Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

รวมเทคนิคเด็ดมือใหม่พิชิต การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย

การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย เรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับมือใหม่สุด ๆ ก็คงจะเป็นการตั้งค่ากล้องยังไงเพื่อที่จะถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อยให้ชัดเจน โดยเราจะเริ่มจากขั้นตอนสำหรับมือใหม่ ไปขั้นตอนสำหรับคนที่เริ่มอยากจะถ่ายภาพกลางคืนจริงจัง

การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย จริง ๆ แล้วมันแยกเป็นสองประเด็น การถ่ายภาพกลางคืนเรารู้ ๆ กันอยู่ว่าเพราะฟ้ามันมืดและ ไม่มีดวงอาทิตย์ มันก็เลยทำให้ปริมาณแสงน้อย กับอีกอย่างหนึ่งคือ การถ่ายภาพข้างในบ้านโดยไม่ได้มีแสงจากภายนอก ซึ่งมันจะมีวิธีคิดและวิธีการจัดการที่แตกต่างกันบ้างหน่อย ๆ เดี๋ยวเราไปดูทั้งหมดกันเลยดีกว่า

รวมเทคนิคเด็ดพิชิต การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย

ภาพนี้แม้ว่าดูสว่างมาก แต่เป็นการถ่ายภาพในตอนกลางคืน ซึ่งต้องเปิดรูรับแสงกว้าง และเพิ่ม ISO กล้องถึง 800 แล้วก็ยังต้อง Long Shutter Speed ถึง 30 วินาที เพื่อให้ได้ภาพ , Source : photographylife

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระดับแสงของการถ่ายภาพ มีทั้งหมด 3 ระดับ

ก่อนที่เราจะไปต่อกันให้เราพิจารณาระดับแสงที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้เราสามารถอ้างอิงตัวอย่างที่จะถ่ายถาพ หรือฝึกฝนได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากกับการที่เราจะจำแนกประเภทของแสงที่ได้ ดังนั้นเราเลยจะแบ่ง ๆ ออกมาเป็น 3 อย่างให้เข้าใจกัน

1. ระดับแสงที่มองเห็นได้ : ในเวลากลางวันเมื่อเราอยู่ในพื้นที่เงาหลังอาคาร ใต้ต้นไม้ ใต้สะพาน หรือถ่ายจากในอาคาร
2. แสงน้อยมาก : หลังจากดวงอาทิตย์ตกดินเราสามารถที่จะเห็นทุกอย่างรอบตัวได้อย่างชัดเจน แต่ถ่ายในอาคารคือมืดตึ๊บเลย
3. มืด : ในเวลากลางคืนเราจะมองเห็นวัตถุเป็นสิ่งที่สว่างที่สุดเท่านั้น

การที่เราจะพบสถานการณ์ข้างต้นในบางช่วงเวลาที่มีกล้องถ่ายรูป เราอาจจะรู้สึกท้อแท้ที่ต้องเจอภาพแสงน้อย ๆ งมถ่ายทีไรภาพก็มืด เพราะงั้นเดี๋ยวเรามาเจาะเรื่องของการถ่ายภาพกลางคืนและการถ่ายภาพในที่แสงน้อยมาก ๆ กันดีกว่า

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับมือใหม่

1.) การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย : ในระดับแสงที่มองเห็นได้

เราต้องเจอบ้างแหละถ่ายภาพแล้วทำไมภาพมันออกมามืดจัง เวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ เช่น ถ่ายในที่ร่มระหว่างวัน แม้ว่าในภาพหลังจอมันก็ออกมาค่อนข้างดีนะ แต่ถ่ายแล้วมันมืด หรือไม่ก็ถ่ายออกมาแล้วมันเบลอ ๆ

อันนี้ปูพื้นฐานนะ เราต้องเข้าใจก่อนว่าแม้ว่ามันมีสภาพแสงที่เรามองเห็นได้ แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่ ที่มันมีเงามาก ๆ หรือแสงน้อยแม้ว่าจะเป็นกลางวันก็เถอะ พวกถ่ายในอาคาร หรือในพื้นที่ร่วมที่มันเป็นเงา ๆ แสงเหล่านั้นมันอาจจะไม่เพียงพอที่จะให้กล้องจับภาพได้อย่างเหมาะสมก็ได้ มันก็เลยส่งผลตามมาสองอย่างคือ อย่างแรก ภาพถ่ายเบลอ หรืออย่างที่สอง มันจะมี Noise ในภาพ

