Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

วิธีอ่านค่า Histogram แบบเข้าใจง่ายและการนำไปใช้งานจริง

วิธีอ่านค่า Histogram สำหรับคนที่เพิ่งถ่ายภาพเลย เน้นเอาเข้าใจง่าย ๆ ซึ่งจะทำให้หลายคนเข้าใจมากขึ้น และสามารถนำกราฟนี้ไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพได้ตรงตามที่ต้องการมากขึ้นครับ

Histogram คืออะไร?

Histogram คือ กราฟแท่งที่แสดงจำนวนของพิกเซลที่กระจายกันอยู่ในค่าความสว่างช่วงต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพ เริ่มต้นที่ 0-255 ซึ่งทางด้านซ้ายจะเป็นส่วนที่มืด พวกเงา ส่วนสีดำ, ด้านขวา จะเป็นส่วนที่สว่าง อะไรที่เป็นสีขาว ส่วนตรงกลางจะเป็นส่วนสีเทา สรุปว่า ซ้ายดำ

ส่วนจุดที่เป็นความสูงมาจากการนับจุดในสีช่วงเดียวกันในภาพ ซึ่งถ้ามีสีไหนมาก ความสูงของสีในช่วงนั้นก็จะเยอะขึ้นครับ พอรวมกันทั้งหมดในภาพ ก็จะกลายเป็นกราฟ HISTOGRAM อย่างที่เราเห็นนั่นแล เดี๋ยวเรามาเริ่มดูตัวอย่างกันเลยดีกว่า

วิธีอ่านค่า Histogram สำหรับมือใหม่

HISTOGRAM เทไปทางซ้าย = ส่วนมืดเยอะ

HISTOGRAM ในภาพถ้าข้อมูลเทไปด้านซ้ายเยอะ แสดงว่ามีส่วนมืดในภาพเยอะ ถ้าหากว่าภาพหลุดมืดกว่านี้ หรือว่าต่ำเกินไป เราอาจจะไม่ได้ข้อมูลกลับมา, ถ้าภาพมืดเยอะไป เรานำกลับมาแต่งให้สว่างลำบากก็มีนะ ถ้าตัวกล้องเราไม่ได้มี Dynamic Range ที่มากพอ เอาเป็นว่าถ้าเรายังมือใหม่อยู่ ถ้าเห็นกราฟแบบนี้ ลองถ่ายให้สว่างกว่านี้ กราฟควรอยู่กลาง ๆ เนอะ

Histogram เทไปทางซ้าย = ส่วนมืดเยอะ

HISTOGRAM เทไปทางขวา = ส่วนสว่างเยอะ

อันนี้ถ่ายภาพมา HISTOGRAM เทไปทางขวา ก็สว่างเกิ๊นนนนน ถ้าสว่างจนหลุด คนถ่ายรูปจะเรียกติดปากว่า Highlight หลุด เวลาเอาภาพกลับมาแต่ง ดึงข้อมูลกลับมาก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะกล้องเก็บข้อมูลไม่ได้เลย ควรถ่ายภาพให้มืดลงมาอีกหน่อยนึงเนอะ เอาแบบพอดี ๆ โดยดูจาก HISTOGRAM คู่กับภาพที่เราได้มานะ

Histogram เทไปทางขวา = ส่วนสว่างเยอะ

TIPS #1 : อย่าถ่ายภาพให้หลุด HISTOGRAM

สรุปว่าถ้าหากเราถ่ายภาพมามืด หรือสว่าง จนหลุด HISTOGRAM ไป แล้วทำให้กล้องเก็บช้อมูลกลับมาไม่ได้ การถ่ายด้วยไฟล์ RAW อาจจะไม่ช่วยให้ดึงข้อมูลส่วนนั้นกลับมาก็ได้ ดังนั้นเวลาที่เราอยากได้ข้อมูลกลับมาครบ ๆ ควรถ่ายภาพให้ HISTOGRAM มีข้อมูลอยู่ตรงส่วนกลาง ๆ ทั้งมืดและสว่าง แล้วก็ไม่ใช่ว่าอยู่แค่ตรงกลางนะคร้าบ ส่วนมืดก็ควรมีข้อมูลมืดอยู่น่ะถูกแล้ว ถึงบอกว่าต้องดูภาพที่ถ่ายประกอบด้วย อะไปดูอันต่อไปกัน

TIPS #2 : HISTOGRAM ไม่มีสูตรตายตัว

จำไว้เสมอว่า HISTOGRAM ไม่มีสูตรตายตัวเลย จะยึดว่าลักษณะ HISTOGRAM แบบนั้นดีสุด หรือแบบนี้สุดยอดแล้ว มันไม่มีนะ ต้องดูรายละเอียดของโทนภาพ สีภาพ ที่เก็บกลับมาด้วย รูปแบบ HISTOGRAM บางอัน บอกว่าภาพโห โคตรมืดเลย แต่โทนสี การสื่อสาร อารมณ์ภาพมันได้ มันก็ควรเป็นแบบนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะเอาภาพแบบไหน แล้วเช็คดู HISTOGRAM ว่ามีข้อมูลหลุดไปจากภาพที่เราอยากได้หรือเปล่า เดี๋ยวไปดูตัวอย่างกัน

