Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix , เลนส์ Fix เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจข้อจำกัดเท่าไหร่นัก เพราะเราจะเคยชินกับเรื่องของเลนส์ Zoom มากกว่า เพราะเลนส์ซูมมันสะดวกมากในเรื่องของระยะที่ยืดหยุ่นกว่า แต่มันก็มีเรื่องข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ในเกรดเลนส์ปกติที่ไม่ใช่เกรดโปร เลนส์ยิ่งซูมระยะมากเท่าไหร่ รูรับแสงก็จะยิ่งแคบลง, การละลายหลังของเลนส์ซูมก็ทำได้น้อยกว่าเลนส์ฟิกซ์เมื่อเทียบกับระยะเดียวกัน ก็เพราะรูรับแสงเลนส์ฟิกซ์จะมากกว่านั่นเอง

เรียกง่าย ๆ ว่าเลนส์ Fix จะได้รูรับแสงที่กว้างกว่า คมกว่า ในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายด้วย เพราะเดี๋ยวนี้เลนส์ฟิกซ์ราคาไม่แพงก็มีให้เลือกเยอะมากและคุณภาพก็โอเคด้วย แต่มือใหม่อาจจะต้องเข้าใจธรรมชาติของเลนส์ฟิกซ์ด้วยนะว่ามันมีอะไรบ้างที่ต้องรู้ มาดูกันครับ

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix

1. เลนส์ Fix มันทำให้คุณทำงานหนักขึ้น (เดินเยอะกว่าเดิม)

เลนส์ฟิกซ์ ถูกเรียกตามระยะที่มันเป็นคือ ระยะคงที่ ดังนั้นเมื่อเราต้องการจะซูมเข้าหรือซูมออก ต้องใช้ระบบ “ซูมเท้า” ต้องเดินเข้าออกเองครับ ถ้าถ่ายภาพทั่วไปมันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราต้องถ่ายงานอีเวนต์ หรือต้องแข่งกับเวลาในการถ่ายภาพตอนนั้น เราต้องเร็วมากขึ้น และต้องฝึกฝนมุมมองด้วยเลนส์ระยะเดียวตลอดเวลา

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix
Photo by Jeffrey Glos on Unsplash

2. น้ำหนักไม่ได้เบาเสมอไป

ด้วยเลนส์ Fix ในระดับมาตรฐาน น้ำหนักเลนส์ฟิกซ์ก็ไม่ได้เยอะมากอะไรครับ แต่เมื่อมันเป็นเลนส์ในระดับโปรเมื่อไหร่ มันจะมาพร้อมกับน้ำหนักที่มากขึ้น เพราะด้วยที่รูรับแสงเลนส์ Fix ระดับโปรนั้นจะมาพร้อมรูรับแสงที่กว้าง (ส่วนใหญ่ F1.4) บอดี้มีการออกแบบให้ทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น ชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นไม่แปลกถ้าจะเจอเลนส์ Fix ที่มันมีน้ำหนักที่มากเหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะใช้เลนส์ฟิกซ์ระดับโปรหลาย ๆ ตัวก็ต้องวางแผนให้ดีขึ้นครับ โดยเฉพาะตอนไปเที่ยว หรือตอนที่ต้องแบกเลนส์หลาย ๆ ตัวตลอดเวลาอาจจะไม่สนุกเสมอไป

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix
Photo by Tom Pumford on Unsplash

3. รูรับแสงยิ่งกว้าง ก็มักจะมีข้อดีที่มากกว่า

อันนี้พูดถึงกรณีเลนส์ค่าย หรือเลนส์ในแบรนด์ที่ให้คุณภาพที่ดีนะ เลนส์กลุ่มนี้ที่มี F1.8 และ F1.4 หรือแม้แต่ F1.2 ก็เถอะ ถ้าหากว่าเลนส์มีรูรับแสงยิ่งกว้าง ก็จะช่วยชีวิตเราได้มากกว่า เพราะทำให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ยืดหยุ่นมากขึ้น และละลายหลังได้มากกว่า

แต่เสริมหน่อยนะว่า มันไม่ได้ดีที่สุดในทุกกรณี ซึ่งก็ดูแล้วแต่งานครับ แต่โดยภาพรวมแล้วเลนส์โปรที่รูรับแสงยิ่งกว้าง ก็ให้ข้อดีที่มากกว่าในหลาย ๆ เรื่องตามที่บอกไปครับ

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix
Photo by ShareGrid on Unsplash

รวมบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจ

– การตั้งค่ากล้องเบื้องต้นสำหรับถ่ายภาพบุคคล
– 10 เคล็ดลับในการถ่ายภาพบุคคล
– 14 ไอเดียถ่าย Portrait แฟนให้สวย
– ถ่ายภาพยังไงให้แสงเป็นเส้น
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพ Long Exposure

