เคล็ดลับการตั้งค่า Speed – ISO – Aperture พื้นฐานที่คนถ่ายภาพต้องรู้
Triangle Exposure หัวใจสำคัญในการปรับตั้งค่ากล้องสิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ 3 อย่างคือ Speed – ISO – Aperture (ความเร็วชัตเตอร์,ค่าความไวแสง,ค่ารูรับแสง)

การเข้าใจความสัมพันธ์ทั้งสามอย่างนี้มีผลโดยตรงกับการควบคุมกล้องเพื่อให้ได้ภาพอย่างที่เราต้องการเอาเป็นว่าเรามาเริ่มต้นพื้นฐานของพื้นฐานกันเลยดีกว่า
Triangle Exposure พื้นฐานการถ่ายภาพ เคล็ดลับการตั้งค่า Speed, ISO, Aperture พื้นฐานที่คนถ่ายภาพต้องรู้
Exposure มันคืออะไรกันแน่?
ให้นึกภาพนี้ก่อนเนอะ แสงในแต่ละช่วงเวลาของวันก็เริ่มตั้งแต่มืด สว่าง แล้วก็กลับไปมืดตอนช่วงคำอีกที สังเกตว่าแสงที่เข้ามาในโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งแสงแต่ละช่วง ส่งผลกับภาพ อารมณ์ของภาพ และมีผลกับการตั้งค่ากล้องเพื่อให้ได้แสงตามที่ต้องการด้วย
ดังนั้นกล้องของเรามีหน้าที่ “ที่จะเปิดรับแสง” ซึ่งแสงนั้นจะวิ่งผ่านเลนส์เข้ามาทำให้เซ็นเซอร์สามารถเก็บค่าแสงเป็นข้อมูลดิจิตอลได้

ถ้าหากว่าแสงที่เข้ากล้องเราน้อย เราก็จะได้ภาพที่แสงค่อนข้างต่ำ (ติด Under) หรือถ้าหากมากเกินไป ภาพก็จะสว่างจ้า (ติด Over)
สรุปให้เป็นภาพเข้าใจง่าย ๆ ว่า Exposure มันก็เป็นการเปิดรับแสงของตัวกล้องนั้นแหละ เพื่อให้ได้แสงดังที่เราต้องการ (ไม่ต้องไปทฤษฏีเยอะนะ มันวุ่น) ดังนั้นภาพที่เราอยากจะได้ เราก็ไม่ต้องการภาพไหนที่แสงมันน้อยเกินไป และมันมากเกินไป ทุกอย่างต้องพอดี และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรจะเข้าใจเรื่องนี้ เอาเป็นว่าเรามาเริ่มต้นกันเลย
วิธีที่จะได้ค่าแสงที่เหมาะสมที่สุด
ในโหมด Manual (M) กล้องจะช่วยบอกว่าแสงที่เราได้ ณ ตอนนั้น การตั้งค่าแบบนั้น แสงโดยรวมเป็นยังไง มากเกินไปหรือว่าน้อยเกินไป ทีนี้ปัญหามือใหม่อยู่ตรงที่ แล้วมันดูยังไงถึงจะรู้ว่าภาพมันต่ำไปหรือมากเกินไปล่ะ?
ให้ดูที่สเกลวัดแสงครับ ถ้าเทไปทางด้านลบ (ซ้าย) คือมันมืดไป, ถ้าไปทางบวก (ขวา) คือสว่างไปครับ
เพราะงั้นเราก็ควรจะตั้งค่ากล้องให้ปริมาณแสงได้พอดี เราถึงจะได้ค่าแสงที่ถูกต้องครับ คราวนี้คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเกิดมันไปซ้ายหรือขวา เราจะทำยังไงให้ได้ค่าแสงที่มันอยู่ตรงกลางแบบพอดีล่ะ? Exposure Triangle คือคำตอบครับ
Exposure Triangle คืออะไร?
ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ความไวแสง จะส่งผลต่อการเปิดรับภาพ ซึ่งทั้งสามค่านี้มีความสัมพันธ์กัน (ถึงได้เรียกว่าเป็น Triangle ไง) หากเราเปลี่ยนค่าใดค่าหนึ่งในนี้ มันก็จะส่งผลกับภาพทั้งนั้นเลย

