
7 วิธีการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายแนว Cityscape
7 วิธีการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายแนว CITYSCAPE และสถาปัตยกรรม ให้สวยและดึงความสนใจได้ดี เคยดูภาพ Cityscape แล้วคิดว่าเราไปอยู่ตรงจุดนั้นแต่ทำไมไม่รู้สึกว่าเห็นหรือดูว่าสวยเหมือนภาพถ่ายบ้างหรือไม่ ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องช่วงเวลาและการแต่งภาพออกไป เราจะเห็นว่าองค์ประกอบที่ช่างภาพใช้ในการถ่ายภาพสำคัญและเป็นจุดที่ทำให้ภาพนั้นดูสะดุดตา สวยงามและดึงความสนใจได้ดี มาดูกันครับว่า 7 วิธีการจัดองค์ประกอบเพื่อถ่ายภาพแบบ Cityscape และสถาปัตยกรรมให้สวยและดึงความสนใจได้ดีมีวิธีไหนบ้าง

7 วิธีการจัดองค์ประกอบเพื่อถ่ายภาพแบบ Cityscape และสถาปัตยกรรมให้สวยและดึงความสนใจได้ดี
1. เลือกตัวแบบและใช้กฏสามส่วนเพื่อกำหนดตำแหน่งของจุดสนใจในภาพ
กฏสามส่วนเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดวางองค์ประกอบครับ การถ่ายภาพทุกประเภทมักจะต้องอาศัยกฏนี้ในการวางองค์ประกอบ เพื่อให้อยู่ในจุดสนใจของสายตา เมื่อเลือกตัวแบบและแนวทางในการนำเสนอเรื่องราวของภาพแล้ว การวางตำแหน่งภาพสามารถเลือกที่จะวางตัวแบบที่จุดตัด หรือจะวางกลางภาพ หรือจะเป็น 1 ใน 3 ก็จะช่วยเราในการตัดสินใจได้ว่า ควรวางจุดสนใจไว้ตำแหน่งไหน เพื่อจะเล่าเรื่องหรือสื่อสารภาพในแบบที่เราต้องการครับ

2. มีเส้นนำสายตาเพื่อกำหนดทิศทางของการเคลื่อนที่และตำแหน่งของสายตา
เรารู้อยู่แล้วว่าเส้นนำสายตาจะทำหน้าที่ดึงและกำหนดเส้นทางการเดินทางของสายตาไปยังจุดที่เราต้องการ ซึ่งเส้นนำสายตาที่ดี จะดึงเข้าไปสู่จุดสนใจของภาพและในทางกลับกัน เล้นนำสายตาบางเส้นก็สามารถดึงสายตาออกจากจุดสนใจได้เช่นกัน จึงต้องเลือกเส้นนำสายตาที่พาเข้าไปในภาพ และชี้ไปยังจุดสนใจครับ

3. เหลือพื้นที่ว่างส่วนบนเพื่อเป็น Headspace ของตัวแบบ (คล้ายกับเวลาเราถ่ายภาพบุคคล)
การเหลือพื้นที่ส่วนบนตัวแบบไว้บ้างเล็กน้อยเพื่อสร้างความรู้สึกไม่อึดอัดหรือบีบเค้นมากเกินไปเหมือนกับการถ่ายภาพบุคคลที่เราจะเหลือพื้นที่ส่วนบนเล็กน้อยประมาณ ที่เรียกว่า Headscpae หรือ Headroom นั่นเองครับ เพราะจะทำให้ภาพดูมีพื้นที่ให้เกิดการไหลเวียน จนหลาย ๆ คนอาจจะเรียกว่าช่องอากาศหรือ “BREATHING ROOM” เลยครับ ดังนั้นเมื่อเราถ่ายภาพ Cityscape และกำหนดตัวแบบแล้วเรามักจะเหลือพื้นที่ด้านบนไว้บ้างเพื่อให้ดูมีพื้นที่หลายใจของภาพ ไม่อึดอัดนั่นเองครับ

4. สร้างกรอบภาพเพื่อกำหนดจุดสนใจและเพิ่มมิติให้กับภาพ
การสร้างกรอบภาพ เป็นการกำหนดจุดสนใจและตีกรอบความคิดให้กับผู้ชม โดยจำกัดการมองเห็นเพื่อมองไปยังจุดที่ต้องการในกรอบเท่านั้น ซึ่งเราสามารถใช้โครงสะพาน อุโมงค์ หรือการใช้ Foreground เพื่อตีกรอบให้มองไปที่ตึกหรือมุมที่เราต้องการให้เห็นในทันทีที่มองภาพนั่นเองครับ