4. ฝึกที่จะใช้งานในแต่ละสภาพแสงเสมอ

การใช้เลนส์ฟิกซ์ F1.8 หรือ F1.4 เรามักจะต้องเข้าใจการทำงานกับแสงอยู่เหมือนกัน เช่น บางคนที่เริ่มต้นถ่ายภาพโดยใช้เลนส์พวกนี้ อาจจะมีกล้องที่ให้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดแค่ 1/4000, เมื่อไปเปิด F1.4 กลางแจ้ง อาจจะเกิดอาการ “สปีดตัน” คือเราไม่สามารถที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้มากกว่า 1/4000 ได้แล้ว ทำให้แสงมันล้น ตอนฝึกใหม่ ๆ ก็จะอาจจะต้องฝึกเข้าใจว่าในแต่ละสภาพแสงเราจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ในการควบคุมปริมาณแสงให้คล่องขึ้น เข้าใจว่ากล้องวัดแสงยังไงด้วย (ถ้า Mirrorless ก้อสะดวกขึ้น ดูผลจากจอ EVF ได้เลย)

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix
Photo by Octavian Rosca on Unsplash

นอกจากนี้ควรฝึกการถ่ายภาพในที่แสงน้อยไว้ด้วย เราจะได้เข้าใจความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องใช้เมื่อแสงมันน้อยลง อย่าลืมว่าการใช้เลนส์ฟิกซ์เราต้องเผื่อเวลาให้กับการเคลื่อนไหวของตัวเราด้วย ไม่ใช่เรื่องของแสงอย่างเดียว (กรณีที่รับงานอ่ะนะ) แต่ถ้าถ่ายชิล ๆ ก็ไม่ต้องซีเรียสอะไรมากครับ ถ่ายให้สนุกมากขึ้น รู้จักกับการถ่ายภาพในแต่ละสภาพแสงไว้ด้วย

5. เลือกระยะให้ถูกกับสไตล์ของตัวเอง

เลนส์ฟิกซ์นั้นให้คาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องระยะครับ เพราะมันให้มิติภาพที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่นะมักจะมีระยะ 35mm,50mm และ 85mm (เมื่อเทียบกับกล้อง Full Frame) ดังนั้นมันจะตามมาด้วยมิติที่ต่าง และเอฟเฟคการเบลอที่มันต่าง ทีนี้จะเกิดคำถามว่า “เราควรเลือกเลนส์ฟิกซ์ระยะไหนดี?” ซึ่งแน่นอนว่าผมก็ตอบไม่ได้หรอกว่าควรเลือกระยะไหน

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix
Photo by Jeffrey Glos on Unsplash

แต่สิ่งที่เราทำได้คือ “ดูให้เยอะ” และ “ทดลองถ่ายจากของจริง” แรก ๆ ผมจะไปดูระยะที่คาดหวังก่อน เช่น 35mm F1.4 ผมจะไปไล่ดูเลยว่า 35mm F1.4 เนี่ย มันได้ภาพแบบไหนบ้าง แล้วก็ไปดูระยะอื่นที่เราต้องการอีก ดูไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่า โอเคระยะนี้แหละที่เราน่าจะถนัดที่สุด, จากนั้นไปลองของจริงครับ อาจจะไปลองเล่นตามร้านที่มี Demo หรือว่าจะยืมเพื่อนมาลองถ่าย ๆ ดูหลาย ๆ รอบครับ (อย่าทำของเพื่อนพังซะล่ะ)

6. ระยะโฟกัสใกล้สุดที่เหมาะสมกับตัวเราเอง

มันเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ? เกี่ยวสิ อย่างที่บอกว่าเลนส์ฟิกซ์มันไม่ได้สะดวกในเรื่องการซูมเท้า ดังนั้นระยะโฟกัสสั้นสุดมันสำคัญมาก ๆ เช่น เลนส์ 35mm เทียบกับเลนส์ 85mm มันอาจจะไม่ซีเรียสถ้าถ่ายนอกสถานที่ มีที่ให้ถอยหลัง แต่มันจะเริ่มนรกทันทีถ้า 85mm ต้องมาถ่ายภาพในห้องเล็ก ๆ คุณจะมีโอกาสหลังชนฝากันแทบจะแนบชิดเลยก็ได้ เพราะระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์จะทำได้น้อยลง เมื่อเลนส์มีระยะที่ยาวมากขึ้นครับ