ภาพนี้เป็นภาพถ่ายช่วงระหว่างดวงอาทิตย์ตก LICE-A7RM2+FE24-70mm F2.8 GM @63mm, ISO100, 0.8 Sec, F11 : Source – Photographylife

1.1) ให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่มันเพียงพอต่อการจับภาพได้โดยที่ไม่เบลอ (คนไม่อยากอ่านยาวไปสรุปของเรื่องนี้เลย)

เพราะอะไรในที่แสงน้อยภาพถึงเบลอ เอาตรงนี้ก่อน มันเกิดเพราะว่าความเร็วชัตเตอร์มันไม่พอสำหรับที่จะจับภาพ หรือไม่มากพอที่จะถ่ายภาพได้ เมื่อกล้องสั่นไหว ภาพมันก็เลยเบลอไงล่ะ โดยเฉพาะวัตถุเคลื่อนที่อย่างคนเดินในที่แสงน้อย ๆ ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ กล้องมันเก็บภาพไม่ทันแน่นอน

สำหรับมือใหม่ก็จะเริ่มงงแล้วล่ะว่า แล้วความเร็วชัตเตอร์ที่มันมากขึ้นคืออะไร แล้วควรเป็นเท่าไหร่ สำหรับการถ่ายภาพกลางคืน เริ่มที่พื้นฐานการถ่ายภาพกันเลยดีกว่าในเรื่องของ Shutter Speed ว่าควรใช้เท่าไหร่สำหรับการถ่ายภาพ มันขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์และขนาดเซ็นเซอร์ของกล้อง โดยส่วนใหญ่แล้วความเร็วชัตเตอร์ที่เราใช้จับภาพมันจะเท่า ๆ กับทางยาวโฟกัสของเลนส์เราตอนนั้น เช่น ใช้เลนส์ 50mm ก็จะใช้ Shutter Speed 1/50 อันนี้คือหลักการง่าย ๆ ถ้ามีการคูณระยะเพราะใช้เซ็นเซอร์ APS-C เพื่อความสบายใจผมก็เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นไปอีกนะ

เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำใสที่แสงน้อย 1/125 เราต้องใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง
NIKON D850 + 58mm f/1.4 @ 58mm, ISO 110, 1/125 sec, f/1.8
, Source : photographylife

แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะขึ้นอยู่กับวัตถุที่เคลื่อนไหวในตอนนั้นด้วยว่าเราจะจับภาพอะไร แต่โดยพื้นฐานแล้วถ้าแสงน้อยก็จะใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่ากับทางยาวโฟกัสที่มีในตอนนั้นแหละ นอกจากนี้ระบบกันสั่นที่ชดเชยช่วยให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าทางยาวโฟกัสก็ช่วยได้ที่จะทำให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้น้อยลง แล้วภาพไม่เบลอ (แต่วัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วกว่าความเร็วชัตเตอร์ก็ยังเบลออยู่นะ)

สรุป

ให้ความเร็วชัตเตอร์ที่มันเท่ากับทางยาวโฟกัสในตอนนั้น เพื่อที่จะถือได้โดยไม่เบลอ แต่ก็ให้คิดเผื่อด้วยถ้าจะจับภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวก็ต้องขยับความเร็วชัตเตอร์ให้มันพอสำหรับการถ่ายภาพด้วย

1.2) ตั้งค่ารูรับแสงให้กว้างสุด ค่ารูรับแสงต่ำสุด (F)

ค่ารูรับแสงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เหมือนกันอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีแสงเพียงพอเพื่อถ่ายภาพ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ เปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุด เลข F จะน้อยที่สุด ซึ่งมันจะส่งผลให้มีปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้องนั้นมากขึ้น เมื่อแสงมีปริมาณที่มากขึ้น เราก็สามารถที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้เยอะขึ้นด้วยนะ

