Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

7 วิธีการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพจากการดูภาพถ่ายสำหรับมือใหม่

7 วิธีการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพจากการดูภาพถ่ายสำหรับมือใหม่ ช่างภาพมือใหม่หลายคนไม่ได้ลงเรียนคอร์สถ่ายภาพแต่เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งการอ่านบทความ ดูวิดีโอสอนหรือการพูดคุยกับช่างภาพที่มีประสบการณ์ ซึ่งอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการเรียนรู้ คือเราสามารถเรียนรู้การถ่ายภาพเมื่อเปิดดูภาพถ่ายที่ชอบหรือชื่นชมภาพของช่างภาพที่ชอบได้ครับ ไม่เพียงแต่ดูเพื่อความพึงพอใจ เราสามารถเรียนรู้ได้จากภาพถ่ายเหล่านั้นได้ด้วย

7 วิธีการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพจากการดูภาพถ่ายสำหรับมือใหม่

1. การจัดวางองค์ประกอบภาพ

การจัดวางองค์ประกอบและการจัดเรียงวัตถุในภาพเป็นศิลปะเหมือนกับการจัดดอกไม้ ซึ่งบางครั้งทฤษฎีไม่สามารถบอกได้ว่าต้องจัดวางอย่างไรได้อย่างแม่นยำ เอียงกี่องศาวางจำนวนกี่อัน แต่เป็นการทดลองจัดวางโดยใช้ประสบการณ์ แต่การจัดวางองค์ประกอบในการถ่ายภาพจะวางตัวแบบหลักไว้กลางภาพ หรือบริเวณจุดตัดเก่าช่อง ซึ่งมือใหม่สามารถลองทำตามดูก่อน ลองจัดวางวัตถุที่ไม่ต้องซับซ้อนมากและวางองค์ประกอบภาพ แล้วจึงค่อยพัฒนาจำนวนชิ้น ความซับซ้อนขึ้นครับ

2. ช่วงเวลาในการถ่ายภาพ ช่วงสีของแสง

แสงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพสวย ซึ่งแสงในแต่ละช่วงเวลาให้สีสันและอารมณ์ที่แตกต่างกันด้วย ตั้งแต่เวลาเช้าไปจนถึงเย็น เมื่อเราดูภาพถ่ายเราจะเห็นว่าภาพนั้นได้ผ่านการรอคอยหรือหาจังหวะถ่ายภาพในเวลาและช่วงแสงที่เหมาะสม ซึ่งมือใหม่อย่างเราก็สามารถเรียนรู้ด้วยว่าภาพที่เราเห็นว่าสวยนั้น ช่างภาพใช้เวลาช่วงไหนและมีเทคนิคการถ่ายภาพอย่างไรบ้าง

3. การจัดมุมตกกระทบของแสง

แสงที่ใช้ในการถ่ายภาพ ทั้งแสงจากธรรมชาติและแสงสังเคราะห์ที่ส่องเข้ามาแล้วกระทบกับตัวแบบสร้างมิติแสงเงาที่ดูน่าสนใจ ทำให้ภาพดูชวนดูชวนมอง ซึ่งภาพที่สวยจะมีการจัดวางตำแหน่งแสงที่ช่วยให้ภาพดูโดดเด่น ลองสังเกตการจัดวางและการวางมุมตกกระทบของแสงจากภาพที่ชอบครับแล้วลองจำลองสถานการณ์และถ่ายภาพแบบนั้นดูครับ

4. มุมมองการวางภาพ

การวางมุมมองภาพ ไม่ว่าจะเป็นการวางมุมกด มุมเงย มุมกลับ เป็นแนวทางที่จะช่วยให้ภาพดูน่าสนใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการนำเสนอภาพในจุดไหน มุมมองอะไร การถ่ายภาพทิวทัศน์มักจะเป็นการถ่ายมุมกว้าง เพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และรายละเอียดรอบด้าน หรืออย่างเช่นการถ่ายภาพบุคคลมีมุมมองที่ใช้ในการถ่ายบุคคลที่น่าสนใจหลายแบบ ลองศึกษาจากภาพที่ชอบแล้วจะเห็นว่าไม่ได้ถ่ายเฉพาะที่ระดับสายตาเท่านั้น ยังมีมุมมองให้ลองอีกหลายแบบทีเดียว

5. การเล่าเรื่องและสื่อความหมาย

การเล่าเรื่องจากภาพสามารถสื่อสารได้จากดวงตาของตัวแบบ การใช้สีสัน การใช้แสงและเงา การเคลื่อนไหวที่มีในภาพ ลองดูจากภาพที่ชอบ ภาพไหนที่รู้สึกว่าภาพคุยกับเรา หรือทำให้เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหรือกำลังจะเกิดอะไรต่อไป ลองดูกว่าภาพนั้นช่างภาพกำลังคิดอะไรและมีการ Process ภาพออกมาอย่างไร ด้วยวิธีไหนบ้าง


6. การใช้ความสัมพันธ์ของสีและอารมณ์ภาพ

ส่วนมากเราจะเห็นการใช้ความสัมพันธ์ของสีจากเพจท่องเที่ยวและเพจแนวแฟชั่น เพราะสีจะช่วยสร้างความโดดเด่น ความกลมกลืน ความสดชื่นสดใส หรือความเศร้าหมองหรือหดหู่ได้ ดังนั้งลองดูถึงการใช้สีในภาพว่ามีการใช้สีแบบไหน มีการใช้สีที่ต่างขั้ววรรณะ หรือเป็นโทนสีที่ให้ความกลมกลืน หรือการใช้สีเพื่อกระตุ้นอารมณ์ของภาพ ลองศึกษาเรื่องทฤษฎีสีและดูภาพไปด้วย จะเข้าใจและเรียนรู้เรื่องการใช้สีได้ดีขึ้นครับ


7. การแต่งภาพและเทคนิคการปรับแต่ง

ภาพที่เห็นหลายภาพไม่ได้จบเพียงแค่หลังกล้องและถ่ายเพียงช็อตเดียว แต่ภาพที่ได้หลายภาพผ่านกระบวนการวางแผนถ่ายภาพ การตกแต่ง การซ้อนภาพหรือการเติมองค์ประกอบบางอย่างเข้าไปในภาพเพื่อให้ภาพดูสมบูรณ์ขึ้น บ้างก็ใช้อุปกรณ์เสริมและตัวช่วยเพื่อให้ถ่ายภาพได้สวยขึ้นด้วย ดังนั้นนอกจากจะเห็นว่าภาพสวยแล้ว ลองสังเกตว่าภาพที่ได้ น่าจะผ่านกระบวนการแต่งภาพอะไรมาบ้าง เติมอะไรบ้างถึงได้ภาพสุดท้ายมาอย่างที่เราเห็นครับ

พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพได้ที่ PHOTOSCHOOLTHAILAND

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นฐานการถ่ายภาพที่ต้องรู้

Exit mobile version