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix

ถ้าหากเลือกเลนส์ชิล ๆ ไปเที่ยวก็อาจจะเลือก 35mm,50mm ก็ได้ตามใจชอบ เพราะไม่ต้องถอยอะไรเยอะ 35 นี่แทบไม่ถอยเลย ยกถ่ายได้เลย แต่ 50mm อาจจะถอยนิด ๆ แต่มันจะไม่ชิลเลยถ้าต้องถือเลนส์ 85mm อยู่ เพราะเราต้องถอยบ่อย ๆ นี่ไม่รวมต้องมาจัดองค์ประกอบภาพในระหว่างที่ถอยด้วยนะ ดังนั้นเข้าใจระยะโฟกัสสั้นที่สุดของแต่ละเลนส์ไว้ด้วยก็ได้ครับ

7. ดูความคมชัดในรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ก่อนตัดสินใจซื้อด้วย

เพราะอะไร เพราะว่าช่วงรูรับแสงกว้างสุดอย่าง F1.4 หรือ F1.8 มันจะเป็นช่วงที่เราใช้บ่อยที่สุด และสิ่งที่เราคาดหวังที่สุดคือความคมของมันด้วย ดังนั้นเมื่อเราตัดสินใจเลือกซื้อเลนส์ตัวนี้ ให้เราเช็คให้ดีว่าเลนส์ตัวนั้น ๆ คมถูกใจเราหรือเปล่าในช่วงที่ F กว้างสุด

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix
Image by Adam Birkett on Unsplash

8. ควรเลือกเลนส์ที่มีประกันศูนย์ในประเทศ ถ้าเป็นเลนส์เกรดโปรควรซื้อประกันเสริมเพิ่มด้วย(ถ้าไม่เป็นภาระจนเกินไป)

โดยปกติผมจะไม่พูดถึงเรื่องการค้าขาย เพราะคอนเทนต์ผมไม่ค่อยอยากไปแตะเรื่องแบบนั้นเท่าไหร่ แต่จะให้พูดตามความจริง คนที่เล่นเลนส์ F1.8 ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มอยากจะไป F1.4 ที่เป็นเลนส์เกรดโปร อย่าง Nikon Nano,Canon L,Sony G-Master,SIGMA Art ซึ่งมันมีราคาสูงมากจริง ๆ และค่าซ่อมเลนส์พวกนี้กรณีที่เราไปเผลอพลาดมา มันแพงมากอยู่แล้ว กรณีไม่ใช่ประกันศูนย์ค่าแรงค่าอะไหล่ก็มักจะสูงขึ้นด้วย ดังนั้นผมจะไม่ค่อยเสี่ยงกับการใช้เลนส์หิ้วสักเท่าไหร่ แม้ว่ามันจะมีราคาถูกกว่าก็ตาม เพราะผมกลัวกรณีที่มีปัญหาแล้วค่าซ่อมมันจะเยอะ ยืดยาว ทั้งเวลาและค่าซ่อม

9 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลนส์ Fix Image by Photo by Dan Gold

นอกจากนี้อย่างสไตล์ผมถ้าไปถ่ายรูปก็ลุย ๆ อยู่แล้ว ความเสี่ยงของการที่เลนส์มันจะพลาดมาก็มีดังนั้นเลยแนะนำจากใจว่าซื้อพวกประกันศูนย์ดีกว่าในเรื่อง Back Service ครับ แล้วมันขายมือสองต่อราคาไม่ค่อยตกด้วย

รวมบทความเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่น่าสนใจ

– การตั้งค่ากล้องเบื้องต้นสำหรับถ่ายภาพบุคคล
– 10 เคล็ดลับในการถ่ายภาพบุคคล
– 14 ไอเดียถ่าย Portrait แฟนให้สวย
– ถ่ายภาพยังไงให้แสงเป็นเส้น
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพ Long Exposure

9. วางแผนให้ดีก่อนซื้อเลนส์ฟิกซ์เกรดโปร

กรณีคนที่จะย้ายค่าย หรือว่าจะอัพเกรดกล้องโดยต้องขยับเป็นเซ็นเซอร์ใหญ่ เช่น APS-C ไป Full Frame อาจจะต้องวางแผนว่าใช้เลนส์ Fix ที่มันใช้ได้ทั้ง Full Frame และ APS-C เวลาที่เปลี่ยนกล้องจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์อะไรแบบนั้นไปครับ และไม่ควรซื้อเลนส์ที่มันก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายของเรามากจนเกินไปครับ เลือกแต่พอดี บางทีอยากไป F1.4 แต่เงินไหวแค่ F1.8 ก็เลือกเท่าที่ไหวครับ ไม่อยากให้ฝืน เดี๋ยวผ่อนเลนส์หนัก ๆ ไป ถ่ายภาพไม่สนุกเพราะเป็นหนี้ก็ไม่ดีนะ

Image by Miss Zhang on Unsplash
Exit mobile version