บางครั้งแสงสว่างเพียงพอได้พอดีถ้าใช้รูรับแสงกว้าง แต่เมื่อต้องการคุมระยะชัดก็ต้องใช้ F11 เพื่อให้มีความชัดลึกมากขึ้น นั่นแปลว่าความเร็วชัตเตอร์ต้องต่ำลงเพื่อให้ได้แสงที่เพียงพอ
NIKON D810 + 24-70mm f/2.8 @ 34mm, ISO 64, 1/10 sec, f/11.0

1.3) ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง

รูรับแสงที่กว้างสุด มันคือคุณสมบัติทางกายภาพของเลนส์ ซึ่งก็หมายความว่าการเลือกใช้เลนส์ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เลนส์ซูมในระดับทั่วไปจะเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงอยู่ที่ F3.5 – F5.6 ที่เรามักเรียกติดปากกันว่าเลนส์ซูม F ไหล ยิ่งซูมเยอะรูรับแสงก็จะแคบลง แสงจะน้อยลงตามระยะซูม, แต่เลนส์เกรดโปรจะเป็นเลนส์ซูมที่มีรูรับแสง F2.8 ตลอดช่วง

แต่ถ้าเป็นพวกเลนส์ Fix ในระดับทั่วไปก็จะเริ่มที่ F1.8 เลยก็มี ในเลนส์เกรดโปรมี F1.4 กว้างสุด ๆ พวก F0.95 ยังมีเลย นั่นแปลว่าเลนส์พวกนี้จะเก่งในที่แสงน้อยมากกว่านั่นเอง

การใช้เลนส์ 24mm F1.4 ทำให้เราสามารถที่จะถ่ายภาพได้คมชัดแม้สภาพแสงจะน้อย NIKON D700 + 24mm f/1.4 @ 24mm, ISO 3200, 1/8 sec, f/2.0 : Source – Photographylife

การเปิดรูรับแสงกว้างมันจะส่งผลต่อความเร็วชัตเตอร์มากแค่ไหนล่ะ!? ก็ง่าย ๆ ถ้าหากว่าเราถ่ายภาพที่รูรับแสง F8 และความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/125 การเปิดรูรับแสงที่ F5.6 จะทำให้เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 และถ้าลดลงเป็น F4 ก็จะทำให้ความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/500 เลย ทำให้เราสามารถที่จะจับภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น อันนี้เปรียบเทียบให้ดู

จุดเด่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ ถ้าหากว่าเราถ่ายภาพในที่แสงน้อย ๆ การเปิดรูรับแสงกว้าง ๆ เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่พอสำหรับแวดล้อมนั้น ๆ และกล้องไม่ต้องยุ่งกับค่า ISO มากเกินไป

1.4) ใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหว

กล้องและเลนส์ในปัจจุบันนี้หลายตัวมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวมาด้วย ซึ่งมันชดเชยได้ถึง 4.5 Stop – 6.5 Stop เลยก็มี ซึ่งแล้วแต่แบรนด์กล้องหรือเลนส์นั้น ๆ ดังนั้นก็เปิดใช้ระบบพวกนี้ด้วยครับเวลาที่เราต้องถ่ายภาพในที่แสงน้อย

เลนส์มุมกว้างที่มีกันสั่นในตัวทำให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ได้สบาย
X-T2 + XF10-24mmF4 R OIS @ 18.2mm, ISO 200, 1/50 sec, f/11.0, Source : photographylife

1.5) เพิ่มค่า ISO ถ้าต้องใช้ก็ต้องเพิ่มนะ

เมื่อเราเปิดรูรับแสงให้กว้างสุดแล้ว ความเร็วชัตเตอร์ของเราก็ต่ำเท่าที่จะถือได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้แสงที่เหมาะสม สุดท้ายแล้วก็ต้องมาเพิ่ม ISO ให้กับกล้องของเราอยู่ดี ISO จะทำหน้าที่เร่งสัญญาณการรับแสงครับ ข้อดีก็มีคือเราเพิ่มค่า ISO ปุ๊บ ภาพมันก็จะสว่างขึ้นเลย แต่ข้อเสียคือถ้าเร่งสัญญาณรับแสงมากเกินไปมันก็จะมี Noise ตามมาครับ

เพื่อให้ความเร็ซชัตเตอร์มากพอตามต้องการ ภาพนี้ก็เลยต้องใช้ ISO 1600
NIKON D700 @ 24mm, ISO 1600, 1/25 sec, f/8.0, Source : Photographylife

