
Exposure Triangle พื้นฐานการตั้งค่า Aperture, Shutter Speed, ISO รู้เรื่องนี้ ถ่ายโหมด M ได้แน่นอน!
Exposure Triangle พื้นฐานการตั้งค่า Aperture, Shutter Speed, ISO เป็นเรื่องที่ค่าทั้ง 3 อย่างนี้มีความสัมพันธ์กัน และเมื่อเราเข้าใจ เราก็จะสามารถตั้งค่ากล้องเพื่อรับแสงได้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการ ทีนี้ใครที่จะถ่ายโหมด M ด้วยตัวเองให้ได้ ก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้เหมือนกันครับ
Exposure Triangle คืออะไรกันแน่

ให้เข้าใจง่าย ๆ แบบนี้คือ Exposure Triangle เป็น 3 ค่าที่มีผลกับแสงในภาพของเรานั่นคือ รูรับแสง (Aperture), ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) และ ความไวแสง (ISO) สามค่านี้มันทำงานด้วยกัน หากมีค่าใดค่าหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนอื่น ๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเพื่อรักษาความถูกต้องของแสงที่จะเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคนที่จะถ่ายภาพ โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจจะฝึกถ่ายภาพด้วยโหมด M ยังไงเรื่องนี้ก็มีความสำคัญมาก ๆ ซึ่งผมจะแจงตามรายละเอียดต่อไปนี้
อย่างที่ 1 : ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)
ความเร็วชัตเตอร์หรือ Shutter Speed คือระยะเวลาที่เราได้สั่งให้กล้องเปิดรับแสงเข้าเซ็นเซอร์ได้ ซึ่งหน่วยวัดเป็นวินาที ความเร็วชัตเตอร์เป็นเรื่องง่ายที่สุดละใน Exposure Triangle ทั้ง 3 ค่า ถ้าหากเราต้องการเปิดรับแสงให้นานขึ้น เราก็เปิดม่านชัตเตอร์นานหน่อย แต่ถ้าต้องการแสงเข้านิดเดียว ม่านชัตเตอร์ก็จะเร็วขึ้น

ความเร็วชัตเตอร์วัดค่ายังไง!?
ความเร็วชัตเตอร์เราจะเรียกเป็นส่วนต่อวินาที เช่น 1/8000, 1/4000, 1/125 ส่วนการที่เราเปิดม่านชัตเตอร์นาน ๆ เราก็เรียกเป็นหลักวินาทีตามปกติ กล้องของเราถ้าต้องการเปิดม่านชัตเตอร์นาน ๆ แบบไม่ต้องใช้รีโมท เราก็จะเปิดได้ถึง 30 วินาทีเลย แล้วก็อย่างที่บอกตามข้างบน ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะให้แสงเข้าเยอะ ๆ เราก็ต้องเปิดชัตเตอร์นาน ๆ แต่ถ้าต้องการให้แสงเข้าน้อย เราก็เปิดชัตเตอร์ให้เร็วหน่อยเท่านั้นเอง

ยกตัวอย่างเมื่อเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 ไปเป็น 1/30 วินาที จะเป็นการเพิ่มแสง 1 สต็อป ก็เพราะชัตเตอร์เปิดรับแสงนานขึ้นเท่านึง แล้วถ้าเราจะเพิ่มความเร็วชัตเตอร์จาก 1 วินาที ไปเป็น 1/8 วินาที จะเป็นการเปิดรับแสงลดลง 3 สต็อป เพราะว่า จาก 1 วินาที ไปเป็น 1/2 วินาที(ครึ่งวิ) แล้วก็จาก 1/2 วินาที ไปเป็น 1/4 วินาที แล้วจาก 1/4 วินาที ไปเป็น 1/8 วินาที ดูตามภาพได้เลยนะครับ ก็จะสังเกตได้ว่ามันจะเป็นสามสต็อปพอดี