ซึ่งนั่นก็แปลว่า เมื่อเราเปลี่ยนค่าใดค่าหนึ่งไปและมีผลกับแสง เราก็ต้องปรับค่าอีกส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ค่าแสงเท่าเดิม เช่น เราเพิ่มความเร็วชัตเตอร์เพื่อจับภาพเด็กวิ่ง เมื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ที่มากขึ้นจะส่งผลให้ปริมาณแสงที่เข้ากล้องน้อยลงภาพก็จะมืดลง, เราก็ต้องเลือกที่จะเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น หรือไม่ก็เพิ่ม ISO เพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่เท่าเดิม เป็นต้น
เราจะวัดค่ารูรับแสงได้ยังไง?
รูรับแสงเราวัดค่าโดยใช้ F-Stop ซึ่งที่เราเห็นปัจจุบันก็มีต่ำ ๆ F1.4 – F22 เลย ปริมาณแสงมากน้อยที่สัมพันธ์กับค่า F ก็ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั่นเองครับ ตามที่บอกไปแล้วว่า F น้อย = รูรับแสงกว้าง, ถ้า F มาก = รูรับแสงแคบครับ
ค่ารูรับแสงจะส่งผลต่อระยะชัดของภาพด้วย
ด้านล่างจะเป็นภาพเปรียบเทียบที่เราเห็นกันมานานแล้วแหละ F1.4 รูรับแสงเปิดกว้าง จะทำให้ระยะชัดทั้งภาพนั้นน้อย เกิดการละลายหลังที่เยอะมาก และทำให้เกิดโบเก้ที่สวยงาม แต่ไม่ใช่ว่าการตั้งค่าแบบนี้จะถ่ายภาพได้ทุกแบบนะ ถ้าเราต้องการความคมชัดแบบทั้งภาพ เราก็ต้องปรับรูรับแสงให้เล็กลง เพื่อคุมความชัดทั้งหมดสำหรับภาพ Landscape


ในภาพด้านล่างเราจะเห็นว่าความคมชัดจะมีทั้งภาพเลย เพราะว่าเราต้องการให้เมฆและทั้งภาพเกิดความคมชัด เราจะใช้ที่ F/16 ครับ

ถ้าหากเราใช้รูรับแสงที่มีขนาดใหญ่อย่าง F2.8 หรือ F4 ก็จะทำให้เกิดชัดตื้นง่ายกว่าเดิม ข้อดีคือทำให้เราสามารถแยกตัววัตถุออกมาจากฉากหลังได้ ยิ่งการถ่ายภาพ Portrait จะใช้ F1.4 และ F1.8 กันบ่อย ๆ เลยทีเดียว
ความเร็วชัตเตอร์คืออะไร?
ความเร็วชัตเตอร์คือเวลาที่กล้องปล่อยให้แสงเข้าไปกระทบเซ็นเซอร์กล้องได้ ลองกระพริบตาเร็ว ๆ ดูก็ได้ครับจะเห็นภาพมากขึ้น ม่านชัตเตอร์ก็เหมือนเปลือกตาเราเองนั่นแหละ

เริ่มต้นนั้นชัตเตอร์ก็จะปิดอยู่ การกดชัตเตอร์ก็เหมือนการเปิดให้กล้องรับแสงและปิดลงอีกครั้งนึง ซึ่งระยะเวลาที่เปิดนานหรือเร็วนั้น จะส่งผลกับปริมาณแสงที่วิ่งเข้ามา ถ้าหากว่าต้องการปริมาณแสงที่มาก ความเร็วชัตเตอร์ก็ควรจะนานหน่อย แต่ถ้าต้องการแสงที่เข้านิดเดียว ม่านชัตเตอร์ก็จะเร็ว
ความเร็วชัตเตอร์ถูกวัดอย่างไร?
ความเร็วชัตเตอร์เราจะเรียกเป็นส่วนต่อวินาที เช่น 1/8000, 1/4000, 1/160 เป็นต้น ส่วนการเปิดม่านนาน ๆ เราก็จะเรียกเป็นวินาทีเลยครับ ส่วนใหญ่ค่าเดิม ๆ ในกล้องที่ตั้งได้แบบเปิดนาน ๆ โดยที่ไม่ใช้รีโมทจะเปิดได้ประมาณ 30 วินาที
สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเอาไว้คือ คือเมื่อความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ปริมาณแสงก็จะเข้าเยอะมากขึ้น แต่ถ้าความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้นก็จะทำให้แสงเข้าน้อยลง