แต่ในปัจจุบันผมเคยทดสอบกันมาแล้วคือเอา ISO 6400 ซึ่งเยอะมาก ๆ กับกล้องเซ็นเซอร์เล็ก ๆ ถ่ายแล้วอัพขึ้น Facebook และพิมพ์ภาพออกมาเลย ภาพมันยังใช้ได้นะ ดูโอเคด้วย ยังดีกว่าไม่ได้ภาพครับ อยากให้ปรับมุมมองกันใหม่นะ การเพิ่ม ISO ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเลย ถ้าเราเข้าใจและใช้มันอย่างเหมาะสม

2) การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย : แสงน้อยมาก

ตอนนี้เราจะพูดถึงสถานการณ์ที่มันซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งถ้าปริมาณแสงมันลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน หรือเรากำลังถ่ายภาพในบ้านที่สภาพแวดล้อมไม่ได้สว่างเลย เรียกได้ว่ามันแสงน้อยมาก ๆ แล้วมันเกิดขีดจำกัดของเราเช่น ไม่อยากเพิ่ม ISO มากกว่านี้แล้ว หรือว่าต้องใช้รูรับแสงแคบ ๆ ทั้งที่แสงน้อย จะทำได้ยังไง ในส่วนนี้เดี๋ยวเรามีคำตอบให้ในแต่ละจุดครับ

ภาพนี้ถูกถ่ายหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกแล้ว ดังนั้นก็ต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดในความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
NIKON D810 + 24-70mm f/2.8 @ 38mm, ISO 64, 2 sec, f/8.0, Source : photographylife

2.1) ให้ตัวแบบเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสง

เปลี่ยนวิธีคิดใหม่จากการตั้งค่ากล้องยังไงให้ถ่ายได้แบบนั้น เป็นการเลือกมุมถ่ายให้กับแบบใหม่ เราสามารถเลือกที่จะให้แบบหลักเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสงเลย เป็นเรื่องง่ายมาก แค่เปลี่ยนวิธีคิดนิดหน่อยเราก็สามารถเพิ่มแสงให้กับแบบได้ทันทีครับ

NIKON D700 @ 85mm, ISO 1600, 1/125, f/4.0, Source : photographylife

2.2) พยายามถือกล้องให้มั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเดิม

วิธีถือกล้องให้นิ่งกว่าเดิมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเหลือเราได้ประมาณนึงเลย เราอาจจะเลือกใช้วิธีถือโดยการให้ฝ่ามือวางระหว่างเลนส์กับกล้อง เอาข้อศอกแนบลำตัว ถ้าทำได้ก็ให้นั่งลงแล้วใช้เข่าเพื่อรองรับแขนซ้ายเอาไว้ แล้วค่อย ๆ กดชัตเตอร์ แล้วถ่ายภาพ หลังจากนั้นคอยเช็คว่าภาพที่ได้คมชัดหรือเปล่า เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ครับ

2.3) เพิ่ม ISO ให้เพิ่มเยอะขึ้นไปเลย

อะไรจะดีกว่าระหว่างภาพที่มันเบลอ กับภาพที่มันดูชัดขึ้นแต่อาจจะมี Noise ในภาพบ้าง ผมเชื่อว่าอย่างหลังมันจะดีกว่า นั่นแหละครับมันอยู่ที่ว่าเรารับได้กับ Noise ที่มันสูงขึ้นได้ไหม กล้องยุคนี้ ISO 12800 เป็นอะไรที่มันรับได้แล้วนะ ถ้าตรงไหนที่มันแย่จริง ๆ เราค่อยใช้ Software ในการลด Noise ช่วยเป็นจุด ๆ เพิ่มได้ครับ ทำให้รายละเอียดดีกว่าการใช้ Noise Reduction แบบทั้งภาพอยู่

NIKON D850 + 14mm f/1.8 @ 14mm, ISO 800, 1/1, f/8.0, Source : Photographylife

2.4) ถ่ายเป็น RAW File

การถ่ายภาพเป็น RAW File อันนี้เคยพูดในบทความ RAW vs JPEG อะไรดีกว่ากัน แต่ในบทความนี้จะพูดคร่าว ๆ เพิ่มละกันครับ การถ่ายภาพเป็น RAW มันเป็นความละเอียดที่สูง สามารถถ่ายภาพมาเพื่อปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดได้ยืดหยุ่นมาก ถ้าหากต้องการถ่ายภาพเพื่อความเนี๊ยบยังไงก็ต้องใช้ RAW ลองอ่านจากบทความ RAW vs JPEG อะไรดีกว่ากัน ก็ได้ครับ