การใช้ความเร็วชัตเตอร์มีวัตถุประสงค์สองอย่าง
1. เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้อง ให้มากขึ้น หรือน้อยลง
2. เพื่อให้เกิดเอกเฟกต์กับภาพ ยิ่งชัตเตอร์เร็ว จะหยุดสิ่งที่เคลื่อนไหวได้นิ่งสนิท ยิ่งชัตเตอร์ช้า ก็จะทำให้ภาพเกิดการสั่นไหวและเบลอง่ายขึ้น สามารถเอาไปใช้ถ่ายเทคนิควาดเส้นไฟสวย ๆ ได้
แล้วเราควรจะใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ดีล่ะ?
ในความเป็นจริงเราไม่มีคำตอบแน่นอนหรอกว่าชัตเตอร์เท่าไหร่ ถ่ายอะไร (แบบเป๊ะ ๆ) แต่ผมมีตัวอย่างคร่าว ๆ มาให้ว่าส่วนใหญ่แต่ละชัตเตอร์เหมาะกับการถ่ายภาพอะไรบ้าง แต่ในการถ่ายจริงเราก็ต้องปรับให้ได้ตามสภาพแสงจริงอยู่ดีนะ
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ | ลักษณะของภาพที่นำไปใช้ |
30 วินาที/ โหมด Blub | สร้างภาพถ่าย Long Exposure รับแสงที่ยาวนาน ทำให้น้ำดูฟุ้ง ๆ เมฆดูนุ่มนวล และมองเห็นการเคลื่อนไหวของวัตถุเป็นเส้น ๆ เลย ซึ่งถ้าถ่ายด้วยโหมด Blub จะลากได้ตามใจเลยว่าอยากได้นานเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ 2-4 นาทีเลยแหละ |
20-30 sec. | ถ่ายภาพทางช้างเผือกก็ถ่ายได้นะ หรือถ่ายภาพดาวหมุนก็ได้ แต่มักจะเอาภาพมาต่อ ๆ กันด้วย |
1 sec. | ถ่ายภาพช่วง Twilight ทำให้เก็บแสงได้นานขึ้น |
1/8-1/10 sec. | ความเร็วชัตเตอร์แบบนี้เหมาะกับการถ่ายภาพเพื่อเก็บความเคลื่อนไหวของคลื่นที่เคลื่อนตัวออกจากหาด จะเห็นมูฟเมนต์หน่อย ๆ |
1/30 – 1/60 sec. | มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพ Panning เพื่อจับภาพคน หรืออะไรที่เคลื่อนไหว แล้วใช้การ Panning เพื่อเบลอฉากหลัง |
1/125 sec. | ถ่ายภาพได้หลากหลายลักษณะ ส่วนใหญ่ถ่ายทั่วไปก็ประมาณนี้ครับ |
1/250 sec. | ถ่ายภาพทั่วไปเหมือนกัน แต่ก็จะจับภาพการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นมาหน่อยเมื่อเทียบกับ 1/125 ส่วนใหญ่ก็ต้องดูปริมาณแสงที่ใช้ด้วยครับ |
1/500 sec. | ถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วมาก ๆ พวกรถก็ได้ |
Above 1/1000 sec. | ถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วมาก ๆ พวกรถก็ได้ |
Above 1/2000 sec. | ถ่ายภาพนก หรือวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก ๆ |
ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ถึงจะถือด้วยมือได้แบบไม่ต้องใช้ขาตั้ง?
เรื่องง่าย ๆ คือควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่าทางยาวโฟกัส เช่นใช้ทางยาวโฟกัสที่ 200mm เราก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/200 แต่ถ้ามีกันสั่นในกล้องหรือเลนส์ก็สามารถที่จะใช้ต่ำกว่านี้ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ความสามารถของกันสั่นในตัวกล้องครับ
อ่านบทความเจาะลึกที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องของความเร็วชัตเตอร์
อย่างที่ 2 : รูรับแสง
รูรับแสงหมายถึงขนาดของช่องกลม ๆ ข้างในเลนส์ของเราที่ให้แสงผ่านนั่นแหละ ยิ่งรูมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแสงผ่านเข้าไปในเซ็นเซอร์ได้มากขึ้นเท่านั้น โดยรูรับแสงยิ่งกว้าง ค่า F จะน้อย และรูรับแสงยิ่งแคบ ค่า F จะเพิ่มขึ้นครับ

ค่ารูรับแสงมีผลกับภาพเราสองอย่าง นั่นคือระยะชัด และปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้อง
ด้านล่างจะเป็นการแสดงให้เห็นภาพอยู่สองอย่างก็คือ เมื่อ F หรือค่ารูรับแสงเยอะ ช่องของรูรับแสงก็จะแคบลง ระยะชัดของภาพก็จะมีมากขึ้น เราจะได้ภาพชัดทั้งภาพเลย แน่นอนว่าปริมาณแสงก็จะเข้ามาน้อยด้วย

