Site icon เว็บสอนถ่ายภาพ สอนถ่ายวิดีโอ และผลิตคอนเทนต์ ที่เข้าใจมือใหม่มากที่สุด

การถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน พื้นฐานของวิธีการจัดองค์ประกอบภาพที่ง่ายที่สุด

การถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน เป็นเทคนิคที่การถ่ายภาพที่จำเป็น และสามารถนำไปใช้กับทุก ๆ เรื่องเพื่อปรับปรุงองค์ประกอบและความสมดุลของภาพ และเป็นหนึ่งในเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพที่มีประโยชน์มากที่สุดอย่างหนึ่ง

ซึ่งกฎสามส่วนนี้จะเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการเรียนรู้และสามารถนำไปใช้ถ่ายภาพได้กับทุกกล้องของโลกใบนี้ นอกจากนี้การใช้กฎสามส่วนในการถ่ายภาพจะทำให้ภาพมีสมดุล ดูน่าสนใจ น่าดึงดูดมากขึ้น

แต่สิ่งสำคัญคือการใช้กฎสามส่วนก็ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานกับมันเหมือนกัน เพราะว่าการจะนำวิธีคิดหรือเทคนิคประยุกต์มาใช้เราก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจด้วยครับ

การถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน สำหรับมือใหม่หัดถ่ายรูป

กฎสามส่วนคืออะไร

กฎสามส่วนจะเป็นการแบ่งภาพโดยใช้เส้นแนวนอนสองเส้น และแนวตั้งสองเส้นตามภาพด้านล่าง ดังนั้นเวลาที่เราจะวางองค์ประกอบสำคัญในฉาก ก็ให้วางไว้ตรงจุดตัดของเส้น ซึ่งเราชอบเรียกกันว่า จุดตัดเก้าช่องครับ

พื้นฐานการถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน : Image by Martin Gommel.

การจัดวางองค์ประกอบที่จุดตัดมันจะทำให้องค์ประกอบหลักดูน่าสนใจ และดูเป็นธรรมชาติ มากกว่าการวางจุดสนใจไว้ที่กลางเฟรม นอกจานี้ส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ในภาพจะเป็นเรื่องราวสนับสนุนให้กับองค์ประกอบหลักดูน่าสนใจ เติมเต็มมากขึ้น

วิธีการใช้กฎสามส่วน

เมื่อจัดเฟรมให้จินตนาการฉากที่แบ่งเป็นส่วนบน ให้เราคิดถึงองค์ประกอบภาพที่สำคัญที่สุดและพยายามวางไว้บนตำแหน่งที่ใกล้จุดตัด

เราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมอง ย้ายตำแหน่งที่ถ่ายภาพเพื่อสร้างองค์ประกอบให้ดีที่สุด สิ่งนี้จะบังคับให้เราคิดอย่างเป็นธรรมชาติเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ การหามุม และการถ่ายภาพโดยใช้กฎสามส่วนเป็นพื้นฐาน

พื้นฐานการถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน : Image by K Praslowicz.

นอกจากนี้เพื่อช่วยให้เราใช้กฎสามส่วนได้ง่ายขึ้น กล้องเรามันสามารถเปิด Grid เพื่อแสดงเส้นการแบ่งส่วนไว้ในภาพได้เหมือนกัน ทำให้เราจัดองค์ประกอบได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมครับ

ตัวอย่างการใช้กฎสามส่วน

ในการถ่ายภาพ Landscape การจัดตำแหน่งเส้นขอบฟ้าทั่วไปหลายคน็มักจะจัดไว้ตามแนวกึ่งกลางเฟรม แต่ถ้าหากจัดภาพด้วยกฎสามส่วนแบบนี้จะให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นอยากชัดเจน แต่เราต้องเลือกว่าสมดุลของท้องฟ้าและภูเขา อะไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน เช่น ฟ้า 2 ส่วน พื้นดิน 1 ส่วนเป็นต้น

นอกจากนี้หากเราหาจุดสนใจใส่ไว้ที่จุดตัดด้วยก็จะทำให้ภาพดูโดดเด่นและน่าสนใจมากขึ้นเลยทีเดียว

พื้นฐานการถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน : Image by Andreas Wonisch.

สำหรับการถ่ายภาพบุคคล บางทีเราก็อาจจะใช้กฎสามส่วนในการจัดแบบนี้ก็ได้ คือเหลือพื้นที่ด้านหนึ่งไว้ อีกด้านหนึ่งวางตัวแบบไว้ที่จุดตัด ก็จะทำให้ภาพดูสบาย ๆ ไม่อึดอัด และเห็นตัวแบบอย่างชัดเจน

สิ่งสำคัญก็คือ สายตาของแบบควรอยู่ที่จุดตัด เพราะภาพบุคคลสายตาเป็นสิ่งที่เล่าเรื่องราวได้หลายอย่าง และเวลามนุษย์เรามองคนอื่นก็จะมองที่ตาเป็นเรื่องธรรมชาติครับ

พื้นฐานการถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน : Image by Megan Leetz.

ตัวอย่างในภาพนี้คือการเลือกที่จะวางแบบหลัก (Subject) ไว้ที่ด้านใดด้านหนึ่งของเส้นแนวตั้ง (ในภาพเป็นทางขวา) แล้วปล่อยพื้นที่ว่างด้านหนึ่งไว้เพื่อให้เกิดความสมดุล และป้องกันไม่ให้ภาพดูอึดอัดเกินไป แต่การจัดแบบนี้ก็อยู่ที่องค์ประกอบภาพโดยรวมด้วยนะครับ

พื้นฐานการถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน : Image by Prem Anandh.

เมื่อถ่ายภาพวัตถุหรือแบบที่เคลื่อนที่ ให้วางตำแหน่งโดยใช้กฎสามส่วนได้ตามปกติ แต่ก็ควรให้ความสนใจกับทิศทางของแบบที่กำลังเคลื่อนที่ด้วย เพราะการเคลื่อนที่ และทิศทางกำหนดเรื่องราว จินตนาการ อีกทั้งยังดึงสายตาของผู้ชมไปด้วย

พื้นฐานการถ่ายภาพด้วยกฎสามส่วน : Image by muskva.

รู้จักใช้ซอฟต์แวร์ในการช่วยปรับแต่งภาพให้สมบูรณ์ขึ้น

นอกจากที่เราจะสามารถจัดองค์ประกอบที่หน้างานแล้ว เรายังสามารถที่จะใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Adobe Lightroom เพื่อจัดการให้ภาพของเรามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพ : Image by Jenn Forman Orth.

รู้จักแหกกฎบ้างก็ได้

ที่บอกมาตั้งแต่ต้นก็ไม่ได้แปลว่าผมจะให้ถ่ายภาพตามหลักการทั้งหมดนะ แต่กฎพวกนี้เรียนรู้ไว้เพื่อที่จะเป็นแนวทางหนึ่งในการถ่ายภาพ และก็ยังเป็นพื้นฐานที่ดีในการวางองค์ประกอบภาพสำหรับคนที่เริ่มต้นถ่ายได้

แต่แน่นอนว่ากฎเหล่านี้มันแหกได้ มันมีอีกหลากหลายวิธีที่เราจะเล่าเรื่อง สุดท้ายก็อยู่ที่การฝึกฝน เพิ่มประสบการณ์ และพัฒนาแนวทางในการเล่าเรื่องผ่านภาพของเราให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ แหกกฎบ้างนะ ^^ เพื่อที่เราจะได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรลืมพื้นฐานเน้อ

รวมบทความพื้นฐานสำหรับมือใหม่

Exit mobile version