2.5) ระมัดระวังเกี่ยวกับระบบออโต้โฟกัส

ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อย กล้องจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ มันเกิดขึ้นเมื่อแสงไม่พอ ผมไม่เจาะในเรื่องกระบวนการทำงานของกล้องนะ แต่อยากแนะนำว่าถ้าเรารู้สึกว่าระบบโฟกัสเริ่มช้า มีอาการวืดวาดในที่แสงน้อย ให้เราเช็คภาพด้วยว่ากล้องโฟกัสเข้าหรือไม่เมื่อใช้ออโต้โฟกัส นอกจากนี้ฝึกใช้การโฟกัสแบบ Manual ไว้ด้วย เพราะหลาย ๆ สถานการณ์เราอาจจะต้องใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้

การโฟกัสภาพตอนกลางคืนจำเป็นต้องมีความแม่นยำที่สูงเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด
NIKON D850 + 14mm f/1.8 @ 14mm, ISO 800, 20/1, f/1.8, Source : Photographylife

2.6) ใช้กล้องเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่

กล้องพวกเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่พวก Full Frame แน่นอนมันตามมาพร้อมราคาที่สูงขึ้น แต่มันให้ศักยภาพที่สูงมากเมื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อย มันให้รายละเอียดที่ดีกว่า และเป็นเรื่องของกายภาพ ดังนั้นถ้าหากต้องการคุณภาพไฟล์ที่ดี กล้องที่เซ็นเซอร์ใหญ่ก็ยังเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่ลงทุนแล้วคุ้มค่าครับ

ภาพตัวอย่างจาก Sony RX100 Mark IV มีเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก 1 นิ้ว ซึ่งมีเซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่ากล้อง Compact ทั่วไป ทำให้ได้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า แต่ถ้าเป็นกล้องที่เซ็นเซอร์ที่ใหญ่มากขึ้น ก็จะขยายความสามารถได้มากขึ้นตามไปด้วย
DSC-RX100M4 + 24-70mm F1.8-2.8 @ 10.15mm, ISO 200, 1/13, f/11.0, Source : Photographylife

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

2.7) ใช้ขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ

การใช้ขาตั้งกล้องถ่ายภาพช่วยให้เราที่จะถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก ๆ ได้เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายอาคาร สถานที่ หรืองาน Landscape เลยทีเดียวแหละ เพราะขาตั้งจะทำให้เราไม่ต้องเพิ่ม ISO เลย แล้วก็ใช้ความเร็วชัตเตอร์ในการรับแสงแทน เราจะเห็นคนถ่ายภาพช่วงค่ำ ๆ จะใช้ขาตั้งกล้องกันทั้งนั้น เพราะเขาจะเอามาลากชัตเตอร์เพื่อเก็บแสงนั่นเองจ้า

3) การถ่ายภาพกลางคืนและที่แสงน้อย : สภาพมืด มืดเลย มืดตึ๊บ

ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแสงสว่างและตอนกลางคืน ในหลายคำแนะนำข้างต้นอาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะในที่มืดคือเราไม่มีแสงทำงานร่วมด้วย เดี๋ยวเรามาดูวิธีการจัดการกันว่าในที่มืดเราจะเริ่มต้นได้ยังไงกัน

Antelope Canyon มีความสวยงาม แต่สภาพแสงที่มืดค่อนข้างมากยังไงเราก็ต้องใช้ขาตั้งกล้อง, Source : Photographylife

3.1) ใช้ขาตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพ

ในที่มืดสภาพแบบนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยกกล้องถ่ายแล้วแสงจะพอ เพราะงั้นขาตั้งกล้องที่ดีและทนทานต่อสภาพพื้นที่ แวดล้อมต่าง ๆ จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพกลางคืน เพราะเราจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเป็นหลักเลย นอกจากนี้เราต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทสำหรับกดชัตเตอร์ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกด หรือแรงสั่นสะเทือนเมื่อเราจะลั่นชัตเตอร์