นอกจากนี้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำจะทำให้วัตถุที่เคลื่อนไหวเกิดการเบลอ ถ้ากล้องขยับมันก็จะเบลอทั้งภาพ แต่ถ้าหากชัตเตอร์ความเร็วเยอะ แสงก็จะเข้ากล้องน้อย และจับวัตถุได้นิ่งเหมาะกับการถ่ายภาพกีฬาทั้งหลาย
จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ในการสร้างสรรค์ภาพได้ยังไงล่ะ?
ในการถ่ายภาพ Landscape นิยมใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า เพื่อให้เกิด Movement ของวัตถุที่เคลื่อนไหว เช่น น้ำ เมฆ หรือรถวิ่ง ผมเคยเขียนเรื่องการใช้การเปิดชัตเตอร์รับแสงนาน ๆ ไว้ในบทความถ่ายยังไงให้แสงเป็นเส้น และ ถ่ายภาพด้วยการใช้ Long Exposure ครับ ลองอ่านดูกันได้

แต่ถ้าหากว่าความเร็วชัตเตอร์ที่เร็ว ๆ เนี่ยจะทำให้สามารถหยุดวัตถุที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงได้ ซึ่งผมก็เคยเขียนไว้เหมือนกันในบทความ High Speed Photography ครับ
ถ่ายภาพควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ดี?
ในกราฟนี้ผมได้ใส่รายละเอียดเอาไว้แล้วว่าถ่ายอะไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่บ้าง แต่เป็นคร่าว ๆ นะครับ เพราะว่าหน้างานเราก็ต้องปรับตั้งค่าให้เหมาะสมเองด้วยเหมือนกัน
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้ | ลักษณะของภาพที่นำไปใช้ |
30 วินาที / โหมด Blub | สร้างภาพถ่าย Long Exposure รับแสงที่ยาวนาน ทำให้น้ำดูฟุ้ง ๆ เมฆดูนุ่มนวล และมองเห็นการเคลื่อนไหวของวัตถุเป็นเส้น ๆ เลย ซึ่งถ้าถ่ายด้วยโหมด Blub จะลากได้ตามใจเลยว่าอยากได้นานเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ 2-4 นาทีเลยแหละ |
20-30 sec. | ถ่ายภาพทางช้างเผือกก็ถ่ายได้นะ หรือถ่ายภาพดาวหมุนก็ได้ แต่มักจะเอาภาพมาต่อ ๆ กันด้วย |
1 sec. | ถ่ายภาพช่วง Twilight ทำให้เก็บแสงได้นานขึ้น |
1/8-1/10 sec. | ความเร็วชัตเตอร์แบบนี้เหมาะกับการถ่ายภาพเพื่อเก็บความเคลื่อนไหวของคลื่นที่เคลื่อนตัวออกจากหาด จะเห็นมูฟเมนต์หน่อย ๆ |
1/30 – 1/60 sec. | มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพ Panning เพื่อจับภาพคน หรืออะไรที่เคลื่อนไหว แล้วใช้การ Panning เพื่อเบลอฉากหลัง |
1/125 sec. | ถ่ายภาพได้หลากหลายลักษณะ ส่วนใหญ่ถ่ายทั่วไปก็ประมาณนี้ครับ |
1/250 sec. | ถ่ายภาพทั่วไปเหมือนกัน แต่ก็จะจับภาพการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นมาหน่อยเมื่อเทียบกับ 1/125 ส่วนใหญ่ก็ต้องดูปริมาณแสงที่ใช้ด้วยครับ |
1/500 sec. | ถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วมาก ๆ พวกรถก็ได้ |
Above 1/1000 sec. | ถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วมาก ๆ พวกรถก็ได้ |
Above 1/2000 sec. | ถ่ายภาพนก หรือวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก ๆ |
ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ถึงจะถือด้วยมือได้แบบไม่ต้องใช้ขาตั้ง?
เรื่องง่าย ๆ คือควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่าทางยาวโฟกัส เช่นใช้ทางยาวโฟกัสที่ 200mm เราก็ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/200 แต่ถ้ามีกันสั่นในกล้องหรือเลนส์ก็สามารถที่จะใช้ต่ำกว่านี้ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ความสามารถของกันสั่นในตัวกล้องครับ
ISO คืออะไร?
การตั้งค่า ISO จะบอกให้เราทราบว่ากล้องเรามีความไวต่อการรับแสงมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่าเราใช้ความไวต่ำที่ ISO 100 เราก็ต้องมีปริมาณแสงที่เพียงพอกับภาพ ซึ่งก็ต้องไปดูที่ค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงนั่นองครับ แต่ถ้าหากว่าเราไม่สามารถปรับตั้งค่ารูรับแสง หรือความเร็วชัตเตอร์ได้แล้ว การใช้ ISO ที่มากขึ้น ก็ทำให้ปริมาณแสงในภาพสูงขึ้นครับ
ในระดับ ISO ที่อยู่ระหว่าง 100 – 400 เราอาจจะไม่สังเกตเห็น Noise ในภาพ (เรามักจะได้ยินว่า ISO เยอะ Noise มันจะมาเยอะด้วย) ซึ่งกล้องในปัจจุบัน ISO 1600-3200 มันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้อยู่