ตัวอย่างภาพที่ดู HISTOGRAM แล้วถ่ายออกมาพอดี

ภาพนี้คืออยากได้ข้อมูลแบบไม่หลุดไฮไลท์ ครบ ๆ ก็จะเห็นได้ว่า HISTOGRAM มีกระจายอยู่ทุกส่วนเลย ไม่หลุด Shadow (ส่วนมืด) หรือส่วนสว่าง (Highlight) เลย สามารถเอาภาพมาแต่งต่อได้ดีด้วย แบบนี้โอเคกับภาพโทนนี้เนอะ

ตัวอย่างภาพที่ยืนยันว่าการดู HISTOGRAM อย่างเดียวไม่พอ ต้องดูอารมณ์ของภาพด้วย เพราะภาพนี้ HISTOGRAM บอกว่ามืด แต่เป็นภาพที่ตรงคอนเซ็ปต์จริงใช้ได้

โห อันนี้ถ้าดู HISTOGRAM แล้ว ภาพมืดนี่หว่า งั้นถ่ายให้สว่าง หรือปรับให้สว่างเลยดีกว่ามั้ย? ช้าก่อนศิตย์พี่ ข้าน้อยขอชี้แจงว่าโทนภาพแบบนี้เขาเหมาะอยู่แล้ว ไม่ต้องให้แสงด้านหลังเพิ่มขึ้นมาหรอก เพราะไม่งั้นถ้ามีโทนสว่างด้านหลังจะรบกวนความสนใจในตัวแบบแน่นอน ข้าน้อยขอยืนยันว่าให้ศิตย์พี่ดูอารมณ์ โทนภาพ ควบคู่กับการดู HISTOGRAM ก่อนนะขอรับ

ประโยชน์จริง ๆ ของ HISTOGRAM ที่ไม่ว่าใครก็นำไปใช้ได้คือ ทำให้เรารู้ว่าภาพที่ถ่ายมันมีข้อมูลหลุดไปยังส่วนมืด หรือส่วนสว่างหรือเปล่า

สิ่งที่ HISTOGRAM ช่วยได้ดีคือการรีเช็คกับตัวเราว่า ข้อมูลที่ถ่ายออกมาได้อ่ะโอเคหรือยัง ยิ่งคนแต่งภาพ ถ้ามีคนทักว่า เอ้อ คอนทราสต์เยอะไปนะ ก็ดูในภาพว่า ส่วนมืด กับส่วนสว่าง มันต่างกันเยอะไหม (เทซ้ายเยอะ ขวาเยอะ กลาง ๆ น้อย)

โดยเฉพาะหน้างาน ถ้าถ่ายภาพกลางแจ้ง หน้าจอแสดงผลไม่ดี เรายังดู HISTOGRAM ได้นะว่า เออ ข้อมูลไม่หลุดนะ ได้ข้อมูลสี โทนภาพมาครบนะ เอาไปแต่งต่อไม่เหนื่อย อะไรแบบนั้น

TIPS #3 : อย่าซีเรียสกับมันมากเกินไป

HISTOGRAM ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต อย่าซีเรียสเยอะ (เว้นแต่คุณมีเป้าหมายจะไปเป็นเทพด้านนี้ ก็ค่อย ๆ ลงลึีกไปเรื่อย ๆ)

อย่าลืมว่าครั้งแรกที่เราอยากจะถ่ายภาพ เพราะสนุก มีความสุข อย่าให้ HISTOGRAM มันทำให้เราและคนรอบข้างเสียอารมณ์กับการถ่ายภาพเพราะเรามัวแต่ตึงเครียด ซีเรียส กับ HISTOGRAM ลองนึกภาพนะ ผู้หญิงส่วนใหญ่ถ่ายภาพสวย แต่งโทนในแอพมือถือ โน่นนี่นั่น ออกมาเป๊ะมาก ถามจริงดู HISTOGRAM ไหม ก็ไม่หรอก

ถ่ายภาพให้มีความสุข ให้คนดูภาพแล้วมีความสุข ถ่ายภาพแล้วให้คุณค่ากับตัวเราเอง กับคนอื่น จะเวิร์คมาก ส่วน HISTOGRAM เอาไว้รีเช็คข้อมูลภาพถ่ายของเราเฉย ๆ ก่อนก็ได้ ไว้อยากจะลงลึกก็ค่อย ๆ ฝึกไปครับเนอะ ในวันนี้เอาแบบง่าย ๆ แค่นี้แหละ

รวมบทความพื้นฐานสำหรับมือใหม่

Exit mobile version