ในกรณีที่เราไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ หรือเผลอทำรีโมทหาย ไม่ก็แบตเตอรี่รีโมทหมดระหว่างการถ่ายภาพ ก็ให้เราตั้งเวลาถ่ายภาพถอยหลังแทนเพราะมันพอช่วยชดเชยได้ครับ นอกจากนี้การเปิดใช้งานชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ก็ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากกลไกของชัตเตอร์ได้

3.2) ใช้ไฟฉายสำหรับการเพิ่มแสงสว่างให้วัตถุ หรือ Light Painting

หากวัตถุของเรามืดเกินไปให้ใช้ไฟฉาย หรือไฟแฟลชเพิ่มแสงสว่างได้ (มันก็ขึ้นอยู่กับวิธีใช้ด้วยนะว่าเหมาะสมไหม) อย่างบางทีคนถ่าย Landscape อาจจะใช้ไฟฉายส่องไปบริเวณต้นไม้ อารมณ์เหมือนคนระบายสี แต่ในนี้เราจะระบายแสงให้ทั่ววัตถุแทน มันอยู่ที่ความถนัด ความชำนาญด้วยนะ

NIKON D700 @ 35mm, ISO 200, 30/1, f/6.3, Source : Photographylife

3.3) ใช้โฟกัสแบบแมนนวล

เมื่อเจอพื้นที่มืดเกินไประบบออโต้โฟกัสจะไม่ทำงาน ถ้าวัตถุของเราอยู่ใกล้ก็อาจจะใช้ไฟนโฟกัสในกล้องได้ พวกไฟสีส้ม ๆ ที่มันจะโผล่มาตอนเรากดโฟกัสถ่ายตอนที่แสงน้องอ่ะนะ แต่ว่าถ้าหากวัตถุอยู่ไกล ๆ จะถ่ายภูเขาถ่ายวิวล่ะ มันก็ต้องใช้การ Manual Focus แล้วแหละ ดังนั้นการตั้งค่าให้โฟกัส “อินฟินิตี้” มันก็ช่วยได้ในหลาย ๆ สถานการณ์นั้น แต่บางสถานการณ์มันอาจจะต้องโฟกัสเองให้แม่น ๆ ก็อาจจะต้องอาศัย Live View ในการช่วยให้เรามองเห็น และเปิดพวก Peaking Focus เพื่อช่วยคอนเฟิร์มโฟกัสให้กับเราครับ

Canon EOS 5D Mark IV + EF24-70mm f/4L IS USM @ 39mm, ISO 200, 1/4 sec, f/8.0, Source – Photographylife

3.4) ไม่มีทางลัดไหนทำให้เราเก่งได้เร็วเท่าการฝึกฝน

บทความนี้ยาวมาก แม้จะเป็นวิธีแนะนำมากมายแต่ว่ามันก็ไม่ได้ตอบโจทย์แบบ 100% หรอก สุดท้ายการฝึกฝนเพื่อจัดการกับปัญหาและการเก็บประสบการณ์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ

การถ่ายภาพในที่แสงน้อยเป็นเรื่องที่สนุกมากนะ เราควรฝึกเล่นและทดลองกับสภาพแสงที่มันแตกต่างกัน ถ้าหากว่าเรารู้วิธีถ่ายภาพในที่แสงน้อยหลาย ๆ แบบ ทำให้เราสามารถมีโอกาสถ่ายภาพได้ในหลาย ๆ สถานการณ์ที่หลายคนคิดว่าถ่ายไม่ได้ แต่มันถ่ายได้จ้า และยังให้มุมมองที่แตกต่างกันด้วยนะ

รวมบทความการถ่ายภาพพื้นฐานสำหรับมือใหม่

– การตั้งค่ากล้องสำหรับมือใหม่ เริ่มพื้นฐานจากศูนย์กันเลย
– ISO คืออะไร รวมทุกอย่างที่ต้องรู้เรื่อง ISO
– คำแนะนำสำหรับมือใหม่ในการถ่ายภาพให้นิ่งและไม่เบลอ
– 7 ไอเดียการฝึกถ่ายรูปสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเล่นกล้อง
– 10 เทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

Exit mobile version