส์ไปถ่ายภาพอะไรเป็นหลัก
การที่เราเลือกซื้อเลนส์ตัวใหม่ หลัก ๆ ก็อยากได้คุณภาพของความคมชัดที่สูงขึ้น อีกประเด็นที่ต้องใส่ใจด้วยก็คือ เลนส์นั้นตอบโจทย์การถ่ายภาพอะไรของเราได้ตรงที่สุด อย่างเช่น ถ่ายภาพบุคคลเป็นหลัก เราอาจจะต้องเลือกเลนส์ฟิกซ์แทน อย่างพวก 50mm F1.8 หรือ 85mm F1.8 ต้องการเลนส์ถ่ายภาพบุคคลที่มีคาแรคเตอร์ละลายหลังแบบไหน โบเก้เป็นยังไง สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดระยะเลนส์ ช่วงเลนส์ที่ใช้

หรือยกตัวอย่างอีกถ้าเราชอบถ่ายภาพ Landscape เน้นมุมกว้าง ก็ควรจะเลือกเลนส์ระยะ Ultra-Wide Angle มา หรือชอบ Landscape แบบมุมแคบ ๆ ดึงภาพภูเขาไกล ๆ อาจจะต้องเป็น Tele-Zoom ก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเอาเลนส์ไปถ่ายภาพอะไร

4. ต้องรู้ก่อนว่าจะเอาเลนส์ไปถ่ายภาพอะไรเป็นหลัก

5.เลนส์ฟิกซ์ หรือ เลนส์ซูม
ประโยชน์ของเลนส์ Zoom ก็คือความสะดวกในการดึงภาพระยะไกลให้ใกล้เข้ามา เช่น ถ้าเอาไปถ่ายภาพ Wedding, Event มันก็ควรเป็นเลนส์ Zoom เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า เก็บจังหวะได้ดีกว่า จะเก็บมุมแคบก็ไม่ต้องเดิน หมุนเลนส์เอาเลย และจัดคอมโพสต์ได้สะดวกกว่าเลนส์ที่ซูมไม่ได้

แต่ถ้าเป็นเลนส์ Fix เราก็จะได้เปรียบเรื่องขนาดรูรับแสงกว่ากว้างกว่า ถ่ายที่แสงน้อยได้ดีกว่า โบเก้ละลายหลังได้สวย โบเก้กลม และมักจะมีเลนส์ F กว้างแบบ F1.4 ช่วยให้เวลาถ่ายภาพในที่แสงน้อยไม่ต้องดัน ISO สูง ๆ แต่ต้องอิงกับข้อ 4 ที่ว่ามาด้วย ว่าเราต้องคิดว่าจะซื้อเลนส์ไปถ่ายอะไร ก็จะได้ตัวเลือกที่ถูกใจมากขึ้น

5.เลนส์ฟิกซ์ หรือ เลนส์ซูม

6. น้ำหนักและความสะดวกในการพกพา
เรื่องที่หลายคนอาจจะมองข้ามคือเรื่องน้ำหนักในการพกพา รวมถึงขนาดด้วย ทำไมต้องเอาเหตุผลนี้มาคิดด้วยล่ะ เรื่องน้ำหนัก เราต้องดูด้วยว่าเราแบกไหวไหม เราอาจจะไม่ได้ซื้อเลนส์ตัวนี้ตัวเดียวในการเดินทาง อาจจะมีเลนส์ 2-3 ตัว ถ้าเลนส์หนัก กล้องหนัก เสื้อผ้าหนักไปด้วย เวลาเดินทางไปเที่ยวไม่สนุกแน่นอน หรือถ้าจะไปต่างประเทศก็ยิ่งต้องคิดเลย เพราะความสะดวกมันลดลงไปเยอะ

อีกอย่างคือเรื่องขนาดเลนส์ที่ใหญ่ หน้าเลนส์ที่ใหญ่ขึ้น มันสร้างรายจ่ายทางอ้อมคือขนาดของฟิลเตอร์ที่ใหญ่ขึ้น ยิ่งสาย Landscape อาจจะมีพวก Filter แผ่นอีก งบยิ่งบานปลาย ลองนำเรื่องนี้มาคำนวณเพื่อตัดสินใจดูครับ

6. น้ำหนักและความสะดวกในการพกพา

7. วัสดุ คุณภาพในการผลิต การซีลป้องกันน้ำกันฝุ่น และระบบออโต้โฟกัส
การเลือกเลนส์ถ้าอยู่ในระดับล่างถึงกลางจะมีเรื่องพวกนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเรื่องของวัสดุเรารับได้ไหม ผิวเลนส์เคลือบมาดีไหม ลอกง่ายหรือเปล่า (ลองอ่านรีวิวคนอื่นก่อนจะช่วยได้เยอะ) ระบบโฟกัสเป็นยังไง เร็วไหม โฟกัสเข้าหรือเปล่า ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาในการผลิตหรือไม่ ระบบโฟกัสเร็วพอที่เราจะใช้กับงานนั้น ๆ ไหม สิ่งเหล่านี้เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเป็นยังไงเพราะยังไม่เคยซื้อ แต่ถ้าเลือกดูรีวิวจากหลายที่ หรือไปลองที่หน้าร้านเอง จะช่วยเราได้มากขึ้นครับ

7. วัสดุ คุณภาพในการผลิต การซีลป้องกันน้ำกันฝุ่น และระบบออโต้โฟกัส

8. เลนส์ค่ายหรือเลนส์นอกค่ายอื่น ๆ
การเลือกใช้เลนส์ค่าย (เลนส์แบรนด์เดียวกับกับผู้ผลิตกล้อง) ข้อดีคือระบบการทำงานต่าง ๆ มันจะลงตัวกับกล้องมากที่สุด ให้เราไว้ใจได้มากที่สุด ก็แน่นอนแหละเขาผลิตกล้องแล้ว เวลาทำเลนส์ของตัวเองออกมาก็ใช้กับกล้องตัวเอง ก็รู้ดีว่าควรทำเลนส์ออกมาแบบไหน

แต่ว่าข้อเสียของเลนส์ค่ายนั้นมักจะมีราคาสูงเหมือนกัน ปัจจุบันเลนส์ค่ายอื่น ๆ อย่าง SIGMA, Samyang ก็มีการผลิตเลนส์ช่วงเดียวกับเลนส์ค่าย แต่เราก็ต้องมาพิจารณาว่า ราคาต่างกันแค่ไหน คุ้มไหมกับการใช้งานของเรา การรับประกันเป็นยังไง คุณภาพของชิ้นเลนส์ดีไหม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็มองข้ามไม่ได้เลยล่ะ

8. เลนส์ค่ายหรือเลนส์นอกค่ายอื่น ๆ

นี่ก็เป็น 8 สิ่งที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจซื้อเลนส์ตัวที่สอง อ่าน ๆ ดูแล้วเราจะรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกันหมด ใช่เลยครับ เรื่องพวกนี้มักจะเชื่อมโยงกัน ถ้าเรามองข้ามไปสักข้อนึงอาจจะทำให้เราได้เลนส์ที่ไม่ตรงโจทย์ก็ได้ ลองคิดหาทางออกดูครับว่าเลนส์ตัวไหนจะเหมาะกับเราที่สุดครับ

Exit mobile version