ในการถ่ายภาพส่วนใหญ่เราจะพยายามใช้ ISO ให้น้อยที่สุด เพราะเลี่ยงการเกิด Noise ในภาพครับ เห็นไหมครับว่าค่าแต่ละอย่างที่บอกผ่าน ๆ มามันมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน
แล้วควรเพิ่ม ISO เมื่อไหร่บ้าง?
เมื่อต้องการหยุดความเคลื่อนไหวของวัตถุ เนื่องจากว่าชัตเตอร์ต่ำเกินไปทำให้เราต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ และปริมาณแสงอาจจะน้อยเกินไป เราอาจจะต้องเพิ่ม ISO แล้วล่ะ
หรือแม้แต่การถ่ายภาพในที่แสงน้อยอย่างอีเวนต์ หรือพวกงานปาร์ตี้ ซึ่งหากว่าเราไม่มีแฟลชภายนอก และแสงไม่พอ ยังไงก็ต้องดัน ISO ขึ้นเป็นเรื่องปกติครับ

สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าเราไม่สามารถที่จะเพิ่มปริมาณแสงได้จากการปรับรูรับแสง และการลดความเร็วชัตเตอร์แล้ว แสงยังไม่โอเค สุดท้ายก็ต้องพึ่งการใช้ ISO แล้วครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพที่เราถ่ายต้องการแบบไหนนั่นแหละครับ
โหมดถ่ายภาพ และวิธีการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์, รูรับแสง, ความไวแสง
ส่วนใหญ่แล้วเราจะสามารถเซ็ตค่าได้ประมาณ 3 โหมดซึ่งจะมีความแตกต่างกัน
– โหมด Aperture Priority โหมดนี้จะให้เราปรับค่ารูรับแสงตามที่เราต้องการ โดยปล่อยให้ความเร็วชัตเตอร์ทำงานตามที่กล้องคำนวณแล้วว่าเหมาะสมกับสภาพแสงนั้น
– โหมด Shutter Priority สามารถทำให้เราปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ตามกล้องการได้ โดยปล่อยให้กล้องคำนวณรูรับแสงเอง
– โหมด Manual เราสามารถปรับตั้งค่าทุกค่าได้ตามต้องการ ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ความไวแสง

ส่วน ISO เราสามารถเลือกได้ว่าจะตั้งค่าแบบตายตัว หรือว่าจะตั้งค่าให้กล้องปรับให้ตามความเหมาะสม โดยสามารถกำหนด ISO ที่ยอมรับได้เอาไว้ เช่น ISO ไม่เกิน 3200 เมื่อแสงไม่พอ และกล้องจำเป็นต้องเพิ่ม ISO ค่าสูงสุดที่กล้องจะเพิ่มได้คือ 3200 ไม่เกินนี้ เป็นต้นคับ
สุดท้ายคือการนำทุกอย่างมาใช้งานร่วมกัน โดยมีคีย์หลักตามนี้
1. การใช้รูรับแสงกว้าง แสงจะเข้ากล้องเยอะ และจะเกิดความชัดตื้นมากขึ้น ช่วยให้แยกวัตถุออกจากฉากหลังได้ และโบเก้สวย
2. เมื่อถ่ายภาพควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ = ทางยาวโฟกัส เพื่อไม่ให้ภาพเบลอ (ถ้ากล้องที่มีกันสั่นในตัวจะลดความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำกว่าปกติอยู่หน่อยฉ
3. Shutter Speed ที่แตกต่างกัน ช่วยให้เกิดลักษณะของภาพที่ต่างกัน ความเร็วชัตเตอร์สูงจะหยุดภาพได้นิ่งแต่แสงเข้ากล้องน้อย ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แสงเข้ากล้องเยอะ แต่ก็มีข้อจำกัดคือต้องใช้ขาตั้งกล้อง สายลั่นเป็นต้น
4. ถ่ายภาพให้ใช้ ISO ต่ำที่สุดเพื่อเลี่ยง Noise แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่ม ก็เพิ่มเถอะครับ