5.ใช้ประโยชน์จาก Negative spaces เพื่อแยกตัวแบบออกจากองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มความโดดเด่นให้แก่ตัวแบบ
เมื่อต้องการให้ความสนใจไปที่โครงสร้าง รูปร่าง หรือการออกแบบของสถาปัตยกรรมที่ต้องการนำเสนอ สามารถเพิ่มพื้นที่ว่างในภาพถ่ายได้ โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ Negative Space ด้วยเทคนิคสนี้จะช่วยแยกแยกโครงสร้างและบังคับและเน้นย้ำผู้ชมให้ความสนใจกับตัวแบบมากขึ้น เพราะทั้งภาพจะไม่มีองค์ประกอบอื่นเพื่อดึงความสนใจออกไปจากตัวตึกหรือสถาปัตยกรรมนั้นเลย

6. ระวังเรื่องเส้นขอบฟ้าของภาพจัดวางให้ตรงเพื่อไม่ให้รู้สึกไม่สมดุล
เส้นขอบฟ้านอกจากจะเป็นตัวกำหนดเส้นและแนวการวางภาพแล้ว เส้นขอบฟ้ายังกระตุ้นความรู้สึกของผู้มองภาพได้ ถ้าเส้นขอบฟ้าเอียงหรือภาพเอียง (โดยตั้งใจเอียง) มักจะสื่อสารให้เห็นถึงความไม่สมดุล ความรู้สึกสับสนหรือไม่มั่นคง ไม่มั่นใจ ดังนั้นการถ่าย Cityscape เพื่อแสดงถึงเรื่องราว วิถีชีวิต หรือความโดดเด่นสวยงามของสถาปัตยกรรม จึงต้องเลี่ยงที่จะทำให้เส้นขอบฟ้าเอียง เพราะจะทำให้ภาพสื่อสารไปผิดทางครับ

7. มุมมองแปลกตา มุมมองใหม่แตกต่างจากภาพที่เคยเห็นทำให้ภาพดูสะดุดตา
อาจจะเป็นวิธีที่ต้องใช้ความพยายามและการสร้างสรรค์ที่มากขึ้น เพราะเมื่อภาพที่ดูสวยในครั้งแรก เมื่อดูนาน ๆ หรือบ่อย ๆ ก็จะสร้างความเคยชิน การมองภาพในมุมเดิม มุมมองที่ซ้ำ ก็ทำให้ภาพที่เราถ่ายอาจจะดูเหมือนกันกับช่างภาพคนอื่น ลองจินตนาการว่าบนผนังมีภาพที่ดูเหมือนกันจากมุมเดียวกัน ถ้ามีภาพหนึ่งที่ดูแตกต่างเราจะสะดุดสายตาและให้ความสนใจไปที่ภาพนั้นทันที
Photo by Muhammad Shafiq on Unsplash
ดังนั้นลองมองหามุมที่แตกต่างและนำเสนอภาพของสถานที่นั้นในมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไป อาจจะเปลี่ยนมุมยืน เปลี่ยนจากมุมระดับสายตาเป็นมุมก้ม มุมกดหรือมุมสูงหรือจะใช้องค์ประกอบอื่นเพื่อช่วยให้ภาพนั้นดูแตกต่างไป ภาพนั้นก็จะได้รับความสนใจและดึงดูดสายตาจากผู้ชมภาพได้
พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND
รวมบทความเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้องสำหรับมือใหม่และการใช้โหมดต่าง ๆ
- การตั้งค่ากล้องถ่าย PORTRAIT สำหรับมือใหม่
- EXPOSURE TRIANGLE พื้นฐานการตั้งค่า APERTURE, SHUTTER SPEED, ISO รู้เรื่องนี้ ถ่ายโหมด M ได้แน่นอน!
- โหมด P A S M ต่างกันยังไง ควรใช้โหมดไหนถ่ายภาพ
- โหมดวัดแสง การวัดแสง และ ระบบวัดแสง ฉบับมือใหม่เข้าใจง่าย เลือกใช้ได้ไม่พลาด
- การตั้งค่า White Balance สำหรับมือใหม่
- 7 วิธีลัดสำหรับมือใหม่ ถ่ายโหมด M ด้วยตัวเอง
- 9 เทคนิคถ่ายภาพตอนกลางคืน
- ถ่ายภาพในที่มืดยังไงให้คม
- วิธีการใช้ Auto ISO สำหรับมือใหม่และการตั้งค่าไม่ให้ Noise เยอะเกินไป