
3 กฏพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพใช้งานได้เลยสำหรับผู้เริ่มต้น
3 กฏพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพใช้งานได้เลยสำหรับผู้เริ่มต้น กฏในการถ่ายภาพเป็นเหมือนแนวทางที่ช่วยให้การถ่ายภาพสำหรับผู้เริ่มต้น เพื่อให้มีหลักหรือจุดยึดเพื่อที่จะเรียนรู้ นำไปใช้งาน และประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้ผลงานแบบที่ต้องการ ซึ่งกฏในการถ่ายภาพมีอยู่มากมายครับแต่วันนี้เราจะมาดู 5 กฏพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพใช้งานได้เลยสำหรับผู้เริ่มต้น พอเรียนรู้การใช้งานและทำตามกฏเหล่านี้แล้ว เราจะถ่ายภาพได้สวยขึ้นครับ
3 กฏพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพใช้งานได้เลยสำหรับผู้เริ่มต้น
1. กฏสามส่วน (Rule of Thirds) สำหรับการจัดองค์ประกอบภาพ
การจัดองค์ประกอบภาพมีกฏเพื่อให้ใช้งานอยู่หลายกฏ และรูปแบบการจัดวางก็หลากหลายด้วยเช่นกัน แต่กฏที่ง่ายทำตามได้และเห็นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นคือ กฏสามส่วน (Rule of Thirds) เป็นกฏของการจัดวางองค์ประกอบภาพเพื่อวางตัวแบบหรือจุดโฟกัสให้อยู่ในตำแหน่งที่ดึงดูดสายตา และเป็นจุดสนใจมากที่สุด

ซึ่งภาพจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ด้วยเส้นตรงสองเส้นที่ขนานกันในแนวนอน และเส้นสองเส้นที่ขนานกันในแนวตั้ง ซึ่งกฏสามส่วนก็จะสัมพันธ์กับจุดตัดเก้าช่อง เพราะเส้นตรงทั้งสองเส้น จากเส้นแนวนอนและแนวตั้ง จะตัดกัน เกิดจุดขึ้น 4 จุดและภาพจะถูกแบ่งออกเป็น 9 ช่อง
การจัดวางภาพสามารถเลือกวางภาพตรงกลาง หรือวาง 1 ใน 3 ส่วน หรือ 2 ใน 3 ส่วนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของตัวแบบและเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสาร เช่นในการถ่ายภาพ Landscape ที่มีทะเลกับท้องฟ้า ถ้าต้องการให้เห็นรายละเอียดส่วนของน้ำทะเล ก็ให้ทะเลอยู่ 2 ส่วนและท้องฟ้า 1 ส่วนนั่นเองครับ
การวางภาพโดยใช้กฏสามส่วน นอกจากจะช่วยแบ่งสัดส่วนภาพแล้ว ยังกำหนดจุดสนใจให้ภาพด้วย โดยการวางตัวแบบที่จุดตัดที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการวางตัวแบบในจุดที่สายตาจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษด้วยครับ
2. การปรับค่า Exposure Triangle สำหรับการควบคุมแสง
Exposure Triangle เป็น 3 ค่าที่มีผลกับแสงในภาพของเรานั่นคือ รูรับแสง (Aperture), ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) และ ความไวแสง (ISO) สามค่านี้จะทำงานทำงานด้วยกันอย่างสัมพันธ์กัน หากมีค่าใดค่าหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนอื่น ๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเพื่อรักษาความถูกต้องของแสงที่จะเข้ามาในเซ็นเซอร์ครับ

รูรับแสง (Aperture)
รูรับแสงมีผลกับภาพสองอย่างนั่นคือระยะชัดและปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้องครับ ถ้าค่ารูรับแสงเยอะ ( f / ตัวเลขมาก) ช่องของรูรับแสงก็จะแคบลง ระยะชัดของภาพก็จะมีมากขึ้น เราจะได้ภาพชัดทั้งภาพเลยแน่นอนว่าปริมาณแสงก็จะเข้ามาน้อยด้วย มักจะใช้กับการถ่ายภาพทิวทัศน์เพื่อให้เห้นรายละเอียดโดยรอบชัดครับ
รูรับแสงกว้าง (f/ ตัวเลขน้อย) ปริมาณแสงจะเข้ามาเยอะขึ้นและเกิดเอฟเฟกต์แบบชัดตื้นคือหน้าชัดหลังเบลอ แบบที่ชอบใช้งานการถ่ายภาพบุคคลครับ
ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)
ความเร็วชัตเตอร์ จะใช้เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่เข้ามาในกล้องให้มากขึ้นหรือน้อยลงได้ครับ และยังควบคุมเอฟเฟกต์การเกิดภาพถ่ายแบบหยุดภาพ หรือเกิดการเคลื่อนไหวของภาพครับ เช่น ชัตเตอร์เร็วจะหยุดสิ่งที่เคลื่อนไหวได้นิ่งสนิท ยิ่งชัตเตอร์ช้าก็จะทำให้ภาพเกิดการสั่นไหวและเบลอง่ายขึ้น สามารถเอาไปใช้ถ่ายเทคนิควาดเส้นไฟสวย ๆ ได้ครับ
ความไวแสง (ISO)
ค่า ISO เป็นค่าความไวแสงของตัวกล้อง ค่าน้อย ภาพก็จะมืด แต่ถ้าค่านี้เยอะภาพก็จะสว่างขึ้น ในปริมาณแสงเท่าเดิม เพียงแต่การเร่งสัญญาณการรับแสงของกล้องมันสูงขึ้น แต่ก็มีข้อดีข้อเสียในการใช้งาน คือเมื่อถ่ายภาพแล้วต้องการชดเชยแสงด้วยการปรับ ISO สูงขึ้น อาจจะเกิด noise ขึ้นในภาพได้ครับ

ปกติการจัดการกับแสงจะเริ่มจากความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงก่อน แต่ถ้าแสงยังน้อยอยู่ก็ให้เพิ่ม ISO เพื่อเก็บภาพที่ต้องการ แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิด noise ในภาพครับ แต่ว่าเกิด noise ก็ยังดีกว่าไม่ได้ภาพนะครับ
อ่านต่อเรื่อง Exposure Triangle เพิ่มเติมได้ผมเขียนไว้อย่างละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ EXPOSURE TRIANGLE พื้นฐานการตั้งค่า APERTURE, SHUTTER SPEED, ISO รู้เรื่องนี้ ถ่ายโหมด M ได้แน่นอน!
3. ค่าความสัมพันธ์ระหว่างระยะเลนส์และความเร็วชัตเตอร์
ความเร็วชัตเตอร์มีผลต่อความคมชัดของภาพ ซึ่งความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมจะสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ หรือระยะเลนส์ ซึ่งค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบ Handheld ที่ให้ภาพชัดจะสามารถบอกได้คร่าว ๆ จากระยะเลนส์ที่ใช้ได้
ซึ่งจากกฎความเร็วชัตเตอร์ / ทางยาวโฟกัสบอกจะบอกได้ว่าควรจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมประมาณเท่าไหร่ ซึ่งความเร็วชัตเตอร์ที่ให้ภาพที่คมชัดจะใช้กฎ 1 / ทางยาวโฟกัส หน่วยเป็นวินาทีเช่น เลนส์ระยะ 50 mm ความเร็วชัตเตอร์ที่น้อยที่สุด ควรจะอยู่ที่ 1/50 วินาทีและถ้าจะปรับความคมชัดของภาพขึ้น ก็ปรับเป็น 1/80 หรือ 1/100 แต่ไม่ควรจะปรับให้ช้าลงกว่า 1/50 ครับ