แล้วก็ถ้าหากว่าเราใช้รูรับแสงกว้างขึ้น ก็จะทำให้ F ตัวเลขน้อยลง ปริมาณแสงจะเข้ามาเยอะขึ้น และเกิดเอฟเฟกต์แบบชัดตื้น คือหน้าชัดหลังเบลอง่ายขึ้นนั่นเอง เพราะระยะชัดมันลดลง
ในภาพด้านล่างเราจะเห็นว่าความคมชัดจะมีทั้งภาพเลยในภาพด้านล่างผมถ่ายด้วยรูรับแสงแคบ ๆ ก็จะทำให้เกิดระยะชัดทั้งภาพครับ

ทีนี้ถ้าเราใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้นก็สามารถทำให้เกิดเอฟเฟกต์หลังละลายได้ และปริมาณแสงก็เข้ามาเยอะขึ้นด้วยครับ

สำหรับคนที่อยากเจาะลึกเรื่องรูรับแสงทั้งหมด อ่านเพิ่มได้ในรวมพื้นฐานทุกอย่างที่ต้องรู้เกี่ยวกับรูรับแสง
อย่างที่ 3 : ISO ค่าความไวแสง คืออะไร มีผลยังไงกับภาพ
อันนี้เรื่องพื้นฐานง่าย ๆ เลยคือ ค่า ISO เป็นค่าความไวแสงของตัวกล้องนั่นแหละ ถ้าค่านี้น้อย ภาพก็จะมืด แต่ถ้าค่านี้เยอะ ภาพก็จะสว่างขึ้น ในปริมาณแสงเท่าเดิม เพียงแต่การเร่งสัญญาณการรับแสงของกล้องมันสูงขึ้น ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมาอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ครับ
ISO ที่เยอะขึ้น มันก็ทำให้ภาพของเรามีความสว่างมากขึ้นก็จริง แต่มันจะเกิด Noise ตามมาด้วย ทำให้ภาพของเรามีความละเอียดลดลง เม็ดสีที่เคยสวย ก็จะดูแย่ลง ดังนั้นการใช้ ISO ก็ควรจะดูความเหมาะสมด้วยว่าควรใช้เท่าไหร่

แล้วควรเพิ่ม ISO เมื่อไหร่บ้าง?
เมื่อเราต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่เพียงพอกับแสงตอนนั้น คือไม่สามารถลดความเร็วชัตเตอร์ได้ละ แล้วรูรับแสงก็เปิดกว้างตามที่ต้องการแล้ว แต่แสงยังน้อยอยู่ก็ให้เพิ่ม ISO เพื่อเก็บภาพตามต้องการได้เลย ถ้าเราทำทุกวิถีทางแล้วภาพยังมืด ก็ดัน ISO เถอะ ต่อให้มี Noise บ้าง แต่เราก็ได้ภาพถ่ายกลับมานะ

อ่านบทความเจาะลึกเรื่องของ ISO ที่มือใหม่ต้องรู้
สุดท้ายคือการนำทุกอย่างมาใช้งานร่วมกัน โดยมีคีย์หลักตามนี้
1. การใช้รูรับแสงกว้าง แสงจะเข้ากล้องเยอะ และจะเกิดความชัดตื้นมากขึ้น ช่วยให้แยกวัตถุออกจากฉากหลังได้ และโบเก้สวย
2. เมื่อถ่ายภาพควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ = ทางยาวโฟกัส เพื่อไม่ให้ภาพเบลอ (ถ้ากล้องที่มีกันสั่นในตัวจะลดความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำกว่าปกติอยู่หน่อยฉ
3. Shutter Speed ที่แตกต่างกัน ช่วยให้เกิดลักษณะของภาพที่ต่างกัน ความเร็วชัตเตอร์สูงจะหยุดภาพได้นิ่งแต่แสงเข้ากล้องน้อย ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แสงเข้ากล้องเยอะ แต่ก็มีข้อจำกัดคือต้องใช้ขาตั้งกล้อง สายลั่นเป็นต้น
4. ถ่ายภาพให้ใช้ ISO ต่ำที่สุดเพื่อเลี่ยง Noise แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่ม ก็เพิ่มเถอะครับ
อ่านบทความสำหรับมือใหม่
– เหตุผลที่ควรใช้โหมด M
– โหมด P A S M แตกต่างกันอย่างไร และควรใช้โหมดไหน